อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: เสียงบนบัตรเลือกตั้ง ใครเลือกอนาคตใหม่ ใครเลือกพลังประชารัฐ

จากผลการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะมีความชอบมาพากลบรรจุปะปนอยู่ในหีบมากน้อยแค่ไหน ที่แน่ๆ คือหลายคนเซอร์ไพรส์กับคะแนนพลังประชารัฐ และประหลาดใจกับผลที่ได้รับของพรรคอนาคตใหม่

ชนชั้น (class) รุ่น (generation) และเขตความเป็นเมือง (urban) คือสิ่งที่ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่าเป็นตัวบ่งบอกว่าทำไมหลายเขตเลือกตั้งจึงกลายเป็นสีส้มของอนาคตใหม่ โดยเฉพาะการเป็นม้ามืดคว้าคะแนนดิบอันดับที่ 1 ในกรุงเทพฯ 800,000 เสียง

อีกด้านหนึ่ง popular vote ที่มากมาย-มากจนน่าเซอร์ไพรส์ของพลังประชารัฐก็มีคำอธิบายหลายชุดว่าฐานเสียงที่สนับสนุนนั้นมาจากไหน ปีกอนุรักษ์นิยม, กปปส. เดิม, กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลทหาร, ฝ่ายที่ผิดหวังกับประชาธิปัตย์, ฝ่ายต่อต้าน ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย

เป็นจริงที่ว่า ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมืองมีความสำคัญลำดับต้นๆ ในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ภายใต้โทนหลากหลายของเสียงที่ท้วมท้นบนบัตรเลือกตั้งฝ่ายพลังประชารัฐ ศ.ดร.อรรถจักร์วิเคราะห์ว่า คะแนนอาจไม่พุ่งถึงหัวตารางถ้าไม่เกิดสองเหตุการณ์สำคัญเมื่อสุดสัปดาห์ก่อนถึงเวลาเปิดคูหาเวลา 8 โมงเช้าวันที่ 24 มีนาคม 2562 คือ ประกาศสำนักพระราชวังในคืนวันที่ 23 มีนาคม และภาพถ่ายในงานแต่งงาน ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร’ บุตรสาวอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้เกิดสิ่งที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกว่า ‘ฮ่องกงเอฟเฟ็กต์’

นี่คือบทสัมภาษณ์ที่ว่าด้วย ‘ผู้คน’ และ ‘เสียง’ จากผลการเลือกตั้ง อะไรคือจุดสวิงของคะแนนในโค้งสุดท้าย ความเหมือนและต่างของแนวคิดทางการเมืองสองข้าง คนกลุ่มไหนเลือกอนาคตใหม่ และใครคือฐานเสียงพลังประชารัฐ

ช่วงก่อนเลือกตั้ง คนจำนวนไม่น้อยคาดการณ์ว่า ถึงคะแนนของพรรคพลังประชารัฐจะมา แต่ไม่น่าจะมากมายขนาดนี้ คนกลุ่มไหนบ้างที่เป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ

ผมเห็นด้วยนะว่าตอนแรกๆ เราคิดว่าพลังประชารัฐไม่น่าจะขึ้นมาสูงได้ เราก็นิ่งนอนใจกัน  ถ้าพูดกันง่ายๆ เรารู้สึกว่าพังแน่

ถ้าเราย้อนไปกรณีพรรคไทยรักษาชาติ ทันทีที่ถูกยุบ ตอนนั้นก็ยังไม่รู้สึกว่าคะแนนพลังประชารัฐจะมา พอมาจริงๆ คือภาพที่ ‘ฮ่องกง’ ผมคิดว่าภาพนี้มันช็อคคนหมดเลย รวมถึงประกาศสำนักพระราชวัง ผมคิดว่าตรงนี้คือจุดสวิง ทำให้ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าให้ผมดูอายุแล้วคือ 35-60 กลุ่มนี้เดิมจะเป็นแฟนประชาธิปัตย์ เขาคิดว่าเขาจะลงให้ประชาธิปัตย์ พอทันทีที่มีสองเหตุการณ์นี้มา เหตุการณ์แรกที่ฮ่องกงก็อาจจะรู้สึกโกรธ แต่ทันทีที่มีเหตุการณ์ที่ 2 ผมคิดว่าสวิงทันที

