WAY to READ: การงานอันเป็นที่รัก

 

หากเราเชื่อว่าคุณสมบัติอย่างหนึ่งของหนังสือที่ดีคือ การอ่านได้หลายแบบ

อ่านได้หลายแบบ ตามแต่ประสบการณ์ชีวิต เพดานความคิด สติปัญญา และความสนใจในแต่ละช่วง

‘การงานอันเป็นที่รัก’ หนังสือรวมพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็คือหนังสือในกลุ่มดังกล่าว

เราเริ่มต้นทำงานหนังสือเล่มนี้ด้วยความคิดเบื้องต้นว่า ประชาชนรักในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องจากมองเห็นพระองค์ท่านทรงงาน คำสอนว่าด้วยการงานของพระราชาผู้เป็นที่รักของประชาชน จึงเป็นดั่งมรดกเมล็ดพันธุ์ทางปัญญาล้ำค่า ที่หว่านและฝังลงในจิตใจผู้คน เสมือนพระองค์ท่านยังอยู่กับเรา

ต่อเมื่อลงมือทำงานไปสักพักเราจึงพบว่า พระบรมราโชวาท พระราชดำรัสว่าด้วยการงานของพระองค์ท่าน สะท้อนกลับไปมาระหว่างคำสอนของพระราชาต่อประชาชน ขณะเดียวกันก็ทำให้มองเห็นความละเอียด ประณีต แยบยล ของพระองค์ท่านผ่านทุกพยางค์ในพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส

เช่นนี้แล้ว เราควรอ่านหนังสือเล่มนี้แบบไหน

บางทีคำตอบอาจไม่จำเป็นต้องตายตัว

อ่านแบบแรก ในฐานะแรงบันดาลใจให้เกิดความกล้าและความเพียร กล้าทำในสิ่งที่ถูก กล้าทำในสิ่งเหมาะควร กล้าเปลี่ยนแปลงชีวิต เพียรทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะควร เพียรยกความเป็นมนุษย์ของตัวเองให้สูงขึ้น อิ่มใจในผลแห่งการกระทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ฯลฯ ดังที่ ภัทระ คำพิทักษ์ กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของคำตามท้ายเล่มก็ได้

อ่านแบบที่สอง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ “เป็นดั่งหยาดฝนชโลมพื้นหญ้า ทอแสงเรืองรองผุดผ่องดั่งร่มโพธิ์ใหญ่” ดังที่ ภัทระ คำพิทักษ์ กล่าวไว้ก็ได้

อ่านแบบสาม อ่านปัญญาและสัมพันธภาพองค์รวม ดังคำแนะนำของนายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้เขียนคำเสนอท้ายเล่ม ตอนหนึ่งว่า

“ต้องตั้งใจอ่านช้าๆ ทีละคำละคำ และไตร่ตรองให้ลึกซึ้ง เพราะพระราชดำรัสนั้นๆ สั้นและกระชับมาก แต่จะเห็นว่าโดยรวมแล้วเป็นเรื่องปัญญาและสัมพันธภาพ

“ปัญญาคือเป็นเรื่องความจริงว่า สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เป็นองค์รวม”

อ่านแบบที่สี่ อ่านควบคู่ไปกับศึกษาเทียบเคียงบริบททางประวัติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสแต่ละองค์ให้ลึกซึ้ง ดังที่ ไชยันต์ ไชยพร นำเสนอในข้อเขียนท้ายเล่ม โดยใช้ข้อมูลบางส่วนจากโครงการวิจัยเรื่อง ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: การศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ สถาบันพระปกเกล้า

อ่านแบบที่ห้า ต่อเนื่องจากแบบที่สี่ นอกเหนือจากศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์ หากศึกษาลงลึกไปถึงที่มาของพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส โดยยึดตามภูมิหลังทางการศึกษาของพระองค์ท่าน ตามที่ไชยันต์ ไชยพร สืบค้นในงานวิจัยว่า ระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ทรงศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองกับพระอาจารย์ Firmin Oulès ถึง 7 วิชา ตลอดระยะเวลา 3 ปี (Firmin Oulès เป็นศิษย์เอกของ Gaetan Pirou ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ผู้เลื่องชื่อ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ และมหาวิทยาลัยปารีส)

