[Spoiler Alert] สงครามอมตะของคนดูหนัง

จากกรณีล่าสุดเมื่อหนังเรื่อง Avengers: Infinity War เข้าฉายไปเมื่อวันพุธ (25 เมษายน) ที่ผ่านมาแล้วมีผู้ถูก ‘สปอยล์’ ไปก่อนหน้านั้นเป็นจำนวนมาก จากบรรดาผู้ชมรอบสื่อซึ่งได้ชมคืนวันอังคาร จนถึงบรรดาผู้ชมรอบแรกของวันพุธ จัดกระหน่ำกันทั้งใน Facebook Twiiter รวมทั้ง Instagram ชนิดที่ไม่ต้องไปดูก็รู้เรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ครบถึง Post-credits Scene ที่ทางค่ายหนังเขาแถมอะไรมาให้ก็บอกหมด

ส่วนทางเมืองนอก ตัวผู้กำกับคู่ แอนโธนี  (Anthony Russo) และ โจ รุสโซ (Joe Russo) ถึงขั้นออกมาเรียกร้องให้แฟนๆ “หลีกเลี่ยงการใช้โซเชียลมีเดีย หรือเลิกเล่นอินเทอร์เน็ตชั่วคราวเลยเป็นการดี จนกว่าจะได้ชมหนังเรื่องนี้ในโรง” เพื่อหลีกเลี่ยงพายุสปอยล์ซึ่งจะกระหน่ำมาทุกช่องทาง นอกจากนี้ทั้งคู่ยังติดแฮชแท็กท้ายประกาศของตัวเองไว้ด้วยว่า “ธานอสขอให้พวกเอ็งหุบปาก” (#ThanosDemandsYourSilence.)[1]

แต่ก็ยังหยุดยั้งสงครามสปอยล์หนังครั้งใหญ่นี้ไม่ได้…

[SPOILER ALERT] มาจากไหน?

[SPOILER ALERT] น่าจะเป็นคำที่ผู้อ่านทุกท่านคุ้นเคยหรืออย่างน้อยก็คงผ่านตามาบ้างแล้ว โดยมารยาทคำนี้มักใช้แปะป้ายหัวกระทู้หรือหัวข้อเขียนที่เนื้อหาภายในนั้น “เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ…” ซึ่งใช้กันแพร่หลายทั้งการพูดถึงหนัง ซีรีส์ทางโทรทัศน์ หนังสือ จนถึงเกม เพื่อช่วยรักษาความบริสุทธิ์ของผู้อ่านเอาไว้ ไม่ให้ตัวบทความ ‘ชิงสุก’ ไปเสียก่อน

มีการสืบค้นกันถึงรากและที่มาของคำคำนี้และพบว่าคนแรกที่ใช้น่าจะเป็น ดัก เคนนี (Doug Kenney) นักเขียนประจำนิตยสารชวนหัวชื่อดังในทศวรรษที่ 70 ชื่อ National Lampoon แกเขียนบทความชื่อ ‘Spoiler’ โดยรวมการสปอยล์หรือแฉความลับ พล็อตหักมุมของหนัง/หนังสือ และสารพันสื่อเท่าที่แกจะนึกได้ อ้างว่าเพื่อ “เซฟเงินและเวลาให้ผู้อ่าน” ตั้งแต่เฉลยฉากจบเรื่อง Citizen Kane เฉลยพล็อตหักมุมใน Psycho รวมถึงเฉลยฆาตกรตัวจริงในนิยายของ อกาธา คริสตี หลายๆ เล่ม

สำหรับตัวหนังจริงๆ นั้น ช่วงกลางถึงปลายยุค 50 เริ่มมีการขึ้นคำเตือนไว้ต้นหรือท้ายเรื่อง ขอร้องให้ผู้ชมอย่าเผยความลับสำคัญของหนังออกไป อาทิ เรื่อง Les Diaboliques (1956) ขึ้นหลังจบเรื่องว่า “Ne soyez pas DIABOLIQUES!” (แปลว่า “Don’t be EVIL!” พูดเป็นนัยห้ามผู้ชมเผยฉากจบของหนัง) หรือ Witness for the Prosecution (1957) ที่ขึ้นคำเตือนยาวเหยียดขอร้องให้คนดูอย่าเผยความลับในตอนจบของหนัง (“The management of this theatre suggests that for the greater entertainment of your friends who have not yet seen the picture, you will not divulge the secret of the ending of Witness for the Prosecution.”)

