ภวังค์รักของแม่

เทศกาลหนังไทยกับวิกฤติต้มยำกุ้ง จัดขึ้นที่หอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) ในวาระครบรอบ 20 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง จัดฉายภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหายนะทางเศรษฐกิจในปี 2540 หลายเรื่องในหลายสัปดาห์ จริงๆ ความตั้งใจแต่แรก คือ แค่อยากไปรำลึก ภวังค์รัก หนังที่พูดถึงภาวะยึดติดกับภาพจำในอดีต ที่ผู้กำกับไม่ได้ปิดเน้นหรือเกลี่ยประเด็นเชิงภาพใหญ่ของการล่มสลายทางเศรษฐกิจประเทศในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งเชื่อว่าใครที่มีอายุ 35+ จะจดจำได้ดีถึงช่วงสมัยที่ตนเองอยู่ในระดับ ม.ปลาย

สมัยนั้น ผมไม่ได้เรียนต่อ ม.4 ในโรงเรียนวัดประดู่ในทรงธรรม เพราะไม่ชอบที่โรงเรียนให้นักเรียนทุกคนต้อง ‘เต้น’ ในวันเปิดเทอมแรกของชั้น ม.4 ทั้งด้วยไม่ชอบการแสดงออก ทั้งด้วยการตั้งคำถามในเหตุผลที่โรงเรียนบอกว่า เพื่อให้กล้าแสดงออก แต่ปิดปากเงียบในประเด็นความเห็นต่าง – อันนี้ผมมาคิดได้ในตอนโตแล้ว

ปี 2540 จึงเป็นปีที่ผมเดินเตะฝุ่นอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งย่านบางใหญ่ หลังการเวนคืนห้องแถวซอยวัดประดู่ในทรงธรรมในปี 2536 ทำให้ครอบครัวกระจัดกระจายกันไป ก่อนโยกย้ายอีกครั้งในปี 2538 จึงมาหยุดยั้งที่บางใหญ่ นนทบุรี

ภาพที่จำได้แม่นจนเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนทำให้เริ่มไม่แน่ใจว่าเป็นความจริงหรือความฝัน เหมือนในความคิดของตัวละครหลักๆ ทั้งสี่ตัวละครใน ภวังค์รัก คือ ภาพของท้องถนนในหมู่บ้านที่เปลี่ยวร้าง ทาวน์เฮาส์ปิดตาย บางหลังแขวนป้ายประกาศขาย บางร้านค้าประกาศเซ้งกิจการ

ความคิดความฝันที่เคยเชื่อว่าประเทศจะเจริญจนก้าวเป็นประเทศพัฒนาแล้วถูกทำลายสิ้นในปีนั้น ก่อนจะถูกทำลายลงอีกครั้งอีกเก้าปีต่อมา จวบจนปัจจุบัน ที่แค่ประคองไม่ให้เป็นประเทศด้อยพัฒนาอาจจะดูเป็นจริงได้มากกว่า

คำพูดของ ทราย ที่บอกกับ มัท ว่า เขาแค่หลงรักความรู้สึกที่ได้รักมากกว่ารักเธอที่เธอเป็นจริงๆ อาจเป็นได้ทั้งความจริงที่มัทต้องยอมรับว่า เขาอาจแค่ยึดติดกับอดีต ภาพของตึกสูงซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จ เช่น ตึกสาทรทาวเวอร์ที่คุ้นตา อาจตอกย้ำความจริงให้กับเราอีกเช่นกันว่า ประเทศนี้คงเป็นได้เท่านี้ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนจะยังคงอยู่ต่อไป ไม่จบสิ้น เหมือนบทเพลงของ ติ๊ก ชีโร่ ในตอนที่มัท ปูเป้ และมิค จำต้องตื่นจากภวังค์รัก เพื่อมาพบกับความจริง เมื่อเพลง ‘ลืมไม่หมด’ จบลงแล้วโรงก็กลับสว่างขึ้น

…ก่อนจะวูบดับลงอีกครั้งในหนังเรื่องต่อมาที่ชื่อ Mother หนังความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมงบอกเล่าเรื่องราวของหญิงคนหนึ่งที่โดดลงมาจากชั้นสองของบ้าน ก่อนจะตื่นขึ้นเพื่อพบว่าตัวเองติดอยู่ในกาลเวลาที่ผ่านพ้นกับภาพที่เคยฟุ้งเฟ้อ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาพจริงในปัจจุบันที่เธอกลายเป็นเพียงผู้ป่วยของโรงพยาบาลศรีธัญญา

Mother ไม่ได้อนุญาตให้ผมได้รู้จักชื่อของตัวละครใดๆ นอกจากสรรพนามที่ลูกชายเรียกเธอว่า ‘แม่’ นอกจากนั้น หนังยังนำเสนอภาพสองภาพระหว่างภาพจริง (?) ของครอบครัวของแม่กับลูกชาย และภาพจำลองในฐานะของหนังสั้น ที่ถูกเล่าซ้อนลงไปในภาพจริงอีกที

Mother จึงมีความเป็นความหนังซ้อนหนัง

ฉากของแม่ในหนังสั้นตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาลหลังโดดจากระเบียงชั้นสองบอกให้รู้แค่เพียง ‘แม่’ ได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกอันเซอร์เรียล เพื่อสะท้อนสภาวะหนีไปจากโลกจริงที่โหดร้าย ก่อนจะนำเสนอความเงียบของแม่ที่เดินออกจากบ้านยามดึกสงัดเพื่อไป ‘ซื้อ’ ของในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างไม่มีความหมาย เพียงแต่หยิบลงตะกร้ารถเข็น ชิ้นแล้วชิ้นเล่า เพื่อจะไปจบสิ้นยังฉากที่แม่ถูกจำคุก มีลูกชายเกาะกรงอยู่นอกห้องขังเท่านั้น

ขณะที่ภาพจริงของ ‘แม่’ อีกคนในชุดเสื้อนอน นุ่งเพียงผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ กำลังร้องไห้ในฉากที่ดูเหมือนถูกแอบถ่าย ก่อนเดินขึ้นบันไดมาท่ามกลางเสียงก่นด่าจับใจความไม่ได้ชัดเจน ว่าเธอเอาแต่สร้างปัญหา

เธอเดินมาทิ้งตัวลงบนเตียง ขณะที่เสียงเพลงร่วมสมัยจากทีวีดังคลอในบรรยากาศที่แม่เอาแต่นอนร้องไห้ แล้วคร่ำครวญแต่เพียง “…ทุกวันนี้กูก็พยายามอยู่นิ่งๆ ที่สุดแล้ว กูรู้ตัวว่ากูทำผิด แต่มึงยังมาด่ากูอีก” ขณะที่เสียงด่าซึ่งมองไม่เห็นตัวก็ยังตามมาด่าถึงห้องนอน และยังด่าต่อไม่หยุด ก่อนจะไปจบที่ “…ต่อให้มึงตายไป ความผิดก็ไม่ได้ถูกชดใช้ ถ้ามึงไม่แก้ไข”

ฉากนี้เป็นฉากเดียวที่ยาวที่สุดในหนังเรื่องนี้ จากนั้นหนังพาผมกลับไปยังโรงพยาบาล แม่ถูกเจาะเลือดเพื่อตรวจ ขณะที่แม่พูดเพียงว่า เข็มนี้สะอาดไหม? จนเมื่อนางพยาบาลออกไป ทิ้งแม่ไว้กับลูกชายที่ผมก็ไม่ได้เห็นหน้า นอกจากเสียงของเขาผ่านมาทางกล้องที่ถูกใช้แทนสายตา จวบจนใบหน้าของแม่ที่เอาแต่จ้องมองกล้อง สบตากับลูกชาย และผม และเรา ในฐานะลูกของแม่ทุกๆ คน หนังจบลงด้วยภาพของแม่ในวัยสาว อุ้มทารกไว้ในอ้อมแขนด้วยรอยยิ้ม

เป็นภาพของแม่ที่งดงามที่สุด…


ดูรายละเอียด หนังไทยกับวิกฤติต้มยำกุ้งได้ที่ https://www.facebook.com/events/1997292213828045

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า