‘แอมเนสตี้’ เผยรายงานฉบับล่าสุด รัฐไทยคุกคามเด็ก ละเมิดสิทธิการชุมนุม ถูกยิง 3 คน ตั้งข้อหาอีกเกือบ 300 คน

photo: Amnesty Thailand

8 กุมภาพันธ์ 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ชื่อ ‘We are Reclaiming Our Future’ (ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา) พบว่า ทางการไทยจับกุม ดำเนินคดี สอดแนมข้อมูล และข่มขู่เด็กที่ร่วมการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ปี 2563-2565 แอมเนสตี้เห็นว่า เด็กมีสิทธิที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบ และเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีและยุติการคุกคามทุกรูปแบบที่เป็นอุปสรรคต่อการร่วมชุมนุมประท้วง

รายงานดังกล่าวรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักกิจกรรมที่เป็นเด็ก 30 คน ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง แต่ยังรวมถึงการชุมนุมสาธารณะประเภทอื่น เช่น การเรียกร้องสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม การศึกษา และเพศสภาพ

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนมากเข้าร่วมการประท้วงระลอกใหญ่ในปี 2563 อย่างไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น การทำความเข้าใจข้อจำกัดและความท้าทายของเด็กที่เข้าร่วมชุมนุม ไม่เพียงแต่จะช่วยหนุนเสริมพลังของการเคลื่อนไหว แต่ยังช่วยรับประกันสิทธิของเด็กได้ดีขึ้น ชนาธิปสรุปข้อค้นพบหลัก 3 ประการ ดังนี้

1) เจ้าหน้าที่รัฐใช้กลยุทธ์อันตรายในการขัดขวางไม่ให้เด็กเข้าร่วมชุมนุม ข้อมูลจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนชี้ว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2564 ถึงพฤศจิกายน 2565 มีผู้ชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นเด็กอย่างน้อย 59 ราย ตกเป็นเป้าคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามข้อมูลที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว การติดตามเฝ้ามองที่โรงเรียน การข่มขู่ทั้งต่อหน้าและช่องทางออนไลน์ ตลอดจนการกดดันทางอ้อมผ่านครูและผู้ปกครอง บ้างมีการลงโทษนักเรียนที่เข้าร่วมชุมนุม บ้างมีความตึงเครียดภายในครอบครัวและนำมาสู่การตัดขาดกับผู้ปกครองในที่สุด

2) เด็กไม่ปลอดภัยเมื่อออกไปชุมนุม แม้ประเทศไทยจะเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC) ซึ่งต้องรับประกันสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิที่จะได้รับการรับฟัง และสิทธิในการมีส่วนร่วมในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กโดยตรง กระนั้น ปี 2564 รัฐกลับเริ่มใช้มาตรการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธร้ายแรงต่ำ (less-lethal weapon) อาทิ การใช้แก๊สน้ำตา การใช้สายเคเบิลไทร์รัดข้อมือ รวมถึงกรณีควบคุมตัวเด็กอายุ 14 และ 15 ปี ซึ่งขัดต่อกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ความไม่ปลอดภัยในการชุมนุมสะท้อนได้จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 มีผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก 3 คน ถูกยิงด้วยอาวุธปืน โดย วาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี หนึ่งในคนที่ถูกยิง เสียชีวิตในเวลาต่อมา และยังไม่มีการพิจารณาคดีเกิดขึ้น

3) เด็กถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และถูกดําเนินคดีจากการเข้าร่วมชุมนุม แม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่คุ้มครองเด็กที่มีความเปราะบาง เช่น เด็กไร้บ้าน เด็กที่มีปัญหาครอบครัว หรือเด็กพิการ แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ถูกนำมาบังคับใช้เพื่อคุ้มครองเด็กที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 มีเด็กอย่างน้อย 284 คน ถูกดำเนินคดี ทั้งทางแพ่งและอาญา กล่าวคือบางส่วนถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เด็ก 17 คน ถูกตั้งข้อหา ม.112 และมีอย่างน้อย 3 คน ถูกตั้งข้อหา ม.116

ข้อค้นพบเหล่านี้ก่อให้เกิดความกังวลต่อกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเด็กจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ บางคนถูกตั้งคำถามที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว เช่น เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ บางคนเสียต้นทุนเวลาและโอกาสทางการศึกษา การขาดผู้สังเกตการณ์อิสระตามความยินยอมของเด็กเพื่อความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม และหน่วยงานเกี่ยวกับเด็กโดยตรงอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กที่ถูกดำเนินคดีได้ ทั้งหมดสะท้อนความรุนแรงของปัญหาของสิทธิเด็กในการชุมนุมโดยสงบ

รายงานฉบับนี้เสนอข้อเรียกร้องโดยตรงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงานตํารวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนี้

  • หยุดการคุกคาม ข่มขู่ สอดส่อง และความรุนแรงทุกรูปแบบต่อเด็กที่ร่วมชุมนุมประท้วง เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัยในการร่วมชุมนุม
  • ยุติการดําเนินคดีทั้งหมดต่อเด็กที่ร่วมชุมนุมประท้วงโดยสงบ
  • แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ใช้ลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมของเด็ก เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ชนาธิปกล่าวทิ้งท้ายว่า เหตุผลที่ต้องรณรงค์กับหน่วยงานราชการข้างต้นเป็นเพราะไม่สามารถรอให้พรรคการเมืองนำข้อเรียกร้องหลักทั้ง 3 ข้อ ไปปรับเป็นนโยบาย หรือรอจนถึงวันเลือกตั้งที่ยังไม่กำหนดได้ 

“เด็กๆ กำลังได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี การถูกคุกคาม การถูกติดตามในทุกๆ วันตลอดเวลา” 

ขณะเดียวกัน สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย (CRC Coalition Thailand) กล่าวว่า การรับฟังเด็กไม่เพียงเป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอบสนองเพื่อจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาประเทศเช่นกัน และหากรัฐมีหน้าที่ประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ก็ไม่ควรสร้างข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นของเด็กตั้งแต่ต้น

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย (CRC Coalition Thailand)

นอกจากนี้ เสียงจากเด็กและเยาวชนผู้ถูกละเมิดสิทธิอย่าง เพชร-ธนกร ภิระบัน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเยาวชน และเด็กคนแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.112 แสดงความคิดเห็นว่า แม้การถูกดำเนินคดีจะเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งในเชิงหลักการและค่าใช้จ่าย แต่ก็เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง และเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ผู้มีอำนาจอาจรับฟังเสียงของเด็ก 

ด้าน แซนด์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเยาวชน และผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึง 11 คดี เห็นว่า การดำเนินคดีเด็กเป็นข้อพิสูจน์ชั้นดีว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา และไม่มีเด็กคนใดสมควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่ต้น

เพชร-ธนกร ภิระบัน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเยาวชน
แซนด์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเยาวชน

ท้ายสุด ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าวปิดท้ายว่า แม้รัฐบาลไทยจะพยายามทำให้การดำเนินคดีกับเด็กเป็นเรื่องปกติและเกือบประสบผลสำเร็จที่ทำให้สังคมไทยมองผ่านเรื่องนี้ไปได้ แต่ “ขอแสดงความเสียใจกับรัฐบาลไทย เพราะเราจะไม่ยอมให้มีการลอยนวลพ้นผิดหรือมีการกระทำกับเด็กเยี่ยงนี้อีกต่อไป เราทุกคนต่างมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเด็ก รวมทั้งรัฐด้วย”

อ่านแถลงการณ์และรายงานฉบับเต็มของแอมเนสตี้ได้ที่: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1084/

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า