ผมสอบถามกับเพื่อนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นแฟนประชาธิปัตย์ เขาบอกว่า เหตุการณ์คืนนั้นคือเหตุการณ์ที่ยังไงเขาก็เอาพลังประชารัฐ เพราะเขารู้สึกว่าต้องต่อสู้กับเพื่อไทยให้ได้ คือเขารับไม่ได้กับภาพที่ฮ่องกง ทำให้คนทางปีกขวารู้สึกว่ามันข้ามเส้นจริยธรรมของพวกเขา ดังนั้นกลุ่มคนพวกนี้คือคนที่รุ่งขึ้นเทคะแนนให้พลังประชารัฐ อันนี้คือในกรุงเทพฯนะครับ

กรณีปักษ์ใต้ ผมคิดว่าเขาไม่เลือก สุเทพ (เทือกสุบรรณ) ไม่เลือกประชาธิปัตย์ เพราะด้วยเหตุผลหนึ่งก็คือ พลังประชารัฐเท่านั้นที่จะสู้กับ ทักษิณ (ชินวัตร) ซึ่งเขาได้ร่วมต่อสู้มาสมัย กปปส.

ส่วนทางเหนือหรือทางอีสานเอง จำนวนหนึ่งที่พลังประชารัฐได้ ผมคิดว่ามี ‘แดงอิสระ’ ที่มีบทบาทพอสมควร อันที่สองก็คือ เขาเริ่มรู้สึกว่า ถ้าหากเขาจะเลือกคนที่ให้ผลประโยชน์ เขาก็เลือกคนที่ตอนนี้ให้เขาอยู่แล้ว พวกนี้เป็นแดงนะ แต่รู้สึกว่าพลังประชารัฐก็ให้

ดังนั้นสวิงโหวตจริงๆ คือเหตุการณ์ที่คุณอภิสิทธิ์เองก็พูดชัดเจนว่าคือ ‘ฮ่องกงเอฟเฟกต์’ ซึ่งผมเห็นด้วยนะ

เพราะฉะนั้น คนที่เทคะแนนเสียงให้พลังประชารัฐอาจจะไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แต่ผสมผสานคนกลุ่มอื่นๆ ไปอีกจำนวนไม่น้อย คือชนชั้นกลางกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่พอใจเรื่องฮ่องกงเอฟเฟ็กต์ด้วย?

ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง แบบกลางๆ ที่อาจจะไม่ใช่กลุ่มเป่านกหวีดจ๋า รู้สึกรับไม่ได้

ที่คณะมีอาจารย์รุ่นๆ ผมจำนวนหนึ่ง ที่รู้สึกว่าด้านหนึ่งเขาไม่ได้เป่านกหวีด แต่ขณะเดียวกันเขาก็รู้สึกว่า เรื่องฮ่องกงมันรับไม่ได้จริงๆ

หลักๆ แล้วคนกลุ่มนี้ยังมีความกลัวและเกลียดผีทักษิณอยู่ จึงต้องหาใครสักคนไปต่อกรกับทักษิณ ซึ่งตอนนี้ไม่มีใครมั่นใจในพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไปแล้วใช่ไหม

ผมคิดว่าแฟนประชาธิปัตย์ที่อยู่ในกรุงเทพฯจำนวนมากรู้สึกว่าประชาธิปัตย์น่าจะไปกับลุงตู่ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เขายังเชื่อว่าถ้าประชาธิปัตย์อยู่กับลุงตู่ก็จะช่วยทำให้อะไรๆ ดีขึ้น คือเขาจะรักพี่เสียดายน้อง รักทั้งอภิสิทธิ์และรักลุงตู่ แต่ทันทีที่ประชาธิปัตย์พูดว่า “ไม่เอาลุงตู่” คะแนนเริ่มแกว่ง พอมาเจองานนี้ก็หมดเลย

แสดงว่ามั่นใจในตัวลุงตู่มากๆ?

ผมคิดว่าช่วงนี้ชนชั้นกลางจำนวนมากมั่นใจในลุงตู่ที่จะรบกับทักษิณ เขาคิดว่าประชาธิปัตย์อ่อนเกินไป พวกนี้คือพวกที่ยังหนีผีทักษิณไม่รอด

อีกประเด็นหนึ่ง เพื่อไทยหรือพลังประชารัฐ ทั้งสองพรรคนี้ ด้านหนึ่งไม่เหมือนกัน แต่ด้านหนึ่งเหมือนกัน ก็คือเป็นความคิดของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมแบบ ‘รัฐทำให้’

