จากการเปิดเผยผลสุ่มตรวจของกลุ่มเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) พบว่า นอกจากผักและผลไม้ที่ได้รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือเครื่องหมาย ‘Q’ จะมีสารตกค้างเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดแล้ว งานนี้ผักสวนครัวใกล้ตัวอย่างพริกแดงมาเป็นอันดับ 1 ด้วยการตรวจพบสารพิษตกค้าง 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับผลไม้ขึ้นโต๊ะอย่างส้มสายน้ำผึ้งและฝรั่ง
แต่เมื่อไล่สายตาลงมาดูอันดับล่างๆ พบว่า ‘แตงโม กะหล่ำปลี มะเขือเปราะ’ ที่เคยครองแชมป์กลับพบสารพิษตกค้างเท่ากับ 0
เพราะเหตุใด?
ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานมูลนิธิชีววิถี และสมาชิกไทยแพน (Thai-PAN) อธิบายว่า การตรวจไม่พบสารตกค้างนั้นมาจากหลายๆ ปัจจัย ประเด็นแรกอาจเป็นผลจากการผลักดันอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายตั้งแต่ปี 2555 ที่ขับเคลื่อนไม่ให้มีการขึ้นทะเบียน ‘คาร์โบฟูราน’ (carbofuran) 3 ใน 4 สารเคมีชนิดร้ายแรงที่กลุ่มไทยแพนติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด
รวมทั้งอาจเป็นเรื่องข้อจำกัดของการสุ่มตรวจ ที่อาจสุ่มเจอผักและผลไม้ที่ผ่านการเว้นระยะเก็บเกี่ยวจนไม่พบสารตกค้างเกินปริมาณที่กำหนด ประเด็นสุดท้ายอาจเป็นสารที่อยู่นอกเหนือเครื่องมือวิเคราะห์ได้
คาร์โบฟูราน เมโทมิล (methomyl) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN) เป็นสารเคมีชนิดมีพิษร้ายแรงที่เคยนำมาใช้และมีการนำเข้าเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันไดโครโตฟอสและอีพีเอ็น ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายหรือสารพิษที่ไม่อนุญาตให้ใช้ ขณะที่คาร์โบฟูรานและเมโทมิล ยังเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือสารที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เสียก่อนจึงจะนำไปใช้ได้ แต่ทะเบียนได้หมดอายุลงเมื่อสิงหาคม พ.ศ. 2554 และยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร
“ในสารสี่ตัว อีพีเอ็น ไดโครโตฟอส ได้ถูกยกเลิกให้ใช้ไปแล้ว คาร์โบฟูรานและเมโทมิล ยังเป็นวัตถุอันตรายที่อนุญาตให้ใช้ แต่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน ในช่องกฎหมายนั้นเลยไม่ได้ผิด แต่ในเชิงเทคนิคนั้นผิดกฎหมาย”
อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบการตรวจพบสารเคมีตกค้างเทียบเคียงกับปีก่อนๆ พบว่าสารเคมีที่กลุ่มไทยแพนติดตามนั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจริง โดยตรวจพบเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ หากเมื่อขยายการตรวจสอบให้ครอบคลุมไปยังสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ตัวอื่น กลับพบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน MRL (Maximum Residue Limits) สูงกว่าเดิมจำนวนมาก หรือเพิ่มขึ้นเป็น 46 เปอร์เซ็นต์
“ปกติหน่วยงานภาครัฐจะมีการตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น ที่จะบอกได้ว่าผักที่พบนั้นปลอดภัยหรือไม่ แต่จะบอกไม่ได้ว่าเป็นสารอะไรและปริมาณเท่าไร สารเคมีที่หน่วยงานภาครัฐตรวจสอบคือ กลุ่มสารออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate) คาร์บาเมต (carbamate) ออร์กาโนคลอรีน (organochlorine) และไพเรทรอยด์ (pyrethroid) แต่สารเคมีที่อนุญาตให้ใช้มีมากกว่านั้น
เครื่องมือที่ภาครัฐใช้ตรวจสอบ ควรจะครอบคลุมตัวสารที่อนุญาตให้เกษตรกรใช้มากกว่านี้และบอกได้ว่ามีปริมาณตกค้างเท่าไร นอกจากนี้ควรพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์อย่างง่ายให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการนำไปใช้ได้” ปรกชล ทิ้งท้าย