แต่กรณีที่โด่งดังและถือเป็นหมุดหมายของการเตือนให้ผู้ชม ‘ระวังพวกปากบอน อย่าฟังให้เสียอารมณ์’ จนกลายเป็นแผนการตลาดชั้นเลิศคือคราวหนังเรื่อง Psycho ของผู้กำกับ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค (Alfred Hitchcock) ออกฉายในปี 1960 ฮิทช์ค็อคและค่ายเลือกโปรโมทด้วยการห้ามคนเข้าโรงช้า (no late admissions) จะทำให้หมดสนุกกับความลับที่หนังซ่อนไว้[2]

ฮิทช์ค็อคยังกระตุ้นให้ผู้ที่ได้ดูหนังแล้วนั้น “ช่วยกันเก็บความลับไว้” (Don’t give away the ending – it’s the only one we have.) และด้วยความที่หนังดัดแปลงจากนิยาย ฮิทช์ค็อคกลัวคนรู้ฉากจบก่อนถึงขั้นลงทุนกว้านซื้อหนังสือทั้งหมดเท่าที่พิมพ์ขายมาเก็บไว้เอง ผลก็คือหนังได้รับความนิยมถล่มทลาย คนแห่ไปดูเพราะอยากรู้ ‘ความลับ’ ที่ฮิทช์ค็อคหวงนักหวงหนานี้

จะเห็นได้ว่าตัวอย่างข้างต้นไม่มีเรื่องไหนเลยที่ใช้คำว่า ‘spoiler’ มักใช้คำว่า secret หรือ ending เสียมากกว่า จนกระทั่งข้อเขียนของ นายดัก เคนนี นั่นแหละ ที่คำว่า spoiler กลายเป็นคำบัญญัติที่เรารู้จักกันในเวลาต่อมา

สำหรับนักวิจารณ์หนังในอดีตนั้น โดยทั่วไปการเขียนวิจารณ์มัก ‘เล่าเรื่อง’ แทบจะทั้งเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านตัดสินใจที่จะไปดูหนังเรื่องนั้นๆ ได้ บางรายแทบจะเขียนอธิบายฉากต่อฉากกันเลยทีเดียว เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงความตั้งใจพิเศษของคนทำหนัง หรือประเด็นทางสังคม-การเมืองที่ซ่อนแฝงอยู่ในหนัง

อย่าลืมว่าในอดีต การหวนกลับไปดูหนังเก่าๆ นั้นเป็นเรื่องยาก การจะดู Star Wars หรือหนัง James Bond ตอนเก่าๆ มีสองหนทาง

  1. คือรอโรงหนังนำกลับมาฉายอีกครั้งในวาระพิเศษต่างๆ อาทิ ครบครอบ 5 ปี 10 ปี
  2. รอชมทางโทรทัศน์ ซึ่งการชมทางโทรทัศน์มีข้อเสียตรงตัวหนังจะต้องเปลี่ยนขนาดภาพใหม่ให้เหมาะกับจอโทรทัศน์ขนาดสี่เหลี่ยม หนังที่ฉายทางโทรทัศน์จึงสูญเสียขนาดภาพเดิมในฉบับฉายทีวี

ฉะนั้นบทวิจารณ์ยุคนั้นจึงทำหน้าที่เสมือนบันทึกหนังทั้งเรื่องเอาไว้ด้วย

จุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์เรื่องนี้คือการมาถึงของอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนรูปแบบการสนทนาหนังจาก คนสู่คน ผู้เขียนสู่ผู้อ่าน ไปสู่วัฒนธรรมกระดานข่าว ที่ใครๆ ก็เขียนถึงหนังได้ และคนอื่นก็เข้ามาอ่านได้อย่างเสรี ที่สำคัญหนังหลายเรื่องที่เคยถูกลืม หาดูยากเย็นเหลือเกินในอดีต ก็กลับมามีชีวิตอีกครั้งในยุคอินเทอร์เน็ต ทั้งการซื้อขายดีวีดี/บลูเรย์ หรือแม้แต่ไฟล์ดิจิตอล

