RED, YELLOW & BEYOND: ใบหน้าและดวงตา 17 ปี ประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน

อย่างที่หลายคนกล่าว เมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้งในสังคมไทยร่วมสมัยที่หยั่งรากลึก ถือกำเนิดด้วยการหว่านโปรยจากเงื่อนไขและปัจจัยที่นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งส่งผลอย่างเข้มข้นมาจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่วันนั้นรอยร้าวก็ค่อยๆ ปริแตก ก่อเกิดการชุมนุมของประชาชนผ่านแกนนำหลายกลุ่ม สลับผลัดเปลี่ยนกันออกมาบนท้องถนนเพื่อแสดงความคิดความเชื่อที่มี หากสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งกลับนำไปสู่ความรุนแรง มีคนตาย มีผู้บาดเจ็บ มีความไม่ชอบธรรม มีผู้ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทำลายสิทธิเสรีภาพ จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557

วินัย ดิษฐจร หรือ ‘พี่วินัย’ ที่ผมเรียก คือช่างภาพที่ติดตามการเมืองไทยมานานกว่า 2 ทศวรรษ ผู้บันทึกประวัติศาสตร์การชุมนุมตลอด 17 ปี หลากหลายใบหน้าและดวงตาถูกเก็บบันทึกไว้ในภาพถ่ายของเขา เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้ฉายให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งในเชิงปัจเจกและสังคมโดยรวม

เป็นความโชคดีของผมที่ได้มีโอกาสพบกับพี่วินัยอีกครั้ง เรานัดกันที่แกลเลอรีซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ ‘RED, YELLOW & BEYOND’ ครั้งล่าสุดของพี่วินัย ผมไปถึงที่หมายก่อนเวลาเล็กน้อย พลางเดินดูภาพถ่ายในโถงนิทรรศการ เหมือนกับที่พี่วินัยบอกกับผม ใบหน้าและดวงตามากมายในภาพถ่ายล้วนเรียงร้อยเหตุการณ์ บอกเล่าเรื่องราว ความรู้สึก และเลือดเนื้อของผู้คนที่มีความคิด ความเชื่อ และห้วงเวลาที่แตกต่างกันอย่างน่าอัศจรรย์และน่าใคร่ครวญ

ไม่นานพี่วินัยก็เดินทางมาถึง และแทบจะทันที พี่วินัยบอกถึงรายละเอียดในภาพถ่ายต่างๆ ให้ผมฟัง ทั้งความเป็นมาก่อนและหลังเหตุการณ์ในแต่ละภาพ

“ภาพถ่ายส่วนใหญ่เป็นภาพระยะประชิด พี่วินัยเอาตัวเข้าไปใกล้ขนาดนั้นได้ยังไง ยิ่งในสถานการณ์ที่ดูตึงเครียดแบบนั้น” ผมถามด้วยความสนใจ ขณะดูภาพถ่ายมุมสูงรูปหนึ่งที่มีคนเสื้อแดงกำลังเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ

“แล้วแต่สถานการณ์ด้วยนะ บางสถานการณ์ก็นำพาไป และเราพอจะรับรู้ได้ว่าเขาไม่ได้ต่อต้านเรา มันเหมือนการเต้นรำ สมมุติเขาเปิดโอกาสให้เราเต้นรำ ก็เหมือนเราได้ร่วมวงไปกับเขา แต่ถามว่าเจอการต่อต้านบ้างไหม ในชีวิตการทำงาน มี แต่การรับมือของเราคือจะไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับเขา เราสังเกตท่าที แววตา ภาษากายจากเขาได้ ผมจะพกกล้องส่องทางไกลเล็กๆ บางทีก็เช็กไลน์ ประเมินสถานการณ์ เช็กดูว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น เราจะวิ่งหลบไปทางไหนได้บ้าง จะเรียลยังไงก็แล้วแต่ ถ้าเสียงดังตู้ม ต้องหลบไว้ก่อน” พี่วินัยตอบ ทำท่าหลบให้ผมดู และยิ้ม ก่อนจะพาเราเดินดูภาพอื่นๆ ในนิทรรศการ พร้อมกับเล่าถึงแง่มุมการทำงาน

“ถ้าสังเกตงานของผมจะมีการใช้โฟร์กราวด์ในมุมกว้าง เพื่อสร้างความโดดเด่นของภาพ อัตราส่วนของคนที่เป็นโฟร์กราวด์มักจะมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ในเฟรม หรือโฟร์กราวด์อาจจะเล็กลง มีการเปรียบเทียบระหว่างฉากหน้ากับฉากหลัง เพื่อสร้างมิติและสร้างอารมณ์ของภาพ สิ่งเหล่านี้คือชั่วโมงบินด้วย เหมือนเราทำหน้าที่เป็นดวงตาที่ 3 ให้กับผู้ชม เราทำให้เขารู้สึกเหมือนอยู่ร่วมสถานการณ์ ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้บันทึก” 

ผมกับพี่วินัยใช้เวลาคุยกันในแกลเลอรีอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะย้ายมานั่งที่ร้านกาแฟ เบื้องหน้าโกโก้เย็นและกาแฟดำ ต่อจากนี้คือบทสนทนาในบ่ายวันหนึ่งของฤดูร้อน

