WAY to READ: ‘วิชาการ’ ในฐานะ ‘อาชีพ’

ถ้าคุณไม่ใช่นักฟิสิกส์แล้ว คุณก็ไม่รู้หรอกว่ารถรางที่เรานั่งกันอยู่มันทำงานอย่างไร และคุณก็ไม่จำเป็นต้องรู้หรอก ทั้งหมดที่เราต้องรู้ก็คือ เราสามารถวางใจพฤติกรรมของรถรางนั้นได้

– หน้า 88

 

สิ่งหนึ่งที่ชอบใน Scholarship as a Vocation หรือ วิชาการในฐานะอาชีพ ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยปาฐกถาของ มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) หนึ่งในบิดาผู้วางรากฐานสังคมวิทยาสมัยใหม่ คือ เราไม่อาจมองว่าปาฐกถาของเวเบอร์เป็นเพียง ‘คำสั่งสอนรำพึงรำพัน’ ของผู้มาก่อนในขอบเขตของวิชาการเท่านั้น

หากแต่ ‘อาชีพ’ ที่เวเบอร์ได้กล่าวให้นักศึกษาฟัง เพื่อบอกถึงความหมายของเสียงกู่ร้องจากภายในที่นักศึกษาผู้ฝักใฝ่จะเป็นนักวิชาการต้องไปให้ไกลกว่าคำว่า ‘อาชีพ’

อ่านดูแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่างดูเพ้อฝัน ยิ่งเมื่อเทียบบริบทของ ‘ผู้บรรยายส่วนตัว’ อันเป็นตำแหน่งที่ผู้ปรารถนาจะเป็น ‘นักวิชาการ’ จะต้องเดินผ่านตรงนี้ก่อนโดยไม่ได้รับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัย ก็ดูเป็นการอุทิศตัวในระดับใกล้เคียงกับศาสนาเพื่อก้าวไปเป็น ‘ผู้สอน’

จริงอยู่ที่ผู้บรรยายส่วนตัวจะไม่ได้เรียกร้องอะไร แต่เขาก็มีความคาดหวังซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่า ถ้าเขาได้ทำงานในตำแหน่งนี้มาหลายปี เขาก็ควรมีสิทธิในการได้รับพิจารณาการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้สอนจากทางมหาวิทยาลัย

– หน้า 70

 

ทุกวันนี้เราทำงานกันไปเพื่ออะไร?

บ่อยๆ ครั้งก็เป็นคำถามที่ดูอ่อนแอ หวนดูสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน หากไม่ได้เกิดมาบนทรัพย์สมบัติมหาศาล ยากแน่ๆ ที่จะทำงานโดยไม่มีเงินเดือน วาดหวังเพียงความนิยมของนักศึกษาที่เข้าฟังบรรยายแล้วจ่ายค่าบรรยายนั้น จนกว่าจะได้รับการเลื่อนขั้น ซึ่งขยับมาเป็นภาษาคุ้นเคยหน่อย คือ ได้รับบรรจุ

‘อาชีพอิสระ’ กับ ‘พนักงานทดลองงาน’ ล้วนมีความเหมือนในความต่างที่แขวนลอยอยู่บนความหวัง คนที่ทำงานอิสระอาจบอกได้ว่าตนโชคดีที่ไม่มีนายจ้าง ขณะที่พนักงานทดลองงานขอแค่ไม่ทำผิดพลาดและไม่มีเด็กเส้นของผู้ใหญ่มาตัดโอกาสก็พอ

งานของเวเบอร์ชิ้นนี้อ่านและเทียบเคียงได้ในหลากหลายศาสตร์ ทั้งในด้านศาสนวิทยา ความเชื่อที่มีต่อเสียงกู่เรียกจากภายใน ปรัชญา ไปจนถึงการเมืองที่เวเบอร์โจมตีเหล่านักวิชาการที่ใช้ห้องเรียนเป็นสถานที่เผยแพร่ความคิดทางการเมืองของตนแก่นักศึกษา เพราะห้องเรียนนั้นถูกออกแบบให้นักวิชาการมีสถานะเป็นผู้สอนที่นักศึกษาต้องฟังเท่านั้น

เพราะในห้องบรรยายไม่ใช่สถานที่ของประกาศและนักปลุกระดม

– หน้า 102

 

แม้ไม่ได้เห็นด้วยกับเวเบอร์ในความมุ่งหวังไปสู่สิ่งที่เวเบอร์กล่าวว่า

เราต้องต้องทำงานของเรา และพบกับ ‘ความท้าทายของวันนี้’ ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอาชีพของเรา อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ง่ายและตรงไปตรงมา ถ้าเราแต่ละคนค้นพบและเชื่อฟังจิตวิญญาณที่ถักทอชีวิตของเราแต่ละคนเอาไว้ 

– หน้า 124

 

เพราะเราแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายในการทำงานที่แตกต่างกัน และนิยามความหมายที่มุ่งไปในทางจิตวิญญาณก็กีดกันผู้คนบางอาชีพที่ผิดทำนองคลองธรรมทางในศาสนาและจารีตประเพณี เพราะมันง่ายที่คุณจะชี้นิ้วไปยังผู้ถูกคุมขังในเรือนจำว่าพวกเขาสมควรแล้ว อันที่จริงที่ง่ายและตรงไปตรงมามากกว่า อาจเป็นแค่การที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่ารถรางทำงานยังไง แค่เชื่อมั่นว่ารถรางจะตรงเวลา ทุกคนจะทำหน้าที่ในการงานที่โอบอุ้มให้ทุกองคาพยพของสังคมได้เดินหน้า (ไม่ใช่ถอยหลัง) ก็เพียงพอแล้วต่อคำว่า อาชีพอาชีพหนึ่ง

Scholarship as a Vocation  / วิชาการในฐานะอาชีพ
Max Weber
สำนักพิมพ์สมมติ, 2560

เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก]

Ha-joon Chang
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร: แปล
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย: อ่าน

ยุคหนึ่งเรามักพบการใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม ทั้งเรื่องพฤติกรรมชู้สาว ค่าเสื่อมราคาของภรรยา การสมัครงาน ไปจนถึงการสั่งเมนูกาแฟ รวมๆ แล้วก็สนุกสนานดี แต่หนังสือเล่มนี้กลับมาสู่รากฐาน คือการใช้เศรษฐศาสตร์เพื่อศึกษาระบบเศรษฐกิจ

พูดแบบนี้อาจฟังดูไม่เซ็กซี่ แต่ยิ่งอ่านกลับยิ่งสนุกและเห็นแนวคิดแต่ละสำนักที่เลื่อนไหลพัฒนามาไกล ตั้งแต่ยุคของ อดัม สมิธ

บทหนึ่งที่มีประโยชน์มากในการทำความเข้าใจโลก คือ ประวัติศาสตร์ทุนนิยมฉบับย่อ แล้วค่อยมาถกกันในประเด็นต่างๆ เชื่อว่าจะเถียงกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ่านคำถามอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ถึงฝ่ายอนุรักษนิยม เรื่องระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ / www.the101.world 
อธิคม คุณาวุฒิ: อ่าน

มิตรสหายท่านหนึ่งชื่อ ปกป้อง จันวิทย์ ส่งลิงค์บทความนี้มาให้อ่าน ระหว่างเมาธ์มอยกันหลายเรื่อง

ตัวบทความเขียนในรูปแบบจดหมายถึงอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ล่วงลับ ตั้งประเด็นจากคำถามของ ‘อาจารย์ยิ้ม’ ที่โยนเข้าใส่วงเสวนาทางวิชาการเรื่อง ‘สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย’ เมื่อปลายปี 2553

คำถามหนึ่งของอาจารย์ยิ้ม ออกจะฟังดูพื้นๆ แต่อาจารย์ศุภมิตรมองว่าสะท้อนถึงวิธีคิด วิธีถาม และนัยสำคัญ มีอยู่ว่า… “ถ้าจะพิจารณาคุณค่าของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญว่าดีตรงไหน ว่าคุณค่าของระบอบนี้จะดีกว่าระบอบกษัตริย์แบบอื่นเช่นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างไร คำตอบนั้นจะต้องตอบให้ได้โดยไม่อิงหรือไม่ขึ้นกับตัวบุคคลใดเป็นการเฉพาะ จะต้องตอบออกมาให้เห็นได้ในเชิงระบบ ไม่ใช่คำตอบที่อิงกับพระเกียรติคุณ พระปรีชาสามารถ หรือพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งพระองค์ใดเป็นสำคัญ”

จากคำถามนี้ ศุภมิตรพาผู้อ่านไปสู่ประเด็นการจัดสรรและคานอำนาจในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลัง 2475 อธิบาย authority ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ครอบคลุมทั้ง rational-legal authority, traditional authority, และ charismatic authority ตามแนวคิด มักซ์ เวเบอร์ ด้วยลีลาของผู้ประณีต มีสุนทรียะ และรสนิยมทางวรรณคดี ด้วยท่าทีที่สุภาพเป็นมิตร แต่ชัดเจนว่าจุดยืนทางการเมืองอยู่คนละฝั่งกับอาจารย์ยิ้ม

เป็นบทความขนาดสั้นที่ย่อยสรรพความรู้จากหนังสือหลายเล่มมาให้อ่าน สาธิตให้เห็นวิธีการแลกเปลี่ยนทางปัญญาที่น่านับถือ