และเช่นเดียวกัน ความลับของหนังหลายเรื่องก็ถูกเปิดเผยผ่านข้อเขียนในอินเทอร์เน็ตอย่างง่ายดายขึ้น เพื่อดึงดูดให้คนดูรุ่นใหม่หวนกลับไปดูหนังเก่าๆ ที่พวกเขาเกิดไม่ทันด้วยซ้ำ

วัฒนธรรมการขึ้นหัวกระทู้ หรือบรรจุคำว่า [SPOILER ALERT] มาถึงในยุคแรกๆ ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตราวต้นยุค 80 คำนี้ถูกใช้กับหนังจริงๆ ครั้งแรกคือเรื่อง Star Trek: The Wrath of Khan (1982) ซึ่งใช้กันในห้องแชทคุยหนัง

โดยหัวใจของมันก็เพื่อเตือนให้ผู้อ่านรับรู้ว่าท่านจะรู้ความลับในหนัง และอาจทำลายอรรถรสในการชมด้วยตัวเอง ในทางหนึ่งคำนี้ถูกใช้เพื่อป้องกันผู้เขียนเอง มิให้ผู้อ่านโจมตีได้หากข้อเขียนมีความจำเป็นต้องพาดพิงหรือเผยความลับสำคัญของหนัง จนมีการใช้คำนี้กันแพร่หลายต่อมาเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน

เมื่อมีผู้ปกป้อง ก็ย่อมมีผู้ทำลาย ในอีกด้านหนึ่ง มีผู้จงใจสปอยล์เพื่อทำลายทั้งตัวหนังหรือใช้เพื่อหวังผลในประเด็นอื่น เช่น ประเด็นทางการเมือง กรณีตัวอย่างสำคัญคือคราวหนังเรื่อง Million Dollars Baby (2004) ออกฉาย ไมเคิล เมดเวด (Michael Medved) นักจัดรายการวิทยุ-นักวิจารณ์หนังมือเก๋า ออกมาถล่มหนังด้วยการพูดถึงฉากจบว่าชักจูงให้คนดูเห็นดีเห็นงามไปกับประเด็นที่หนังพูด นักวิจารณ์ร่วมรุ่นอย่าง โรเจอร์ อีเบิร์ต (Roger Ebert) ออกมาตอบโต้รุนแรงว่าทำลายสุนทรียในการดูหนังของผู้ชม[3]

ทำไมมือเก๋าแบบเมดเวดถึงเลือกเปิดหน้าถล่มฉากจบ Million Dollars Baby เจ้าตัวแก้ต่างว่า เขาอาจเลือกไม่เผยฉากจบก็ได้ แต่เขาเลือกทำเพราะ “รู้สึกเป็นเกียรติและหน้าที่ ที่จะต้องเตือนผู้อ่านให้รู้แจ้งถึงเนื้อหาและเจตนารมณ์แท้จริงของหนัง” (felt honor bound to inform his listeners and readers about the movie’s content and provocative point of view) แต่อะไรก็ไม่เท่าหมัดสวนของ โรเจอร์ อีเบิร์ต ที่สรุปสถานะของเมดเวดไว้ว่าเป็น “นักวิจารณ์การเมือง มากกว่านักวิจารณ์หนัง” (has for a long time been a political commentator, not a movie critic.)[3]

อันที่จริงแม้แต่ตัว โรเจอร์ อีเบิร์ต เองก็เคยอยู่ในยุคที่การสปอยล์ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเท่านี้ ในบทความชื่อ ‘CRITICS HAVE NO RIGHT TO PLAY SPOILER’ น่าสนใจตรงที่แกจั่วหัวว่าตัวแกเองก็เพิ่งตระหนักถึงอันตรายของการสปอยล์หนังเมื่อไม่นานมานี้เอง (บทความตีพิมพ์ราวปี 2004) และถูกผู้อ่านติงมาว่าชอบเล่าเรื่องในหนังมากเกินไป ทำให้แกเริ่มจั่วหัวเตือน Spoiler เหมือนกัน เป็นข้อยืนยันว่าการวิจารณ์หนังในอดีต ‘ยุคก่อนอินเทอร์เน็ต’ และยุคหลังอินเทอร์เน็ตนั้น มีแนวความเชื่อเรื่องการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่องหรือไม่ต่างกันค่อนข้างพอสมควร

