0
Mother dear, may I go downtown
Instead of out to play,
And march the streets of Birmingham
In a Freedom March today?
2 สิงหาคม หนึ่งวันก่อนที่หนังเรื่อง I Am Not Your Negro หนึ่งในห้าผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมปี 2017 จะเริ่มฉายในโรงเครือ SF Cinema (เฉพาะบางโรง)
คือวันเกิดของ เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin) นักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวผิวสีในอเมริกัน ผ่านงานเขียนที่ร้อยเรียงถ้อยคำความอึดอัดในใจเกี่ยวกับพี่น้องผองเพื่อนของพวกเขา ในสภาวะบริบทที่สหรัฐอเมริกาเวลานั้น แบ่งแยกชนชั้นผ่านสีผิว ขาวและดำ อย่างรุนแรงและชัดเจน
ฉันขาว ฉันจึงสูงกว่า และเธอดำ เธอจึงต่ำกว่า
นั่นคือแนวคิดทั่วไปของชาวอเมริกันผิวขาว หดหู่กว่านั้นและตอกย้ำให้การแบ่งแยกสีผิวชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การที่ชาวผิวขาวเข้าครอบงำอำนาจทุกอย่าง กอดไว้แน่น และไม่อนุญาตให้ชาวผิวดำเข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจนั้น แม้พวกเขาจะเกิดในพื้นแผ่นดินเดียวกันก็ตาม
หากถามว่า การแบ่งแยกสีผิวในสหรัฐตั้งต้นมาจากไหน ดึงคำตอบจากสมัยยังนั่งเรียนเลคเชอร์ที่ค่อนข้างเลือนราง คงตอบได้อย่างผิวเผินว่า จุดเริ่มต้นคงมาจากที่ชาวยุโรปเข้าไปล่าอาณานิคมทั่วโลก และดึงคนชาตินั้นๆ มาเป็นทาสสนองความรู้สึกเหนือกว่าของตน โดยเฉพาะ ชาวผิวสี ‘คนดำ’ แน่นอนว่า ชาวผิวขาวที่อพยพเข้ามาในดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างปัจจุบันที่ชื่อว่า สหรัฐอเมริกา ก็ปฏิบัติเช่นนั้น
จากการปฏิวัติสหรัฐอเมริกา ประกาศอิสรภาพเหนือสหราชอาณาจักรในวันที่ 4 กรกฎาคม ปี 1776 ไล่ไปจนถึงสงครามกลางเมืองช่วงปี 1861-1865 ความขัดแย้งระหว่างรัฐทางเหนือและทางใต้จนนำไปสู่การเลิกทาส แต่การเลิกทาสไม่ได้หมายความว่าชาวผิวดำจะได้รับเสรีภาพและอิสรภาพอย่างเท่าเทียมเฉกเช่นพลเมืองชาวสหรัฐพึงได้
1
No, baby, no, you may not go,
For the dogs are fierce and wild,
And clubs and hoses, guns and jails
Aren’t good for a little child.
