เรื่อง : อภิรดา มีเดช
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
อะไรคือจุดอ่อนลำดับต้นๆ ของหนังไทยในทุก พ.ศ.
การแสดงจากนักแสดงหน้าใหม่ สเปเชียลเอฟเฟ็คท์ที่ไม่ทำก็ไม่มีใครว่า ลีลาสวิงสวายแต่ไม่ทำงาน หรือจักรวาลทั้งใบที่ตกม้าตายกันมานักต่อนัก
ถ้าพูดถึง ‘จีทีเอช’ หลายคนคงนึกถึงบรรยากาศโฮแมนติกที่เกาหลี ไม่ก็เสียง ปี๊บๆๆ จากประตูรถไฟฟ้า จากความสำเร็จของหนังส่วนใหญ่ในค่าย แว่วข่าวลือว่าที่นี่มีทีมวิจัยโดยเฉพาะว่าเรื่องไหนจะ ‘ทำเงิน’ หรือไม่
นอกจากชื่อหนังที่คนจำได้ติดปาก ชื่อพระเอก นางเอก หรือดาราที่ขโมยซีนในหนัง มักถูกจำในลำดับถัดมา ชื่อผู้กำกับอาจเป็นที่สนใจเฉพาะกลุ่ม แต่มีสักกี่คนจะยังหลังติดเบาะรอชมเครดิตท้ายเรื่องเพื่อรอดูพระเอกตัวจริงของหนัง
วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ หนึ่งใน ‘สคริปต์ ซูเปอร์ไวเซอร์’ สาวร่างเล็กประจำค่ายหนังอารมณ์ดี เล่าไปหัวเราะไปหลังได้ยินคำถามแรกของเรา “เบื้องหลังความสำเร็จของจีทีเอช มาจากทีมวิจัยใช่ไหม”
เนรมิตจักรวาลจาก 1 บรรทัด
ปกติหนังต่างประเทศ โปรเจ็คท์จะเริ่มจากโปรดิวเซอร์ ส่วนหนังไทยจะค่อนข้างแตกต่าง ผู้กำกับไทยมักควบทั้งตำแหน่งโปรดิวเซอร์ และคนเขียนบทไปด้วยในตัว
“ประเทศนี้ แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีคนเขียนบทอาชีพ แต่พอเริ่มทำจีทีเอช ก็รู้สึกว่าเราต้องพยายามสร้างตรงนี้ขึ้นมา”
คนเขียนบท – โปรดิวเซอร์ – สคริปต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ รวมอยู่ในตัวหญิงสาวผู้นี้
“บางเรื่องเข้าไปช่วยเยอะ ก็เป็นเครดิตเขียนบท บางเรื่องคนเขียนบทเยอะแล้ว เราเลยไม่ใส่เครดิต จริงๆ แทบทุกเรื่องทำเท่ากัน หลังๆ เลยหาจุดลงตัว เพราะในออฟฟิศกันเองยังงงว่า ตกลงเราตำแหน่งอะไรกันแน่ เพราะตำแหน่งนี้หนังไทยไม่มี”
ถ้าจะเอาเครดิตใกล้เคียงสุด เธอแนะให้ดูของพิกซาร์ ที่แยกตำแหน่งเกี่ยวกับบทเสียยิบย่อย ตั้งแต่ Story / Story Supervisor / Script / Character สุดท้ายก็ลงตัวที่ สคริปต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ หรือการดูแลภาพรวมของบทหนัง
ช่วงแรก วรรณฤดีเข้ามาช่วยอ่านบททุกเรื่องที่จีทีเอชทำ ให้ความคิดเห็นและวางตัวคนเขียนบท