การอ่านแบบที่ห้านี้จะช่วยให้เข้าใจรากฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น รวมถึงเข้าใจพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระราชอำนาจมาตรา 7 มากขึ้น

อ่านแบบที่หก อ่านเพื่อศึกษาแนวคิดทางการปกครองของพระมหากษัตริย์ผู้ปราดเปรื่อง ได้รับการเชิดชูสูงสุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

หรือจะอ่านแบบที่เจ็ด เรียบง่ายตรงไปตรงมาที่สุด แต่ชัดเจนและทรงประสิทธิภาพที่สุด นั่นคืออ่านในฐานะฮาวทูสำหรับนักบริหาร นักจัดการ รวมถึงผู้ที่มีใจรักงาน ต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ฯลฯ

บางทีคำตอบอาจไม่จำเป็นต้องตายตัวว่าควรอ่านแบบใด

เรากล่าวได้เพียงว่า หากกษัตริย์ที่ดี คือกษัตริย์ที่สร้างความอิ่มเอมใจให้ประชาชน ระหว่างทางของการสืบค้น รวบรวม คัดสรร และขออัญเชิญพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส เพื่อจัดทำหนังสือเล่มนี้ นำมาซึ่งความอิ่มเอมใจแก่คนทำงานเป็นอย่างสูง

เป็นความอิ่มเอมใจที่เราอยากแบ่งปันไปถึงนักอ่านทุกคน


ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี (Bury My Heart at Wounded Knee) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4

ดี บราวน์: เขียน
ไพรัช แสนสวัสดิ์: แปล

สารคดีเชิงประวัติศาสตร์ตีพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1970 ทันทีที่เผยแพร่ก็ติดอันดับ National Bestseller List อย่างยาวนาน

เนื้อหาหลักกล่าวถึงประวัติศาสตร์การสร้างชาติอเมริกันในช่วง ปี 1860-1890 อันเป็นช่วงเวลาที่เรียกกันว่า ‘การพิชิตตะวันตก’ ซึ่งแต่ไหนแต่ไร มักถูกบอกเล่าผ่านวีรกรรมความกล้าหาญของนักบุกเบิก นักร่อนทอง คนนำร่องเรือกลไฟ คาวบอย มือปืน พ่อค้าขนสัตว์ หมอสอนศาสนา ฯลฯ โดยมีชนพื้นเมืองอินเดียนเป็นนักปล้น หัวขโมย เจ้าเล่ห์เพทุบาย หรือมีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรจากฝูงไฮยีนา แต่ ดี บราวน์ เลือกที่จะเล่าและใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์อธิบายในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เรื่องราวทั้งหมดคือการรุกราน ไล่ต้อน คดโกงชนพื้นเมืองชาวอินเดียนแห่งอเมริกาเหนือ เพื่อครอบครองผืนแผ่นดิน แร่ธาตุ ป่าไม้ ฝูงสัตว์ ก่อนจะนำมาสู่โศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ชาวอินเดียนครั้งใหญ่ที่ตำบลวูนเด็ดนี ไม่ต่างอะไรกับการทิ้งระเบิดปรมาณูเพื่อทำลายล้างอารยธรรมเก่าแก่ของชาวอินเดียน

หากนับเส้นเวลาจากประวัติศาสตร์ ‘การพิชิตตะวันตก’ ตามโครงเรื่องเดิม กระทั่งถูกหักโค่นด้วยหลักฐาน เอกสาร จากการทำงานสืบค้นของ ดี บราวน์ เราจะเห็นว่าต้องใช้เวลาราว 100 ปี กว่าที่โลกจะค้นพบและยอมรับข้อเท็จจริงใหม่

ทันทีที่หนังสือเล่มนี้เผยแพร่ในสังคมอเมริกัน ดี บราวน์ จึงตกอยู่ในฐานะผู้แฉเรื่องราวอันเป็นความอัปยศของชาติ (national disgrace) คนแรกๆ ในประวัติศาสตร์ คนอเมริกันจำนวนมากเพิ่งตระหนักถึงภูมิหลังพฤติกรรมชนชาติตน มันเป็นหนังสือที่ทำให้โลกทัศน์หลายคนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกัน ฉากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี ก็กลายเป็นตำนานที่ถูกบอกเล่า อ้างอิง แทรกซึมอยู่ในเรื่องเล่าของชาวอเมริกันจวบจนถึงปัจจุบัน

ฐานะทางประวัติศาสตร์ของ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี จึงถือเป็น ‘ต้นแบบ’ ของหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวชนเผ่าอินเดียน ซึ่งมีผู้ผลิตเรื่องราวทำนองนี้ตามออกมาในภายหลังจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าเป็นหนังสือที่ว่าด้วยปรัชญาอินเดียน แนวคิดและวิถีชีวิตที่แนบแน่นกับธรรมชาติ รวมถึงถ้อยคำภาษาของชาวอินเดียนที่เรียบง่าย แต่งดงามและทรงพลังราวบทกวี

ทั้งหมดนี้ ล้วนมีอยู่แล้วใน ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี ทั้งสิ้น

Rational Choice Theory ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 

ไชยันต์ ไชยพร: เขียน

ชื่อเต็มของหนังสือคือ จอน เอลสเตอร์ (Jon Elster) กับทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุผล (Rational Choice Theory) งานวิจัยของ ไชยันต์ ไชยพร ซึ่งใช้เวลาเขียนร่วม 10 ปี

และต่อไปนี้คือเหตุผลบางประการที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้

หนึ่ง เนื่องจากขณะนี้เรากำลังหายใจในสังคมที่ ‘ความเป็นเหตุเป็นผล’ ล่มสลาย แต่ละฝ่ายต่างอ้างอิง ‘เหตุผล’ ของตนเอง คำถามเบื้องต้นจึงมีอยู่ว่า ถ้าในเมื่อต่างฝ่ายต่างก็อ้างอิงเหตุผล แล้วทำไมเหตุผลที่แข็งแรงที่สุดจึงไม่สามารถหักล้าง และสถาปนาการยอมรับให้บังเกิดแก่ผู้ที่ยืนพิงกับเหตุผลที่อ่อนกว่าได้ หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว สังคมไทยไม่ได้มีพื้นฐานการคิดและการสำแดงพฤติกรรม ‘อย่างเป็นเหตุเป็นผล’ ตามข้อตกลงที่ชาวโลกส่วนใหญ่เข้าใจ

สอง โดยส่วนใหญ่เรามักจะได้อ่านและศึกษาความคิดเชิงปรัชญาการเมืองที่นิ่งแล้ว (หรือคนเขียนตายแล้ว) แต่ไชยันต์ ไชยพร เลือกที่จะศึกษา Rational Choice Theory ผ่าน จอน เอลสเตอร์ นักทฤษฎีชาวนอร์เวย์ ซึ่งเกิดเมื่อปี 1940 และยังมีชีวิตอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน เอลสเตอร์มีผลงานด้านทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลมาตั้งแต่ยุค 1970 และยังพัฒนาต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ผลงานล่าสุดของเอลสเตอร์ที่อ้างอิงในหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2009

สาม แม้นว่า Rational Choice Theory จะเป็นศาสตร์ที่แทรกอยู่ในสาขาวิชาหลักๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา การบริหารจัดการ ฯลฯ เนื่องจากมันเป็นทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรมมนุษย์ แต่ก็ยังไม่มีนักวิชาการไทยค้นคว้า วิจัย และเรียบเรียงเนื้อหาออกมาอย่างจริงจัง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นผลงานทางวิชาการเล่มแรกของประเทศไทยที่กล่าวถึงทฤษฎีนี้อย่างเป็นระบบ

สี่ Rational Choice Theory เหมาะกับคนที่ชอบถามว่า – “มีอะไรใหม่ๆ มาขาย!”

สำหรับผู้ที่เคยตื่นเต้นกับแนวคิดโพสต์โมเดิร์น คำบอกกล่าวสั้นๆ มีอยู่ว่า Rational Choice Theory คือ ‘คู่ชกทางวิชาการ’ ของโพสต์โมเดิร์น กล่าวคือ หากอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยสายโพสต์โมเดิร์น คือพวกที่ชอบนุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยืดคอกลมยืดย้วยไปสอนหนังสือ อาจารย์สาย Rational Choice Theory ก็คือพวกที่สวมสแล็คสลิมฟิต ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวกลีบโง้ง ที่เดินเข้าไปประสานสายตากับพวกโพสต์โมเดิร์น แล้วตั้งคำถามด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลสุภาพเรียบร้อย (แต่สีหน้าแววตาดึงดูดอวัยวะใช้เดินไม่แพ้อีกฝ่าย) ว่า การสวมเสื้อยืดคอย้วย กางเกงขาสั้นโชว์ขนหน้าแข้งมาสอนหนังสือ ก็นับเป็นวิธีการผลิตอัตลักษณ์เพื่อสร้างตัวตนและเพิ่มมูลค่าอย่างหนึ่ง – ใช่หรือไม่