เพื่อไทยก็คือรัฐทำให้ พลังประชารัฐก็คือรัฐทำให้ ภายในอุดมการณ์ชุดใหญ่อันนี้ก็คือ ผู้ปกครองเป็นคนดูแลเรา มันจะแตกต่างตรงที่ว่า ‘ใคร’ เท่านั้น สองอันนี้ไม่แตกต่างกัน ที่แตกต่างคืออนาคตใหม่ ที่กำลังจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมใหม่

นึกออกไหมครับ เมื่อเราพูดถึงระบอบการปกครอง วิธีคิดหลักคือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ว่าจะจัดกันแบบไหน เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือทั้งหมดนั้นเหมือนเดิม คืออยู่ในปีกนี้ ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งภายในปีกเดียวกัน

แต่ความขัดแย้งที่หนักคือความขัดแย้งอีกปีก คืออนาคตใหม่ เพราะจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมอีกแบบ ถ้าดูสิ่งที่ธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) หรือปิยะบุตร (แสงกนกกุล) พูด มันเริ่มจะทำให้รัฐกลายเป็นผู้เกื้อหนุนให้สังคมเข้มแข็งขึ้น และสังคมจะเป็นคนคอยจัดการเรื่องต่างๆ ถ้าทำแบบนี้แล้วปีกนี้ได้ ปีกข้างบนสองปีกตายทั้งคู่

ผมไม่คิดว่าเพื่อไทยกับพลังประชารัฐแตกต่างกันเชิงอุดมการณ์ ไม่ อุดมการณ์เดียวกันเลย รัฐเป็นบิดาของคนทั้งหลาย ทักษิณกะตู่พอกัน แต่อนาคตใหม่นี่เปลี่ยน ดังนั้นสิ่งเราต้องคิดต่อคือ อนาคตใหม่จะเดินได้ไหม เพราะว่าการพรวดขึ้นมา 80 เสียงในวันนี้ มันก็เป็นเรื่องทั้งดีทั้งเลว เป็นดาบสองคม ถ้าคุณไม่ระวังให้ดีคุณก็อาจจะพังในเร็ววัน

ปัจจัยอะไรอีกบ้างที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบพรรคอนาคตใหม่ในสนามเลือกตั้ง

สิ่งที่ซ้อนอยู่ในผลเลือกตั้งครั้งนี้ ผมคิดว่ามันมี tension อีกอันหนึ่ง ที่มีผลมากๆ คือ tension ระหว่างรุ่น เช่น ช่วงก่อนเลือกตั้งจะมีข้อความส่งกันว่า พ่อแม่อย่าให้ลูกไปเลือกอนาคตใหม่ ส่วนเด็กก็เขียนว่า ถ้าพ่อแม่เลือกพลังประชารัฐ แม้แต่บาทเดียวก็จะไม่ให้ ให้ไปเอาจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน

ถ้าเรานึกถึงความเคลื่อนไหวยุคปี 1968 ซึ่งท้ายสุดมีการขยายตัว มีทั้งความรุนแรง มีทั้งการก่อเกิดใหม่ มันคือ tension ระหว่างรุ่น และผมคิดว่าของบ้านเรามันซ้อนกันระหว่างชั้น (class) สีเหลืองเป็นชนชั้นกลางที่ค่อนข้างบน สีแดงคือกลุ่มคนที่กำลังจะขึ้น ในชั้นเหล่านี้มันมีความขัดแย้งและความตึงเครียดที่ซ้อนมา คือรุ่น (generation) ถ้าหากเราไม่ดูแลรุ่นดีๆ ไม่คิดกันดีๆ tension นี้จะสูงขึ้น มันอาจจะนำไปสู่อะไรอีกหลายๆ อย่าง

ของ 1968 มันทำให้บางปีกของนักศึกษาเลี้ยวไปเป็นพวกใช้ความรุนแรงอย่างมาก ในญี่ปุ่นเกิดกลุ่มญี่ปุ่นแดง ในอเมริกาเกิดกลุ่มใช้อาวุธ Black Panther ปีกหนึ่งก็ใช้อาวุธ ในฝรั่งเศสก็มีปีกซ้ายสุดกู่

