เพราะความฝันของเราต่างกัน: คนรุ่นใหม่และคนรุ่นก่อนกับทัศนคติที่สวนทาง

การประท้วงของคนหนุ่มสาว นักเรียน และนิสิตนักศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนมาถึงปรากฏการณ์การยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ของคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564

ภาพของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่คนรุ่นใหม่ออกมาสร้างความเคลื่อนไหวล้วนสะท้อนความคิดที่ยืนบนรากฐานของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม การพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ดูเหมือนจะถูกตอบโต้จากคนรุ่นก่อนมาโดยตลอด ส่วนใหญ่คือคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) และคนรุ่น Gen X ที่ให้ความสำคัญกับการคงไว้ซึ่งสิ่งที่ดีงาม (ตามทัศนคติของตน) โดยคนรุ่นนี้ส่วนใหญ่แล้วถือเป็นคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม และกังวล กลัว หรือไม่ยินยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันควัน

ด้วยทัศนคติที่ไม่ตรงกันหรือยากที่จะเข้าใจกันระหว่างคนสองรุ่น คำถามสำคัญคือ เพราะอะไรที่ทำให้คนต่างวัยมีความแตกต่างทางความคิด คนรุ่นก่อนอาจมองการแสดงออกของคนรุ่นใหม่เป็นความดื้อรั้น ดื้อด้าน และไม่เชื่อฟัง จนบางครั้งถูกตราหน้าว่าชังชาติ ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ก็มองคนรุ่นก่อนว่าล้าหลัง ดักดาน และงมงาย

การยืนอยู่บนฐานความจริง[1] ที่แตกต่างกัน การยึดไว้ซึ่งความมีเสถียรภาพและความปลอดภัย หรือการอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) คือแนวคิดที่คนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย มองว่า ถ้าก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีแล้วจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต ซึ่งตรงข้ามกับความคิดของคนรุ่นปัจจุบันที่มองบนฐานความจริงอีกแบบว่า ในยุคสมัยที่ตนเองพบเจอมีสภาพสังคมเป็นเช่นไร ดีหรือเลวเพียงใด ซึ่งหากยังยึดมั่นถือมั่น ไม่เปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจะยิ่งนำพามาซึ่งความล้มเหลว และยากที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต

เบบี้บูมเมอร์ในคลื่นอุตสาหกรรมใหม่ ขณะที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญโลกดิสรัปท์ 

คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรือ คนรุ่นสงครามเย็น (Cold War Generation)[2] ที่เติบโตระหว่างปี 2489-2507 และปัจจุบันมีอายุประมาณ 57-75 ปี คนรุ่นนี้ต่างกุมอำนาจนำทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี ผู้นำเหล่าทัพ ผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาครัฐและเอกชน เป็นต้น เมื่อคนวัยนี้คือผู้คุมบังเหียน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่พวกเขาจะมีบทบาทและอำนาจสำคัญต่อทุกมิติของชีวิตประชาชน

เมื่อคนรุ่นนี้เข้ามาปกครองประเทศ เหตุใดจึงเป็นเรื่องน่ากังวลในยุคสมัยปัจจุบัน?

จากหนังสือ สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว ของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เขียนไว้ว่า ยุคเบบี้บูมเมอร์ คือยุคที่การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกขยายตัวสูงขึ้นกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ และในประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงถึง 4 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการบริโภค ซึ่งสินค้าช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เน้นสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน และเป็นสินค้าที่ใช้แรงงาน ผลิตสินค้าซ้ำๆ ในปริมาณมาก แต่รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ

ธุรกิจและสถานประกอบการในยุคสมัยนั้นจึงมุ่งบริหารงานแบบลำดับชั้นโดยออกคำสั่งจากบนลงล่าง (top-down) แรงงานต้องเชื่อฟังและทำตามหัวหน้า หรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า 

