อาจเป็นความเข้าใจ (ไปเอง) กับบรรยากาศที่ดูเหมือนประเทศจะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แม้ว่าหากเชื่อตามท่านผู้นำจะเกิดขึ้นในปีหน้าก็ตาม แต่อย่างน้อยในกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย สิ่งนี้ก็เป็นก้าวแรกที่จะปูทางไปยังสิ่งอื่นๆ ที่หวังว่าในท้ายสุดแล้ว ประเทศนี้จะเลิกกดหัวตัวเองด้วยการพึ่งพิงอำนาจนอกระบบมาแก้ปัญหาทางการเมือง แล้วปล่อยให้หนทางตามกระบวนการต่างๆ ของระบอบประชาธิปไตยสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง
คงเพราะเหตุนั้น จึงทำให้นึกถึงวาทกรรมเก่าๆ ที่เคยโด่งดังและนำไปสู่ประเด็นโต้เถียงตามหน้า feed บนโลกออนไลน์ว่าการเลือกตั้งไม่ได้รับประกันว่าเราจะได้ผู้นำที่ดีเสมอไป “ดูอย่างฮิตเลอร์นั่นสิ เราได้ทรราชที่สั่งสังหารชาวยิวไปกว่า 6 ล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2”
แน่นอนว่าวาทกรรมนั้นนำไปสู่วงเสวนาในชื่อ ‘ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง’ ซึ่งในที่สุดกลายมาเป็นหนังสือ ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดย ภาณุ ตรัยเวช ผู้เคยเข้าร่วมวงเสวนาครั้งนั้นโดยมีจุดมุ่งหมายตามที่ภาณุเขียนไว้ในคำนำว่า
…เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเผด็จการแห่งเยอรมนี ซึ่งสวนทางกับเรื่องเล่าที่แพร่หลายในสังคมไทย…
แต่การจะทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับต้นกำเนิดของปีศาจ (ซึ่งกระหวัดให้นึกถึงการ์ตูนที่ชื่อ Monster มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มอัจฉริยะผู้มีจิตใจดำมืด เนื้อหาในการ์ตูนเล่มนั้นเริ่มต้นที่เยอรมนี) เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ให้กำเนิดปีศาจเสียก่อน
ดังนั้น ภาณุจึงพาเรา -ในฐานะผู้อ่าน- กลับไปรู้จักเยอรมนีในยุคที่ยังได้ชื่อว่าสาธารณรัฐไวมาร์
กษัตริย์หนุ่มผู้หลงใหลในเครื่องยนต์ กลไก และอาวุธยุทโธปกรณ์
…กษัตริย์วิลเฮล์มที่ 2 ในสายตาอนุชนคนรุ่นหลังเต็มไปด้วยภาพลักษณ์อันย้อนแย้ง ในภาพยนตร์ชวนเชื่ออเมริกัน พระองค์คือ ‘อสุรกายจากเบอร์ลิน’ นายกรัฐมนตรีอังกฤษชนะการเลือกตั้งด้วยคำขวัญ ‘แขวนคอไคเซอร์!’ ในทางตรงกันข้าม นายพลชาวเยอรมันคนหนึ่งกล่าวถึงกษัตริย์ของตนว่า “อนาถแท้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบภาระแห่งสงครามอันหนักอึ้งไว้บนบ่าและในหัวใจของชายผู้รักสันติภาพยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด”…
– หน้า 34 ‘บทกำเนิดไวมาร์’