ความขัดแย้งระหว่าง generation ถ้าเราไม่สามารถสลายให้ดีๆ มันจะเกิดความรุนแรงจากอีกปีกหนึ่งของ generation บ้านเราเคยเกิด แต่ว่าหย่อมไม่ใหญ่นัก คือหลัง 2516 เพราะตอนนั้นอย่างมากก็สัก 100,000-200,000 คน แต่ตอนนี้หย่อมใหญ่มัน 7 ล้าน 6 ล้าน หรือ 5 ล้าน ซึ่งเป็นหย่อมของ generation ที่ใหญ่มาก และ generation นี้ แม้ว่ามีความหลากหลาย แต่เขาสื่อกันได้เร็วมากด้วยเฟซบุ๊ค ตอน 1968 มันเกิดขึ้นได้เพราะทีวี คนมีทีวีแล้วเริ่มดูข่าว เป็นครั้งแรกที่ในยุโรปมีทีวีในบ้าน แต่วันนี้มันเร็วกว่า 1968

ผมพยายามจะส่งหนังสือ May Day Manifesto 1968 รวมความคิดเห็นของคนรุ่น 1968 ให้เพื่อนๆ ว่าต้องอ่าน ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา

ทำไมถึงต้องอ้างอิงที่ปี 1968

มันไม่มีปรากฏการณ์ในบ้านเราที่เห็น movement ของคนรุ่นหนุ่มสาวแล้วมีความขัดแย้งอย่างใหญ่โตแบบนี้มาก่อน อย่างที่ผมบอกว่าตอน 2516 มันก็มี แต่ไม่ใหญ่มากนัก แม้ว่านักศึกษาทุกสถาบันชนะเลือกตั้งในปี 2518 แต่ในทุกๆ สถาบันก็จะมีกลุ่มเคลื่อนไหวสัก 200 คน แล้วมีคนที่นั่งประชุมด้วย 1,000 คน หรือ 2,000 คน มันไม่เป็นล้าน

ดังนั้นที่ผมพูดถึง 1968 เพราะพยายามนึกเปรียบเทียบว่า ตัวอย่างความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างรุ่นที่ไหนบ้างที่เราพอจะหยิบมาดู ผมก็เลยต้องไปดึง 1968 มา แล้วมันก็น่าสนใจนะ ในโลกวันนี้ คนเริ่มกลับมาอ่าน มาศึกษาเกี่ยวกับปี 1968 มากขึ้น เพราะวัยรุ่นหรือกลุ่มเด็กหนุ่มสาวในฝรั่งเศสก็เริ่มเคลื่อนไหวแบบเดียวกัน กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองครึ่งหนึ่งคือคนหนุ่มสาว ซึ่ง 1968 ในฝรั่งเศสมันก็คือการบวกกันระหว่างนักศึกษากับกรรมกร เพียงแต่ว่าเสื้อกั๊กเหลืองบางทีก็มีปีกฝ่ายขวาด้วย

ในอเมริกา คนต่อต้าน โดนัลด์ ทรัมป์ มากที่สุดก็คือคนหนุ่มสาว ต่อต้าน Brexit ของอังกฤษก็เป็นคนหนุ่มสาว ดังนั้นคนจึงเริ่มบอกว่า เฮ้ย…ต้องอ่าน 1968 หนังสือพวกนี้เริ่มกลับเข้ามา ผมก็เลยต้องมาอ่านอีกทีว่าความตึงเครียดระหว่างรุ่นมันจะส่งผลยังไง

ของบ้านเรามันซ้อนทับกันทั้ง class ทั้ง generation เรามี #โตแล้วเลือกเองได้ พวกนี้คืออีกรุ่นหนึ่ง

อีกอย่างคือ เด็กพวกนี้เติบโตมากับการนอนดึก การนอนดึกคือการมีเวลาเสรี เด็กพวกนี้นอนดึกทุกคนมา 10-20 ปีแล้ว เพราะว่าหลังจากพ่อแม่หลับแล้วคือเวลาเสรีของเขา ทันทีที่พ่อแม่หลับ-เวลาของกู แล้วก็สู้กับเรื่องนี้มานาน รุ่นเราจะโตมากับพ่อผู้ถูกต้อง แม่ผู้ถูกต้อง แต่เด็กรุ่นนี้จะโตมากับความเป็นขบถระดับหนึ่ง เท่าที่ผมเช็คมาพวกที่นอน 4 ทุ่มนี่แทบจะไม่มี

ตัวเลขจากผลการเลือกตั้งที่สะท้อนให้เห็นกลุ่มคนต่างๆ เหล่านี้จะนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ใหญ่กว่านี้ในอนาคตด้วยใช่ไหม

อันนี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นส่วนล่างของภูเขาน้ำเข็ง ตอนนี้ภูเขาน้ำแข็งจะโผล่ขึ้นมา แต่มันคืออะไรผมก็ไม่รู้ เห็นกว้างๆ ก็คือ class สองก็คือ generation ผมไม่ได้ไปสืบดูว่าเด็กแว้นที่อายุ 18 เขาเลือกใคร ซึ่งก็อยากจะรู้เหมือนกันนะ ถ้าเด็กแว้นเลือกอนาคตใหม่…ก็มันส์ว่ะ

มันมีความแตกต่างหรือไม่ ระหว่างกลุ่มชนชั้นผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่พัฒนาตัวเองขึ้นมา คนเหล่านี้ทำไมมีความคิดใกล้เคียงกับคนรุ่นใหม่ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคน

กลุ่มผู้ประกอบการแตกต่างจากคนรุ่นใหม่พอสมควรนะ ผู้ประกอบการทั้งหมดเติบโตขึ้นมาได้เพราะรัฐ รัฐเป็นคนอุดหนุน เพราะฉะนั้นคนพวกนี้จะต้องการอำนาจรัฐมาหนุน กลุ่มพวกนี้ก็คือสนับสนุนเพื่อไทย แต่คนรุ่นใหม่จะจัดความสัมพันธ์กับรัฐแบบห่างๆ แล้วขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าจะเข้าไปควบคุมรัฐได้ แต่ในอนาคต ถามว่าผู้ประกอบการทั้งหลาย ถ้าประสบผลสำเร็จด้วยตัวเองมากขึ้น มันมีแนวโน้มที่จะคิดแบบคนรุ่นใหม่ คือมึงอย่ามายุ่งกับกู มึงมายุ่งกับกูทำให้กูไปไม่ได้ แต่ตอนนี้เขายังต้องอาศัยรัฐอยู่ ผมเลยบอกว่าเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐมันอยู่ในโหมดเดียวกัน คือ ‘รัฐทำให้’ มันไม่ได้แปลกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มันอยู่ใน mode of thought อันเดียวกันเลย เพียงแต่ว่ามันอยู่คนละปีกกันแค่นั้นเอง

ผมหวังว่าการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการที่ขยายขึ้น มันจะเปลี่ยนวิธีคิดของผู้ประกอบการเหล่านี้ให้เป็นเสรีจากรัฐมากขึ้น

มองมาอีกด้านหนึ่ง คนรุ่นอาวุโสหน่อย มั่นใจเลยใช่ไหมครับว่าเป็นกลุ่มที่เลือกพลังประชารัฐ

ผมคิดว่าคนรุ่น 40-60 ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส. ส่วนใหญ่เทให้พลังประชารัฐ เพื่อนผมที่ร่วมเป่านกหวีดจำนวนมากเทให้พลังประชารัฐหมดเลย คนใต้ด้วยนะ ไม่เทให้ลุงกำนัน (สุเทพ เทือกสุบรรณ) เพราะรู้ว่าลุงกำนันก็เป็นร่างทรงของพลังประชารัฐ เพราะฉะนั้นกูเอาพลังประชารัฐเลย เรื่องอะไรจะไปให้ลุงกำนัน ลุงกำนันพังหมดเลย คือเขาก็รักลุงกำนันนะ คะแนนเสียงของพวกลุงกำนันก็ถือว่าไม่เลว 10,000-20,000 แต่พลังประชารัฐได้ก็เพราะว่าเอาตัวจริงดีกว่า ไม่เอาตัวสำรอง

คะแนน popular vote ของพลังประชารัฐถือว่าเซอร์ไพรส์ด้วยใช่ไหม กับการมาเป็นอันดับ 1 จาก 350 เขตทั้วประเทศ

หลังจากเรื่อง ‘เลือกคนดี’ คิดว่าไม่เซอร์ไพรส์มากนัก คิดว่าเขาคงขึ้นมาที่ 2 แน่ๆ แต่ไม่คิดว่าจะขึ้นมามากขนาดนี้ ก็แปลกใจ แต่ตรงไปตรงมา ผมไม่คิดว่า กกต. โกงเป็นแสน แต่การซื้อเสียง ผมคิดว่ามีแน่ๆ

คือการซื้อเสียงยังส่งผลต่อคะแนนอยู่?

ส่งผล แต่ผมคิดว่าไม่มากนัก ยกตัวอย่างเช่น ใจเลือกพลังประชารัฐอยู่แล้ว แล้วเราก็รับเงิน ประเภทว่าใจอยากเลือกเพื่อไทย แล้วรับเงินพลังประชารัฐ ไปเลือกพลังประชารัฐ ผมคิดว่ากรณีนี้ไม่มากนัก แต่ถามว่ารับเงินพลังประชารัฐ แล้วก็รู้สึกว่าพลังประชารัฐมันก็ดีนะ มันช่วยเราไล่ทักษิณ พวกนี้เยอะ

ภาพในกรุงเทพฯกับพื้นที่อื่นๆ ค่อนข้างต่างกันมาก อย่างกรุงเทพฯคือคะแนนอนาคตใหม่มาค่อนข้างเยอะ แสดงว่าเป็นที่นิยมในกลุ่มคน generation ใหม่จริงๆ?

ในต่างจังหวัด ในเขตพื้นที่ที่เป็น urban หรือเขตเมือง เขตมหาวิทยาลัย เขตเทศบาล บางที่อนาคตใหม่ไล่บี้ติดๆ กับคนได้ที่ 1 ห่างกันแค่ 800-900 คะแนน ซึ่งไม่เคยมี ที่ขอนแก่นเขต 1 ชนะ ธรรมศาสตร์รังสิตก็ชนะ พิษณุโลกก็ชนะหมอวรงค์ (เดชกิจวิกรม-พรรคประชาธิปัตย์) แล้วก็จังหวัดแพร่ทั้งหมดเลย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเขตเมืองมาก แต่คะแนนมาจากไทยรักษาชาติที่ถูกยุบ

อาจารย์ใช้คำว่า urban หรือเขตเมือง แต่อย่างกรุงเทพฯ ก็ยังคงเป็นพลังประชารัฐที่ได้ สส. เขตมากที่สุด?

เท่าที่ผมดูมันก็ไล่บี้กันอยู่ เพียงแต่ผมคิดว่า คนแก่รุ่นพวกผมเทให้พลังประชารัฐ พวกนี้มีเครือข่ายการจัดตั้งทางไลน์แล้วระดมกันได้เหนียวแน่นกว่า เด็กพวกนี้มีเฟซบุ๊คติดต่อกันจริง แต่ไม่สามารถจะระดมคนได้ชัดเท่าไหร่ ประมาณว่า “ขอให้เช้านี้มีความสุข ไปเลือก…” อะไรอย่างนี้

ไม่ว่าจะเป็นข้อความทางไลน์ ทั้งที่เป็น IO หรือข่าวปลอมก็ส่งผลเหมือนกัน?

ใช่ๆ ผมรู้สึกว่าคนแก่เล่นพวกนี้แล้วอิน ขณะที่เด็กวัยรุ่นเล่น ผมคิดว่ามันไม่อินเท่าพวกคนแก่ ผมถามพวกที่ส่งกันทุกวัน เช้าวันนี้ส่งพระส่งอะไรมา ก็ดูกันทุกวัน แล้วดูทำไม มันอินน่ะ แล้วเขาก็ส่งกันได้ทุกวันนะ

แสดงว่าคนสองรุ่นใช้อุปกรณ์แบบเดียวกัน…

ด้วยอารมณ์ไม่เหมือนกัน ด้วยความรู้สึกผูกพันธ์ไม่เหมือนกัน

การดูด สส. ของพลังประชารัฐส่งผลมากน้อยแค่ไหน ในการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชน

มีส่วน แต่จะมากขนาดไหนผมไม่มั่นใจ ยกเว้นบางเขต เพราะบางเขตก็ประหลาด อย่าง ธรรมนัส (พรมเผ่า-พรรคพลังประชารัฐ) ของพะเยา รู้สึกจะได้ทุกเขต คงมีกรณีอื่นๆ อีก การซื้อตัวมาคงมีผล แต่ไม่ได้เป็นตัวหลักเหมือนที่พรรคพลังประชารัฐเขาคิดว่าเขาจะทำได้

แต่การเลือกตั้งคราวนี้ทั้งตัวบัตรเลือกตั้งเองและบริบททางการเมือง ก็ดูจะเอื้อให้เป็นการเลือกพรรค เลือกแคนดิเดต เลือกข้าง มากกว่าการเลือกตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนในพื้นที่ เขายังใช้หลักคิดคิดแบบนี้อยู่ในการดูด สส. ใช่ไหม

