เมื่อการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่พรากความเป็นผู้แทนออกจากสมาชิกสภา

พูดตามหลักวิชารัฐศาสตร์ แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. แบบแบ่งเขต จะถูกเลือกตั้งเข้ามาโดยประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่โดยเนื้อแท้ ส.ส. แต่ละคนล้วนเป็นผู้แทนของประชาชนทุกคนในประเทศ ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนเขตใดเขตหนึ่งโดยเฉพาะ และหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของ ส.ส. คือ การใช้อำนาจนิติบัญญัติในการพิจารณาและผ่านกฎหมายในฐานะตัวแทนประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในแวดวงการเมืองไทยอาจไม่ตรงตามตำราเป๊ะๆ ขนาดนั้น เพราะแม้ ส.ส. จะเข้าใจหน้าที่ตาม Job Description ของตน แต่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ต้องเผชิญความทุกข์ร้อน ก็ย่อมหวังจะพึ่งพิง ส.ส. ที่ตนลงคะแนนเลือก ให้ช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าดับ ปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนงานประกอบพิธีศพ เรียกได้ว่า ส.ส. แบบแบ่งเขตจะถูกคาดหวังให้ต้องดูแลชีวิตคนในพื้นที่ตั้งแต่เกิดจนตาย 

เมื่อสถานภาพผู้แทนราษฎร (ทั้งประเทศ) ต้องพ่วงมาด้วยความเป็นผู้แทนของคนในพื้นที่ หลายๆ ครั้ง เราจึงเห็นกรณีที่ ส.ส. บางคนเลือกไม่ลงชื่อสนับสนุน หรือกระทั่งคัดค้านนโยบายบางประการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ของคนในพื้นที่มากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในภาพรวม

โดยทั่วไป พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีหลักการเลือกคนลงสมัคร ส.ส. ในแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงภูมิหลังเป็นหลัก นั่นคือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ควรเกิดและเติบโตในพื้นที่ หรือรู้จักมักคุ้นกับพื้นที่นั้นเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะช่วยให้ทำงานในพื้นที่ได้อย่างราบรื่นแล้ว ยังสร้างความรู้สึกเชิงบวกของการเป็นผู้แทนคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ทว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่ที่ กกต. เพิ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 สร้างความงุนงงให้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 33 เขต พรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคเพื่อไทยและพรรคชาติพัฒนากล้า ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบใหม่นี้อาจขัดกับพระราชบัญญัติประกอบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ 

ผลกระทบสำคัญสำหรับบรรดาผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ส. หน้าเก่าในพื้นที่ต่างๆ ก็คือ การถูกพลัดพรากจากพื้นที่ที่ตนเองทำงานมาอย่างยาวนาน เช่น สุรชาติ เทียนทอง ส.ส. เขตหลักสี่ พรรคเพื่อไทย ออกมากล่าวถึงผลกระทบของการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่ว่า

“DNA ของผมคือ DNA ผู้แทน ตรงไหนที่เราเคยไปเหยียบแล้ว ไปทำแล้ว เราก็ต้องการรักษาความเป็นผู้แทนไว้ เขตหลักสี่ที่เขาตัดไปแขวงหนึ่ง ชีวิตนี้ผมทิ้งคนหลักสี่แขวงนั้นไม่ได้ จตุจักรที่เขาตัดผมไปสองแขวง ยังไงผมก็ทิ้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นต่อไปถ้าผมอยากดำรงความเป็นผู้แทนไว้ ผมต้องดูแลรับใช้คนหลักสี่และจตุจักรทั้งเขต” 

สุรชาติเชื่อว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นแค่ผู้ทำหน้าที่ออกกฎหมายหรือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้แทนของประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วย และหากมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สุดท้ายแล้วสถานะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเหลือแค่ ‘สมาชิกสภา’ เท่านั้น เพราะไม่อาจดำรงสถานะความเป็น ‘ผู้แทน’ เอาไว้ได้ 

สุรชาติยังมองว่า ช่วงเวลาเพียง 2 เดือนที่เหลือก่อนเลือกตั้ง สั้นเกินไปที่ผู้สมัคร ส.ส. จะพิสูจน์ตัวเองต่อประชาชนในพื้นที่ว่า ผู้สมัครแต่ละคนเหมาะสมกับการเป็นผู้แทนของพวกเขาจริงๆ

ในมุมมองคนที่เชื่อมั่นในความเป็นตัวแทนคนในพื้นที่อย่างสุรชาติ การเป็นผู้แทนราษฎรหมายถึงการทำหน้าที่แทนคนในพื้นที่ของตนตลอดชีวิต ดังนั้น การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ทุกครั้ง จึงอาจสร้างภาระในชีวิตเพิ่มเติมพอสมควร 

ขณะเดียวกัน การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในเวลาที่สั้นและกระชั้นชิด ทำให้บรรดาว่าที่ผู้สมัครซึ่งลงพื้นที่มาอย่างยาวนาน อาจต้องเปลี่ยนพื้นที่หรือหลุดจากการเป็นว่าที่ผู้สมัครในเขตนั้นเสียเลย ดังจะเห็นได้จากการใช้กลยุทธ์ส่งไม้ต่อให้ผู้สมัครคนอื่นในพรรคเดียวกัน เช่น กรณีของ แคนแคน-นายิกา ศรีเนียน พรรคก้าวไกล ที่ลงพื้นที่และตั้งเป้าจะเป็นผู้แทนของเขตบึงกุ่มมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเกิดการแบ่งเขตใหม่ นายิกาก็จำต้องส่งไม้ต่อให้ เรืออากาศโทธนเดช เพ็งสุข ซึ่งเดิมทีถูกวางตัวให้เป็นผู้สมัคร ส.ส. เขตลาดพร้าว 

“ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้แคนด้วยนะคะ ทั้งนี้ บึงกุ่ม (แขวงนวลจันทร์และแขวงนวมินทร์) ก็ต้องขอส่งต่อให้ พี่ @TanadejP ช่วยดูแล และฝากทุกๆ คนเป็นกำลังใจให้พี่ภูมิด้วยนะคะ” นายิกาทวีตข้อความผ่านบัญชีทางการของเธอ

การส่งไม้ต่อเช่นนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนในแต่ละพื้นที่ตัดสินใจเลือกตั้ง โดยให้ความเชื่อมั่นในตัวผู้แทนเป็นรายบุคคล หรือลงคะแนนโดยอิงอยู่กับพรรคการเมืองเป็นหลัก 

น่าสนใจว่า เหล่าผู้สมัครแต่ละคนจะมีวิธีการเอาตัวรอดในพื้นที่ใหม่ที่ตนอาจไม่คุ้นเคยนัก และชิงความเชื่อมั่นในฐานะผู้แทนกลับคืนมาได้อย่างไร และการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ทุกครั้งจะส่งผลต่อสถานะความเป็นผู้แทนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในไทยอย่างไรในอนาคต

ที่มา

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า