ประเด็นคือ ในขณะที่บรรดานักรื้อสร้างเผ่าโพสต์โมเดิร์นตั้งคำถามกับเหตุผลที่กำกับพฤติกรรมทุกชนิดที่มีอยู่บนโลก ชาวเผ่า Rational Choice Theory จะสามารถขุดหาความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อรองรับพฤติกรรมนั้นๆ ได้เสมอ

ห้า ในสารบบของ Rational Choice Theory ไม่มีที่ว่างให้คำว่า ‘ศีลธรรม-จริยธรรม’ แต่เชื่อเรื่องการบรรลุผลประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุด พูดง่ายๆ อย่าได้เที่ยวสวมเสื้อคลุมนักศีลธรรมแอบอ้างคุณงามความดี ความสูงส่งของระดับจิตใจ หรือความเป็นผู้เสียสละเสียให้ยาก เพราะ Rational Choice Theory จะสามารถหาคำอธิบายเบื้องหลังพฤติกรรมได้เสมอว่า ประกอบไปด้วยผลประโยชน์และความพึงพอใจชนิดใดบ้าง

หก ถึงตรงนี้หลายคนอาจสามารถปะติดปะต่อคิดไปถึงสำนักคิดทางปรัชญาการเมืองที่มีชื่อเสียงในความเจ้าเล่ห์เพทุบายสกุลมาเคียเวลเลียน โดย นิโคโล มาเคียเวลลี (Niccolo Machiavelli) ซึ่งสำหรับเอลสเตอร์แล้ว มาเคียเวลเลียนเป็นแนวคิดทางปรัชญาการเมืองที่ยังเจ้าเล่ห์ไม่ถึงขีดสุด เนื่องจากต่อให้จะเสนอว่าเจ้าผู้ปกครองต้องแสดงตัวเยี่ยงสุนัขจิ้งจอกด้วยไม่ใช่ราชสีห์เท่านั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับ แต่ปัญหาของวิธีคิดแบบมาเคียเวลเลียน คือการยืนอยู่บนเงื่อนไขว่าผู้คนรายรอบจะสถิตหยุดนิ่ง โดยที่เจ้าผู้ปกครองเคลื่อนไหวทางความคิดแต่เพียงผู้เดียว

ในขณะที่เอลสเตอร์กล่าวถึงการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในสภาวะที่ทุกฝ่ายต่างเคลื่อนไหวและมีความคิดเสมอกัน ประเด็นที่เอลสเตอร์คัดง้างกับมาเคียเวลลีจึงไม่ใช่ประเด็นทางศีลธรรม แต่มันเป็นข้อแตกต่างคัดง้างบนฐานคิดเดียวกัน – นั่นคือการบรรลุผลประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุด

ในแง่นี้ เราอาจกล่าวได้ว่า Rational Choice Theory ของเอลสเตอร์ ก็คือมาเคียเวลเลียน พ.ศ.ปัจจุบันนั่นเอง

เจ็ด ผลจากการทดสอบ โดยยื่นต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ให้นักอ่านชาวสยามที่มีจุดยืนทางการเมืองปัจจุบันแตกต่างกันคนละขั้ว หลังการทดสอบปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งสองขั้วไม่ยอมตอบคำถาม เอาแต่ก้มลงกราบหนังสือเล่มนี้ แล้วพึมพำเหมือนๆ กันว่า – ข้าพเจ้าได้ค้นพบบิดาทางความคิดคนใหม่แล้ว

แปด อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้มิใช่เพราะต้องการสถาปนาศาสดาองค์ใหม่ เนื่องจากผู้อ่านย่อมมี ‘สิทธิในการเลือก’ ที่จะชอบหรือไม่ชอบ จะสมาทานหรือไม่สมาทานแนวคิดนี้ได้โดยอิสระ แต่การจะเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านอย่างถี่ถ้วนและเข้าใจ ซึ่งนั่นหมายถึงผู้อ่านประสบความสำเร็จในการเดินสำรวจเขาวงกตที่จอน เอลสเตอร์ และไชยันต์ ไชยพร ออกแบบดักเอาไว้ด้วยความเพลิดเพลิน

พ่อหล่อสอนลูก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 

อธิคม คุณาวุฒิ: เขียน

พลิกไปดูโปรยปกหลัง จะพบข้อความดังนี้

“ตอนที่หนูเกิดมา พ่อพูดอะไรกับหนูเป็นประโยคแรกรู้ไหม

“พ่ออุ้มหนูไปยืนริมหน้าต่างห้องพักในโรงพยาบาล มันสูงพอที่เราจะมองเห็นภาพมุมกว้างของเมือง พ่อกระซิบกับหนูว่า…

“ยินดีต้อนรับสู่โลกของเรานะลูก มันไม่ค่อยน่าอยู่นักหรอก แต่เราจำเป็นต้องมีศรัทธาว่า เราสามารถทำบางอย่างให้ดีขึ้นได้”

นั่นเป็นร่องรอยพื้นฐานที่อาจช่วยทำความเข้าใจแก่นสารของหนังสือเล่มนี้ นักอ่านบางคนบอกว่าชื่อเต็มของหนังสือเล่มนี้ควรชื่อ ‘พ่อหล่อสอนลูกให้เป็นขบถ’ เป็นทั้งจดหมายที่เขียนถึงอนาคต เป็นบันทึกช่วงวัยการเติบโตของเด็กหญิงคนหนึ่ง และความในใจของพ่อที่มีต่อลูก ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นมาในโลกที่ซับซ้อน โลกที่เรียกร้องทั้งความรู้ เหตุผล และการจัดวางอารมณ์ความรู้สึกอย่างสมดุล เพื่อเติบโตและมีชีวิตอย่างน่านับถือ

ที่เหลือจากนั้น เราลองใช้วิธีรีวิวซ้อนรีวิว ไปฟังคนที่เคยอ่านเขาพูดและเขียนถึงหนังสือเล่มนี้กันดีกว่า

เนื้อหาภายในหนังสือ พ่อหล่อสอนลูก ไม่ใช่หนังสือที่จะเป็นคู่มือในการเลี้ยงลูก ตามขนบ ธรรมเนียม ค่านิยมแบบไทย เพราะ พ่อหล่อ ได้ทำการท้าทายกรอบของสังคม และขนบวัฒนธรรมอันดีแทบทุกข้อ เรียกได้ว่าลูกของพ่อหล่อถ้าโตขึ้นมา หนูจะไม่ใช่เด็กธรรมดาๆ เพราะพ่อหล่อเล่านิทานก่อนนอนเรื่อง นกนางนวลโจนาทาน เจ้าชายน้อย ฯลฯ ซึ่งเป็นนิทานที่ไม่น่าจะมีพ่อธรรมดาๆ ที่ไหนเอามาเล่าให้ลูกฟัง

หนังสือ พ่อหล่อสอนลูก เป็นเรื่องราวในการบันทึกบทสนทนาของพ่อหล่อ ที่มีต่อลูกสาวตัวน้อย โดยพ่อหล่อได้สอดแทรกเอาทัศนะที่พ่อหล่อมีต่อสังคม ตามแบบของพ่อหล่อๆ อย่าง อธิคม คุณาวุฒิ

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รีวิวยากที่สุดในบรรดาหนังสือที่อ่านมาทั้ง 7 เล่ม เพราะจากความรู้สึกพ่อหล่อ แม่งหล่อจริงๆ ว่ะ ถ้าวันข้างหน้าเรามีลูกเราก็คิดนะว่าอยากสอนลูกแบบที่ “พ่อหล่อสอนลูก” ของเขา แต่เราก็คิดนะ ลูกของเราจะล้ำหน้าเกินเพื่อนๆ วัยเดียวกันเกินไปรึเปล่า เฮ่อ การเป็นพ่อคน มันจะเหนื่อยขนาดไหนกันนะ

https://minimore.com/b/G3VYh/7

 