ผู้ที่เกิดในช่วงยุคสมัยนี้ถูกปลูกฝังทัศนคติให้เป็นคนที่ห่างไกลจากความคิดสร้างสรรค์ ไม่กล้าถกเถียง ตั้งคำถาม หรือสร้างความแตกต่างไปจากเดิม เน้นให้คนมีความจำดี อดทนต่อการทำงานซ้ำๆ ได้ยาวนาน ส่งผลไปยังสถาบันครอบครัวที่เน้นสั่งสอนให้ลูกหลานคิดและทำแบบเดียวกับตน ให้อดทน ไม่ตั้งคำถามต่อคำสั่งผู้บังคับบัญชา และอยู่ในระเบียบวินัยอย่างสงบ

เมื่อเชื่อมโยงกับในประเทศไทย เศรษฐกิจไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือปี พ.ศ. 2488-2498 (ค.ศ. 1945-1955) แม้จะติดขัดในช่วงแรก แต่ภายหลังได้รับเงินสนับสนุนและการลงทุนของต่างชาติ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ไทยเซ็นสัญญารับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารจากสหรัฐอเมริกาในปี 2493 ทำให้เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวมากขึ้น จนมาถึงรัฐบาลเผด็จการทหาร สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส พ.ศ. 2500-2516 เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูมากขึ้นจากการร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ ทำให้ประเทศไทยได้รับเงินสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ล่วงถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ปี 2529 ไทยได้รับผลประโยชน์จากภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นซึ่งกำลังรุ่งเรืองอย่างมาก ทำให้สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น และได้กดดันให้ญุี่ปุ่นทำข้อตกลงพลาซ่า (Plaza Accord) ต้นทุนการผลิตของญี่ปุ่นจึงสูงขึ้น การย้ายฐานผลิตออกนอกประเทศจึงเป็นทางเลือกสำคัญในการลดต้นทุน และไทยได้รับเลือกเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน เนื่องจากมีเศรษฐกิจที่ดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่นยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้จีดีพีไทยโตเฉลี่ยเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ[3]

ช่วงเวลาที่การเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทว่าเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นฐานการลงทุนของต่างชาติยังคงดำเนินต่อไปได้ และทำให้คนรุ่นสงครามเย็นยึดติดกับความรุ่งเรืองในอดีต และยิ่งย้ำแนวคิดอนุรักษนิยมในสังคมให้แข็งแรงขึ้น พร้อมฝังรากลึกลงในระบบความเชื่อ วัฒนธรรม การปกครอง และสถาบันครอบครัวอีกด้วย

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การยึดติดกับภาพความรุ่งเรืองในอดีตไม่อาจนำมาใช้กับสังคมปัจจุบันได้ ด้วยสภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่อยู่เป็นคนรุ่น (ใน) ระหว่าง (In-between Generation)[4] ที่มีอายุ 35-50 ปี ซึ่งเป็นคนที่อยู่ระหว่างสองวัย คือคนรุ่นเก่า (คนรุ่นสงครามเย็น) และคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นโบว์ขาว[5]

กล่าวคือ คนรุ่น (ใน) ระหว่าง ถูกเลี้ยงดูและได้รับอิทธิพลจากคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ อีกทั้งเป็นคนเลี้ยงดูคนรุ่นใหม่ที่อาจรวมถึงคน Gen Y ที่เกิดช่วงปี 2523-2540 หรือมีอายุ 24-40 ปี และคน Gen Z ที่เกิดหลัง พ.ศ. 2540 หรือมีอายุต่ำกว่า 23 ปี ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพ่อแม่ หรือคนรุ่นก่อนที่เป็นอนุรักษนิยม แต่ขณะเดียวกันก็เปิดใจและรับฟังความเห็นของลูก จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่กล้าพูด กล้าคิด และกล้าแสดงออกมากขึ้นตามรุ่น

นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดิ่งลง ด้วยการเห็นภาพความขัดแย้งของคนในสังคมมาโดยตลอด อาทิ ความขัดแย้งของคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือการที่ตนใช้สิทธิใช้เสียงทางการเมืองในการเลือกตั้ง แต่พรรคที่ตนเลือกกลับถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอย่างไม่เป็นธรรม หรือเพื่อนร่วมวัยที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยถูกดำเนินคดีที่เกินกว่าเหตุ และสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำสูง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ข้อมูล ข่าวสารที่แพร่กระจายเพียงเสี้ยวนาที ทำให้ภาพของสังคมที่ไม่ถูกฉายในยุคก่อนๆ ปรากฏในยุคสมัยปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ทำให้การเติบโตของเด็กรุ่นใหม่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน ที่ไม่อาจนิ่งเฉยหรือไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่ส่งผลกระทบต่อตัวพวกเขาเองโดยตรงได้ และเช่นเดียวกัน คนรุ่นสงครามเย็นจึงมองคนรุ่นใหม่เป็นเพียง ‘ผู้อ่อนประสบการณ์และความรู้’[6] โดยมองว่าตัวเองมีความรู้และประสบการณ์ที่มากกว่า เพราะประสบความสำเร็จมาก่อนพวกเขา จึงแทบไม่เห็นความสำคัญของคนที่อายุน้อยกว่า และมองว่าการที่เด็กลุกขึ้นมาเรียกร้อง เป็นการท้าทาย และมีพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะไม่เชื่อฟังสิ่งที่คนรุ่นก่อนสอน

“งานหนักไม่เคยฆ่าคน” “ไม่เลือกงานไม่ยากจน” วลีที่ตายด้านในยุคดิจิทัล

ความต่างทางพื้นฐานและสภาพสังคมของคนต่างวัยในหัวข้อข้างต้น เป็นเหมือนร่มที่คลุมแนวคิดและทัศนคติของคนต่างรุ่นไว้ เพื่อขยายภาพความต่างของคนต่างวัย หนึ่งตัวอย่างที่ไม่อาจนำมาปรับใช้กับยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไปแล้ว นั่นก็คือ วลีอย่าง “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” “ไม่เลือกงานไม่ยากจน” ที่ดูเหมือนเป็นแบบแผนปฏิบัติของคนรุ่นก่อน แต่กลับเป็นวลีที่ตายด้าน และถูกโต้กลับจากคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน

ในยุคสมัยที่ความเหลื่อมล้ำกระจายตัวมากขึ้นและเข้าไปอยู่ในทุกซอกมุมของสังคม เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับระบบที่ไม่เอื้อให้เขาได้เติบโต หรือต้องตะเกียกตะกายขยับฐานสังคมที่บ้างอาจอยู่ในชนชั้นรากหญ้า และต้องการขยับเป็นชนชั้นกลาง การขยับฐานะทางสังคมในยุคสมัยก่อนคือการมีหน้าที่การงานที่ดี หรือมีเงินทองร่ำรวย ขอเพียงแค่ ‘ขยัน’ เท่านั้นก็ทำได้ ขยันที่ว่าไม่ใช่แค่ในช่วงวัยทำงานเท่านั้น แต่ต้องขยันตั้งแต่วัยเรียนเพื่อจะได้เข้ารับการศึกษาในระดับสูง และมีหน้าที่การงานที่ดีในที่สุด 

ความคิดแบบนี้มองว่าการประสบความสำเร็จเกี่ยวข้องกับการพยายามอย่างสุดตัว ถ้ายังไม่เจริญก้าวหน้าในชีวิตก็เพราะคุณไม่พยายามมากพอ ไม่รู้จักทำตามคนที่ประสบความสำเร็จจึงได้ล้มเหลว และอื่นๆ ทำให้ความคิดดังกล่าวเป็นการโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจกในการสร้างแม่แบบของความสำเร็จและความสุข[7] โดยไม่มองที่ตัวระบบหรือโครงสร้างทางสังคม ว่าเอื้อให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิตมากน้อยแค่ไหน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กิจการคราฟท์เบียร์ไทยของผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่สามารถเติบโตหรือสร้างกิจการตนเองให้ประสบความสำเร็จได้ในประเทศไทย เพราะกฎหมายไทยไม่เอื้อให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่อยู่ในเส้นทางอาชีพนี้ได้มีโอกาสเติบโต อย่างกรณีในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563[8] พร้อมเหตุผลที่ว่า เยาวชนจะเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ไทยได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากในสถานการณ์โควิด-19 ร้านอาหารหรือสถานบันเทิงที่เป็นช่องทางหนึ่งในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกสั่งห้ามให้จำหน่ายสุรา และสถานบันเทิงถูกสั่งปิด ระบบออนไลน์จึงเป็นช่องทางเดียวในการจำหน่าย แต่ก็ถูกสั่งห้ามอีกเช่นกัน จึงสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย 