พูดแบบโยนภาระไปใส่ไหล่บ่าอาจารย์ศุภมิตร ก็ต้องบอกว่า ชั่วโมงนี้ในบรรดาผลผลิตทางปัญญาของนักคิดฝ่ายอนุรักษนิยม งานของศุภมิตรละเอียด คมคาย และมีน้ำหนักเหตุผลที่สุดแล้ว

The Little World of Liz Climo

Liz Climo
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน

ยาแก้ปวดชนิดออกฤทธิ์เร็วสำหรับวันหัวหมุนและปวดหนึบ ผลงานของหนึ่งในทีมอาร์ตของ The Simpsons ที่เอาดีและดังด้านการเขียนหนังสือภาพ The Little World of Liz Climo เป็นหนึ่งในซีรีส์เรื่องราวของสิงสาราสัตว์ทั้งหลายในอาณาจักรความคิดของเธอที่ตีพิมพ์มาแล้วหลายเล่ม เช่น เม่น จระเข้ ไดโนเสาร์ งู หมีขาว และวาฬเพชฌฆาตที่บางครั้งคิดว่าตัวเองเป็นแพนด้า

ผ่านตาแค่ปกอาจคิดว่าควรจัดในหมวดหนังสือเด็ก แต่เปิดอ่านภาพการ์ตูนง่ายๆ จบในหนึ่งหน้า จะพบว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้มี ‘ความเป็นเด็ก’ ซุกซ่อนอยู่ภายในมากกว่า ตัวละครสัตว์ๆ ทั้งหลายใช้พื้นที่ตลกหน้าตายที่ ‘น่าตาย’ ได้อย่างเหลือเชื่อ ในความนิ่งเรียบบนใบหน้าและตาจุดๆ ของพวกมันไม่แสดงอารมณ์รู้ร้อนรู้หนาวเท่าไหร่ แต่หากคุณยิ้ม ขำหึๆ ขำขื่นๆ หรือหัวเราะลั่น คุณจะเข้าใจว่า ตัวละครหน้าตายพวกนี้ไปใช้ชีวิตโลดเต้นในหัวใจคุณเรียบร้อยแล้ว

Nocturnes / เพลงรัตติกาลรักในห้วงคะนึง

Kazuo Ishiguro
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์: อ่าน

Nocturnes คือ หนึ่งในสามงานเขียนที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยของนักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2017 ผลงานสองเล่มก่อนหน้าเฉพาะฉบับภาษาไทยล้วนเป็นนวนิยายได้รับความนิยมระดับสากล ได้แก่ The Remains of the Day และ Never Let Me Go แต่ Nocturnes เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มเล็กๆ สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างเพลงกับความทรงจำ และชีวิตนักดนตรี

นอกจากเป็นนักเขียนนวนิยาย คาซึโอะ อิชิงุโระ ยังทำงานเพลงโดยเป็นผู้เขียนเนื้อเพลงร่วมให้นักร้องเพลงแจ๊ส สเตซีย์ เคนท์ เขาเขียนเพลงอย่าง ‘The Ice Hotel’ ‘I Wish I Could Go Travelling Again’ และ ‘Breakfast on the Morning Tram’

คาซึโอะ อิชิงุโระ แต่งเรื่องสั้นห้าเรื่องเหมือนประพันธ์เพลงในรูปแบบ Nocturnes ดนตรีที่พรรณนาถึงยามค่ำคืนและเรื่องราวอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว เรื่องสั้นทั้งห้าเล่าผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ประหนึ่งการแสดงเดี่ยวเครื่องดนตรีในลักษณะการประพันธ์เพลง ‘Nocturnes’ อิชิงุโระทำให้รู้สึกเหมือนบางเรื่องเขาใช้กีตาร์พื้นเมืองบรรยายถึงบางค่ำคืนของชีวิตนักดนตรีในเมืองเวนิสที่ค่ำคืนแบบนั้นจะเกิดขึ้นกับเขาเพียงครั้งเดียว บางเรื่องเขาเลือกใช้เสียงทรัมเปตเพื่อเล่าเรื่องชวนหัวของครูสอนภาษาผู้มีรสนิยมดนตรีเป็นเลิศ แต่ต้องแก้ไขความความสัมพันธ์ของเพื่อนเก่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย บางเรื่องเราจะได้ยินเสียงกลองให้จังหวะแบบเพลงแจ๊สคลอให้เรื่องราวของนักแซกโซโฟนผู้ยอมทำศัลยกรรมเพื่อทำให้โลกมองเห็นพรสวรรค์ของเขา ฯลฯ

Nocturnes ของ อิชิงุโระ มีทั้งอารมณ์หมองหม่น ชวนหัว สดชื่น สิ้นหวัง มีความหวัง เป็นรวมเรื่องสั้นที่มีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับดนตรีและความทรงจำ พรรณนาถึงกลางคืนที่ผ่านไปแล้ว

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า