ผมคิดว่าเขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด รวมทั้งทหารด้วย คิดว่าเขาไม่เข้าใจ แล้วเขายังคิดว่าจะดีลกับคนในรูปแบบเดิมๆ บิ๊กตู่พูดเลยว่า เป็นพ่อมีลูก 65 ล้านคน คำพูดสมัยสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) พูดมาได้ยังไง แสดงว่ามีการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงในสังคมน้อยมาก ดังนั้น ก็น่าเป็นห่วงกลุ่มพวกนี้อยู่ว่าคิดยังไง

ผมถึงบอกว่าทั้งพลังประชารัฐ ทั้งเพื่อไทย ก็อยู่ในโหมดเดิม ซึ่งโหมดนี้มันไม่เวิร์คแล้ว งวดนี้มันอาจจะเวิร์คเป็นงวดสุดท้าย งวดหน้าถ้าเล่นแบบนี้ไปแน่ๆ มันน่าจะมีพรรคอะไรอีกสักพรรคหนึ่งที่ผมคิดว่ามันต้องเกิด ที่จะเดินคล้ายๆ อนาคตใหม่ แต่เป็นอีกปีกหนึ่ง ถ้าเราเทียบธนาธรเป็น aggressive ปีกที่นิ่งๆ หน่อยผมว่าน่าจะมี ผมว่าจะเกิดพรรคคนรุ่นใหม่เสนอทางออกให้กับสังคม แล้วก็นิ่ม อนาคตใหม่ปีนี้คุณอาจจะแฮปปี้ แต่งวดหน้าคุณเจอแน่

ผมนึกถึง ไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) ถ้าออกมาเลย หรือเข้าไปยึดประชาธิปัตย์ ก็เป็นอีกภาพหนึ่งเลย

อาจารย์มองว่าวิธีคิดทางการเมืองแบบเพื่อไทยกับพลังประชารัฐต้องไปแน่ๆ?

ผมเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่การฆ่าฟันกัน หรือมีก็ได้ ขัดแย้งใหญ่หลวง ขยายอำนาจไปเรื่อยๆ แต่ท้ายสุดแล้วกลุ่มนี้ก็อยู่ไม่ได้ จะต้องเปลี่ยนแน่ๆ

ด้วยเหตุผลทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเลยใช่ไหม

ใช่ เราเริ่มคิดหรือสร้างชุด paradigm ใหม่ ที่จัดความสัมพันธ์กับรัฐที่ไม่เหมือนกับคนรุ่นอื่นที่อยู่ภายใต้เพื่อไทยหรือพลังประชารัฐ

เพราะมีอนาคตใหม่เป็นตัวจุดกระแส?

ใช่ คือพวกเราคิดกันอยู่แล้ว อนาคตใหม่ก็คิดเหมือนเรา แต่มันมาเชื่อมกันได้ คือชาวบ้านวัยรุ่นอาจจะไม่ได้ชัดเจนหรอก แต่รู้สึกอึดอัดกับรัฐแบบเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ แต่นี่มาบอกว่า…นี่แหละ ใช่ อย่างนี้แหละที่กูคิด แต่ในอนาคตมันก็ต้องมีอันใหม่ อนาคตใหม่ไม่สามารถควบคุมกลุ่มนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันจะต้องมีกลุ่มใหม่ๆ แตกมา แล้วกลุ่มใหม่ที่วางอยู่บนปีกชุดที่ 2

อาจารย์พูดคล้ายๆ กับว่าการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะมาเร็วๆ นี้ ?

ถ้าดูแววแบบนี้ผมว่าปีหรือปีครึ่ง ถ้าดูจากการจัดตั้งพรรคตอนนี้นะ

ถ้าเป็นแบบนี้คือลุงตู่เป็นนายกฯต่อค่อนข้างแน่ จนกว่าจะเกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งอาจจะเกิดจากเหตุอะไรก็ยังไม่มีใครรู้

ผมก็คิดอย่างนี้ว่าลุงตู่มาแน่ๆ

ก่อนเลือกตั้ง พรรคอื่นชูนโยบาย แนวคิด ขณะที่พลังประชารัฐดูเหมือนจะไม่มียุทธศาสตร์มากนัก?