จากกรณีข้างต้นจึงเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายเล็ก และเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการหรือบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่สามารถจำหน่ายต่อไปได้โดยไม่ถูกขัดขา เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนายทุนรายใหญ่วางขายทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ

อย่างไรก็ตาม คนหนุ่มสาวชนชั้นกลางที่ถูกปูฐานทางเศรษฐกิจจากคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย มาให้บ้างแล้วโดยไม่ต้องดิ้นรนจนเลือดตาแทบกระเด็นในการมีรถขับ หรือต้องทำงานตรากตรำเพื่อส่งตนเองเรียน และยังมีบ้านให้อยู่อย่างไม่ลำบาก 

“กลุ่มมิลเลนเนียลในโลกตะวันตกจะมีการศึกษาสูงกว่า และทำงานหนักกว่ารุ่นพ่อแม่ หลายๆ คน ‘ได้รับการเตรียมพร้อม’ มาตั้งแต่เด็กเพื่อให้ประสบความสำเร็จ กระนั้น หลายคนกลับไม่สามารถหางานประจำที่จ่ายค่าตอบแทนดีได้ หรือบางคนเลิกหางานแบบนี้ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนเหล่านี้จึงเลื่อนฐานะลง และมีความเปราะบางทางสังคมยิ่งกว่ารุ่นพ่อแม่อันเป็นผลพวงมาจากการที่พวกเสรีนิยมใหม่ได้ทำลายรัฐสวัสดิการไปแล้ว”[9]

ส่วนหนึ่งในหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ ของ สรวิศ ชัยนาม สะท้อนให้เห็นถึงภาพของโครงสร้างสังคมที่รัฐไม่เอื้อ หรือไม่มีรัฐสวัสดิการรองรับประชาชน จนบางคนที่เป็นชนชั้นกลางถูกเลื่อนชั้นลงจนกลายเป็นสถานะยากจนหรืออยู่ชนชั้นรากหญ้าที่ขยายความกว้างความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น และ “ยิ่งจนเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสตายก่อนวัยอันควรมากขึ้น”[10]

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีมาก ทำให้คนรุ่นใหม่ตกอยู่ในสถานะ ‘จนจนแก่ แต่ยังพอไปได้’ เพราะแม้จะไม่สามารถสะสมความมั่งคั่งร่ำรวย แต่ก็มีทักษะมากมายในยุคดิจิทัลและสามารถปรับตัวได้มากพอ ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน หรือคนรุ่นยุคสงครามเย็นที่สามารถ ‘รวยก่อนแก่’ ได้ เพราะยังพอมีโอกาสให้ชีวิตตัวเองได้ก้าวหน้าและหลุดพ้นความยากจนจากเศรษฐกิจที่เอื้อให้พัฒนาต่ออย่างในยุคก่อน[11]

ดังนั้น วลีอย่าง “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” หรือ “ไม่เลือกงานไม่ยากจน” และอื่นๆ ที่ประโลมให้คนหนุ่มสาวยุคหนึ่งจงงุ่นทำงานและสนใจแค่เรื่องของตนเอง จึงไม่เติบโตและมีข้อกังขามากมายสำหรับคนรุ่น พ.ศ. นี้

