เมื่อค่ำวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา รายการ We Talk ตอน ‘รอยร้าวครอบครัว เมื่อลูกไปประท้วง แต่พ่อแม่เป็นสลิ่ม’ เผยแพร่สดทางเพจ We Watch ได้ปลุกนักคิดคนสำคัญอย่าง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault, 1926-1984) มานั่งตอบคำถามผ่านการสวมบทบาทของ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ความสัมพันธ์ในครอบครัวถือเป็นความสัมพันธ์แรกๆ ที่มนุษย์มีส่วนร่วมเกือบทันทีตั้งแต่ลืมตาเกิด สถาบันครอบครัวจึงเป็นสถาบันแรกสุดที่ขัดเกลาเราก่อนจะเข้าสู่สังคม แน่นอนว่ามันมีความผูกพันบางอย่างที่ยากที่จะมองเห็น หากแต่เมื่อฐานคิดทางการเมืองระหว่างคนในบ้านนั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ความแตกต่างทางการเมืองนั้นตั้งอยู่บนช่วงวัยที่ต่างกันด้วยแล้ว บรรยากาศมาคุชวนอึดอัดบนโต๊ะกินข้าวก็แทบจะก่อตัวขึ้นทันที
อะไรอยู่เบื้องหลังประเด็นความขัดแย้งลักษณะนี้ กลไกเชิงอำนาจทำหน้าที่ของมันอย่างไรในการจัดความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวภายใต้บริบทสังคมไทยยุคปัจจุบัน แล้วอะไรทำให้จุดยืนทางการเมืองดูจะทรงพลังมากกว่าสายสัมพันธ์ครอบครัว และสุดท้าย ‘เรา’ ในฐานะสมาชิกหนึ่งในครอบครัว จะจัดการรอยแตกที่ค่อยๆ ปริร้าวในความสัมพันธ์เหล่านี้อย่างไร
ฟูโกต์อาจไม่ได้พูดถึงแต่ละเรื่องอย่างชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ แต่ทัศนะของเขาที่ฝากร่องรอยเอาไว้ อาจสามารถช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ในการจัดการปัญหาทางความสัมพันธ์ หรืออาจทำให้เราค่อยๆ คิดอย่างถี่ถ้วนในการแสดงออกกับคนในครอบครัว และการที่ฟูโกต์ไม่ได้ถูกปลุกมาให้สัมภาษณ์ด้วยตัวเอง ก็นับว่าเป็นข้อดีที่ทำให้เรามีช่องว่างให้ตีความและร่วมขบคิดต่อไปได้
องค์ประกอบของความขัดแย้งระหว่างคนต่างวัยภายในครอบครัว
ในความเห็นของอรรถสิทธิ์ ความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชั่น มีอยู่ 2 องค์ประกอบ 1. องค์ประกอบสากลที่ประเทศไทยมีร่วมกับประเทศอื่นๆ 2. องค์ประกอบเฉพาะ กรณีของสังคมการเมืองไทยเอง
ความขัดแย้งระหว่างวัยในองค์ประกอบแรกอาจถูกอธิบายด้วย Post-truth Politics (การเมืองหลังความจริง) ซึ่งเป็นคำที่ถูกพูดถึงมากในช่วงปี 2016-2017 มีที่มาจากปรากฏการณ์ทางการเมืองในโลกตะวันตก 2 เหตุการณ์คือ
- โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจให้คนทั้งโลก เพราะในช่วงหาเสียง เขาพูดหลายๆ เรื่องที่ขัดแย้งกับค่านิยมพื้นฐานสากล เช่น การแสดงทัศนคติเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ จนเป็นประเด็นดราม่าไม่หยุดหย่อน
- ‘Brexit’ การลงประชามติถอดถอนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการโหวต หลายฝ่ายต่างเชื่อว่าอังกฤษจะยังคงอยู่กับ EU ต่อไป แม้แต่คนอังกฤษส่วนที่คิดเช่นนั้นยังคงไม่คิดว่าตนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
“ทำไมคนตะวันตกที่ดูแล้วน่าจะเข้าใจเรื่องความก้าวหน้าทางการเมืองถึงโหวตเลือกทรัมป์ที่มีทัศนคติเหยียด หรือทำไมคนอังกฤษถึงโหวตเลือกทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของตัวเองลง”
อรรถสิทธิ์ชวนตั้งคำถามพร้อมหยิบยกแนวคิด Post-truth Politics มาใช้อธิบาย 2 ปรากฏการณ์ข้างต้น โดยกล่าวว่า คนที่โหวตให้ทรัมป์ หรือโหวตให้ Brexit ต่างมอง ‘ความจริง’ ไม่เหมือนกับคนอีกส่วนในสังคม หรือเห็นความจริงอีกชุดที่แตกต่างไปจากมาตรฐานทางสังคม
Post-truth Politics มีความหมายว่า ความจริงที่เป็นหนึ่งเดียวซึ่งเป็นรากฐานการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และเป็นความจริงที่สังคมทั้งสังคมยึดมั่นถือมั่นนั้น ล้วนแตกสลายไปจากการที่แต่ละคนมีชุดความจริงไม่เหมือนกัน กล่าวง่ายๆ ตรงตัวก็คือ ไม่มีอีกแล้วความจริงหนึ่งเดียว แต่มีความจริงหลายๆ ชุดให้เราเลือกสรร
“แล้วทำไมจึงมีชุดความจริงที่แตกต่างกัน?” อรรถสิทธิ์กระตุ้นเราด้วยคำถามก่อนอธิบายว่า ในโลกตะวันตก การแพร่กระจายความจริงที่แตกต่างกันได้รับอิทธิพลจากสื่อที่นำเสนอ alternative truth (ความจริงทางเลือก) มากขึ้น สื่อมีหน้าที่บอกเล่าการรับรู้โลกแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากชุดความจริงที่สังคมยึดถืออยู่ ทำให้ผู้ที่เลือกรับฟังสื่อเหล่านี้ มีทางเลือกในการนิยามตัวเอง สร้างเป็นตัวตนทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมา
ตัวอย่างที่ยกมาคือ หากคุณเกิดในอเมริกา เป็นคนผิวขาว ญาติพี่น้องทั้งหมดก็เป็นคนขาว ตั้งแต่เด็กจนโต คุณได้รับสวัสดิการต่างๆ มากมาย รถเมล์ราคาถูก ค่ารักษาพยาบาลก็ไม่แพง ได้เรียนมหาวิทยาลัย มีงานการมั่นคง แต่พอขึ้นศตวรรษใหม่ในช่วงปี 2000 ญาติๆ ของคุณเริ่มตกงาน กระทั่งตัวคุณก็ตกงานด้วย ทุกอย่างแพงขึ้น ค่าครองชีพแพงขึ้น ขณะที่รายได้คุณน้อยลง คุณไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทว่าเมื่อคุณเสพสื่อสื่อหนึ่งที่ช่วยอธิบายเรื่องนี้ คุณก็พบว่า มี ‘คนอื่น’ กำลังเข้ามาในเมืองของคุณ คุณพบว่าชาวต่างชาติมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของประเทศ คุณพบว่างานที่คุณเคยทำมีชาวต่างชาติไปทำแทนที่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวตนของคุณผูกกับตัวตนแบบใหม่ จากตัวตนที่อาจไม่ได้มีอคติต่อชาวต่างชาติ กลายเป็นสายที่เขม้นเครียดขรึมเมื่อมองไปยังผู้ที่แตกต่างทางกายภาพจากตัวคุณ
อรรถสิทธิ์สรุปสั้นๆ ว่า “เรานิยามตัวตนขึ้นมาใหม่ ผ่านการที่เรารับรู้โลกแบบใหม่”
เพราะฉะนั้น ปมความขัดแย้งทางการเมืองในครอบครัว จึงเป็น Post-truth Politics ในแง่ที่ว่า คนคนหนึ่งรับรู้โลกทางการเมืองแตกต่างจากพ่อแม่ เพราะการที่คนคนหนึ่งเสพข่าวรับสื่อจากทั้ง YouTube, Twitter, Instagram และ Facebook ย่อมได้รับข้อมูลทางการเมืองที่แตกต่างจากพ่อแม่ (ส่วนหนึ่ง) ที่รับรู้ผ่าน TV เป็นหลัก
“ความขัดแย้งทางการเมืองในไทยมันคือเรื่องเดียวกับของโลก เพียงแต่ว่าในกรณีของโลกตะวันตก ความจริงที่ถูก estabish (ก่อตั้ง) ก่อนจะถูกต่อต้านมันคือความจริงของเสรีนิยม คือความจริงของทุนนิยม ขณะที่ของประเทศไทยความจริงกระแสหลักมันคือความจริงแบบจารีต” อรรถสิทธิ์เผยให้เห็นความเหมือนที่ต่างกัน ซึ่งชี้ให้เห็นทั้ง 2 องค์ประกอบของความขัดแย้งข้างต้น ก่อนกล่าวถึงแนวคิดของฟูโกต์ว่า