อยากให้พี่วินัยเล่าถึงนิทรรศการที่กำลังจัดแสดงอยู่ตอนนี้

เป็นเรื่องราวการเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมือง ก่อนรัฐประหารปี 2549 ซึ่งตอนนั้นผมทำงานอยู่สำนักข่าว EPA (European Pressphoto Agency) โดยส่วนตัวก็ไม่ได้ชอบการเมืองอะไรมากนัก เขาให้ไปถ่าย เราก็ไปถ่าย แล้วก็ได้เห็นแอ็กชันของผู้คนต่างๆ ที่น่าสนใจ ทำให้รู้สึกสนุกกับการถ่าย จากนั้นจังหวะที่ลาออกจากสำนักข่าว EPA มาเป็นฟรีแลนซ์ราวปี 2548 เริ่มมีการก่อตัวของม็อบต่อต้านการแปรรูป กฟผ. จนกระทั่งรัฐประหารปี 2549 เราเห็นปรากฏการณ์การก่อตัวของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม เรารู้สึกว่าน่าสนใจตรงที่เรื่องมันจะต้องมีต่อไปอีกเรื่อยๆ และวิเคราะห์ว่าตัวเองเป็นช่างภาพที่โชคดีที่อยู่ในช่วงรอยต่อของรัชสมัย แม้ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนผ่านเมื่อไหร่ หลังจากนั้นพอเวลาผ่านไปก็เกิดกลุ่มคนเสื้อแดง ตอนนั้นเรารู้สึกสงสารคนเสื้อแดงที่ถูกกระทำโดยรัฐ เหมือนเป็นเบี้ยล่าง ไม่ยอมให้พวกเขามีโอกาส เวลาไปถ่ายภาพ ในใจก็รู้สึกเห็นอกเห็นใจเขาจนเหมือนเป็นคนเสื้อแดงคนหนึ่ง ทั้งที่จริงๆ เราไม่ใช่คนเสื้อแดง

โดยภาพรวมคือการชุมนุมทางการเมืองตลอดเวลา 17 ปีที่ผ่านมา เป็นการเมืองภาคประชาชน ซึ่งนิทรรศการนี้เป็นการสร้างงานศิลปะด้วยภาพถ่ายใบหน้าและดวงตาของผู้คน การแต่งกายของเขา ความเชื่อของเขา แบ็กกราวด์ด้านหลังของสถานที่ ในเฟรมของผมจะมีใบหน้าและดวงตา การกระจายของผู้คน การกระทำของพวกเขา สิ่งที่เขาเชื่อ เทียบกับแบ็กกราวด์ด้านหลัง ซึ่งพอเวลาผ่านไปปรากฏว่าแบ็กกราวด์บางที่ก็ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป

นิทรรศการครั้งนี้เล่าถึงพัฒนาการของผู้คนที่ออกมาชุมนุม ตั้งแต่คนรุ่นก่อนที่ต้องการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ตัวเองพึงมีพึงได้ ก่อกำเนิดเป็นคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง นี่คือส่วนของ RED, YELLOW จัดแสดงที่ VS Gallery และอีกส่วนหนึ่งเป็นช่วงหลังจากการรัฐประหารปี 2557 เกิดม็อบของคนรุ่นใหม่ ลูกหลานชนชั้นกลางที่เข้าถึงสิทธิทุกอย่าง แต่ข้อเรียกร้องของเขา นอกจากการเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิที่ตัวเองพึงมีพึงได้ ยังรวมถึงการปรับรื้อโครงสร้าง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ท้าทาย ส่วนนี้คือ BEYOND จัดแสดงที่ Cartel Artspace

พี่วินัยเคยพูดว่าเมื่อกดชัตเตอร์ ภาพถ่ายก็กลายเป็นอดีต ช่วยขยายความได้ไหมว่า ภาพถ่ายทำงานกับเวลาที่ผ่านพ้นไปอย่างไร

ภาพถ่ายมีเวลาอยู่ในตัวมันเอง เวลาเราเห็นภาพถ่ายก็จะจดจำได้ว่าบรรยากาศแบบนี้ แบ็กกราวด์ด้านหลังแบบนี้ คนแต่งตัวแบบนี้ มันกำหนดเวลาในตัวมันเอง และพอเวลาผ่านไปก็เพิ่มคุณค่าทางเวลาให้ตัวมันเอง ยิ่งภาพที่มีองค์ประกอบทางศิลปะที่ดี มีมวลอารมณ์ ก็ยิ่งมีคุณค่า และมันเป็นอะไรที่ส่งต่อได้ ถึงช่างภาพตายห่าไปแล้ว แต่คุณค่านั้นก็ยังอยู่

เพราะภาพถ่ายคืออดีต 1 นาทีที่แล้ว 1 ชั่วโมงที่แล้ว เราอาจรู้สึกว่าไม่เป็นอดีตเท่าไร 1 วันก็ยังรู้สึกว่าไม่เท่าไร แต่ถ้าผ่านไปสัก 1 เดือน ก็อาจเริ่มๆ กลายเป็นอดีต กระทั่ง 1 ปี 2 ปี 10 ปี มันมีเวลาของมันอยู่ อย่างบางคนที่มาดูนิทรรศการเขาก็พูดว่าเหมือนได้ย้อนเวลากลับไป ซึ่ง curator (ภัณฑารักษ์) ก็ดีไซน์ให้เป็นเหมือนการเดินทวนเข็มนาฬิกาไปสู่อุโมงค์ ก่อนจะออกไปสู่ห้องโถงใหญ่ สู่บริบททั้งหมดทั้งปวงของการต่อสู้ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ การถูกปราบปราม ไม่ว่าฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา

คิดเห็นอย่างไรว่าภาพถ่ายอาจบอกเล่าความจริงได้ชั่วขณะ ท่ามกลางบริบทการเมืองที่มีความเลื่อนไหลทางความคิดความเชื่อ ทั้งของผู้ชุมนุมและแกนนำ

ภาพถ่ายคือการบันทึก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะบันทึกภาพจริงได้ทั้งหมด มันไม่มีอะไรบันทึกความจริงได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก แต่ก็ยังดีกว่าไม่บันทึกอะไรเลย แม้กระทั่งกล้อง CCTV ก็จะมีมุมจำกัดของมันอยู่ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย แม้จะเป็นความจริงเสี้ยวหนึ่ง เราพยายามบันทึกความจริงอย่างครอบคลุม จะพูดว่าเป็นกลางก็ได้ แต่ไม่ใช่ความเป็นกลางในอุดมคติ เพราะยังมีอีกฝ่ายที่ถูกรัฐกระทำอย่างไม่เป็นธรรม เราจึงเลือกนำเสนอความจริงที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง

ในงานของผมจะกล่าวถึงความจริงในสไตล์ของผม อย่างหนึ่งคือการสะท้อนใบหน้าของผู้คน อารมณ์ของเขา ความเชื่อของเขา อันนี้คือความจริงที่ผมเลือกจะเฟรมภาพ ส่วนความเป็นศิลปะก็สร้างสีสัน สร้างความน่าสนใจ สร้างความหมาย แต่ถ้าเป็นภาพถ่ายตามหนังสือพิมพ์ที่เขาถ่ายกว้างๆ ทั่วไปก็เป็นความจริงแบบหนึ่ง ชัด เคลียร์ แต่งานของผมมีทั้งความเป็นสื่อมวลชนและความเป็นศิลปะ ผมเชื่อว่าศิลปะในภาพถ่ายสามารถปลุกให้คืนชีพขึ้นมาได้เหมือนผีดิบแฟรงเกนสไตน์ ให้คนได้มองเห็น ได้กล่าวถึง

ผมก็เห็นด้วยว่าภาพถ่ายบอกเล่าความจริงชั่วขณะ แต่ก็ขึ้นอยู่ที่มุมกล้องและการเลือกนำเสนอด้วย บางครั้งอาจจะเพิ่มความหมายของความรุนแรง หรือเอามาวางเทียบกันแล้วเห็นความแตกต่าง คืองานศิลปะบางครั้งมันเป็นเรื่องของการตีความด้วย คนสร้างงานสามารถเลือกว่าจะเน้นหรือจะด้อยค่า อย่างไรก็ตามมันก็จะมีแกนกลางของความจริงอยู่ เป็นแกนกลางของความสมเหตุสมผลของสามัญสำนึก

การชุมนุมที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปี 2562 จนเกิดเป็นคณะราษฎร 2563 ถึงปัจจุบัน มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง และหลายครั้งที่ช่างภาพกลายเป็นคู่ขัดแย้งไปด้วย เพราะนิยามของช่างภาพอิสระและผู้ชุมนุมก็เลื่อนไหลไม่ชัดเจน จนเจ้าหน้าที่พยายามตีกรอบว่าใครคือสื่อ และใครไม่ใช่สื่อ พี่วินัยมีความคิดเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร

เรื่องนี้อาจเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี กล้องถ่ายรูปที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือทำให้พลเมืองเข้าถึงการถ่ายภาพได้โดยง่าย และเทคโนโลยีนั้นก็ทำให้เกิดช่างภาพภาคประชาชน นักข่าวพลเมือง ความเป็นนักข่าวพลเมืองบางครั้งเขาก็ออกมาทำหน้าที่สื่อพร้อมกับร่วมชุมนุมด้วย เพื่อที่จะสานต่อภารกิจตามความเชื่อของเขา หรือเขาอาจจะโปรกับกิจกรรมที่เขาเชื่อ และกิจกรรมนั้นก็เป็นคู่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เขาเป็นทั้งผู้สื่อข่าวและผู้ชุมนุม ซึ่งเยอะพอสมควร

ผมเคยไปร่วมกิจกรรมที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเขาเคยเชิญนักข่าวพลเมืองเข้ามาร่วมในการให้ความรู้ นักพลเมืองบางคนปฏิเสธที่จะยอมรับแนวคิดในการวางตัวหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ทำงานอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ หรืออยู่ในพื้นที่กลางสำหรับสื่อ บางคนประกาศตัวเองว่าเราจะต้องเสนอในด้านที่ดีของฝั่งเรา เราจะไม่เสนอสิ่งที่ไม่ดี เขาบอกว่าเพราะดูสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำสิ คือเขาอาจจะรู้สึกว่าอยากจะเอาสิ่งที่ทำไปชดเชยกับความน้อยเนื้อต่ำใจ ความโกรธแค้นของเขา ทำให้หลายครั้งนักข่าวพลเมืองเหล่านี้ก็กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบางทีกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับช่างภาพคนอื่น และการที่นักข่าวพลเมืองบางคนอาจไม่ได้หาความรู้เพิ่มเติมว่า ถ้าทำแบบนั้นแล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไปนักข่าวพลเมืองที่เป็นถูกขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ เขาก็ได้รับผลกระทบ หลายคนบาดเจ็บ เป็นคดีความ ถูกควบคุมตัว ถูกทำให้หมดพลังไป

นักข่าวพลเมืองมักถูกมองเป็นเหมือนสื่อที่ไม่มีอำนาจ และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ปรับตัวด้วย เขาจะมองด้วยความคิดเก่าว่าเป็นสื่อต้องมีบัตรผู้สื่อข่าวที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่เกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชนเลย ผมเองพอไม่ได้ทำงานประจำ อาจมีช่วงที่ทำงานพิเศษก็มีสิทธิขอบัตรได้ แต่พอหมดอายุบัตรก็ไม่ได้ ตรงนี้เป็นปัญหา จึงมีการพยายามสื่อสารว่าทุกคนสามารถเป็นสื่อและมีสิทธิในการถ่ายการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผมเห็นด้วย

บางครั้งถ้าเราจะรักษาภารกิจของเราในระยะยาว เราต้องหลีกเลี่ยงที่จะไปต่อล้อต่อเถียง หลีกเลี่ยงที่จะเป็นคู่ขัดแย้งกับเขา ถ้าเราสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐในหน้างานเขาจะอ้างกฎหมายหลายอย่าง อย่างช่วง พ.รก.ฉุกเฉินฯ เขาจะยึดกล้อง ยึดมือถือ ยึดการ์ด ยึดอะไรต่างๆ ก็ได้ คือเราสามารถอธิบายได้ แต่บางครั้งการอธิบายมันมีอารมณ์จนเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นข้อกล่าวหาว่าคุณกำลังดูหมิ่น แต่แน่นอนว่าฝั่งตำรวจเองก็ไม่เบา

การเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมือง แง่หนึ่งเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและยุคสมัย แต่อีกแง่เป็นเพราะประชาชนไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐ พี่วินัยคิดว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่

เกี่ยว ประชาชนไม่เชื่อใจรัฐ เพราะที่ผ่านมารัฐแม่งทำให้ประชาชนไม่เชื่อใจ

การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทั้งในแง่การเข้าถึงอุปกรณ์ หรือการที่ทุกคนสามารถถ่ายภาพได้ มีผลอย่างไรบ้างต่ออาชีพช่างภาพ