เขาซื้อโดยนโยบายที่เขามีอยู่แล้ว อสม. บัตรคนจน อันที่สอง ถามว่านโยบายไหม เขาสามารถทำให้คนรู้สึกว่า ถ้าเลือกเขาแล้ว ลุงตู่จะรักษาความสงบ ผมคิดว่าคนจำนวนหนึ่งก็อยากได้ตรงนี้ แล้วจากนี้ก็เป็นเรื่องที่คุณได้อยู่แล้ว ประชานิยมที่คุณได้อยู่แล้วตรงนี้ ส่วนอื่นๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น

จนกระทั่งมีใครสักคนพูดข้อความนี้ไว้ “เดินไปให้สุด หยุดที่ลุงตู่” ซึ่งก็คือสงบนะ (เป็นข้อความของ สินจัย เปล่งพานิช ที่โพสต์พร้อมรูปเซลฟี่กับพลเอกประยุทธ์ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2562 – กองบรรณาธิการ)

ทำไมเราจึงตีความคำว่าสงบไม่เหมือนกัน

เพราะว่าคนรุ่นแก่ๆ เคยชินกับภาวะที่เรียกว่า ‘เสถียรภาพ’ ที่ทุกคนหงอหมด อยู่ภายใต้ ‘รัฐจัดการให้’ ในขณะที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าความขัดแย้งมันเถียงกันได้ เพราะเราโตมาอีกแบบ

ตอน 1968 เด็กที่เคลื่อนไหวทั้งหมดพูดเลยว่า hope ของคุณกับ hope ของผมมันคนละ hope ผมว่าตอนนี้มันก็เป็นแบบนั้น คือความสงบคือความหวังของคนกลุ่มนี้ แต่ความหวังของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่ มันเป็นอีกแบบหนึ่ง

hope ของคนรุ่นใหม่ เราคงต้องศึกษาว่าเขากำลังหวังอะไรอยู่ อนาคตใหม่อาจจะเป็นหนึ่ง hope

เมืองไทยขาดความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมจริงๆ แบบลึกซึ้ง มีน้อยมาก ในเมืองนอกพยายามจะศึกษาเรื่อง emotion เยอะแยะมากมาย ดังนั้นถามว่าเด็กรุ่นใหม่คิดอะไร – ไม่รู้ ไม่มีใครรู้

กรณีเก้ามหาวิทยาลัยตั้งโต๊ะถอดถอน กกต. อาจารย์บอกว่าอธิการบดีต้องไม่กลัว แสดงว่าอาจารย์หลายคนก็ยังมีความกลัว แต่พวกเด็กๆ…

ไม่กลัวแล้ว (ตอบทันที) เด็กๆ ไม่กลัวแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทำไมถึงกลัวผมก็ไม่เข้าใจ กลัวทำไม ผมว่าเด็กเคลื่อนไหวมันน่าสนใจว่าจะจุดอะไรต่อไปไหม 1968 มันก็เริ่มจากสองสามกลุ่มเริ่มเคลื่อนไป มันคล้ายๆ บ้านเรา มัน spontaneous (เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ)

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต มีหลายคนเหมือนกันที่พูดเรื่อง scenario ของความรุนแรง นองเลือด ถ้าเป็นแบบที่อาจารย์พูดคือค่อนข้างสงบ

อาจจะเป็นเพราะว่าผมแก่แล้ว (หัวเราะ) ผมกลัวว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้น ถ้าพวกเราแพคกันทุกฝ่าย ก็อาจจะค่อยๆ เคลื่อนไปโดยไม่นองเลือด แต่ถามว่าในอีกมุมมองหนึ่ง อีก scenario หนึ่ง มันมีฉากของการนองเลือดรออยู่ใช่ไหม มี

แสดงว่าการเมืองไทยก็ยังตกอยู่ภายใต้ความกลัวในหลายมิติ?

ก็หวังว่าพวกเราจะอยู่กับมัน คิดกับมัน แล้วก็แยกแยะให้มันชัดๆ หลีกเลี่ยงการที่จะเสียชีวิตของใคร

ยืมคำพูดของอาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) บางครั้งเรายอมแพ้เชิงยุทธวิธี เพื่อชนะยุทธศาสตร์ หรือกระทั่งยอมแพ้ทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เพื่อรักษาชีวิตคน ผมว่าบางครั้งเราต้องคิดอย่างนี้ ยิ่งถ้าสูญเสียแล้วเป็นคนแพ้อีก ชีวิตยิ่ง upset

ช่วงนี้คือช่วง crtical อีกช่วงหนึ่ง ช่วงแหลมคมมากๆ ผลการเลือกตั้งชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะ แล้วเราทั้งหมดทั้งสังคมต้องคิด อย่าตกหลุมใครง่าย ผมคิดว่าต้องแพคกันไว้ให้แน่น ต้องสื่อสารกันให้ดี

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า