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนสองสีผิวในสหรัฐ มองในสายตาคนนอกผ่านหนังสือหรือหนังประวัติศาสตร์ คุกรุ่นไปด้วยความทารุณที่ชวนหดหู่ใจอยู่ตลอดเวลา
และนั่นคือสภาพแวดล้อมที่บอลด์วินต้องเผชิญ อาศัยอยู่ในวงล้อมแห่งอคติจากคนที่เกิดมาในบ้านเดียวกัน ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ที่หยิบยกหนังสือ In this House ที่เขียนได้เพียง 30 หน้าของเขาขึ้นมา เป็นการเล่าเรื่องการต่อสู้ที่ไม่เคยสิ้นหวังของนักสู้ทั้งสาม
เมดการ์ เอเวอร์ส (Medgar Evers, 2 กรกฎาคม 1925 – 12 มิถุนายน 1963) ครั้งยังหนุ่ม เขาเคยถูกปฏิเสธให้เข้าเรียนโรงเรียนกฎหมาย ในมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี ด้วยสาเหตุว่าสีผิวเข้มเกินไป เคยเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในนามทหารชาติสหรัฐ และเป็นแกนนำออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กับชาวผิวสีที่ถูกกดขี่ในรัฐมิสซิสซิปปี
มัลคอล์ม เอ็กซ์ (Malcolm X, 19 พฤษภาคม 1925 – 21 กุมภาพันธ์ 1965) เป็นที่รู้จักกันในฐานะมุสลิมผิวสีที่โดดเด่นที่สุดในเวลานั้น นอกจากเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเพื่อชาวผิวดำด้วยกันแล้ว เขายังสู้เพื่อชาวมุสลิมผิวดำที่ถูกสังคมอเมริกันเหยียดหยันยิ่งกว่า
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr., 15 มกราคม 1929 – 4 เมษายน 1968) คือ นักสู้เพื่อชาวผิวดำสายประนีประนอม และเป็นหมอสอนศาสนาคริสต์นิกายแบปทิสต์ เน้นการรณรงค์อย่างสันติ และเป็นเจ้าของสุนทรพจน์ชื่อดัง “I have a dream” จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1964 และมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามเวียดนามในปี 1968
ทั้งสามคือตัวละครในหนังสารคดีเรื่องดังกล่าวที่ถูกเล่าผ่านมุมมองของ เจมส์ บอลด์วิน และล้วนมีจุดเหมือนที่นอกจากจะเป็นนักสู้เพื่อชาวผิวสีเหมือนกันแล้ว พวกเขายังถูกลอบสังหารโดยชาวผิวขาว และจากโลกนี้ไปด้วยวัยไม่ถึง 40 ปี
2
But, mother, I won’t be alone.
Other children will go with me,
And march the streets of Birmingham
To make our country free.
แม้ I Am Not Your Negro จะเป็นเรื่องราวของการถูกกีดกันและกดทับทางประวัติศาสตร์ชาวผิวดำที่เล่าผ่านเสียงของ แซมวล แอล. แจ็คสัน (Samuel L. Jackson) และภาพฟุตเทจประวัติศาสตร์
เป็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งของชาติอเมริกันที่เราพอจะรู้จักและคุ้นเคยอยู่บ้าง แต่เมื่อหนังเล่าเรื่องตอกย้ำความถูกกดขี่ทางเชื้อชาติและสีผิวอย่างหนักตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ความสงสัยในหัวมันจึงเกิดขึ้นว่า ทำไมความเชื่อบางสิ่งถึงเกาะอยู่ในหัวใจมนุษย์ได้รุนแรงขนาดนั้น
เชื่อถึงขนาดที่ว่า คนผิวดำไม่ใช่มนุษย์ คือสิ่งมีชีวิตอีกสปีชีส์หนึ่ง
ค่อนข้างสะอิดสะเอียนเล็กน้อยที่เห็นโฆษณาของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐในสมัยนั้นเอง ที่ออกมาพูดประมาณว่า ชาวผิวดำคือกลุ่มเป้าหมายใหม่ กำลังซื้อใหม่ และเราชาวผิวขาวควรรีบไปลงทุนทำสินค้าให้ชาวผิวดำจับจ่ายใช้สอยกันเถอะ มองไปตรงนั้นสิ เธอเห็นเม็ดเงินมั้ย
ขนลุกและสะอิดสะเอียดกว่าภาพชาวผิวขาวออกมาเดินขบวนต่อสู้เรียกร้องสิทธิตัวเอง และห้ามให้ชาวผิวดำร่วมได้สิทธินั้นด้วย
เพราะเรามองว่า สังคมจะก่อร่างสร้างตัวมาเป็นแบบไหนได้นั้น ส่วนหนึ่งก็หนีไม่พ้นนโนบายของกลุ่มปกครองหรือชนชั้นนำบางกลุ่มที่ลากเส้นไว้ให้ประชาชนเดินตาม – กล่าวให้สุดคือ ใช่ โฆษณาเหล่านั้นคือ propaganda ของรัฐในสมัยนั้นเอง
กลายมาเป็นสิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้คือ การนำภาพฟุตเทจ หนัง ละครและเพลงในช่วงสมัยมาสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดของคนยุคนั้นเป็นอย่างไร ถูกหล่อหลอมอย่างไร ทำไมถึงคิดเช่นนั้น
3
She clawed through bits of glass and brick,
Then lifted out a shoe.