ก็มีผลนะ ด้วยความที่ทุกคนเขาถึงการถ่ายภาพได้ง่าย และทุกคนพยายามจะสื่อสารสิ่งที่ตัวเองเห็น สิ่งที่ตัวเองเชื่อ มีโลกออนไลน์เป็นพื้นที่รองรับ อาจจะกระทบช่างภาพในแง่ที่ว่าทุกคนคิดว่าภาพถ่ายเป็นของฟรี จับหยิบก็แค่ก็อบปี้หรือแชร์ แน่นอนว่าไม่เป็นไร เพราะเราเปิดช่องให้เขาแชร์ การที่เขาส่งต่อภาพที่มีพลังของเราอาจจะเพื่อสานต่อการเล่าความจริง ก็ไม่ว่าอะไรหรอก แต่ตัวช่างภาพอาจจะต้องพยายามใส่ลิขสิทธิ์ พยายามที่จะใส่ถ้อยคำแคปชั่นเพื่ออธิบายความจริงและความเชื่อของตัวเองเพื่อเป็นหลักฐาน เพราะบางทีอีกฝ่ายอาจเอาภาพไปบิดเบือน หรือไปเสริมแต่งความหมายที่ตรงกันข้าม

โดยภาพรวมตลอดเวลา 17 ปี ม็อบแต่ละยุคมีความแตกต่างกันอย่างไร

17 ปี อย่างกรณีเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงจะเห็นว่าคนที่ออกมาเป็นผู้ใหญ่ คนวัยทำงาน คนหนุ่มสาวแบบที่ไม่ใช่เด็กวัยรุ่น หรือบางคนเดินทางรอนแรมมาจากบ้านที่ต่างจังหวัด ซึ่งเราเห็นว่าการที่เขาเดินทางมาชุมนุมก็อาจจะมีแกนนำหรือกลุ่มขั้วการเมืองคอยสนับสนุน หรือการชุมนุมที่ชนชั้นกลางในเมืองพร้อมออกมาชุมนุม สมัยก่อนไม่มีออนไลน์ ไม่มีเฟซบุ๊ก คนก็มาที่หน้างาน เราจะเห็นคนอยู่บนท้องถนนมากมายมหาศาล อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ ทุกคนต้องมาที่ท้องถนน แต่การชุมนุมช่วงหลังทุกคนสามารถมีส่วนร่วมจากหน้าจอมือถือ ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ความจริงถูกขุดคุ้ยได้มากขึ้น แต่จำนวนผู้ชุมนุมอาจไม่เยอะเท่าสมัยก่อน ส่วนวัยของผู้ชุมนุมก็จะต่างกัน ถ้าเทียบกับเสื้อเหลืองเสื้อแดง หลังรัฐประหารปี 2557 ที่มีการเกิดขึ้นของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เพื่อจะต่อสู้ไล่ประยุทธ์ อาจจะมีคนเสื้อแดงรวมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เยอะเท่าสมัยก่อน เพราะถูกทำให้หมดพลังจากเหตุการณ์ปี 2553 และก่อนรัฐประหารปี 2557

ในช่วงหลังเราสังเกตว่าใบหน้าของผู้ชุมนุมนั้นเด็กลงเรื่อยๆ เราแปลกใจมาก อย่างเด็กประถมหรือมัธยมที่ออกมาวิ่งแฮมทาโร่ เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมการชุมนุมของพวกเขาต่างจากเสื้อเหลืองเสื้อแดง ในยุคนั้นเพลงที่ใช้จะเป็นเพลงยุคสงครามเย็น อย่างคาราบาว จิ้น-กรรมาชน แต่ของเด็กเป็นเพลงแฮมทาโร่ หรือเพลงอย่าง Do You Hear the People Sing เขามีวัฒนธรรมของเขา ซึ่งเรามองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ดี แต่ก็อาจจะงงๆ นิดหน่อย คือเขามีการสื่อสารในกลุ่มของเขา มีการรับรู้ที่มากและไวขึ้นจากเมื่อก่อน

การชุมนุมของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองต่างๆ อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น แต่ก็มีบางคนนะที่นั่งรถไฟมาแล้วก็สื่อสารทางเฟซบุ๊กว่ากำลังมาร่วมชุมนุมกับเพื่อนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเขามาด้วยทุนของเขา แพสชันของเขา แตกต่างจากสมัยเสื้อเหลืองเสื้อแดงที่จะมาพร้อมกับคนในหมู่บ้านเดียวกัน

ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ในฐานะช่างภาพต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง

เมื่อก่อนเคยคิดอยู่ว่าเดี๋ยวสักวันจะต้องมีซีนแบบนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐจะรอโอกาสที่จะใช้ความรุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธจริง คิดว่าสักวันต้องมีการล้มตายเหมือนกับประวัติศาสตร์ของประเทศอื่น คิดไว้กระทั่งว่าสักวันตัวเองอาจจะโดนยิง พอวันนั้นมาถึง น่าตกใจตรงที่เราเห็นใบหน้าของพลทหารที่อยู่ด้านหน้า เขาก็เป็นคนต่างจังหวัดเหมือนกันนะ ส่วนหนึ่งเราเข้าใจว่าเขาถูกสั่งมาให้ทำหน้าที่สลายการชุมนุม แต่ใบหน้าเขาก็ดูสับสน

เรื่องเห็นคนโดนยิงมันเห็นอยู่แล้ว มีคนหนึ่งโดนยิงด้วยกระสุนยางซึ่งความจริงไม่ใช่ยาง แต่เป็นเหล็ก ตรงแก้มฉีกขาด หรือแม้กระทั่งอยู่ในโรงพยาบาลเห็นคนเสื้อแดงถูกยิงขากระดูกแตก ยิงท้องอะไรแบบนี้ ทหารก็มีนะที่มาร่วมชุมนุม กระแสคนเสื้อแดงที่เกลียดสื่อก็มี เพราะตอนนั้นสื่อมันทำตัวให้น่าผิดหวัง สื่อกระแสหลักบางคนก็รายงานไปทางรัฐ

มันหดหู่ เราเห็นเพื่อนหลายคน เพื่อนในวงการ ทุกคนเลือกที่จะอยู่ฝั่งรัฐ หลังจากสลายการชุมนุมสักพักหนึ่งมีกลุ่มช่างภาพสารคดีที่มีชื่อเสียง เหล่าคนดังในแวดวงข่าวสารคดี เขานัดชุมนุมกันที่ราชดำเนินจะแสดงนิทรรศการ ผมก็ไปฟังเขา สุดท้ายผมถอนตัว เพราะตกใจที่เขาพูดว่าเขาต้องการแสดงตัวอย่างในสิ่งที่ไม่ดีที่คนเสื้อแดงมาชุมนุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ผมคิด-โห ไอ้พวกเหี้ย ไอ้สัตว์ เขาโดนยิง เขาโดนฆ่า มึงคิดแบบนี้ได้ยังไง พวกมึงเป็นผู้ที่ทำงานภาคประชาชน ปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่มึงมองข้ามสิ่งนี้ได้ยังไง ผมถอนตัวแม่งเลย และไม่ได้สมาคมกับคนพวกนี้มานานแล้ว ผมเหมือนแกะดำ และอย่างเหตุการณ์บิ๊กคลีนนิ่งปี 2553 ที่มีนิตยสารดังๆ หลายที่เขียนถึง ทุกคนไปกันหมด ชื่นชอบกันหมด เรารู้สึกว่าประเทศไทยเป็นแบบนี้เหรอ ไม่เข้าใจ บางคนภาษาอังกฤษดี ไปเรียนต่างประเทศ แม่งรู้เรื่องราวประเทศเพื่อนบ้าน รู้เรื่องราวในพม่า แบบโอ้โห มองเห็นความอยุติธรรม มองเห็นความเลวร้าย แต่ประเทศตัวเองกลับบอดใบ้ ไม่พูดอะไรสักอย่าง

มี 2 สองเหตุการณ์ที่แม้จะเกิดขึ้นห่างกัน แต่สุดท้ายทั้งม็อบพันธมิตรฯ และม็อบ กปปส. ต่างจบลงด้วยการรัฐประหาร สิ่งนี้สะท้อนอะไรได้บ้าง

ด้วยความกังวลของกลุ่มชนชั้นนำหรือกลุ่มขั้วอำนาจ เขาจึงสร้างสงครามตัวแทน และกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย แล้วไปหาเหตุผลที่จะปราบปรามผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรัฐ ต่อเผด็จการทหาร เพราะประเทศไทยปกครองด้วยเผด็จการทหารมายาวนาน มีอำนาจบางอย่างที่ซัพพอร์ตรงนี้อยู่ ม็อบพันธมิตรฯ และม็อบ กปปส. คือม็อบที่ส่งต่อกัน เปลี่ยนแค่ชื่อ เปลี่ยนแกนนำ มันเป็นการทำซ้ำ เพราะคราวก่อนไม่สำเร็จ ตอนปี 2549 มันเสียของ แม้กระทั่งเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็เป็นการหาช่องทางให้ฝั่งตรงข้ามดับสูญไป และเมื่อไหร่ที่ไฟเขียว ไม่มีปรานีอยู่แล้ว อย่างไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวในแบบที่ว่ากูจะไม่ยอม กูเคยใหญ่ กูเคยมีอำนาจ กูเคยปกครอง

เชื่อไหมว่าทั้งม็อบพันธมิตรฯ และม็อบ กปปส. มีความจงใจให้เกิดการรัฐประหาร

แน่นอนอยู่แล้ว ประเทศไทยมีรัฐประหารตั้ง 10 กว่าครั้ง จะไม่คิดแบบนี้ได้ยังไง มันจะมีพวกศิลปิน ดารา หรือพวกระดับมีปัญญาที่นำเสนอว่าตัวเองฉลาด ออกมาบอกว่าที่เคยไปเข้าร่วมชุมนุมเพราะหลงกล ไม่คิดว่าจะมีรัฐประหาร ไอ้ฟาย กูความรู้น้อยกว่ามึง หรือแม้แต่ชาวบ้านทั่วไป เขายังรู้เลย

ด้วยความเป็นช่างภาพที่ต้องลงไปทำงานในพื้นที่ชุมนุม เห็นความรู้สึกอะไรของผู้ชุมนุมบ้างขณะมองผ่านเลนส์

พูดถึงม็อบเยาวชนแล้วกัน รู้สึกว่าแววตาของเด็กเหมือนเขารับรู้ความจริงจากข้อมูลข่าวสารที่เขาได้อ่าน ซึ่งปรากฏการณ์ของม็อบเด็ก ผมรู้สึกว่าการรวมตัวของพวกเขามันเป็นช่วงเวลาแห่งความฝัน ถ้าเทียบกับสมัยที่คนรุ่นก่อนเคยรวมตัวกันแล้วตอนนี้ก็เงียบไปเลย เพราะมันมีเหตุปัจจัยให้เงียบลง เราเข้าใจตรงนี้อยู่

ในม็อบเยาวชน เราถ่ายรูปพวกเขา ใบหน้าและดวงตา การแต่งกายของเขา การนำเสนอของเขาแตกต่างจากม็อบเหลืองม็อบแดงที่มีโครงสร้างของแกนนำ มีพรรคการเมืองต่างๆ สนับสนุน มีการแสดงบนเวที มีงบประมาณ มีอาหารให้กิน เขาปักหลักค้างคืนได้ แต่เด็กเขามาจากบ้าน บางครั้งก็ไม่มีตังค์ ข้าวกล่องก็ไม่มี ห้องน้ำก็ไม่มี แต่เราเห็นแววตาของเยาวชนเหล่านั้น เห็นความอยากมีส่วนร่วมในการต่อสู้ เหมือนพวกเขารับรู้ว่าความจริงเป็นแบบนี้ ประเทศไทยเป็นแบบนี้ และจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง พวกเขาพูดถึงต้นตอของปัญหาเหล่านั้นอย่างเปิดเผย เด็กประถมเด็กมัธยมบางคนชูหนังสือที่ตัวเองอ่าน มันทำให้เราทึ่ง เรารู้สึกว่าต่อไปนี้เมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม พวกเขาเติบโตขึ้น สร้างชีวิตชีวาให้เรามีความหวังไปด้วย

ในการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ช่างภาพมีหลักคิดอย่างไรว่า อะไรควรถ่ายและภาพอะไรที่ไม่ควรปรากฏ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือลดทอนคุณค่าของผู้ชุมนุม

จริงๆ แล้วไม่ต้องคิดมาก ถ่ายไปก่อน เกิดอะไรขึ้นถ่ายๆ แล้วค่อยมาเลือกนำเสนอตามกาลเทศะดีกว่า บางภาพถ้าเราเอามานำเสนอแล้วเราอาจไม่ได้ทำงานต่อ ไม่เชิงว่าอยู่เป็น แต่เราอยากอยู่ต่อ หรือถ้าภาพนั้นไปละเมิด ไปทำให้ใครได้รับความเดือดร้อน แบบนั้นไม่เอา แต่ถ้าคนในภาพกำลังทำความเดือดร้อนให้คนอื่น อันนั้นเราอาจจะนำเสนอได้ อีกอย่างก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและทัศนคติของช่างภาพแต่ละคน

สิ่งใดคืออุปสรรคของการทำงานภาคสนาม

ความรุนแรงที่รัฐทำกับเรา ด้วยการยับยั้งทุกรูปแบบ ช่างภาพอาจมีความพิเศษกว่าสื่อที่รายงานเฉพาะจุด เพราะต้องหามุมเพื่อที่จะถ่ายทอดความจริงให้ได้มากที่สุด บางครั้งการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นอุปสรรคของช่างภาพ เพราะเราเองก็รักตัวกลัวตาย ไม่อยากบาดเจ็บ การที่ผมโดนยิงมา 4 ครั้ง ก็แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความรุนแรงของรัฐ นอกจากนั้นคือการคุกคามของเจ้าหน้าที่ อย่างเหตุการณ์ที่ไปตามบันทึกการยิงเลเซอร์ “ตามหาความจริง” ตำรวจก็ตามมาที่บ้าน มาถ่ายรูป มีหมายเรียก

การชุมนุมมักมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที พี่วินัยมีวิธีการทำงานอย่างไรให้ได้ภาพแบบที่ปรากฏในนิทรรศการ

ผมเป็นช่างภาพอิสระ แต่ด้วยความที่เขาเปิดอบรม ผมก็ไปขอร่วมด้วย รวมถึงจากการอ่านหาความรู้ อย่างเวลาอยู่ภาคสนาม เราดูการจัดกำลังของเขา ข้าวของเครื่องใช้ของเขา ดูอาวุธที่เขาใช้ ดูแถวต่อไป หรือบางทีผมก็ขี่มอเตอร์ไซค์สำรวจไปรอบๆ ว่ามีจำนวนยานพาหนะประเภทไหน รถฉีดน้ำ รถที่เตรียมไว้จับกุม ดูการแต่งกาย อุปกรณ์ที่เขาใช้ แล้วจำแนกว่าเขาจะใช้ความรุนแรงได้ถึงขนาดไหน อย่างผู้ชุมนุมเราก็ดูว่าพวกเขาเตรียมข้าวของที่เอาไว้หุงต้ม มีที่พัก แปลว่าเขาจะปักหลักอยู่ยาว ดูสัญลักษณ์ ผ้าพันคอ สีเสื้อ เราก็เริ่มรู้ว่าศึกนี้ยาวแน่

ส่วนการได้ภาพมานั้น เราเองต้องมีทักษะ ต้องมีสติ มีสมาธิ เวลาที่ใกล้จะเกิดความรุนแรงเราจะคาดการณ์ได้จากการแปรรูปขบวน สถานการณ์ที่ผู้ชุมนุมขยับเข้ามา บางเฟรมต้องใช้ความอดทนรอ ต้องปั้น เมื่อเห็นแล้วว่าแสงเงามันได้ ตรงนี้เกี่ยวกับประสบการณ์ของช่างภาพด้วย ความสนใจ การฝึกฝน และอย่างที่บอกงานของผมจะพยายามเก็บบันทึกใบหน้าและดวงตา พอมันมากขึ้น คุณค่าของงานก็จะเกิดขึ้น

อะไรคือความฝันที่อยากทำในอนาคต

ผมแค่อยากมีสุขภาพที่ดี เพื่อที่จะได้ทำงานต่ออย่างไม่ต้องกังวล สองคือฝันอยากจะมีผู้สนับสนุนและดำเนินการจัดทำนิทรรศการต่อไป ซึ่งก็มีแล้ว และจะทำโฟโต้บุ๊ก ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องการเมือง แต่ยังมีเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง อย่างเช่นงานในสามจังหวัดชายแดนใต้ เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องราวของคนที่อยู่ในเมืองในภาวะต่างๆ มีหลายซีรีส์ที่ผมทำ มีเรื่องราวเกี่ยวกับคนอีกมากมายให้ทำ แต่เราไม่มีตังค์หรอก เราดีใจอย่างหนึ่งคือเวลาผ่านไป พองานมันมีคุณค่า เราก็จะเจอคนที่เห็นคุณค่าเข้ามาสนับสนุน ความสุขของเราคือการได้ทำต่อไปเรื่อยๆ ได้ใช้ชีวิตไปกับมัน การถ่ายภาพอยู่กับตัวเรา เป็นทั้งชีวิต เป็นทั้งงานอดิเรก เป็นความสุขของเรา

Before The Scenes

ผมควรจบบทสัมภาษณ์ตรงคำถามสุดท้ายที่เตรียมไว้เหมือนเช่นที่เคยทำ หากครั้งนี้ผมมีความตั้งใจให้ต่างออกไป ก่อนหน้าที่จะเข้าคำถามแรกที่เป็นคำถามจริงๆ ที่เตรียมมา ในร้านกาแฟใกล้แกลเลอรี ซึ่งเราใช้เป็นสถานที่พูดคุยและแอบหลบไอร้อนของแดดบ่าย พี่วินัยเล่าเรื่องราวในอดีตให้ผมฟัง ตั้งแต่ฟิล์มม้วนแรก สู่เส้นทางการเป็นช่างภาพข่าว