แม้หน้าปกหนังสือ พ่อหล่อสอนลูก ของ อธิคม คุณาวุฒิ จะชวนให้เข้าใจไปว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับเยาวชน แต่เมื่อได้พลิกอ่าน ผมกลับพบว่าเนื้อหาที่เขียนถึงการบอกสอนลูกสาวในเรื่องต่างๆ ของผู้เป็นพ่อ ช่างเหมาะกับผู้ใหญ่ในสังคมที่กำลังหลงลืมอะไรบางอย่างเหลือเกิน หนังสือขนาดกะทัดรัดเล่มนี้ชวนให้เราตั้งคำถามในเรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องบ้านเมืองและระเบียบระบอบในสังคมอย่างแยบคายด้วยท่าทีภาษาที่แสนผ่อนคลาย แต่อย่าเข้าใจผิดว่านี่คือหนังสือคู่มือเลี้ยงลูก ถ้าจะเป็นคู่มืออะไรสักอย่าง ผมว่ามันน่าจะเป็นคู่มือการเติบโตในโลกทุกวันนี้อย่างมีความหวังมากกว่า

– จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

 

ที่มีคนบอกว่าหนังสือบางเล่มอ่านแล้วเราอยากเป็นคนที่ดีขึ้น อ่าน พ่อหล่อสอนลูก ของ อธิคม คุณาวุฒิ แล้วรู้สึกแบบนั้น ยกให้เป็นหนังสือในดวงใจอีกเล่ม แนะนำเลยครับ : )

ซื้อมาตั้งแต่งานหนังสือ เพิ่งมีเวลาอ่าน พ่อหล่อสอนลูก ของพี่อธิคม อ่านแล้วก็อยากเขกหัวตัวเองว่าทำไมเพิ่งหยิบมาอ่าน แม้พี่เขาจะเขียนก่อนเริ่มตอนแรกว่าแด่เด็กทุกคน แต่เนื้อหามันทัชหัวใจผู้ใหญ่อย่างเราเหลือเกิน บางประโยคที่พี่เขาสอนลูกอ่านแล้วเรากลับรู้สึกเหมือนโดนตบหน้า เป็นหนังสืออีกเล่มที่ชอบมาก มากไม่น้อยไปกว่าเล่มอื่นๆ ก่อนหน้าที่เป็นหนังสือในดวงใจ

– Jirabell Ophatphanwong

 

แค่นี้พอเนาะ ซื้อเถอะหนังสือดีมาก จะได้พิมพ์ครั้งที่ 3 เสียที

The Lemon Tree

Sandy Tolan: เขียน
ไพรัช แสนสวัสดิ์: แปล

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงประวัติความเป็นมาของชนชาติอาหรับและชาวยิว ถ้าจะหาสิ่งเหล่านี้ทางที่ดีควรไปสำรวจความหนาของไบเบิล

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวของสองชนชาติมีรากส่วนหนึ่งจากเนื้อหาในไบเบิล สองพี่น้อง อิสอัค และ อิชมาเอล และผู้สืบเชื้อสายของอิสอัคที่ชื่อ ยาโขบ หรือในภายหลัง อิสราเอลนี่คือจุดร้าวลึกที่ทำให้เกิดการนองเลือดบนแผ่นดินของพระผู้เป็นเจ้ามานานหลายทศวรรษ

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีเยอรมันได้ขยายอิทธิพลไปยังยุโรปหลายประเทศ ชาวยิวในบัลแกเรียเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนเข้าสู่ ‘Final Solution’ หรือการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้ายโดยนาซี พวกเขาถูกกวาดต้อนขึ้นรถไฟและรถบรรทุก ตัวอย่างของสถานีปลายทางคือ เอาชวิทซ์

ครอบครัวเอชเคนนาซี ชาวยิวบัลแกเรียนหนีรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก หลังสงครามจบลง ชาวยิวได้ที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ ปี 1948 ครอบครัวของ ดาเลีย เอชเคนนาซี ได้รับมอบบ้าน – บ้านที่มีต้นมะนาวปลูกไว้

สำหรับ ดาเลีย เอชเคนนาซี ที่ย้ายมายังรามลาเมื่อครั้งยังเยาว์ “ประชากรอาหรับแห่งรามลากับล็อดได้แตกตื่นหนีไปก่อนกองทัพอิสราเอลมาถึง ทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้ในการหนีเอาตัวรอดแบบรีบเร่งและขลาดกลัว” ความรับรู้และตำราเรียนบอกเธอแบบนี้