“มองแบบฟูโกต์ แม้ว่าเสรีภาพในทางการเมืองยังมีน้อย แต่เรามีเสรีภาพในการมองความจริงแบบใหม่มากขึ้น เราได้มีโอกาสที่จะค้นหาตัวตนแบบใหม่มากขึ้น มีสิทธิสร้างอัตลักษณ์ตัวตนแบบใหม่มากขึ้นผ่านการผูกขาดความจริงที่เสื่อมสลายลง”
อำนาจ = ความรู้ เมื่อมองไปในสายสัมพันธ์ครอบครัว
“ไอเดียสำคัญที่สุดของนิยามอำนาจของฟูโกต์ก็คือ อำนาจคือความรู้ ความรู้ที่กำหนดการรับรู้โลกของเรา และความรู้ในที่นี้ไม่ใช่ความรู้ที่สอนกันในมหาวิทยาลัย”
อรรถสิทธิ์กล่าวต่อว่า ความรู้ในที่นี้คือความรู้ทั่วๆ ไปที่เราก็รู้ๆ กันอยู่ เช่น ไปงานศพต้องใส่เสื้อสีดำ งานแต่งงานมักคู่กับสีขาว หรือเป็นความรู้จากการที่เราเรียนรู้ว่าโลกเป็นอย่างไร และเราควรใช้ชีวิตอย่างไร บนฐานวิธีคิดแบบนี้ สัมพันธ์โดยตรงกับการสร้างสถานะของฝ่ายปกครองกับฝ่ายผู้ถูกปกครอง ด้วยการนิยามว่าผู้ปกครองมีสิทธิพิเศษอย่างไร และผู้ถูกปกครองเสียสิทธิพิเศษอย่างไร มันคือการสร้างโลกทัศน์บางอย่างขึ้นมา และโลกทัศน์เช่นนี้ยังมอบตำแหน่งแห่งที่ให้เรารู้ว่าต้องอยู่ตรงไหนในความสัมพันธ์หนึ่งๆ เราจึงนิยามตัวเองภายใต้โลกเช่นนั้น และเมื่อเรานิยามตัวเองแล้ว เราจะยอมรับอำนาจที่ไหลเวียนภายใต้โลกทัศน์นี้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดโดยปกติ อำนาจจึงกระจายโดยทั่วไปในสังคม พร้อมๆ กับความรู้นั่นเอง
ดังนั้น การพูดความจริงบางชุดจากการรับรู้โลกแบบหนึ่งซึ่งมีความแตกต่างกับอีกความจริงหนึ่งราวฟ้ากับเหว จึงส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เด็กมีสถานะเป็นผู้ถูกปกครอง และมีพ่อแม่เป็นผู้ปกครอง สถานะเช่นนี้ถูกสร้างจากการรับรู้โดยอัตโนมัติว่าพ่อแม่มี ‘ความรู้’ มากกว่า เพราะมีประสบการณ์ทางสังคมที่มากกว่า ทว่าเมื่อถึงจุดที่เด็กพูดว่าเขาเองก็มีความรู้มากกว่า (ในที่นี้คือ ความรู้อีกชุดหนึ่ง อีกมุมมองหนึ่ง) จึงส่งผลต่อสายสัมพันธ์ของอำนาจในครอบครัว ซึ่งทำให้พ่อแม่ขาดความชอบธรรมในการปกครองเด็กคนหนึ่ง จากแหล่งที่มาของความรู้ซึ่งถูกสั่นคลอนโงนเงน
เศรษฐกิจและการจัดการของรัฐ อีกหนึ่งอำนาจที่มองไม่เห็น
“ในสมัยรัฐโบราณ รัฐไม่เคยเข้ามาจัดการเรื่องเศรษฐกิจ รัฐจัดการเพียงเรื่องศีลธรรม การจัดการทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของครอบครัว”
อรรถสิทธิ์เปิดประเด็นทางเศรษฐกิจขึ้นมา เพราะหากมองอย่างไตร่ตรอง ปมความขัดแย้งในครอบครัวนอกเหนือจากเรื่องของอำนาจ ก็สัมพันธ์กับเรื่องทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน จากนั้น อรรถสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 17-18 พร้อมกับการมาถึงของแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ รัฐต้องการให้ประชาชนมาพึ่งพิงรัฐมากขึ้น เนื่องจากฐานอำนาจของรัฐสมัยใหม่ต้องอ้างอิงกับประชาชน ดังนั้น รัฐต้องทำบางอย่างเพื่อให้ประชาชนรู้สึกคุ้มที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ บางอย่างที่ว่านั้นคือการจัดการชีวิตให้ประชาชนรู้สึกอยู่สุขสบายมากขึ้น ซึ่งปัญหาขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพบเจอตลอดเวลาคือปัญหาทางเศรษฐกิจปากท้อง เมื่อประชาชนได้รับสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะมอบความภักดีตอบแทนให้รัฐ และอ่อนน้อมให้ตัวเองเป็นผู้ถูกปกครองภายใต้รัฐอย่างเต็มใจ (ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว)
ปัจจุบัน อรรถสิทธิ์มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในไทยคือรัฐไม่ได้จัดการเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกไม่คุ้มที่จะอยู่ในประเทศนี้ต่อไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่มีข้อแตกต่างกับคนรุ่นพ่อแม่อย่างเด่นชัดที่สุดคือเรื่องของ ‘เวลา’
เวลาและโอกาสในชีวิตของคนรุ่นใหม่ยังมีอีกมาก ทำให้เขาพร้อมที่จะเสี่ยงออกไปสู่ที่อื่นซึ่งอาจมอบโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าได้ มีเสรีภาพและความสามารถที่จะไปได้ไกลกว่าพันธนาการทางสังคมตอนนี้ ขณะที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่แม้จะมองเห็นปัญหาการจัดการเศรษฐกิจของรัฐไทย แต่ด้วยเวลาที่เหลือน้อยกว่า กอปรกับการถูกกลืนโดยกลไกทางสังคมต่างๆ นานา ทำให้เกิดความรู้สึกโอนอ่อนผ่อนตามได้ง่ายกว่า
ปัจจัยที่ว่านี้จึงนำมาสู่คำตอบของประเด็นคำถามที่ว่า ทำไมบางคนมองเรื่องทางการเมืองและเรื่องทางเศรษฐกิจไม่เกี่ยวข้องกัน นั่นจึงพออธิบายได้ว่า เพราะชุดความจริงที่เราเลือกใช้อธิบายโลกนั้นแตกต่างกัน แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีปัญหา คนตกงาน และรายได้ขาดหาย แต่เพราะการที่ยังคงมีคนออกมาประท้วง มีพวกที่ขัดแข้งขัดขาอยู่ในสภา มีโรคระบาด ล้วนเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จึงอาจเป็นอีกมุมมองหนึ่งของการรับรู้ความจริงต่อการอธิบายเรื่องเศรษฐกิจ
เพื่อที่จะอธิบายให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก อรรถสิทธิ์ได้วกกลับไปถึงกรณี Brexit ข้างต้น และเล่าว่าในฟากฝั่งของผู้โหวตที่ Yes หรือเห็นด้วยที่อังกฤษจะถอนตัวจาก EU ส่วนใหญ่ก็คือชนชั้นแรงงานผู้จะได้รับผลกระทบเต็มๆ หากแต่ ณ ช่วงเวลานั้นมีแคมเปญ ‘take back control’ จากฝั่งผู้เคลื่อนไหวรณรงค์โหวตเห็นด้วย แคมเปญนี้เป็นการเรียกร้องให้อังกฤษกลับมา control ประเทศตัวเอง เพราะเชื่อว่า EU คือผู้อยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจในอังกฤษ ดังนั้น Brexit จึงเป็นการทวงคืนอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจกลับมา สิ่งเหล่านี้ทำให้ชนชั้นแรงงานจำนวนมากออกมาโหวต Yes ทั้งๆ ที่ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ การถอนตัวออกจาก EU นั้นมีความเสี่ยงอย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชนชั้นแรงงาน อย่างไรก็ตาม ชนชั้นแรงงานรวมถึงคนกลุ่มอื่นที่โหวต Yes ต่างเชื่อความจริงชุด ‘take back control’
สายสัมพันธ์ทางการเมืองทรงพลังมากพอที่จะตัดสายสัมพันธ์ทางครอบครัว?