ในฐานะผู้สัมภาษณ์และผู้เขียน ผมกดปุ่มบันทึกเสียงนั้นไว้เพื่อไม่ให้บางคำถามและบางคำตอบหล่นหายไป อย่างคำถามที่ว่า อะไรเป็นจุดที่ทำให้พี่วินัยปักใจว่า เอาล่ะ…ฉันจะเป็นช่างภาพ

“คนอื่นอาจบอกว่าไปเจออะไรปุ๊บ แล้วกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลง ผมไม่มีหรอก ของผมจะผสมเล็กผสมน้อย เห็นนู่นเห็นนี่ เราไม่ได้ปักธงตั้งแต่แรกว่าฉันจะเป็นช่างภาพ เพราะความรู้สึกของชนชั้นกลางระดับล่างนั้น การถ่ายรูปมันเป็นความฝันที่ราคาแพง ต้องใช้เงินซื้ออุปกรณ์ ตอนนั้นรู้สึกว่าเราไม่มีตังค์หรอก แต่มีสิ่งที่สะสมไปเรื่อยๆ คือการวาด การตัดแปะ หรือการเขียนบันทึก”

ผมได้เห็นบางส่วนที่พี่วินัยเขียนบันทึกไว้ในอดีต เห็นภาพวาดจากการทดลองถอดชิ้นส่วนเลนส์ด้วยตัวเอง ภาพจากการตัดแปะที่มาจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทุกวันนี้พี่วินัยใช้เวลาว่างจากการทำงาน ออกมายืดเส้นยืดสายด้วยการขับ Grab และใช้โอกาสนั้นเดินทางออกนอกเส้นทางที่คุ้นเคยเพื่อค้นหาวัตถุดิบใหม่ๆ ในการทำงาน หลายครั้งที่พี่วินัยขี่มอเตอร์ไซค์อยู่บนถนน หรืออยู่ในจุดที่ไม่สามารถ

ถ่ายภาพได้ พี่วินัยก็จะใช้โทรศัพท์ปักหมุดสถานที่นั้นไว้ในแผนที่พร้อมข้อความสั้นๆ แล้วหาโอกาสกลับไปอีกครั้งการถ่ายรูปเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกของพี่วินัย เกิดขึ้นจากการไปยืมกล้องของลุง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นสมบัติของพ่อพี่วินัยมาก่อน แต่เมื่อย้ายไปอยู่อีสาน พ่อก็ขายต่อให้ลุง กล้องตัวนั้นยี่ห้อ Petri เป็น Rangefinder

“ตอนนั้นเป็นกระเป๋ารถเมล์ ซื้อฟิล์มม้วนหนึ่งแล้วนั่งรถส้มไปลงพัทยาเหนือ แล้วก็เดินไปจนถึงหาดจอมเทียน เดินอย่างเดียว ขึ้นไปบนภูเขาถ่ายวิว เดินถ่ายไปเรื่อย ถึงหาดจอมเทียนตอนพระอาทิตย์ตกดิน ตรงนั้นมีกระท่อมหลังคามุงจากสำหรับนักท่องเที่ยวตามชายหาด จากนั้นนั่งรถสองแถวไปพัทยาใต้ ที่ปัจจุบันเป็นวอล์กกิงสตรีต แต่ตอนนั้นเป็นบาร์เบียร์ ภาพสุดท้ายเราถ่ายขอทาน เป็นขอทานที่นั่งอยู่หน้าบาร์เบียร์ ในพื้นที่ที่คนกำลังสนุกสนานรื่นเริง เรารู้สึกว่าน่าจะเป็นภาพแนว Documentary เฟรมแรกในชีวิต”

หลังจากฟิล์มม้วนแรกที่พัทยา พี่วินัยไม่ได้ถ่ายภาพอีกเลย สำหรับอาชีพกระเป๋ารถเมล์ที่ต้องทำงานเลี้ยงดูครอบครัว ประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นแค่การค้นหาและการผจญภัยของวัยหนุ่ม เขายังไม่ได้ปักใจในการเป็นช่างภาพ

พี่วินัยเป็นกระเป๋ารถเมล์อยู่ 7 ปี ก่อนจะไปเป็นทหารแล้วลาออกมาทำงานโรงงาน ซึ่งในช่วงระหว่างนั้นเองที่แสงแรกของความสนใจในการเป็นช่างภาพถูกจุดประกายขึ้น ในช่วงที่เป็นทหาร พี่วินัยสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อที่จะได้อ่านหนังสือ

“หลักสูตรปริญญาตรีจะมีนิเทศศาสตร์ ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่านิเทศศาสตร์คืออะไร แต่รู้ว่าถ้าจะเป็นช่างภาพ เป็นนักข่าว ต้องเรียนอันนี้ เราก็อ่านหนังสือท่องจำไปสอบที่ตัวเมืองกาญจนบุรี 150 ข้อ มั่นใจว่าผิดไม่เกิน 10 ข้อ แต่ไม่มีกล้อง ไม่มีฟิล์ม ไม่มีห่าอะไรเลยนะ” พี่วินัยเล่าพลางหัวเราะ “พอกลับมากรุงเทพฯ แล้วก็ไปทำงานโรงงาน เก็บเงินซื้อกล้อง ใฝ่ฝันอยากได้ Nikon FM2 แต่ไม่ไหวมันแพง สุดท้ายก็ได้ Pentax K1000 พร้อมเลนส์ 50 มม. ซื้อที่สะพานเหล็ก แล้วก็ซื้อฟิล์มม้วนหนึ่ง นั่งรถเมล์มาลงสนามหลวง ถ่ายคนตาบอด ถ่ายแมว ถ่ายหมา ถ่ายวัด ดีบ้างไม่ดีบ้าง”

ชีวิตช่วงที่ทำงานโรงงาน พี่วินัยมักจะดูหนังสือพิมพ์หน้ารับสมัครงานเป็นประจำ แล้ววันหนึ่งก็เจอประกาศรับสมัครงานผู้สื่อข่าวธุรกิจ แต่มารู้เอาทีหลังว่าตำแหน่งผู้สื่อข่าวธุรกิจที่ว่านั้นไม่ต่างจากเซลล์หาโฆษณามาลงนิตยสาร