“บางครั้งผู้กำกับที่คิดว่ามีไอเดีย ก็ลองเขียนมา 7-8 หน้า เราอ่านแล้วรู้สึกชอบบรรทัดเดียว ก็ดึงเอาไว้ แล้วค่อยๆ ทำให้มันกลายเป็นเรื่อง กลายเป็นทรีตเมนท์ กลายเป็นสกรีนเพลย์”
กว่าจะออกมาเป็นหนังแต่ละเรื่อง ขั้นตอนที่ยาวนานและต้องขับเค้นจินตนาการจากสมองซีกขวาที่สุด คือการทำบท ซึ่งกินเวลาเกินครึ่งชีวิตของหนังเรื่องนั้นๆ ยกตัวอย่าง ‘ซีซันเชนจ์’ เฉพาะบททำกันปีครึ่ง แต่พอบทเสร็จ เข้าสู่กระบวนการโปรดักชั่น (ถ่าย ตัดต่อ โปรโมท) จนถึงออกฉายประมาณปีเดียวเท่านั้น
ทันทีที่ออกไปถ่ายหนัง แทบไม่มีเวลาปรับเปลี่ยนอะไรแล้ว ทุกอย่างต้องรันตามคิว ใช้เงินมหาศาลกว่าตอนทำบทเยอะ เพียงแต่ต้องใช้ความอึดเข้าสู้ เพราะบทหนังแต่ละเรื่อง ไม่เคยจบในร่างเดียว
วรรณฤดีพูดอย่างคนเข้าใจธรรมชาติ “พระเจ้ายังสร้างโลกตั้ง 7 วันเลย คนเขียนบทจะเขียนร่างเดียวเสร็จได้ยังไง”
บทหนังจึงต้องเริ่มอย่างเป็นขั้นตอน ทำเรื่องย่อก่อน แล้วค่อยทำทรีตเมนท์ (ลำดับซีนว่าอะไรเกิดก่อนหลัง) จากนั้นถึงเข้าสู่สกรีนเพลย์ (บทสนทนา เข้าออกซีนตรงไหน) เพื่อลดขั้นตอนความผิดพลาด เมื่อสร้างจักรวาลออกมาแล้วในการทำเรื่องย่อ ใครเป็นใคร สัมพันธ์กันยังไง เกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วค่อยเล่าให้เป็นหนัง
“บางทีเขียน 10 หน้า อาจจะดีแค่หน้าเดียว พอเขียนเวอร์ชั่น 2 อีก 10 หน้า อาจจะดีแค่หน้าเดียว แต่อย่างน้อย เราก็จะมีบทดีตั้ง 2 หน้าแล้ว” รักจะเป็นคนเขียนบท ต้องอดทน และซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองให้มากๆ
หนังเรื่องไหนทำแล้วรู้สึกว่ายังไม่ค่อยดี วรรณฤดีก็ยอมรับเพราะรู้สึกได้ “เราเป็นคนทำ เรารู้ แต่ก็เต็มความสามารถแล้วเท่าที่เวลามี” ยุติธรรมแล้วก็เข้าใจง่ายมากสำหรับคนทำงาน ไม่มีอะไรเกินความคาดหมาย ถ้าทำแล้วไม่ค่อยชอบ ผ่านไปแล้วคิดออกว่าพลาดตรงไหน ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์
“ตราบใดที่เป็นแบบนี้ เรายังรู้สึกมั่นคงในการทำงาน เพราะถ้าทำหนังดี ก็จะมีคนดู คนก็ชอบ แล้วก็ไม่ขาดทุน”
หนังอาร์ตหลบไป…
หลายคนมองว่าจีทีเอชทำแต่หนัง ‘ฟีลกู๊ด’ ฟังดูดี แต่บางทีคล้ายโดนสบประมาทอยู่ในที
6 ปีที่ผ่านมาของจีทีเอช หลายครั้งเมื่อมีความคาดหวังให้ทำอะไรดีๆ ได้เร็วๆ จึงค่อนข้างกดดันบ้าง
