เรื่อง: เมธาวี เด่นทรัพย์ไพบูลย์
หนังโยนทุกทฤษฎีการต่อสู้ทางสงครามทิ้ง แล้วทำให้การปักธงชาติอเมริกาบนพื้นที่ของประเทศอื่นกลายเป็นเรื่องตลกโดยไร้การนองเลือด
ฉันมอบคำนิยามนี้ในทุกฉากเวลาที่ ไมเคิล มัวร์ หรือ ลุงไมเคิล (ที่ฉันเรียกแบบนี้ก็ด้วยบุคลิกของไมเคิลให้ความรู้สึกเหมือนลุงข้างบ้าน) นำธงชาติสหรัฐอเมริกาไปปักในประเทศอื่นหน้าตาเฉย
เรามักจะขบขันทุกฉากที่ผู้กำกับหนังสารคดีเรื่องนี้เป็นลุงวัยกลางคนชนชาติอเมริกาจ๋า ผ่านวัฒนธรรมการกินฟาสต์ฟู้ด (ลุงชอบนำเสนอน้ำโคคา-โคล่ากับแฮมเบอร์เกอร์ที่แกภูมิใจ) บอกหน้าระรื่นแก่คนในประเทศที่ไปเยือนว่า “ขอปักธงชาติสหรัฐอเมริกาลงผืนดินพวกนายหน่อยเถอะ” พร้อมทั้งขอยืมหรือขโมยไอเดียที่ดีที่สุดที่ลุงค้นพบในแต่ละประเทศไปใช้ในอเมริกานะ
เราเห็นอะไรในนั้น?
ลุงคนหนึ่งที่ทำตัวเป็นสายลับโต้งๆ (ยังเรียกว่า ‘สายลับ’ ได้ใช่ไหมกับสิ่งที่ลุงแกทำ)
ชนชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่พยายามจะเหนือกว่าประเทศต่างๆ ไม่เคยชนะสงครามด้วยการปักธง
หรือ ‘เสรีภาพ’ คือความเป็นอเมริกันดรีมที่คนอเมริกันไม่เคยได้รับเลย
ตอนไปอิตาลี และพบสามีภรรยาคู่หนึ่ง ฝ่ายสามีบอกว่า เขาฝันที่จะได้ไปอยู่ในอเมริกา เพราะที่นั่นคือดินแดนแห่งเสรีภาพ ก่อนจะเปลี่ยนใจเมื่อลุงบอกว่า อเมริกาไม่เคยจ่ายเงินชดเชยในวันหยุด เขาก็ทำหน้าไม่เชื่อทันที
“จริงๆ” ลุงมักจะย้ำคำพูดนี้พร้อมด้วยสีหน้าจริงจังเสมอ (ซึ่งเราเห็นว่าเกือบตลอดทั้งเรื่อง ลุงจะมีสีหน้าแบบนี้แค่เฉพาะตอนพูดคำนี้เท่านั้น) เพื่อยืนยันว่า บางทีความฝันแบบอเมริกันดรีมก็ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป
ต่อมาเมื่อลุงได้เข้าร่วมประชุมครูของโรงเรียนแห่งหนึ่งในฟินแลนด์ ประเทศที่มีอัตราเฉลี่ยทางการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก หลักสำคัญของระบบการศึกษานี้ก็คือ นักเรียนที่ประเทศนี้จะเรียนอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากเรียน จะเล่นอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากเล่น หลายครั้งเราเห็น ครูตอบคำถามที่มองผ่านสายตาลุงคือเรื่องตลก เช่น การที่นักเรียน ‘เรียนปีนต้นไม้’
“ถ้าเขาอยากปีนต้นไม้มากกว่าเรียน ฉันก็จะให้เขาเล่น เพราะบางทีอาจไม่ได้แค่ปีนต้นไม้ แต่เด็กๆ จะได้สังเกตพวกแมลงไปด้วย”
“พวกเขาเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น”
เพียงแค่สองประโยคก็ทำให้ลุงที่ชอบพูดจ้อมาตลอดทั้งเรื่องต้องเงียบลง
ไม่ใช่แค่ลุงหรอกที่แปลกใจ เพราะพวกคุณครูเองก็คงแปลกใจลุงเช่นกัน รวมถึงผู้ชมอย่างฉันด้วย
ก็สิ่งที่พวกคุณครูหรือประเทศฟินแลนด์ทำมันเป็นวิธีคิดแบบอเมริกันดรีมชัดๆ มันเป็นของคนอเมริกัน แล้วทำไมลุงต้องมาตามหามันในที่อื่นด้วยเล่า
หรือในประเทศลุงไม่มี?
ลุงไม่อาจหาคำตอบได้จึงต้องโบกมือเซย์กู้ดบาย เพื่อไปอีกประเทศหนึ่งหรืออีกหลายๆ ประเทศที่ทำให้ลุงเริ่มแน่ใจแล้วว่า บางที อเมริกันดรีมก็เพียงแค่ลงมือทำ
ท้ายสุด ลุงไปที่เยอรมนี และหยุดที่กำแพงเบอร์ลินพร้อมเพื่อนเก่าแก่ที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมทุบกำแพงอิฐนี้ด้วยกัน (ฉากนี้ ฉันทึ่งลุงมาก เพราะทั้งเรื่องแกดูเฮฮาหน้าตายตลอด ไม่คิดว่าครั้งหนึ่งแกจะทำอะไรเป็นแก่นสารและเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์กับเขาด้วย)
บทสนทนาค่อยๆ รำลึกถึงความหลังว่า ลุงกับเพื่อนทุบกำแพงนี้ได้อย่างไร
“เราก็แค่มีค้อนหนึ่งอัน แล้วก็ทุบมันลงไปเรื่อยๆ จากหนึ่งคนเป็นสามคน เป็น 10 คน เป็น 100 คน แค่สามวัน กำแพงนี้ก็พังลง” เพื่อนของลุงบอกแบบนั้น
ลุงพยักหน้าและบอกกับเพื่อนว่า อเมริกาอาจต้องการเวลาในการทุบกำแพงนี้ เพียงแค่สามปี ทุกอย่างก็จะเป็นเหมือนประเทศต่างๆ ที่แกไปขโมยไอเดียเขามา
ฉันนิ่งคิด สามปี ลุงคิดจะขโมยสิ่งที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศที่แกไปมา เพื่อจะเอามาพัฒนาอเมริกาได้ทันเหรอ ก็ได้แต่หวังเอาใจช่วย
เพราะบางทีอาจจะถึงคราวที่ลุงต้องปักธงลงบนประเทศตัวเองบ้างก็ได้นะ หรือจะเปลี่ยนใจมาปักธงลงบนประเทศของฉันบ้าง ก็ไม่ว่ากัน