อาเซียนและไทยไม่ใช่ ‘ถังขยะ’ ของใครทั้งนั้น

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพฯ จบลงไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าขยะเกือบครึ่งล้านตันจะยังคงอยู่กับเราต่อไป แม้จะมีการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เรียกร้องให้บรรดาผู้นำ 10 ประเทศอาเซียน ยุติการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จากนานาประเทศโดยไม่มีข้อแม้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชนในระยะยาว

ก่อนหน้านี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำการสำรวจปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกในประเทศอาเซียน พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ มีปริมาณนำเข้าขยะเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีให้หลังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ประเทศผู้นำเข้าขยะพลาสติกในอาเซียน ปี 2561

  • อันดับ 1 มาเลเซีย 872,797 ตัน
  • อันดับ 2 เวียดนาม 492,839 ตัน
  • อันดับ 3 ไทย 481,381 ตัน
  • อันดับ 4 อินโดนีเซีย 320,452 ตัน
  • อันดับ 5 เมียนมาร์ 71,050 ตัน

ประเทศผู้ส่งออกขยะพลาสติกสู่อาเซียน ปี 2561

  • อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา 439,129 ตัน
  • อันดับ 2 ญี่ปุ่น 430,064 ตัน
  • อันดับ 3 ฮ่องกง 149,516 ตัน
  • อันดับ 4 เยอรมนี 136,034 ตัน
  • อันดับ 5 สหราชอาณาจักร 112,046 ตัน

ไทย

  • ส่งออก 74,906 ตัน
  • นำเข้า 481,381 ตัน

 

สถานการณ์ที่น่าวิตกกังวลนี้ ส่งผลให้หลายภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นแหล่งรองรับขยะโดยตรง ทำให้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ได้มีการพูดคุยในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและผลักดันวาระต่างๆ โดยในท้ายที่สุดนำมาสู่การลงปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน

แม้ผู้นำอาเซียนจะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาขยะก็จริง แต่ภาคประชาสังคมได้ตั้งข้อสังเกตบางประการ เนื่องจากการวางหลักการและการดำเนินงานของปฏิญญาฉบับดังกล่าวเต็มไปด้วยช่องโหว่ และไม่สามารถระบุแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมหรือกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการจะลดขยะทางทะเล แต่อาเซียนกลับไม่ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่ายและไม่กลายเป็นขยะทะเล เป็นต้น

นอกจากขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะทะเล อีกปัญหาที่สำคัญคือ พื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนและบ่อขยะอีกจำนวนมากได้กลายเป็นพื้นที่รองรับขยะนำเข้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการดำเนินชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง คำถามสำคัญคือ อาเซียนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในการจัดการขยะ และจะยุติหรือลดการนำเข้าขยะพลาสติกได้จริงหรือไม่

ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ชุมชนตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี พร้อมทั้งนักกิจกรรมอาสาสมัครจากมูลนิธิบูรณะนิเวศและกลุ่มกรีนพีซ ได้เดินทางไปยังอาคารกระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 เพื่อยื่นหนังสือและชูข้อความ ‘อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก’ และนำบ่อขยะเทียมไปมอบให้ผู้นำอาเซียน เพื่อเรียกร้องต่อผู้นำอาเซียนให้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อสภาวการณ์บ่อขยะโลกของอาเซียน

นี่ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่มีการเคลื่อนไหวในประเด็นด้านขยะที่ประเทศอาเซียนไม่สามารถรับมือได้ ภาคประชาสังคมยังได้เสนอให้มีมาตรการและการป้องกันขยะและมลพิษจากขยะ โดยมีใจความหลักๆ ดังนี้

  • ยกเลิกพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2562 เนื่องจากเอื้อให้เกิดโรงงานรีไซเคิลขนาดเล็กที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และเปิดช่องว่างให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
  • ขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องการกำหนดอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
  • การขออนุญาตจัดตั้งและขยายโรงงานต้องผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นของสังคมเสียก่อน
  • ออกมาตรการทางกฎหมายให้โรงงานทุกแห่งรายงานข้อมูลมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม และเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย
  • เพิ่มระบบการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ โดยการตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่ประกอบด้วยประชาชนและนักวิชาการอิสระ

เช่นเดียวกับข้อเสนอจากฝั่งกรีนพีซต่อประเทศสมาชิกอาเซียน ก็ชัดเจนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฝั่งภาคประชาสังคม

  • ห้ามการนำเข้าขยะพลาสติก รวมถึงการนำเข้าเพื่อรีไซเคิล
  • สร้างนโยบายระดับภูมิภาคที่มุ่งสู่การลดการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ
  • ผลักดันกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมบนพื้นฐานของแนวทางขยะเหลือศูนย์ (zero waste)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นประเทศผู้นำในการดำเนินงานด้านการจัดการมลภาวะทางทะเลรวมถึงขยะทะเล และสมัครเป็นประธานคณะทำงานฯ ในปี 2563 โดย จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชี้แจงว่า ภาครัฐไม่ได้เพิกเฉย และจะมีการดำเนินการให้สอดรับด้านต่างๆ โดยเฉพาะขยะทะเลซึ่งถูกยกเป็นประเด็นระดับโลก และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อ้างอิง: Greenpeace Southeast Asia, Thailand

 

สนับสนุนโดย

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า