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ จะเห็นว่าแม้ผู้เขียนจะสุ่มเสี่ยงพูดถึงหนังที่จำต้องเผยเนื้อหาสำคัญ แต่ก็เลือกจะ [SPOILER ALERT] ด้วยตระหนักว่าไม่ใช่ทุกคนจะเคยดู Psycho, Les Diaboliques หรือ Million Dollars Baby

ทั้งที่มีหลายกรณีให้ศึกษา แต่ทำไมยังมีคนนิยมเผยฉากจบ แฉความลับ บอกพล็อตหักมุม ให้ผู้อ่านรับรู้โดยไม่เตือน กระทั่งจงใจเผยให้เห็นอย่างจริงจังเพื่อบ่อนทำลายความสนุกของผู้อื่น?

Infinity War สงครามไม่รู้จบของคนดูหนัง

จากข้างต้น ผู้อ่านคงพอจะเห็นบรรยากาศของสังคมใหม่ที่เกิดขึ้น สังคมออนไลน์ที่ใครจะพูด/เขียนสิ่งใดก็ได้ และยิ่งเร็วยิ่งแรงเท่าไหร่ยิ่งดี กรณีของ Avengers: Infinity War เป็นหนึ่งในการเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าของวิกฤติศีลธรรมและมารยาทการดูหนังที่มีมาแต่อดีตกาล หากทว่าความซ้ำซากนี้มีจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ

ประการแรก หนังชุดนี้มีการสร้างฐานแฟนอย่างยาวนาน และใช้เวลาร่วม 10 ปีเพื่อ ‘โหมโรง’ นำคนดูเข้าสู่มหาศึกครั้งนี้ตั้งแต่ Iron Man (2008) ออกฉาย

ในกรณีนี้อาจแย้งได้ว่าหนังชุด Star Wars และ Star Trek ก็เคยมีสงครามสปอยล์ในโลกออนไลน์ช่วงหนังออกฉายเช่นกัน แต่ทำไมถึงไม่ดุเดือดรุนแรงเท่านี้มาก่อน นั่นก็เพราะค่าย Marvel ใช้หนังจำนวน 18 เรื่องปูทางเพื่อถึงบทสรุป ‘ยกแรก’ ใน Infinity War ก่อนหนังฉาย ผู้เขียนจึงได้เห็นคอนเทนต์จำนวนมหาศาลทั้งไทยและเทศ ที่พยายามสรุปเส้นทางอันยาวนานนั้นไว้ว่าแต่ละเรื่องได้หยอดอะไรเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นอัญมณีแต่ละชิ้น ตัวละครแต่ละตัว ปมขัดแย้งต่างๆ ที่สั่งสมมา

ปัจจุบันค่ายหนังเทความสำคัญให้แก่กลุ่มแฟนบอย (fanboy) หรือเรียกไทยๆ ว่า ‘แฟนเดนตาย’ ของหนัง ซึ่งไม่ใช่แค่มีกันในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่กระจายกันอยู่ทั่วโลก อินเทอร์เน็ตเชื่อมพวกเขาด้วยกัน ทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ทั้งที่คิดจากหนังในจักรวาลมาร์เวล (Marvel Cinematic Universe) ที่ได้ดูมาครบ หรือคิดควบเอาเรื่องราวจากในหนังสือการ์ตูนที่ได้อ่านผสมเข้ามาอีก ทำให้ความคาดหวังของคนดูกลุ่มนี้สูงลิบลิ่ว เรียกว่าลำพังพวกเขาไม่ได้ดูหนังเอาบันเทิง แต่ยังศึกษา วิเคราะห์ และผลิตงานเขียนหรือกระทั่งทำคลิป เพื่อสนับสนุนแนวคิดตนเองเป็นเรื่องราว

ผู้ชมกลุ่มนี้ไม่ได้เพียงไปชมเพื่อความบันเทิง แต่ไปด้วยความคาดหวัง หวังว่าการบ้านที่พวกเขาทำอย่างหนัก ตรากตรำมากว่า 10 ปีจะตรงกับที่คาดเดาไว้ในตัวหนังจริงมากน้อยแค่ไหน

เช่นเดียวกับปกรณัมคลาสสิกทั่วโลก มีเทพผู้สร้าง ก็ย่อมมีเทพผู้ทำลาย เหล่าแฟนบอยเองก็เผชิญภัยคุกคามจากกลุ่มผู้ชิงชัง-หมั่นไส้ ส่งผลให้เกิดการขบเหลี่ยมกัน ผ่านการสปอยล์หนังมันซะเลย เพื่อทำลายความคาดหวัง-ความตั้งใจของเหล่าแฟนบอย ผสมด้วยอาการหมั่นไส้ส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าภาคภูมิใจเอาเสียเลย

ประการที่สอง เราควบคุมการสปอยล์ไม่ได้ ถ้าแม้แต่ค่ายหนังยังสปอยล์เสียเอง!!