เพราะไม่เปลี่ยนแปลงจึงล้มเหลว

“เพราะว่าคนรุ่นแก่ๆ เคยชินกับภาวะที่เรียกว่า ‘เสถียรภาพ’ ที่ทุกคนหงอหมด อยู่ภายใต้ ‘รัฐจัดการให้’ ในขณะที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าความขัดแย้งมันเถียงกันได้ เพราะเราโตมาอีกแบบ”[12]

คำตอบของ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้สัมภาษณ์ผ่าน WAY ในวันที่ 4 เมษายน 2563 ได้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่า คนรุ่นเก่าหวงแหนความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และเช่นเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็เติบโตมากับการพูดได้ เถียงได้ และแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้เป็นเรื่องปกติธรรมดา

การใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็นในยุคสมัยของตัวเองของคนรุ่นก่อน โดยยึดติดกับความสำเร็จในอดีต เชื่อมั่นในความสำเร็จเก่าๆ หรือเชื่อในชุดความจริงของตัวเองที่เคยได้ประสบหรือเรียนรู้มา จึงทำให้พวกเขากลัวการเปลี่ยนแปลงที่ตนเองไม่คุ้นเคย กลัวว่าเสถียรภาพที่ตนเองมีจะสั่นคลอน และยากที่จะเปิดใจยอมรับชุดความจริงอื่นๆ ของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับรู้มา และเมื่อเกิดปัญหาพวกเขามักใช้วิธีการเดิม ด้วยแนวทางเดิมของคนรุ่นเก่า นั่นคือ การจงรักภักดี เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า หรือการใช้อำนาจทางกฎหมาย และการใช้กำลังโดยทหารและตำรวจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อให้สังคมมีระเบียบเรียบร้อยและสงบ เพื่อจัดการกับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง หรือคิดเห็นต่างจากตน

กลับกัน เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติจึงสามารถปรับตัวและเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ได้ เมื่อเห็นภาพสังคมประเทศกำลังเป็นไปในทิศทางที่อาจสร้างความเดือดร้อนและปัญหาต่ออนาคตของตน การออกมาเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น และไม่อาจนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่ตนไม่เห็นด้วยได้ รวมถึงไม่อาจสมาทานว่าหากนิ่งเงียบแล้วจะนำมาซึ่งความสงบสุขในชีวิตได้อย่างคนรุ่นก่อน 

หนังสือ สงคราม (ใน) ระหว่างโบว์ขาว ของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ได้ยกตัวอย่างของปัญหาและผลกระทบที่เลวร้ายจากการถือมั่นความเชื่อเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดก็ตาม นั่นคือ กรณีของบริษัทโกดัก (Kodak) ที่เกิดหายนะขึ้นไม่ใช่เพราะการก้าวไม่ทันเทคโนโลยี แต่คือการไม่ปรับตัวของผู้บริหารที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นสงครามเย็น เช่นเดียวกับผู้บริหารประเทศไทยในยุคสมัยปัจจุบัน

โกดัก เป็นบริษัทรายใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตกล้องถ่ายภาพแบบอนาล็อกขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1888 และยังเคยผูกขาดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพแบบอนาล็อก ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายรูป ม้วนฟิล์ม และสารเคมีสำหรับล้างฟิล์ม เป็นต้น แต่เมื่อปี ค.ศ. 1976 เทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพแบบดิจิทัลตัวเเรกของโลกได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยวิศกรคนรุ่นใหม่อย่าง Steve Sasson ที่ทำงานให้กับโกดัก และนำเสนอเทคโนโลยีนี้แก่ผู้บริหาร แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับและมองว่าเทคโนโลยีดังกล่าวไม่สามารถแทนที่กล้องฟิล์มได้ 