“เป็นนิตยสารเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง บริษัทนี้ทำนิตยสารเกี่ยวกับการเลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงกุ้ง เขาจะทำนิตยสารใหม่เกี่ยวกับคนทำฟาร์มหมา เราก็ต้องไปหาโฆษณา พอเขาซื้อโฆษณาเราก็จะได้ถ่ายหมา ได้ถ่ายเจ้าของหมา และก็ถ่ายคอกหมา หรือถ่ายร้านขายกรงหมา อะไรประมาณนี้ เลนส์ 50 มม. ตัวเดียวถ่ายทุกอย่าง แต่การถ่ายหมานี่แหละ ทำให้เราได้ถ่ายจริงจัง เราถึงบอกว่าเราเป็นหนี้บุญคุณหมา เพราะหมาทำให้เราถ่ายรูปเป็น” พี่วินัยหัวเราะ ยิ้มเรื่อ เหมือนกับที่ยิ้มและหัวเราะมาเกือบตลอดการพูดคุย

“ทำนิตยสารหมาอยู่ 4-5 เดือน ก็ไปอ่านหนังสือพิมพ์เจอว่านิตยสาร Bangkok this Weekend, Pattaya this Weekend และ SouthThai Magazine เขารับช่างภาพ เจ้าของบริษัทถามว่าถ่ายฟิล์มสไลด์เป็นไหม ผมบอกถ่ายเป็นไว้ก่อนเลย แต่ไม่เคยถ่ายนะ เราเคยแต่อ่าน คือยังไงก็แล้วแต่ เราจะต้องเอาขาข้างหนึ่งเข้าไปให้ได้ แล้วค่อยหาวิธีแก้ไขเอาอีกข้างเข้าไป หลังจากนั้นเลยได้ถ่ายภาพท่องเที่ยวอยู่ 2 ปีครึ่ง ถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่ฝรั่งเที่ยว มันก็สนุกดีนะ ชีวิตไม่จำเจ แต่พอทำๆ ไปก็รู้สึกว่าต้องการอะไรที่มันเข้มข้นกว่านี้ จนบังเอิญไปเห็นหนังสือพิมพ์ Bangkok Post รับสมัครช่างภาพ เราก็สมัครได้ ทั้งที่วุฒิไม่ถึง ใบสมัครต้องเขียนภาษาอังกฤษ เราก็ไปซื้อหนังสือตำราเขียนจดหมายรักภาษาอังกฤษ ตำราเขียนจดหมายสมัครงานภาษาอังกฤษมาฝึกตัดต่อพันธุกรรมให้เป็นรูปเป็นร่าง จนเขาเห็นความพยายาม ทั้งที่เขารับปริญญาตรี เราแค่ ม.3 แต่เรามีผลงาน”

การได้เข้าทำงานกับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post แม้จะอยู่แผนกนิตยสาร แต่ก็มีการทำงานแนวข่าว พี่วินัยได้ถ่ายงานสัมภาษณ์ งานสารคดี ถ่ายพอร์ตเทรต จนกระทั่งช่วงปี 2546 พี่วินัยก็กลายเป็นช่างภาพไทยคนแรกที่ได้ร่วมงานกับสำนักข่าวต่างประเทศ อย่างสำนักข่าว EPA (European Pressphoto Agency) ของเยอรมันที่มาเปิดสาขาในกลุ่มประเทศ Southeast Asia ซึ่งรวมถึงไทยด้วย พี่วินัยทำงานกับ EPA ราว 2 ปีครึ่ง ก่อนจะลาออกมาเป็นช่างภาพอิสระ ในช่วงเวลาเดียวกับการถือกำเนิดของม็อบพันธมิตรฯ

“ตอนที่ผมอยู่สำนักข่าว EPA เริ่มมีการก่อตัวของม็อบต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ผมก็ต้องไปถ่าย นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นช่างภาพการเมือง และช่างภาพแนว Photo Journalist เรารู้สึกว่าได้ผจญภัย เราชอบการอิมโพรไวส์ในหน้างาน รู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่ใช่

“งานของผมไม่ได้บันทึกแค่ความจริง ผมทำงานศิลปะ ผมพยายามจะมองหาภาพที่บันทึกความจริง และมีองค์ประกอบแสงเงาที่ดี ภาพที่เป็นเหมือนผีดิบแฟรงเกนสไตน์คอยหลอกหลอนอำนาจเผด็จการ

“เส้นทางของผมมันค่อยเป็นค่อยไป แต่เหมือนเรารู้จักตัวเอง วิเคราะห์ตัวเองแล้วว่าจะทำในสิ่งที่อยากจะเป็น พยายามยกระดับคุณค่าของงาน ยกระดับเนื้อหาของงานให้มากขึ้นๆ เหมือนเราทำตามใจปรารถนา คืออาจจะมีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับการทำตามแพสชันว่าดีหรือไม่ดี ไม่รู้นะ แต่ผมทำตามแพสชันมาตลอด แม้บางช่วงแทบไม่มีจะกิน แต่กูไม่ยอมหรอก และภาพถ่ายตลอดเวลา 17 ปี ซึ่งรวมถึงภาพที่แสดงในนิทรรศการครั้งนี้เป็นลิขสิทธิ์ของผม มีหลายเหตุผลที่ผมลาออกจาก EPA หนึ่งในเหตุผลนั้นคือ เสียดาย เราเป็นคนถ่าย แต่ลิขสิทธิ์เป็นของบริษัท เคยมีคนถามนะ ทำไมวินัยเหมือนดูจน เคยทำงานมีเงินเดือนดีๆ ทำไมลาออก ผมก็บอกว่าผมอยากเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ คือเราเหนียวแน่นกับสิ่งนี้ เราถึงไม่ทำอาชีพอื่น”

นิทรรศการ RED, YELLOW & BEYOND โดย วินัย ดิษฐจร
จัดแสดงพร้อมกันใน 2 แกลอรี คือ VS Gallery และ CARTEL Artspace ที่ชุมชนศิลปะ N22 ซอยนราธิวาส 22 ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ถึง 2 กรกฎาคม 2566

จรณ์ ยวนเจริญ
มนุษย์ขี้กลัว ผู้ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ทาสหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า