ในบทกำเนิดไวมาร์ ภาณุแนะนำให้เรารู้จักกษัตริย์หนุ่ม ฟรีดริคซ์ วิลเฮล์ม วิกเตอร์ อัลแบร์ต หรือวิลเฮล์มที่ 2 ผู้นิยมเกทับเพื่อนบ้านด้วยการคุยโวโอ้อวดในศักยภาพทางทหาร กษัตริย์ผู้อาจจะมีความย้อนแย้งในตัวผู้หนึ่ง ทั้งในด้านที่ไม่ต้องการให้ต่างประเทศมารุกรานเยอรมนี ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธการอวดโอ่ผ่านการแสดงแสนยานุภาพทางทหาร โดยเฉพาะผ่านกองทัพเรือ จนกระทั่งทั่วทั้งทวีปยุโรป…พร้อมใจกันไหลไปตามวังวนแห่งวาจาของพระองค์
ตลกร้ายคือ ‘เรือดำน้ำ’ อันควรจะเป็นอาวุธอันทรงพลังในสงครามโลกครั้งที่ 1 กลับกลายเป็นชนวนในการชักนำมหาอำนาจโลกใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามด้วยการที่เรือดำน้ำเยอรมันดันไปจมเรือโดยสารลูสิทาเนีย (RMS Lusitania) ของอังกฤษ และนำมาสู่การเรียกร้องให้กษัตริย์วิลเฮล์มที่ 2 ต้องสละราชสมบัติโดยผู้นำรัฐบาลและกองทัพในบั้นปลายที่สุด
สิ่งที่ชื่นชอบใน ‘บทกำเนิดไวมาร์’ ไม่ใช่การที่ภาณุสะสางให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาความรุนแรงที่มีพื้นฐานมาจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจเมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือการประท้วงที่นำไปสู่การปราบปรามของพรรค SPD (Social Democratic Party of Germany) ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากแนวทางในการรับใช้ชนชั้นกรรมาชีพ ทว่ากลับเปลี่ยนแนวทางไปรับใช้ชนชั้นกลางจนได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรยศการปฏิวัติ แต่เป็นการที่แก่นกลางหัวใจในการถือกำเนิดของสาธารณรัฐเกิดใหม่มาจากการที่เมืองเล็กๆ ที่ชื่อ ‘ไวมาร์’ (Wiemar) เป็นบ้านเกิดของมหากวี โยฮันน์ วูล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ และ ฟรีดริคซ์ ชิลเลอร์
อีกนั่นแหละ สภาวะย้อนแย้งของแก่นกลางหัวใจของมหาชนเยอรมันที่ผูกโยงอยู่กับกวีอันงดงาม กลับแปรเปลี่ยนไปในที่สุดเมื่อชายที่ชื่อฮิตเลอร์ได้เดินขึ้นมาสู่เวทีการเมือง
จิตรกรแห่งเวียนนาและการถือกำเนิดของปีศาจ
อย่างที่เรารู้กัน ฮิตเลอร์มีความสามารถในด้านจิตรกรรม เขาอาจไม่ได้เก่งกาจขนาดเป็นศิลปิน ไม่นับการสอบตกในโรงเรียนศิลปะ สิ่งที่โดยส่วนตัวมักเป็นข้อสังเกตในเชิงตั้งคำถามเรื่อยมาคือ เหตุใดผู้ที่มีจิตใจนิยมชมชอบในศิลปะกลับซ่อนซุกความเหี้ยมหฤโหดบนความเย็นชาไว้ แน่นอนว่าความสงสัยกินลามกลับมายังผู้นิยามตัวเองในฐานะกวี ศิลปิน นักร้อง ผู้เคยหัวเราะลั่นในความตายของผู้อื่น
สงครามโลกครั้งที่ 1 และสภาวะตาบอดชั่วคราวจากผลของแก๊สมัสตาร์ดของฮิตเลอร์ส่งผลให้เขาหันเหตัวเองจากความล้มเหลวในการพยายามเป็นศิลปินไปสู่นักการเมือง และท่านผู้นำในที่สุด
คำถามสำคัญของผู้สนใจประวัติศาสตร์คือคำถามที่ว่า ณ จุดหนึ่งของเวลาในช่วงนั้นเกิดอะไรขึ้น?
