หากใจความสำคัญของ ‘การปฏิวัติสยาม 2475’ งานคลาสสิกของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คือการพยายามอธิบายให้เห็นว่า เหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม ตามวาทกรรมที่พยายามช่วงชิงความทรงจำ หากแต่เป็นการสั่งสมบ่มเพาะองค์ประกอบทางสังคมทุกองคาพยพ กระทั่งสุกงอมในเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน เมื่อ 86 ปีก่อน
งานเล่มนี้ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ก็มีบางอย่างทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือพยายามอธิบายให้เห็นสายธารความต่อเนื่อง (และไม่ต่อเนื่อง) ของความคิดนอกสกุลจารีตนิยม ถัดจากยุค 2475 การก่อตัวทางสังคมและความคิดในมหาวิทยาลัยช่วงปี 2500 ก่อนถึงปี 2516 ปัจจัยภายนอกประเทศ บรรยากาศสงครามเย็น สงครามอินโดจีนที่โอบล้อมประเทศไทย รวมถึงคลื่นขบวนต่อต้านสงครามเวียดนาม ซึ่งขยายตัวจากเรื่องความคิดมาสู่รูปแบบทางวัฒนธรรม ศิลปะ และวรรณกรรม กระทั่งถึงความต่อเนื่องระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ทั้งหมดนี้เพื่ออธิบายให้เห็นว่า เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดภายในชั่วข้ามคืน และออกจะหยาบเกินไปหากจะสรุปว่า ผลลัพธ์ชัยชนะในวันนั้นเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ โดยไม่มีเหตุปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง
เกษียร เตชะพีระ ผู้เขียนคำนำเสนอ ชี้ให้เห็นว่าจุดเด่นของงานเล่มนี้อยู่ที่การใช้แง่มุมการเมืองวัฒนธรรม หรือการต่อสู้ทางการเมืองในปริมณฑลวัฒนธรรม เพื่อช่วงชิงพื้นที่ ความหมาย และคุณค่า ซึ่งถือเป็นประเด็นศึกษาที่ค่อนข้างใหม่ ในตอนนั้น
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ในฐานะกรรมการวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของประจักษ์ กล่าวว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นงานวิชาการเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ดีที่สุดในภาษาไทยปัจจุบัน
อันที่จริง งานเล่มนี้โด่งดังมากอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่นของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2544 ก่อนที่จะได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2548
ชื่อหนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ มาจากบาทหนึ่งของบทกวี ‘เพียงความเคลื่อนไหว’ โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ส่วนคำขยายชื่อหนังสือที่ว่า ‘การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชน ก่อน 14 ตุลา’ ส่วนหนึ่งของการศึกษาแง่มุมทางวัฒนธรรม ศิลปะ และวรรณกรรม ประจักษ์ ก้องกีรติ ใช้เวลาสืบค้นหนังสือและเอกสารชั้นต้นที่บ้านสุชาติ สวัสดิ์ศรี
ถามว่า เหตุใดเราจึงควรหาเวลากลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกสักรอบ
นอกเหนือจากวาระครบ 45 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคมแล้ว ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทบทวนอีกรอบ อาจช่วยให้เรามองเห็นว่ามีตัวแปร องค์ประกอบ เหตุปัจจัยอะไรบ้าง ที่จะนำไปสู่การได้รับชัยชนะในการต่อสู้ทางการเมือง
การสู้แล้วแพ้บ่อยๆ แสดงว่าต้องมีอะไรไม่ถูกต้องอย่างน้อยสองสามอย่าง
และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ ประจักษ์ ก้องกีรติ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน |