ภาพ : อนุช ยนตมุติ
สมัยอยู่ท่าพระจันทร์ แหล่งสถิตหนึ่งที่ผมชอบไปมั่วสุมอยู่กับพรรคพวก คือม้านั่งบริเวณหน้าคณะกรรมการนักศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หรือที่พวกเราเรียกกันว่า ‘อาศรม’
ชัยภูมิแห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานผ่อนคลายสมอง นั่งดูพรรคพวกบริหารฝีปากเห่าหอนหญิงสาวที่เดินผ่านไปมาแล้ว เยื้องไปทางขวาคือปากประตูเข้าสู่หอประชุมเล็กของมหาวิทยาลัย อันเป็นสถานที่จัดกิจกรรม เวทีพูดคุย และงานแสดงทางวัฒนธรรมในวาระสำคัญ
เย็นวันหนึ่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ยืนสูบบุหรี่ระหว่างรอคิวขึ้นพูดอยู่ที่หน้าหอประชุมเล็ก เขาเหลือบไปเห็นใครสักคน จึงโบกมือตะโกนเรียกด้วยเนื้อเสียงดังกังวานไปทั่วบริเวณ – เฮ้ย! เวียง
มองตามทิศทางสายตาเสกสรรค์ จะเห็นชายหนุ่มบุคลิกจิ๊กโก๋ภูธร สวมกางเกงยีนส์ทรงเดฟนักรบ รองเท้าบูทหนังหุ้มข้อ ซอยผมกึ่งบ๊อบ สวมแว่นตาดำ นิ้วคีบบุหรี่ สะบัดผมเดินอาดๆ มายืนคุยกับเสกสรรค์
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นตัวจริงของเวียง-วชิระ บรรณาธิการเจ้าของสำนักพิมพ์ที่มีศักยภาพสูงสุดในการดูดเงินจากกระเป๋านักศึกษายาจกอย่างผม…แต่ก็เป็นการมองจากระยะไกล
ราว 10 ปีถัดมา จึงได้คุยกัน
วันนั้นเป็นงานเปิดตัวหนังสือเล่มของคอลัมนิสต์รุ่นพี่ที่เคยนับถือ ผมนั่งอยู่บริเวณขั้นบันไดทางเข้างานกับทินกร หุตางกูร ซึ่ง พ.ศ.นั้นกระทำตนประหนึ่งพี่เลี้ยงและโปรโมเตอร์ เที่ยวได้พาผมพบปะเกลือกกลั้วกับนักเขียนในแวดวงวรรณกรรมไปทั่ว
เวียง-วชิระ เดินเข้ามาหย่อนตัวนั่งข้างๆ โดยไม่มีใครเชื้อเชิญ พี่เลี้ยงทินกรยกมือไหว้แล้วแนะนำผม ผมยกมือไหว้ตาม ส่วนเวียง-วชิระ พยักหน้าแทนรับไหว้ เปิดบทสนทนาประโยคแรก ชมภาพรวมของบทบรรณาธิการที่ผมเขียน
เจอกันครั้งที่สองครั้งที่สาม แม้ผมจะพอรู้นิสัยไม่ชอบรับไหว้คนของเขาอยู่บ้าง แต่ก็อดที่จะแสดงความเปรี้ยวส่วนตัวไม่ได้ เริ่มต้นด้วยการยกมือไหว้ตั้งแต่เห็นหน้าระยะไกลๆ ไหว้อีกทีตอนนั่งบนโต๊ะเดียวกัน กระทั่งเดินไปไหว้ข้างเก้าอี้เผื่อว่าครั้งก่อนๆ จะมองไม่ทันเห็น จนสุดท้ายพี่เชื้อต้องยอมยกมือรับไหว้ตัดรำคาญ
นั่นต้องถือเป็นความทะลึ่งมิใช่น้อย เพราะเวียง-วชิระ คือบุคคลที่คนรุ่นผมส่วนใหญ่เกรงใจ เนื่องจากเขาให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์ค้ำจุนเพื่อน พี่ น้อง ในแวดวงอย่างสม่ำเสมอ ดูเหมือนจะมีใครสักคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อของเขาปรากฏอยู่ในคำอุทิศคำขอบคุณของนักเขียนไทยรุ่นใหม่จำนวนมาก หากมีใครถูกอ้างอิงในฐานะนี้มากกว่า เห็นจะมีแต่สุชาติ สวัสดิ์ศรี เท่านั้น
อย่างไรก็ดี นับเวลาเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆ แล้ว ต้องถือว่าผมมักคุ้นกับเขาช้ากว่าเพื่อนหลายคน อาจเพราะพื้นฐานผมเป็นนักข่าวเป็นคนทำหนังสือมากกว่าเป็นคนสายวรรณกรรมโดยตรง อาจเพราะผมเกรงใจไม่ค่อยมีเรื่องให้เอ่ยปากขอความช่วยเหลือบ่อยๆ หรืออาจจะเพราะผมไม่ชอบเล่นไพ่รัมมี่กินเงินเพื่อน…ก็สุดจะเดา
เพียงแต่ว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่ผมเอ่ยปาก ล้วนแล้วแต่เป็นของหนักทั้งสิ้น และทุกครั้งเขาไม่เคยปฏิเสธที่จะออกแรงเป็นธุระ นับตั้งแต่ประคับประคองชีวิตส่วนตัวผมระหว่างเผชิญฤดูมรสุม ไล่ไปจนถึงช่วยประเมินสมรภูมิและทิศทางคลื่นลมในพื้นที่การงาน
ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมก็เช่น เขาแทบไม่เคยสั่งสอนผมเรื่องเนื้อหาหรือคอนเทนท์ แต่สิ่งที่เขาตั้งใจและสละเวลาในการสอนอยู่ครึ่งค่อนวันก็คือ วิธีคำนวณต้นทุนการผลิตหนังสือ นับตั้งแต่การเลือกใช้เพลทแม่พิมพ์ สูตรคณิตศาสตร์เพื่อหาจำนวนรีมกระดาษในการใช้งาน เทคนิควิธีควบคุมต้นทุนการผลิตทุกกระบวนการ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นอย่างยิ่งยวดทั้งเชิงวิชาชีพและวิชามาร
เขาไม่ปิดบังด้วยว่า วิชาเหล่านี้เขาได้รับการถ่ายทอดมาจากเรืองเดช จันทรคีรี ในยุคที่ทำนิตยสาร ถนนหนังสือ
ในฐานะผู้ที่สนิทสนมกับเขามาก่อน วาด รวี เคยพูดกับผมว่า “ผมเคยคิดตั้งแต่ก่อนที่คุณกับพี่เวียงจะรู้จักกันอีก ผมเดาได้เลยว่าถ้าสองคนนี้เจอกันจะต้องถูกคอกัน”
ผมพอเข้าใจสิ่งที่เพื่อนพูด แต่ก็ไม่เคยจินตนาการมาก่อนว่าอาการถูกคอดังกล่าวจะลุกลามบานปลาย จนมาถึงจุดที่เราสองคนเดินโทงๆ กลางโรงอาบน้ำสาธารณะที่ประเทศญี่ปุ่นในค่ำวันหนึ่ง
นึกไม่ออกว่า โลกทั้งใบนี้จะมีใครเคยเห็น ‘ดอนเวียง’ ในสภาพดังกล่าวอีก
ทุกวันนี้ ผมเลิกยกมือไหว้เขามาร่วม 15 ปี
เวลาที่เรานับใครเป็นญาติ เป็นคนในครอบครัว เรามักจะไม่ยกมือไหว้พร่ำเพรื่อ
**********************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับ 90 ตุลาคม 2558)