“ไม่มีทางที่บริษัทหนึ่งทำหนังแนวเดียวแล้วอยู่ได้ ทุกสิ่งอยู่ได้ด้วยความหลากหลาย แต่เราเพิ่งเริ่มพยายามทำหนังให้ไม่เจ๊ง ทำบทให้มีดีลีทซีน (ฉากที่ถูกตัด) น้อยๆ เพราะมันสูญเสียทรัพยากร เรายังเพิ่งเรียนรู้เรื่องพวกนี้อยู่เลย”
แล้วเรื่องที่จีทีเอชเลือกเฟ้นแต่หนัง ‘ทำเงิน’ ไม่สน ‘กล่อง’ อย่างหนังตระเวนฉายตามเทศกาลหนังทั่วโลก ไม่อยากทำบ้างหรือ
หากผู้กำกับโลกนี้มี 2 สำนัก คือสำนักอาร์ต ทำเพื่อศิลปะหนัง กับสำนักสื่อสาร ทำเพื่อสื่อสารกับคนดู เธอก็ยืนยันว่า จีทีเอชเป็นสำนักหลัง เพราะเกิดจากกลุ่มก้อนของนักสื่อสารมวลชน
“ทุกคนที่นี่อยากทำหนังที่สื่อสารกับคนดู เราไม่อยากทำหนังยกย่องศิลปะหนังอย่างเดียว เพราะคนที่นี่ไม่ใช่ เราเชียร์เต็มที่นะ แต่คงทำด้วยกันไม่ได้”
ในฟากที่เธอก็เป็น 1 ใน 8 บอร์ดบริษัท ไม่ควรทำให้จีทีเอชขาดทุน อย่างน้อยที่สุดหนังไม่ควรจะเจ๊ง หน้าที่โปรดิวเซอร์มีเท่านี้เอง-ทำอย่างไรให้ความฝันที่มีความเสี่ยงกลายเป็นหนังได้
“ไม่มีใครคิดตั้งแต่ต้นหรอกว่า มาทำหนังร้อยล้านกัน ให้ตายเถอะ คิดไม่ได้หรอก”
‘ไฟนอล สกอร์’ เป็นสารคดีที่พิสูจน์ให้เห็นว่าสุดยอดยาขมของหนังไทย ถ้าพยายามสื่อสารและเข้าหาคนดูจริงๆ ก็เป็นไปได้ และ-ไม่เจ๊ง
“ที่ดีกว่านั้น จากที่กลัวกันมากว่า ถ้าเปอร์ (นักแสดงนำ) เอนท์ไม่ติดจะทำยังไง แต่ท้ายสุดคนดูก็ไม่ได้แคร์ว่าเปอร์จะเอนท์ติดหรือเปล่า พอหนังฉายทุกคนก็แฮปปี้”
หลังจากปีที่ ‘ไฟนอล สกอร์’ ฉาย เวลาวรรณฤดีไปตัดสินหนังสั้นตามมหาวิทยาลัย มีสารคดีเพิ่มขึ้นเยอะมาก ทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยมี
“รู้สึกว่าเราได้สร้างโอกาสต่อ ส่งผลให้เด็กคนนึงที่คิด Fiction ไม่ได้ แต่สังเกตเรื่องจริงเก่ง มีที่ทางไปได้ เหมือนเราทำความฝันให้เป็นไปได้”
What กับ How
หนังเรื่องหนึ่ง สุดท้ายมีแค่ What กับ How คือ หนังจะเล่าเรื่องอะไร และเล่าอย่างไร แค่นั้นเอง
“คนเขียนบทส่วนใหญ่ ถ้ายังเด็ก แล้วเขียนดีมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องใกล้ตัว หรือชีวิตจริงเขา นอกนั้นจะแก่ เวลารับรางวัลจะแก่ล้วน” วรรณฤดีว่า มันเรียกร้องประสบการณ์ชีวิตเยอะ
นอกจากงานในหน้าที่ เธอยังปลีกตัวไปเป็นอาจารย์พิเศษบ้าง เวลาสอนหนังสือ เด็กๆ อยากทำหนังเหมือนเรื่องนั้นเรื่องนี้ เธอจะบอกว่าดูร้อยรอบพันรอบแล้วทำตามรับรองเหมือน แต่คนดูก็รู้ว่าเหมือน ถ้าอยากพูดถึง What ที่ สปีลเบิร์กก็ทำไปแล้ว กาย ริชชี หรือ คริสโตเฟอร์ โนแลน ทำไปแล้ว ก็ไม่รู้จะทำทำไม