เมื่อโกดักปฏิเสธที่จะพัฒนากล้องถ่ายภาพแบบดิจิทัล ทำให้คู่แข่งที่ปรับตัวและยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เริ่มเข้ามา หรือมองหาช่องทางอื่นในการกระจายความเสี่ยง อย่าง บริษัทฟูจิฟิล์ม (Fujifilm) อีกหนึ่งบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านกล้องถ่ายภาพแบบอนาล็อก ที่แม้จะมองว่ากล้องดิจิทัลไม่สามารถสร้างกำไรให้บริษัทได้เช่นเดียวกับโกดัก แต่เพื่อความอยู่รอด จึงต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง การเลือกกระจายความเสี่ยงไปกับธุรกิจอื่นจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางของฟูจิฟิล์ม เช่น การลงทุนกับธุรกิจด้านเอกสารที่บริษัทฟูจิฟิล์มได้เข้าไปถือหุ้นร่วมทุนกับ Xerox ด้วยเงินลงทุน 1.6 พันล้านเหรียญ การลงทุนครั้งนี้ยังเป็นการลงทุนในขณะที่บริษัท Xerox กำลังขาดแคลนเงินทุน จึงทำให้ฟูจิควบคุมบริษัทร่วมทุนนี้ได้[13] และสามารถกำหนดกลยุทธ์ของบริษัทฟูจิฟิล์มต่อไปได้ และปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ฟูจิฟิล์มก็ได้เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดกล้องดิจิทัลที่มียอดขายและผลกำไรที่น่าประทับใจ[14] 

อีกหนึ่งบริษัทคือ โซนี่ (SONY) ที่พัฒนากล้องถ่ายรูปแบบดิจิทัลออกมาจำหน่าย จนยอดขายของบริษัทโกดักตกลงอย่างต่อเนื่อง จนปี ค.ศ. 2007 บริษัทไม่มีกำไรและต้องยื่นล้มละลายในปี ค.ศ. 2012 ในที่สุด

ไม่ต้องบังคับ แต่สามารถเลือกอนาคตได้ด้วยตัวเอง

“เรื่องการเมืองในอดีต ฉันมองเป็นเรื่องไกลตัว ฉันยังสงสัยเลยว่าที่อาจารย์และเด็กๆ ศึกษาประวัติศาสตร์ไปเนี่ย ทำไปเพื่ออะไร ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องปากท้องอะไรเลย” นาง ข. เจ้าของกิจการโรงแรมวัย 44 ปี

หรือเรื่องของ เอกรินทร์ ผ่านหนังสือ สงคราม (ใน) ระหว่างโบว์ขาว ที่เล่าว่า ช่วงที่เขาอยู่ ม.4 ปี พ.ศ. 2534 ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 เพื่ออ่านหนังสือ ก่อนรอพ่อขับรถยนต์ไปส่งโรงเรียน ที่หน้าโรงเรียนมีครูคอยตรวจระเบียบ และเขาถูกตำหนิเรื่องทรงผมจนถูกครูตัดผมจนแหว่ง หรือการที่เห็นครูไม่ได้ตั้งใจสอนในห้องเรียนเท่ากับการสอนพิเศษหลังเลิกเรียน ทว่านั่นก็ไม่ได้ทำให้เขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องผิดปกติ และเย็นวันนั้นมีข่าวการยึดอำนาจโดย รสช. ของ พลเอกสุจินดา คราประยูร แพร่สะพัด แต่แทบไม่มีใครพูดหรือกล้าคุยเรื่องนี้ เพราะถูกผู้ใหญ่สอนกันมาว่าเป็นเรื่องที่คุยแล้วอาจเกิดอันตราย ที่แม้พ่อจะพูดถึงเรื่องนี้บ้าง แต่ก็ย้ำกับเขาตลอดว่า “เป็นเด็กให้ตั้งใจเรียน จบแล้วมาช่วยงานพ่อ ไม่ต้องสนใจเรื่องพวกนี้มากนัก”