อรรถสิทธิ์ชวนคิดต่อไปว่า ถ้ามองแบบฟูโกต์ เราจะพบอำนาจการปกครองในครอบครัว แต่ก็มีแง่มุมอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของอำนาจด้วย เช่น การเลี้ยงดู ความรัก ความทะนุถนอม เพียงแต่อำนาจเป็นข้อเท็จจริงที่แฝงฝังอยู่ในความเป็นครอบครัว ซึ่งเป็นการเมืองที่ฟูโกต์ให้ความสำคัญมาก
“คำถามคือเราพอใจมากแค่ไหนกับการถูกปกครองภายใต้ความสัมพันธ์แบบครอบครัว” อรรถสิทธิ์ตั้งคำถามขึ้นมา และย้อนกลับไปอธิบายว่า การเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ ที่รัฐสถาปนาขึ้นได้เพราะประชาชนพอใจที่จะถูกปกครอง ความสัมพันธ์นี้ประชาชนได้ผลประโยชน์จากการถูกคุ้มครอง การรักษา การศึกษา และอื่นๆ เฉกเช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เราได้อะไรบางอย่าง
อรรถสิทธิ์เล่าว่า นักคิดหลายคนบอกว่ามันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะตัดขาดความสัมพันธ์กับครอบครัว เพราะสายสัมพันธ์ดังกล่าวถูกถักทอจากธรรมชาติด้วย
สำหรับฟูโกต์ ครอบครัวคือเครื่องมือของรัฐในการส่งต่ออุดมการณ์ทางการเมือง เช่น การจัดการทางเศรษฐกิจของรัฐให้คนมีงานทำ รัฐต้องการให้คนทำงาน คนจะทำงานได้ก็ต้องมีความรู้ จะมีความรู้ได้ก็ต้องเข้าโรงเรียน คนยอมเข้าระบบการศึกษาได้ก็ด้วยเหตุผลจากพ่อแม่ พ่อแม่มีหน้าที่ส่งลูกหลานเข้าเรียน และหลักสูตรที่ใช้สอนในโรงเรียนก็จะถูกออกแบบโดยรัฐ ดังนั้น ครอบครัวที่มีปมความขัดแย้งทางการเมืองจะเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายทอดอุดมการณ์ของรัฐมากกว่าครอบครัวที่สมัครสมานรักใคร่กลมเกลียว (ที่ความรู้และความจริงต้องคล้อยตามกับอุดมการณ์ของรัฐ)
เพราะฉะนั้น ตามความเห็นของอรรถสิทธิ์ ความขัดแย้งทางการเมืองในครอบครัวที่ทำให้รัฐมีปัญหา หมายความว่า เครื่องมือในการส่งต่อชุดของความจริงนั้นขาดประสิทธิภาพ ประกอบกับภาวะของ Post-truth Politics ทำให้ความต่างระหว่างช่วงวัยเพิ่มขึ้น สถาบันทางสังคมทั้งการศึกษา การเมือง และครอบครัว ที่ถูกจัดตั้งเพื่อให้ถ่ายทอดชุดของความจริงจากรัฐสืบต่อไป ต่างถูกตั้งคำถามและถ่างช่องว่างระหว่างวัยให้กว้างขึ้นเข้าไปอีก
ถึงอย่างไร อรรถสิทธิ์เชื่อว่า ฟูโกต์คงเลี่ยงจะตอบคำถามดังกล่าว เพราะฟูโกต์มองว่า ทุกคนแม้จะมีเสรีภาพ แต่มันก็ตั้งบนฐานของการรับรู้ว่าโลกมีความไม่แน่ไม่นอน เพราะสิ่งที่เกิดวันนี้ อาจไม่เกิดในวันพรุ่งนี้ก็ได้
‘care of the self’ กุญแจสู่ทางออก
“ประมาณสัก 5 ปีสุดท้ายของชีวิต ฟูโกต์พูดถึงเรื่อง ethics (จริยธรรม) หรือแบบแผนการปฏิบัติตนเมื่อเราสานสัมพันธ์กับผู้อื่น” อรรถสิทธิ์กล่าว