“หนังเรื่องนั้นควรจะทำขึ้นมา ถ้าเรารู้ว่าจะพูดถึง What อะไรที่ไม่เหมือนใครในโลก”
ทักษะเรื่อง How เรียนรู้ไม่ยาก แต่เรื่อง What สอนกันไม่ได้ ใครมีพรสวรรค์ในการสังเกตชีวิต เก็บเกี่ยวได้มาก คนนั้นจะมีโอกาสทำงานเป็นคนเขียนบทได้มาก
“หนังเรื่องหนึ่งใช้ What ในตัวเยอะมากๆ ถ้าของน้อยก็หมดเร็ว หนังดีที่สุดในชีวิตอาจจะมีเรื่องเดียวก็ได้ จบแล้วก็จบกัน”
คนเขียนบท = นักซับประสบการณ์
อะไรล่ะคือประสบการณ์ที่นักเขียนบทควรดูดซับใส่ตัวไว้
“การที่เราเดินไปจะกินร้านนึง แล้วมันปิดว่ะ เนี่ยคือประสบการณ์ แต่ในช่วงเวลาที่เราเจอ เราคิดอะไร รู้สึกอะไรกับมัน แล้วเก็บมันไว้ หรือแค่ปล่อยให้มันผ่านไป”
จากบทประมาณ 20 หน้า ถึงเริ่มคิดกันว่าให้ใครทำดี หน้าที่วรรณฤดีคือปรับเข้าหาผู้กำกับ จูนกันว่าเรื่องจากต้นทางที่คิดมา ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ค่อยๆ ปรับเข้าหากัน
“ใช้เวลานานมาก ไม่เหมือนที่ใครๆ คิดว่า คนเขียนบทอยากทำหนัง หรือผู้กำกับอยากทำหนังก็เขียนขึ้นมา” บางครั้งเริ่มจากโปรดิวเซอร์เป็นคนเริ่มไอเดียก่อน แล้วหาคนเขียนบท หรือผู้กำกับ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
“ถ้าถามว่ามีทีมวิจัยไหม ไม่มี” วรรณฤดียืนยันหนักแน่นว่า ไอเดียเริ่มต้นเกิดจากสัญชาตญาณล้วนๆ
“หนังเหมือนการปลูกต้นไม้ เราเลือก คัดเมล็ด ตั้งใจจะให้มันเติบโตเป็นแบบนึง แต่พอมันงอก มันก็มีไอเดียเป็นของมันเอง เราก็ต้องทำให้มันไปในทางที่มันจะไปและไปได้ดี”
เมื่อหนังออกฉาย มันคงไม่ใช่ต้นไม้ที่เธอจินตนาการไว้ในวันแรกหรอก แต่เกิดจากเมล็ดพันธุ์เดียวกัน สิ่งที่เป็นแกนยังเหมือนเดิม
“ถึงวันนี้ กลับชอบต้นนี้มากกว่าต้นในจินตนาการของเรา อาจจะใช้เวลาหน่อย แต่รู้สึกว่ามันดี”
“เวลาใครคิดว่ามันเกิดจากมาร์เก็ตติ้งอันยิ่งใหญ่ ก็รู้สึกดีเหมือนกัน ฟังดูเหมือนเราฉลาดมาก (หัวเราะ) ฉลาดจริงๆ คิดได้ยังไง”
วรรณฤดีรักงานเขียนบท ขณะเดียวกันก็ไม่เคยหยุดสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ๆ เธอยังหวังเสมอว่า ‘คนเขียนบทอาชีพ’ ในเมืองไทยจะกลายเป็นจริงขึ้นมาสักวัน
*************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ ธันวาคม 2553)