ถ้าจำกันได้ ค่ายหนังเองมีส่วนจุดประเด็นขึ้นมาเองก็คือคำสัมภาษณ์ของ เควิน ไฟกี (Kevin Feige) โปรดิวเซอร์ใหญ่ของค่าย Marvel เป็นคนออกมาพูดเองว่าจะมีตัวละครสำคัญใน Infinity War ที่จะ [SPOILER ALERT] ซึ่งทำให้แฟนๆ คาดเดาไปต่างๆ นานา ก่อนหนังจะฉายกันร่วมปี เมื่อถึงเวลาฉายจริง ‘ความลับ’ ถูกเปิดเผยออกมาทั้งๆ ที่พวกเขายังไม่ทันได้ดู จึงเกิดสงครามกันเช่นนี้

หรือการที่มีข่าวเบื้องหลังออกมาว่าหนังทำการเก็บความลับกันอย่างมิดชิด ถึงขั้นให้นักแสดงได้บทปลอมและฉากจบปลอมไปอ่าน ทุกคนจะรู้แค่เฉพาะเรื่องราวของตัวละครตัวเอง แต่จะไม่มีทางรู้เรื่องหนังทั้งเรื่อง การเก็บความลับขั้นสุดยอดขนาดนี้ทำให้คุณค่าของความลับที่หนังถือไว้ยิ่งสูงลิบลิ่ว

แน่นอนว่าผู้จ้องทำลายก็มากตามด้วย เช่นที่ได้จั่วหัวไว้ว่าขนาดตัวผู้กำกับเองก็ยังรู้ถึงขั้นออกมาเตือนบรรดาแฟนๆ หนังเอาไว้ล่วงหน้า

แต่ทางค่ายเองก็เจ๋งพอจะออกเคมเปญให้บรรดานักแสดงร่วมกันต้านการสปอยล์หนัง ด้วยคลิป PSA: Say No to Spoilers

ประการสุดท้าย เรารับมือกับวัฒนธรรมการสปอยล์อย่างไร

เราเข้าใจ ‘การสปอยล์’ ว่าส่งผลเสียต่อผู้อื่นหรือไม่ หรือยังมองเป็นเพียงเรื่องสนุกอยู่?

เชื่อว่าหลายคนคงเคยถูกสปอยล์ในที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำโรงหนัง ลิฟต์ หลังดูหนังจบ อันเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ครึ่งหนึ่งผู้เขียนเชื่อว่าผู้พูดอาจสปอยล์โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะบรรยากาศหลังการดูหนังจบแล้วนั้น ผู้พูดเองอนุมานว่าคนที่อยู่ร่วมในสถานที่นั้นๆ เพิ่งเดินออกจากโรงเดียวกัน มีประสบการณ์ร่วมกันมา ดังนั้นจึงสบายใจที่จะพูดถึงหนังอย่างเต็มที่ แต่คงไม่ทันนึกว่า โรงไม่ได้ฉายเรื่องนี้เรื่องเดียว อาจมีผู้ที่มาดูหนังเรื่องอื่น แล้วซวยถูกสปอยล์โดยบังเอิญ

ปัจจุบันผู้เขียนเห็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในกรณีนี้แล้ว คือบางโรงฉายหนังเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว มี 10 จอก็ฉายมันทั้ง 10 จอนั่นแหละ ทำให้ผู้ชมที่เข้าห้องน้ำโรงหนังดังกล่าวในช่วงสัปดาห์ฉาย 100 เปอร์เซ็นต์ คือผู้ชมหนังเรื่องนี้ ใครอยู่ในห้องน้ำก็ล้วนร่วมประสบการณ์เดียวกันแน่นอน

หากอีกกรณีอย่างการเขียนถึงหนังโดยไม่จั่วหัว [SPOILER ALERT] หรือการจงใจเล่าทุกอย่างลงในช่องคอมเมนต์ หรือการทำภาพเฉลยกันโต้งๆ นี่ต่างหากเป็นการจงใจสปอยล์อย่างแท้จริง ซึ่งในสังคมออนไลน์มีกระบวนการตอบโต้ ทั้งลบคอมเมนต์ แชร์ไปประณาม ที่หนักสุดคือมีกรณีถึงขั้นล่าแม่มด ประกาศให้ทุกคนระวังชื่อ user ที่คอยป่วนสปอยล์กันแล้ว

อันที่จริงปัญหาการสปอยล์นี้ยังเรื้อรังในเมืองนอก มีการรณรงค์กันอย่างจริงจังทั้งจากค่ายหนังและคนทำหนังเอง ด้วยเชื่อว่าพวกเขามีสิทธิที่จะปกป้องหนังและคนดูหนังพวกเขาด้วย เพราะพวกเขามองการดูหนังเป็นวัฒนธรรม มองเรื่องการสปอยล์เป็นสิทธิพื้นฐานที่คนดูทุกคนควรได้รับการปกป้อง บ่อยครั้งที่ค่ายหนังหรือผู้สร้างเอง ออกมาประณามนักวิจารณ์ที่สปอยล์หนังเสียจนหมดสนุก

แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มองอีกด้าน มีงานวิจัยของ นิโคลัส คริสเทนฟิลด์ (Nicholas Christenfeld) และ โจนาธาน เลวิตต์ (Jonathan Leavitt) แห่งมหาวิทยาลัยซานดิเอโก ที่ชี้ว่าคนอ่านเองบางทีก็ชอบการสปอยล์ เพราะอยากจะแน่ใจว่าตนเสียเวลาในการอ่าน สิ่งที่ตรงตามความคาดหวังของตนจริงๆ คือรู้ตอนจบไว้ก่อนเมคชัวร์กว่า พวกเขายืนยันว่ามีหลายกรณีที่คนดูหนังเองก็ชอบดูหนังเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ แม้จะรู้เรื่องทุกอย่างแล้ว เพราะพวกเขารักเรื่องราวของหนังทั้งเรื่อง มากกว่าสนใจฉากจบหรือพล็อตหักมุม

เรื่องนี้มองได้หลากมุม เถียงกันได้ทุกแง่ แต่ในท้ายสุดแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าแม้ Infinity War จะลาโรงไป หนังเรื่องใหม่เข้ามาฉายแทน หากตราบใดที่วัฒนธรรมการสปอยล์ในบ้านเรายังไม่ถูกนำมาพูดถึงกันอย่างจริงจัง ศึกษาให้เข้าใจ และไม่มองแค่เป็นเรื่อง ‘เล่นสนุก’ เราก็จะไม่มีทางเห็นมุมอีกด้านของมัน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นสนุก แต่เป็นอาวุธกลั่นแกล้งกันดีๆ ชนิดหนึ่ง

สงครามอมตะระหว่างนักสปอยล์กับคนดูหนัง คงดำเนินไปอีกตราบนานเท่านาน


[1] คำประกาศของพี่น้องรุสโซคือ “If you truly want to avoid any spoilers until you see the film, we recommend you abstain from any social media, or the internet in general, until you have an opportunity to get to the theater.”
[2] โดยธรรมเนียมนิยมสมัยหนัง คนดูหนังมักเข้าโรงไม่ตรงเวลา เพราะสามารถซื้อตั๋วครั้งเดียวแล้วดูหนังวนทั้งวันได้ พวกเขาจึงมักเข้าไปช่วงกลางเรื่องแล้ว และนั่งดูจนจบเพื่อรอให้หนังวนกลับมาฉายใหม่ในรอบถัดไป จนถึงจุดที่พวกเขาเข้ามาดู
[3] ข้อเขียนของอีเบิร์ตชื่อ ‘CRITICS HAVE NO RIGHT TO PLAY SPOILER’ พุ่งเป้าไปที่เมดเวดโดยตรง
อ้างอิงข้อมูลจาก:
history.com
rogerebert.com
theawl.com
ucsdnews.ucsd.edu

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า