ปรากฏการณ์เหล่านี้คือเสียงส่วนหนึ่งของคนรุ่น (ใน) ระหว่าง ที่บ้างได้รับชุดความคิดของคนรุ่นสงครามเย็นมาจนมองว่า การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หรือการถูกสั่งให้ตั้งใจเรียนอย่างเดียว สนใจแต่ปากท้องตัวเองก็พอ ไม่ต้องสนใจการเมือง คือชุดความคิดที่ส่งทอดต่อกันมาโดยเห็นเพียง ‘ตัวเรา’ เป็นสำคัญ ชุดความคิดเหล่านี้ถูกสอดแทรกและครอบงำด้วยแนวคิดอนุรักษนิยม เพราะได้รับอิทธิพลจากระบบสังคมและเศรษฐกิจแบบเก่า อย่างการถูกบังคับ ต้องฟังคำสั่งบัญชาการ ต้องไม่ปริปากค้าน และตั้งใจทำหน้าที่ของตนเพียงอย่างเดียวพอ

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีที่ข้อมูลข่าวสารกระจายไปอย่างรวดเร็ว ภาพของคนร่วมชาติถูกทำให้สูญหายจากผู้ไม่ยอมรับความเห็นต่าง ภาพคนจน คนเร่ร่อน ขอทานที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ภาพของเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงจนเสี่ยงหลุดออกนอกระบบเป็นจำนวนหลักหมื่น ภาพเหล่านี้ปรากฏให้เห็นซ้ำๆ ทุกวัน จนเกิดความกังวลต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนและยากขึ้นสำหรับพวกเขา การนิ่งเฉยคงจะไม่ใช่ธรรมชาติของคนรุ่นใหม่เสียเท่าไหร่ 

การสอนให้ลูกสนใจเพียงตัวเองจึงไม่อาจส่งต่อมาให้คนรุ่นนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จนัก ด้วยสภาพสังคมต่างๆ ที่กล่าวมา และอีกมากมายที่ยังไม่ถูกกล่าวถึง คนรุ่นใหม่จึงเลือกที่จะออกมาเรียกร้อง เปลี่ยนแปลง และปรับเปลี่ยนต่อคนรุ่นยุคสงครามเย็นที่กำลังนั่งเก้าอี้ทางการเมืองอยู่ให้ออกจากตำแหน่ง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสอดคล้องกับยุคสมัยเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน

“ตอน 1968 เด็กที่เคลื่อนไหวทั้งหมดพูดเลยว่า hope ของคุณกับ hope ของผมมันคนละ hope ผมว่าตอนนี้มันก็เป็นแบบนั้น คือความสงบคือความหวังของคนกลุ่มนี้ แต่ความหวังของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่ มันเป็นอีกแบบหนึ่ง” 

อีกหนึ่งคำตอบของ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ที่นำภาพ movement ของนักศึกษา ช่วงปี ค.ศ. 1968 ในฝรั่งเศส ที่มีความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างรุ่นเกิดขึ้น ซึ่งหากเทียบกับไทย คำตอบของอรรถจักร์สามารถนำมามองสถานการณ์บ้านเมืองไทยในตอนนี้ได้ว่า การเอาความคิด ความฝัน ความหวังของคนรุ่นก่อนมาใส่ให้คนรุ่นใหม่เป็นเช่นพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

การเห็นพ่อแม่ คนในครอบครัว หรือแม้แต่ตนเองต้องทำงานอย่างหนักโดยทุ่มเท ขยันไปมากเพียงใดก็อาจดีขึ้น แต่ก็ไม่ก้าวกระโดด หรือย่ำอยู่กับที่ หรือมีสถานะทางสังคมที่ถดถอยลง และใช้ชีวิตไปกับการเรียนหนังสือ ทำหน้าที่กับการเรียน และจบออกมาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว หาใช่เป็นความฝันที่พวกเขาต้องการอย่างคนรุ่นก่อน แต่ความฝันของคนรุ่นใหม่ดูเหมือนจะเป็นการเห็นคนรุ่นเดียวกัน หรือคนในสังคมที่ไม่ว่าจะอายุ วัย เพศ หรือใครก็ตามได้รับการดูแล ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีจากรัฐบาลผู้ซึ่งทำหน้าที่รับใช้ประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ความฝันของคนรุ่นใหม่จึงเป็นการออกมาปกป้องอนาคตของตนเอง และสามารถเลือกเส้นทางหรือกำหนดอนาคตประเทศของตนด้วยมือพวกเขาเอง