ฟูโกต์บอกว่า สิ่งที่เราควรให้ในความสัมพันธ์ก็คือ ‘care of the self’ หรือการใส่ใจกับตัวเรามากขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องหันมาดูแลตัวเองตรงตามความหมาย เพราะตัวเรามีอยู่ได้ด้วยผู้อื่น เราคือเราเพราะมีคนอื่นที่ร่วมปฏิสัมพันธ์ด้วย การใส่ใจกับตัวเราแปลว่าเราต้องใส่ใจผู้อื่น กล่าวคือ สิ่งที่มากำหนดนิยามตัวเรา ก็คือความสัมพันธ์ที่เราผูกไว้กับผู้อื่น
‘care of the self’ ถูกขยายความต่อไปว่า การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในครอบครัวได้ เราต้องรู้จักใส่ใจ ซึ่ง ‘care’ ในที่นี้คือต้องระมัดระวัง อาจต้องดูว่าเราอยากอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์แบบไหนกับพ่อแม่ (หรือคนอื่นในครอบครัว) ที่เห็นต่างกับเรา ถ้าเรารู้สึกอึดอัดมากๆ เราต้องพูดความจริงบางอย่างไป แล้วหวังว่าการพูดออกไปจะช่วยปรับความสัมพันธ์ แน่นอนว่าย่อมจะเกิดการปะทะกัน แต่อย่างน้อยที่สุด การพูดความจริงออกไปก็ทำให้เราได้ยืนยันความคิดความรู้สึก ซึ่งจะทำให้พ่อแม่ปรับตัว และการตอบสนองของเขาจะส่งผลต่อสถานะความเป็นพ่อแม่ในอีกทางหนึ่งเช่นกัน
แต่ถ้าเราแบกรับความอึดอัดไม่ไหว หรือถ้าความสัมพันธ์ในครอบครัวถึงจุดแตกหักจริงๆ?
อรรถสิทธิ์เสนอว่า เราต้องออกมาจากความสัมพันธ์เช่นนั้น (แต่ไม่ได้หมายถึงการยกเลิกสถานะความเป็นลูกหรือความเป็นผู้ปกครอง) เพื่อไปสร้างสายสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะฟูโกต์มองว่า เรามีเสรีภาพที่จะนิยามตัวเองเสมอ
“แต่มันคุ้มหรือไม่สำหรับการเป็นตัวเราอย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งนี้เป็นโจทย์ที่ขึ้นอยู่กับคนแต่ละคน” อรรถสิทธิ์ชวนให้ไตร่ตรอง
ท้ายที่สุด ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในครอบครัว อาจไม่ใช่เรื่องของความกลัวหรือความรักที่มีต่อกัน แต่เป็นเรื่องของความกล้า (courage) ซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญที่สุดที่ฟูโกต์พูดในช่วงบั้นปลายของชีวิต เราต้องกล้าพูดความจริงเพื่อยืนยันเสรีภาพของตัวเราภายใต้ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และเพราะเราไม่รู้ว่าผลที่ตามมาคืออะไร มันจึงอาจทำให้แผลในครอบครัวค่อยๆ ได้รับการสมานเยียวยา หรือหากมันทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้พูดและแสดงออกเพื่อยืนยันเสรีภาพของตนเองแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละกรณีของความขัดแย้งทางการเมืองในครอบครัว ล้วนมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน และอรรถสิทธิ์ (ตามการคิดแบบฟูโกต์) ชี้ว่า กุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาคือ เราอยากเป็นคนแบบไหนภายใต้ความสัมพันธ์หนักอกเช่นนี้
หมายเหตุ:
ติดตามรับชมรายการ We Talk ตอน ‘รอยร้าวครอบครัว เมื่อลูกไปประท้วง แต่พ่อแม่เป็นสลิ่ม’ ย้อนหลังได้ทางเพจ We Watch https://www.facebook.com/weareonwatch/videos/2789066344718010