รายงานจาก New York Times ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตของชาวอเมริกันในปี 2015 เพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยสาเหตุอย่าง การใช้ยาเกินขนาด การฆ่าตัวตาย และอัลไซเมอร์ มีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สำนักงานสถิติสาธารณสุขสหรัฐ (National Center for Health Statistics: NCHS) รายงานสถิติการเสียชีวิตของประชาชนว่า เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่ 723.2 คนต่อแสนประชากร เป็น 729.5 คนต่อแสนประชากรในปี 2015 ซึ่งสถิตินี้ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ 25 ปีที่ผ่านมา
โดยปีที่พบผู้เสียชีวิตสูงขึ้น ได้แก่ ปี 1993 พบผู้เสียชีวิตด้วยอาการแทรกซ้อนจากเอดส์ ปี 1999 พบตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงขึ้น และปี 2005 เป็นปีที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรง
จากข้อมูลของทั้ง 50 รัฐ พบห้าอันดับการเสียชีวิตของประชาชนแตกต่างกันไป โดยสาเหตุอันดับต้นๆ ยังเป็นโรคมะเร็ง ขณะที่สาเหตุการเสียชีวิตจากภาวะน้ำหนักเกิน การใช้ยาเกินขนาด และโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น
สาเหตุเสียชีวิตจากการเป็นโรคตับซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบมากที่สุดในรัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ เช่น โอเรกอน แคลิฟอร์เนีย แอริโซนา และนิวเม็กซิโก โดยเฉพาะรัฐหลังสุด พบผู้เสียชีวิต 14 คนต่อแสนประชากร
ขณะที่ในแถบแอพพาลาเชีย ตั้งแต่ทางใต้ของรัฐนิวยอร์คลงมา ถึงตอนบนของรัฐอาลาบามา มิสซิสซิปปี และจอร์เจีย รวมทั้งนิวอิงแลนด์ พบผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดและถูกวางยาในเกณฑ์สูง โดยสถิติผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดสูงสุดอยู่ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ที่ 34 คนต่อแสนประชากร
ส่วนทางฝั่งตะวันตกและรัฐอลาสกา พบการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนพุ่งสูง โดยในอลาสกามีสถิติอยู่ที่ 15 คนต่อแสนประชากร
โรเบิร์ต แอนเดอร์สัน หัวหน้าฝ่ายสถิติการเสียชีวิตประจำ NCHS กล่าวว่า แม้สถิติจะยังไม่ได้สูงขึ้นอย่างพรวดพราด แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก จึงสมควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ถ้าดูเฉพาะสถิติ อาจยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปได้ว่า เกิดอะไรขึ้น แอนเดอร์สันเห็นว่า ควรเฝ้าสังเกตและเก็บสถิติของปี 2016 อย่างใกล้ชิด
ย้อนกลับมาดูสถิติประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย เมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่มีข้อมูลล่าสุด พบว่า อันดับหนึ่ง ยังคงเป็นมะเร็ง (107.9 คนต่อแสนประชากร) ตามมาด้วย อุบัติเหตุ และโรคเกี่ยวข้องกับปอด (49 และ 40.2 คนต่อแสนประชากร) ขณะที่อันดับสี่และห้า คือ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ (38.7 และ 38.5 คนต่อแสนประชากร)