เชิงอรรถ

[1] “ความจริงที่เป็นหนึ่งเดียวหรือความจริงที่เป็นรากฐานการอยู่ร่วมกันทางสังคมที่คนควรถือร่วมกัน แต่แต่ละคนมีชุดความจริงที่แตกต่างกัน และเกิดการแพร่กระจายความจริงที่ต่างกัน ซึ่งอาจมีอิทธิพลจากสื่อในการทำหน้าที่บอกเล่าการรับรู้โลกแบบใหม่” ของ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง ที่พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นความขัดแย้งภายในครอบครัวจากความคิดทางการเมืองที่แตกต่างผ่านมุมมองแบบ Michel Foucault ในรายการ We Talk ทางเพจ We Watch วันที่ 27 สิงหาคม 2564 https://waymagazine.org/we-talk-care-of-the-self/

[2] กนกรัตน์ เลิศชูสกุล นิยาม คนรุ่นสงครามเย็น (Cold War Generation) ผ่านหนังสือ สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว ว่า คนรุ่นสงครามเย็นเติบโตท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจและรัฐบาลอำนาจนิยมในช่วงสงครามเย็น ปัจจุบันพวกเขามีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมผ่านฐานความคิดแบบอำนาจนิยม กฎระเบียบเคร่งครัด โครงสร้างทางสังคมลำดับชั้น ไม่ไว้ใจประชาธิปไตย และกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ปัจจุบันพวกเขาเป็นพลังที่กุมอำนาจนำทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยมากที่สุด

[3] กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว, สำนักพิมพ์มติชน, 1 เมษายน 2564, 41-49

[4] กนกรัตน์ เลิศชูสกุล นิยาม ‘คนรุ่น (ใน) ระหว่าง’ (In-between Generation) ผ่านหนังสือ สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว ว่า กลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัย 35-50 ปี โดยประมาณ ซึ่งมักถูกเรียกว่า คนเจเนอเรชั่น X เป็นคนรุ่นที่อยู่ระหว่างคนรุ่นสงครามเย็นและคนรุ่นโบว์ขาวในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านอายุ ความคิดทางการเมือง ค่านิยมทางสังคม และที่สำคัญคืออำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคม ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นสงครามเย็นและคนรุ่นโบว์ขาว พวกเขาสับสน หรือบ่อยครั้งเลือกที่จะเพิกเฉย เพราะด้านหนึ่งพวกเขาถูกกดทับโดยคนรุ่นสงครามเย็นผู้ยังคงกุมอำนาจในทุกมิติของสังคม ขณะที่อีกด้านพวกเขากำลังถูกเรียกร้องโดยคนรุ่นโบว์ขาวให้ช่วยผลักดันและสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้

[5] กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อธิบายการเรียกคนรุ่นโบว์ขาวว่า คือคนรุ่นที่เติบโตร่วมสมัยกับขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563 และผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่อยู่ในวัยเรียน เคลื่อนไหวโดยใช้โบว์ขาวผูกหรือประดับเป็นสัญลักษณ์การแสดงออกจุดยืนทางการเมือง

[6] กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว, สำนักพิมพ์มติชน, 1 เมษายน 2564, 162

[7] สรวิศ ชัยนาม, เมื่อโลกซึมเศร้า Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์, กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์, 2562. 155-159

[8] https://www.prachachat.net/marketing/news-600965

[9] สรวิศ ชัยนาม, เมื่อโลกซึมเศร้า Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์, กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์, 2562. 24-25.

[10] สรวิศ ชัยนาม, เมื่อโลกซึมเศร้า Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์, กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์, 2562. 96

[11] กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว, สำนักพิมพ์มติชน, 1 เมษายน 2564, 279.

[12] https://waymagazine.org/interview-attachak-election/

[13] https://www.tpa.or.th/publisher/pdfFileDownloadS/tn231a_p043-46.pdf

[14] https://www.posttoday.com/economy/columnist/641615

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า