ในสาธารณรัฐไวมาร์ฯ ให้คำตอบหนึ่ง -ซึ่งแน่นอนไม่ได้เป็นบทสรุป- ว่าทำไมฮิตเลอร์ถึงครองใจประชาชนชาวเยอรมันจนก้าวขึ้นจากจิตรกรเร่ร่อนเพ้อฝันกลายมาเป็นผู้นำกองกำลังแห่งประเทศที่พาโลกเข้าสู่สงครามได้อย่างบ้าคลั่งปานนั้น
คำตอบนั้นคือ สภาพการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนไปของเยอรมันเอง
ฮิตเลอร์ไม่ได้เป็นนักพูดเก่งกาจในด้านของ fact ที่ฉลาดเฉลียว แต่ฮิตเลอร์มีไหวพริบ มีสัญชาตญาณในการอ่านอารมณ์ของคนเยอรมัน ฮิตเลอร์เกาะกุมไปที่ความรู้สึกหดหู่หลังสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ แล้วบีบขยี้ความรู้สึกนั้นให้กลายเป็นความโกรธแค้นโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ชาวยิวเป็นหลัก ก่อนตามด้วยกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เมื่อการดำเนินการกวาดล้างให้เยอรมันบริสุทธิ์เริ่มต้น
พวกมันนั่งอยู่ในรัฐบาล กระทำธุรกรรมอย่างลับๆ และเมื่อใดที่พวกมันร่ำรวยขึ้นมาได้ก็จะปลุกปั่นกรรมกรให้ทะเลาะกันเอง เพราะคนพวกนี้มีเงิน…คนเยอรมันอย่างพวกเราต้องปฏิวัติ ต่อต้านคนต่างเผ่าพันธุ์ที่กดขี่และฉกฉวยผลประโยชน์ เราจะไม่หยุดยั้ง ไม่พักผ่อนจนกว่าพวกมันทุกคนจะถูกขับไล่ออกจากปิตุภูมิ
– หน้า 86
ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 1932 จนถึงวันแห่งโชคชะตา 30 มกราคม 1933 ไม่ได้อยู่ในการรับรู้ของประชาชนเยอรมันเลย ทั้งหมดเป็นการต่อรองเจรจา แย่งชิงอำนาจหลังฉากล้วนๆ
– หน้า 432
ประโยคนี้ประโยคเดียวไม่อาจทำให้ถึงกับเข้าใจบริบทของสถานการณ์ของการก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของพรรคนาซีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ได้ ในฐานะผู้เขียนภาณุเองก็ (อาจจะ) ไม่ได้ปรารถนาเช่นนั้น เพราะตลอดทั้งเล่มของ ในสาธารณรัฐไวมาร์ฯ ทั้งหมดของเนื้อหาที่กินจำนวนหน้ากระดาษกว่า 480 หน้า นี่คือวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง เป็นนวนิยายที่ประกอบไปด้วยเรื่องเล็กเรื่องน้อยเพื่อประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างที่บนยอดสุดคือคำตอบของคำถามประการหนึ่ง ทำไมประชาชนเยอรมันถึงยอมให้ฮิตเลอร์จูงจมูกได้ขนาดนั้น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการหยิบ ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาอ่านในบริบทการเมืองปัจจุบันของประเทศบางประเทศที่การประกาศวันเลือกตั้งเป็นเหมือนการเล่นซ่อนหาในเขาวงกตของถ้อยคำ โดยมีชุดเหตุผลสุดแล้วแต่จะขุดมาอ้างเพื่อประวิงเวลาในการคืนอำนาจให้ประชาชนทอดออกไปอย่างยาวนานเพื่อตระเตรียมบันไดสู่การรับไม้ต่ออำนาจนั้นไว้ ในอีกนามที่คณะผู้นำจะสามารถป่าวประกาศต่อใครต่อใครได้ว่า ฉันก็มาจากการเลือกตั้ง
วาทกรรมที่หยิบใช้เพื่อโจมตีศัตรูทางการเมืองในประเทศนั้นว่าการเลือกตั้งไม่ได้รับประกันการได้มาซึ่งผู้นำที่ดีเสมอ กล่าวอย่างถึงที่สุดไม่ได้ผิด แต่ไม่ได้ถูกแน่นอน ภาณุหยิบประวัติศาสตร์ของเยอรมันในห้วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเล่าอย่างสนุก และแม้หนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2559 ภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไปแล้วสองปี และล้าหลังจากปัจจุบันนี้ในปี 2561 ไปแล้วสองปีเช่นกัน จุดตรงกลางระหว่างอายุรัฐบาลในการเลือกตั้งครบเทอมสี่ปี อาจไม่ได้อยู่ที่หนังสือเล่มหนึ่งให้คำตอบที่สดใหม่หรือไม่ในภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์ที่การขุดค้นเรื่องราวเก่าๆ เป็นเหมือนยอดของภูเขาน้ำแข็ง และเรื่องราวที่เรายังไม่รู้อีกมากมายนั้นอยู่ข้างใต้
หากทว่าอยู่ที่หนังสือเล่มหนึ่งนั้นชี้ชวนให้เราหันมาทบทวนบริบทของปัจจุบัน ทั้งต่อสังคมและตัวเราเองอย่างไรมากกว่า ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือหนังสือเช่นนั้น
ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ภาณุ ตรัยเวช เขียน
สำนักพิมพ์มติชน