“บ่ายวันหนึ่ง ขณะอายุได้เจ็ดหรือแปดขวบ ดาเลียปีนขึ้นบนประตูรั้วเหล็กตรงสุดทางเดินปูด้วยแผ่นหินหน้าบ้านที่ อาหมัด ไครี สร้างไว้ สิ่งที่ติดเด่นเป็นสง่าอยู่กับส่วนบนสุดของประตูใหญ่นั้นคือชิ้นเหล็กหล่อขึ้นรูปดาวกับจันทร์เสี้ยว อันเป็นสัญลักษณ์แห่งอิสลาม สิ่งนี้ก่อความหงุดหงิดแก่ดาเลียน้อย นี่ไม่ใช่บ้านอาหรับเธอคิดตามประสา แล้วเอื้อมมือไปจับจันทร์เสี้ยวโยกไปมาซ้ำแล้วซ้ำอีก จนชิ้นเหล็กนั้นหลุดมาอยู่ในมือ เธอลงจากรั้ว แล้วโยนจันทร์เสี้ยวนั้นทิ้งไป”

ปี 1967 หลังสงครามหกวัน ชัยชนะเหนือชาติอาหรับทำให้เขตแดนบนแผนที่ของอิสราเอลขยายออกไป ไม่นานจากนั้น ชายอาหรับสามคนเดินทางกลับไปยังเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น บ้านของพวกเขาราว 20 ปีก่อน หนึ่งในนั้นกดกริ่ง ชายปาเลสติเนียน บาเชียร์ ไครี แนะนำกับหญิงสาวผู้อยู่อีกฝั่งของประตูว่า บ้านหลังนี้เคยเป็นของครอบครัวของเขามาก่อน นี่คือการพบกันครั้งแรกของบาเชียร์และดาเลีย

The Lemon Tree โดย แซนดี โทแลน เผยให้เห็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของครอบครัวชาวยิวและชาวอาหรับ ผู้รุกไล่และผู้อพยพออกจากดินแดนของตน สารคดีชิ้นนี้มีท่วงทำนองการเล่าคล้ายนิยาย ทว่าเป็นโศกนาฏกรรมโศกเศร้าที่เกิดขึ้นจริง จากการเกือบสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ชาวยิว การยึดครอง สงครามระหว่างชาติอาหรับและอิสราเอลที่สืบเนื่องยาวนาน ซากปรักหักพัง ทว่ามิตรภาพของคนสองคนเกิดขึ้นได้ในบ้านหลังเดียวกัน

แน่นอน ทั้งสองมีประวัติศาสตร์และชะตากรรมคนละรูปแบบ มีแนวคิดที่ไม่ได้เดินบนถนนเดียวกัน มีแต่บาเชียร์และดาเลียยอมรับความแตกต่าง แบ่งปันพื้นที่สันติภาพบนความขัดแย้งของสองชนชาติได้โดยทิ้งบาดแผลสงครามไว้เบื้องหลัง ความสัมพันธ์นี้ได้รับการทะนุถนอมเช่นเดียวกับต้นมะนาวในสวน แม้เปลี่ยนผู้ครอบครอง แต่มันยังคงเติบโต งอกงาม และให้ผลมาได้ตลอดหลายสิบปี

โซฟี โชล กุหลาบขาว และนาซี

ไพรัช แสนสวัสดิ์: เขียน

สืบค้นกิจกรรมการลักลอบแจกจ่ายใบปลิวต่อต้านรัฐบาลนาซีของนักศึกษาและนักวิชาการกลุ่ม ‘กุหลาบขาว’ (กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยมิวนิค และนักวิชาการที่ต่อต้านระบอบนาซีแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิค) กระทั่งการวางใบปลิวต่อต้านอำนาจนาซีฉบับที่ 5 ทำให้นักศึกษา 3 คนถูกประหารชีวิต

1 ใน 3 คือนักศึกษาหญิงชื่อ โซฟี โชล หนังสือเล่มนี้มีเธอเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง รายล้อมด้วยบริบทสังคมการเมืองเยอรมนีตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รายละเอียดทางกฎหมายและมาตรการควบคุมสังคมและสร้างบรรยากาศความหวาดกกลัวในช่วงนั้น และเกร็ดเล็กน้อยต่างๆ ที่เมื่อประกอบกันจะทำให้เราได้สัมผัสอากาศเยอรมนีในยุคมืดมนที่สุดยุคหนึ่ง

โซฟี โชล เสียชีวิตวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943 กิโยตินพรากชีวิตวัย 21 ของเธอจากร่างกาย คมมีดยังบั่นคอ ฮันส์ โชล พี่ชายของเธอ และ คริสตอฟ พรอบส์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้านนาซี หลังการตายของสามนักศึกษาในนาม ขบวนการกุหลาบขาว ในค่ำวันเดียวกันนั้นกลุ่มนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิคนับพันคนร่วมกับพลเมืองชาวมิวนิคผู้คลั่งไคล้นาซีและศรัทธาท่านผู้นำ แถลงการณ์ประณามกลุ่มนักศึกษากุหลาบขาวว่าเป็น ‘คนทรยศ’ สะท้อนให้เห็นกระแสคนหมู่มากที่มีชีวิตอยู่ในควา่มกลัว แต่ในเวลาต่อมา ประวัติศาสตร์ได้กลับข้าง ลานจัตุรัสใกล้กับอาคารศูนย์กลางในมหาวิทยาลัยมิวนิคได้จารึกชื่อ ‘จัตุรัสสองพี่น้องโชล’ การตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ เป็นชื่อบุคคลในขบวนการกุหลาบขาวมีใจความที่ การยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรม

เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า การกระทำของพวกเขาในปี 1943 และก่อนหน้านั้น – ชอบธรรม

นอกจากเหตุการณ์การสอบสวนคดีของเกสตาโป ไพรัช แสนสวัสดิ์ ผู้ค้นคว้าและเขียนหนังสือเล่มนี้ พยายามจะฉายภาพในส่วนที่เป็นบุคลิกภาพ นิสัยใจคอ รสนิยมทางการอ่านและศิลปะ ที่เราอาจจะนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับภาพของเด็กสาวที่ชาญฉลาด สงบนิ่ง พูดจาฉะฉาน กล้าหาญ และรักความเป็นธรรม

อ่านแล้วหัวใจเต้นแรง ชวนให้นึกถึงความกล้าหาญของนักศึกษาและประชาชนกลุ่มเล็กๆ ที่อาจหาญด้วยการท้าทายอำนาจ คสช.

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร 

ปรีดี พนมยงค์: ปาฐกถา

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร คือคำถามหลังอ่าน ‘โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี’ จบลง หากเล่มแรกทำให้หัวใจเต้นแรง บทปาฐกถาของ ปรีดี พนมยงค์ เล่มนี้ ก็ช่วยผ่อนอัตราการเต้นของหัวใจให้สงบลงด้วยหลักคิดและข้อเสนออย่างเป็นระบบ

หนังสือ ‘เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร’ คือปาฐกถาของ ปรีดี พนมยงค์ ต่อนักศึกษาไทยในฝรั่งเศส ปีนั้นเป็นปี 2517 หนึ่งปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สองปีก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ปรีดีกล่าวถึงการกำเนิดเผด็จการในหลายประเทศ วิเคราะห์ในเชิงนิรุกติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ยุโรป อรรถาธิบายการใช้อำนาจข่มเหง การฟื้นคืนของกลุ่มอำนาจ และแนวคิดต่อต้านเผด็จการที่ยังสามารถนำมาศึกษา ใช้เป็นแว่นตาคู่สำคัญที่ช่วยทำให้มองสังคมรอบตัวที่พร่ามัวชัดเจนขึ้น

การต่อสู้ใดๆ นั้นย่อมมีทั้งการรุกและการรับ ฉะนั้นไม่ควรมองเพียงด้านเดียว เฉพาะด้านวิธีต่อสู้เผด็จการ คือต้องพิจารณาด้านที่ฝ่ายเผด็จการจะตอบโต้ด้วย คือฝ่ายเผด็จการย่อมใช้วิธีเศรฐกิจ, วิธีการเมือง, วิธีกำลังทหารตำรวจ, วิธีจิตวิทยาที่ทำให้คนลุ่มหลงในระบบเผด็จการ ซึ่งฝ่ายต่อสู้เผด็จการจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ โดยอาศัยหลักทฤษฎีสังคมที่ถูกต้องสมานกับรูปธรรมที่ประจักษ์ด้วย แล้ววินิจฉัยตามความเหมาะสมแก่สภาพของกำลังของทั้งสองฝ่ายตามท้องที่และกาลสมัย

(จากหน้า 81)

 

อ่านแล้ว เหมือน ปรีดี พนมยงค์ เพิ่งพูดเมื่อเช้านี้

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า