“O, here’s the shoe my baby wore,
But, baby, where are you?
ปัจจุบัน ปี 2017 เรื่องเล่าของบอลด์วินคือ ก่อนหน้าศตวรรษที่ 20 เวลาล่วงเลยผ่านไป แต่ความขัดแย้งสีผิวในสหรัฐยังมีปรากฏให้เห็นเรื่อยๆ รวมถึงขบวนการและกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวผิวดำที่ยังเข้มแข็งเหมือนเคย
ล่าสุดคือเมื่อปีที่แล้ว เกิดกรณีตำรวจในรัฐมินเนโซตาและรัฐลุยเซียนา ยิงชายชาวผิวดำจนเสียชีวิตอย่างไร้สาเหตุ สร้างความไม่พอใจให้กับคนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างยิ่ง หรือทันทีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาครองเก้าอี้ประธานาธิบดี การเหยียดสีผิวก็กลับมารุนแรงอีกครั้ง นำมาสู่การเดินขบวนขับไล่ทรัมป์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
แม้แต่สื่อเอง อย่างซีรีส์ Netflix เรื่อง Dear White People ที่ชูประเด็นการต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาชาวผิวสีในมหาวิทยาลัย สะท้อนให้เห็นปัญหาความขัดแย้งในใจคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต่างอะไรจากอดีต
คำถามที่ค้างคาอยู่ในใจเราคือ เหตุใดชาวผิวดำยังคงความรู้สึกหวาดระแวงต่อสังคมและรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นพลเรือนชั้นสองจนถึงทุกวันนี้? ทั้งๆ ที่พวกเขามีสิทธิทางสังคม มีหน้ามีตา มีชื่อเสียงโดดเด่นในบางสายอาชีพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เอาละ เราคงไม่อาจตอบคำถามข้อนี้ได้
ถึงแม้ว่า ความขัดแย้งทางสีผิว จะแสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งของดินแดนศิวิไลซ์ที่อ้างว่าตนเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ชาวอเมริกันทุกคนไม่ยอมรับว่า พวกเขามีความขัดแย้งในใจ
หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายๆ ชิ้นที่บอกคนนอกอย่างเราว่า กระบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในสหรัฐยังคงเดินอยู่และจะก้าวต่อไปอย่างมั่นคง
เราสนใจที่พวกเขายอมรับว่า บ้านเขามีการแบ่งแยก มีความขัดแย้ง และยินดีที่จะสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม สู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และความรุนแรงในหน้าประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกลบเลือนให้หายไปจากความทรงจำ
ไม่เพิกเฉยและยินยอมให้ถูกกดทับ เหมือนกับบางสังคม
สุดท้าย สำหรับเรา หนังสารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่ดูแล้วชวนสนุก ดูเสร็จแล้วไม่อาจพูดอะไรกับเพื่อนที่มาด้วยกันได้มากนัก แต่ชวนให้ย้อนคิดและตั้งคำถามถึงความขัดแย้งในสังคม เพราะเหตุใดไม่ว่าจะที่ไหน ทำไมเรื่องราวถึงไม่ต่างกัน
เนื้อเพลง ‘Ballad of Birmingham’ โดย ดัดลีย์ แรนดัล (Dudley Randall) เป็นบทกวีเพื่ออุทิศให้กับชาวผิวดำที่โดนวางระเบิดขณะทำพิธีทางศาสนาในโบสถ์จากขบวนการ Klu Klux Klan (KKK) กลุ่มผิวขาวหัวรุนแรง ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกา