เพลงรักทะไลลามะ: เพลงรักและรหัสสัญญาณในการหวนกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง

คุณคาดหวังอะไรจากบทกวี

ถ้าพูดด้วยภาษาโอฬาร คุณอาจคาดหวังถ้อยคำก่อรูปเป็นธรรม ถ้าเช่นนั้นบทกวีสำหรับคุณควรเป็นที่มั่นของความจริง มันอาจเป็นความจริงที่มีอยู่แล้ว ความจริงที่มีผู้ค้นพบมันแล้ว ความจริงเล็กๆ ที่รายรอบตัว แต่ถูกหลงลืม กวีเลือกใช้คำและภาษา จัดวางตำแหน่งแห่งมัน ผลลัพธ์คือความหมายที่กระทบความรู้สึกและสั่นสะเทือนการรับรู้ ทั้งที่คุณอาจจะรู้อยู่แล้ว แต่ก็อดที่จะปลาบปลื้มไปกับความลี้ลับอันน่าหลงใหลของความจริงไม่ได้ มากไปมั้ยถ้าคุณคาดหวังสิ่งเหล่านี้จากบทกวี แต่มันก็เป็นแบบนี้แหละ เหมือนนักดื่มคาดหวังกลิ่นผลไม้สีเข้มในเบียร์แทรปปิสต์ที่ผลิตโดยนักบวชในอาราม มันต้องเป็นแบบนี้

หนังสือเล่มขนาดฝ่ามือ ปกแข็ง เย็บกี่เปลือยสัน ภาพปกเป็นภาพวาดสไตล์ทังกะสื่อเรื่องราวสตรีนั่งคร่อมบนตักพระพุทธเจ้าบนฉากหลังสีชมพู จิตรกรรมทังกะของชาวทิเบตเป็นสาส์นแห่งบันทึกไปสู่ผู้ฝึกจิตปฏิบัติตน แต่ในแง่ของงานศิลปะในสายตาคนนอกวัฒนธรรมทิเบต มันคือภาพที่ทำให้เราออกแรงละเล่นทางปัญญา ขบคิดกับมัน

ไม่ต่างจากบทกวีจำนวน 65 ชิ้นในหนังสือเล่มนี้

เพลงรักทะไลลามะ ประกอบด้วยบทกวีจำนวน 65 ชิ้น เกาะเกี่ยวและวนเวียนอยู่กับเรื่องรัก หญิงสาว สถานคณิกา เหล้าชาง

ผู้ประพันธ์มียศฐาเป็นทะไลลามะที่ 6 แห่งทิเบต ฉังยัง กยัตโซ เป็นผู้นำทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรของดินแดนทิเบต แต่เขาเป็นทะไลลามะองค์เดียวของดินแดนทิเบตที่เลือกใช้ชีวิตแบบฆราวาส เคร่งวินัยในเหล้าชาง บทกวี และสตรี แทนที่จะเป็นพระธรรม ดั่งปรากฏในบทกวีของเขา

(17)

ต่อหน้าคุรุผู้ควรบูชา

ที่ฉันเดินทางไปหาเพื่อรับคำสอนจากท่าน

แต่ก็ไม่อาจเอาชนะความคิดถึงของฉัน

อันหลบลี้หนีไปอยู่กับยอดรัก

(35)

หากนงคราญนั้นเป็นอมตะ

เมรัยก็จะไม่มีวันหมดสิ้น

ชายหนุ่มก็อาจถือสรณะนิรันดร์

ศรัทธามั่นในสถานแห่งนี้

(สถานแห่งนี้หมายถึงโรงขายสุรา)

คณะจัดทำหนังสือเล่มนี้ได้อรรถาธิบายประวัติศาสตร์และบริบทของยุคสมัยที่ทะไลลามะที่ 6 มีชีวิต ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์แวดล้อมบทกวีได้ดีขึ้น

“นักปราชญ์ฝ่ายทิเบตหลายคนเชื่อว่า ที่ ฉังยัง กยัตโซ ละทิ้งวินัยและใช้ชีวิตแบบฆราวาสไปกับบทกวี เหล้า และสตรี เป็นวิถีปฏิบัติอันลี้ลับของนิกายญิงมะ เนื่องจากเขาเกิดในตระกูลของ เปมะ ลิงปะ คุรุผู้ศักดิ์สิทธิ์ของญิงมะ ดังนั้นเอง ทั้งบทกวีและวิธีการดำเนินชีวิตของเขาจึงเป็นสัญลักษณ์มากกว่าความหมายโดยตรง” คือคำอธิบายท้ายเล่ม

การเลือกใช้ชีวิตของ ฉังยัง กยัตโซ สร้างความคลางแคลงใจต่อผู้คนบางส่วนว่าเขาคือทะไลลามะตัวปลอม ร่างอวตารของพระโพธิสัตว์ผู้กลับมาถือกำเนิดใหม่ไม่น่าจะประพฤติตนเยี่ยงนี้ ประกอบกับในเวลานั้น สถานการณ์การเมืองของทิเบตก็อ่อนไหว ผู้นำมองโกลปรารถนาจะมีอำนาจปกครองทิเบต พยายามทำลายอำนาจการบริหารทิเบตของฉังยัง กยัตโซ ไหนจะศึกจากจีนที่ต้องการแทรกแซงทิเบตเพื่อปกครอง กระทั่งปี ค.ศ. 1706 ฉังยัง กยัตโซ ก็ถูกยึดอำนาจและถูกส่งตัวไปยังจีน แต่ความศรัทธาในความเป็นทะไลลามะของชาวทิเบตยังคงอยู่ จึงก่อให้เกิดการจลาจลและความสูญเสียของชาวทิเบต ฉังยัง กยัตโซ จึงมอบตัวแก่ทหารมองโกลเพื่อยุติความรุนแรงที่ดำเนินไปเพื่อปกป้องเขา และเขาก็หายสาบสูญ

ประวัติศาสตร์ของทะไลลามะเดินคล้องแขนกันกับการเมืองและศาสนามาตั้งแต่แรกเริ่ม แม้ว่าการสืบทอดตำแหน่งประมุขทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรของทิเบตจะใช้ระบบ ‘ตุลกูหรือการกลับมาเกิดใหม่ของทะไลลามะ แต่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองมาตั้งแต่แรกเริ่ม

ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา ได้เขียนเล่าประวัติศาสตร์ของทะไลลามะ ว่าการสืบทอดตำแหน่งประมุขผู้ปกครองทิเบตเป็นการสืบทอดด้วยการถือกำเนิดใหม่ เริ่มต้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 การถือกำเนิดของตำแหน่งทะไลลามะกลับเกิดจากข่านผู้ยิ่งใหญ่ชาวมองโกล ผู้มีกองกำลังและฐานที่มั่นอยู่รอบชายแดนจีน หลังถูกขับไล่ออกจากจีน อัลตันข่านได้เชิญ โสนัม กยัตโซ เจ้าอาวาสของมหาอารามเดรปุงแห่งนิกายเกลุก อัลตันข่านเปี่ยมไปด้วยปรารถนาในพระพุทธศาสนา ในตัวของโสนัม กยัตโซ

“จึงได้ถวายตำแหน่งทะไลลามะ อันมีความหมายว่า ‘คุรุมหาสมุทร’ ให้แก่ โสนัม กยัตโซ คำว่า ทะไลลามะ นั้นเป็นการผสมระหว่างคำในภาษามองโกล คือ ทะไล อันมีความหมายว่า มหาสมุทร (ซึ่งก็คือคำว่า กยัตโซ ในภาษาทิเบต) และคำในภาษาทิเบต คือ ลามะ อันมีความหมายว่าคุรุ จากนั้นมา โสนัม กยัตโซ จึงเป็นที่รู้จักในชื่อทะไลลามะ”

หลังจากนั้น โสนัม กยัตโซ ได้ถวายตำแหน่งทะไลลามะย้อนขึ้นไปให้แก่อดีตชาติของตน 2 รูป เป็นทะไลลามะที่ 1 และที่ 2 โสนัม กยัตโซ คือทะไลลามะที่ 3

“ตำแหน่งทะไลลามะได้สืบทอดผ่านการถือกำเนิดใหม่โดยไม่ขาดสาย ถึงปัจจุบันเป็นองค์ที่ 14 ซึ่งในทุกครั้งที่ทะไลลามะมรณภาพ ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการและคณะที่ต้องออกค้นหาเด็กชายผู้เป็นร่างกำเนิดใหม่จากรหัสสัญญาณบางอย่างที่ทะไลลามะองค์ก่อนทิ้งไว้ให้” จากบทนำโดย ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา

ทะไลลามะที่ 14 ผู้เลื่องชื่อในระดับโลก เคยรับสั่งมาตลอดกระทั่งปี 2016 ว่า หากเห็นว่าไม่มีงานที่ต้องกลับมาดูอีก ท่านก็ไม่จำเป็นต้องมาเกิดเป็นทะไลลามะองค์ที่ 15

มันคือรหัสสัญญาณของทะไลลามะที่ 14 ตามระบบตุลกูหรือไม่ แต่รหัสสัญญาณนี้ก็ถูกอ่านโดยประเทศจีน

ในสายตาจีน องค์ทะไลลามะที่ทรงลี้ภัยออกมาจากทิเบตตั้งแต่ ค.ศ. 1959 นั้น ทรงเป็นผู้แบ่งแยกดินแดงหัวรุนแรง จีนถือว่า องค์ทะไลลามะเป็นเพียงพระภิกษุที่เป็นหัวหน้าของนิกายเกลุกปะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของนิกายหลักในพุทธศาสนาของทิเบต

“เมื่อสิ้นองค์ทะไลลามะองค์ปัจจุบัน คือองค์ที่ 14 ก็จะมีการเลือกสรรทะไลลามะองค์ที่ 15 แน่นอน จีนก็จะเลือกชาวจีนเชื้อสายทิเบตที่อยู่ในจีน เพื่อให้จีนควบคุมได้ง่าย แต่จีนไม่มีกลไกที่จะเลือกสรรองค์ทะไลลามะ” คือบทวิเคราะห์จากบทความ ‘ไม่มีองค์ทะไลลามะที่ 15’ โดย ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์

 

นี่อาจเป็นรหัสสัญญาณของทะไลลามะที่ 14 ซึ่งมีนัยทางการเมืองระหว่างทิเบตกับจีน

“อาตมาคิดอยู่เสมอว่าตนเป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดารูปหนึ่งในพุทธศาสนา อาตมารู้สึกว่านี่แหละคือตัวอาตมาจริงๆ ทะไลลามาะเป็นผู้ปกครองชั่วคราว เป็นสถาบันที่ถูกสร้างขึ้นมา ก็ตราบใดที่ผู้คนยังยอมรับทะไลลามะ พวกเขาก็ยอมรับอาตมา แต่การเป็นพระสงฆ์นั้น เป็นสิ่งที่ขึ้นกับอาตมาเอง ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนมันได้ ลึกลงไปข้างใน อาตมาคิดอยู่เสมอว่า ตนเองคือพระสงฆ์ แม้แต่ในความฝันของอาตมา” คือคำกล่าวของทะไลลามะที่ 14

 

คำกล่าวของทะไลลามะที่ 14 มีความสอดคล้องกับบทกวีบทที่ 65 ของ ฉังยัง กยัตโซ แม้เป็นบทกวีรักๆ ใคร่ๆ จึงอยากนำมาเสนอในที่นี้

(65)

ประการแรกคือไม่เห็นเป็นดี

จะไม่มีเหตุให้ตกหลุมรัก

ประการที่สองไม่คุ้นเคยเป็นดี

จะไม่มีเหตุให้โศกเศร้าเสียใจ

 

ในฐานะคนนอกวัฒนธรรมทิเบต ผมสงสัยแบบเด็กๆ ว่า ทะไลลามะที่ 6 กับทะไลลามะที่ 14 คือบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ หรือพูดให้ชัดกว่านี้ การตายและเกิดของทะไลลามะองค์แล้วองค์เล่า คือบุคคลหรือดวงจิตเดิมเดียวกันแบบไม่ขาดสายอย่างนั้นหรือ

โซเกียล ริมโปเช เขียนในหนังสือ ประตูสู่สภาวะใหม่ คำสอนธิเบตเพื่อเตรียมตัวตาย และช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย ว่า ทั้งใช่และไม่ใช่

“เจตนาและความมุ่งมั่นของท่านที่จะช่วยเหลือผู้อื่นยังเหมือนเดิม แต่ท่านมิใช่คนเดียวกันแท้ๆ สิ่งที่สืบเนื่องจากชาติหนึ่ง มาอีกชาติหนึ่งก็คือ องค์คุณอันประเสริฐ ซึ่งชาวคริสต์เรียกว่า “พระสง่าราศรี” การส่งผ่านองค์คุณอันประเสริฐหรือพระสง่าราศรีนี้จะเป็นไปอย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับแต่ละยุคอย่างพอดิบพอดี และผู้ที่กลับชาติมาเกิดก็จะปรากฏตัวอย่างเหมาะสมที่สุดกับกรรมของผู้คนในยุคของท่าน เพื่อจักสามารถช่วยเหลือเขาเหล่านั้นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด”

 

ย้อนกลับมาที่ทะไลลามะที่ 6 หรือนักกวีของเรา เขาหายสาบสูญไปหลังจากที่มอบตัวกับทหารมองโกล ไม่มีใครพบเจอเขาอีกเลย นอกจากเสียงเล่าลือต่างๆ คำถามที่ตามมาก็คือแล้วทะไลลามะที่ 7 เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อะไรคือรหัสสัญญาณที่ทะไลลามะที่ 6 ทิ้งไว้

ว่ากันว่า ปรากฏในบทกวีบทหนึ่ง

 

โอ้ นกกระเรียนขาว

ฉันขอยืมปีกเจ้าที

ไม่ได้ไปที่ไหน

สู่ลิถังแล้วจะกลับมา

 

ทะไลลามะที่ 7 เกิดปี 1708 ที่ลิถัง.

 

เพลงรักทะไลลามะ
สมเด็จพระฉังยัง กยัตโซ ทะไลลามะที่ 6 แห่งทิเบต เขียน
ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา แปล
สำนักพิมพ์ปลากระโดด

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า