ต่อให้คนทุกคนเป็น ‘คนดี’ ก็เถอะ

ปกติคนเรามักจะเชื่อว่า คนเลวมักเป็นตัวปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเพราะเห็นแก่ตัว โลภโมโทสัน ขี้โกง ฯลฯ คนเลวมักจะมีเรื่องกับทั้งคนดีและคนเลวด้วยกัน เพราะคนเลวจะเอาเปรียบคนทุกคนทั้งดีและไม่ดี ถ้าเอาเปรียบคนดีก็ง่ายหน่อย ส่วนคนเลวด้วยกันนั้นก็กินกันลำบาก แถมยังต้องระแวดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะคนเลวมักจะรู้ไส้กันและกันดี

ปกติคนเรามักจะเชื่อว่า คนดีกับคนดีไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกัน เพราะต่างก็เป็นคนดีด้วยกัน    แต่สำหรับนัก-ปรัชญาการเมืองอย่างศาสตราจารย์ เกรกอรี คาฟกา (Gregory Kafka) มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เขาเชื่อว่า คนดีกับคนดีก็ยังมีปัญหาพิพาทกันอยู่ดี หลายคนคงสงสัยว่า มันไม่น่าเป็นไปได้  และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

คาฟกามีคำอธิบายที่น่าฟังทีเดียวถึงสาเหตุที่คนดีกับคนดีต้องมีปัญหากัน เขามีความคิดที่ทวนกระแสสามัญความเชื่อว่า ข้อพิพาทระหว่างคนดีด้วยกันสามารถเกิดขึ้นได้ ต่อให้คนทุกคนในสังคมเป็นคนดี สังคมนั้นก็ยังไม่อาจอยู่อย่างสงบสุขได้อยู่ดี

คาฟกาอธิบายโดยแบ่งเหตุผลออกเป็น 2 ระดับ

ระดับแรก เขาชี้ให้เห็นว่ามีปัจจัยที่เป็นไปได้อยู่ 4 ประการที่ทำให้คนดีขัดแย้งกัน ปัจจัยที่ว่าได้แก่ หนึ่ง คนดีแต่ละคนมีความสามารถในการรับรู้ที่แตกต่างกัน และการรับรู้ของแต่ละคนมีขีดจำกัดในแง่ที่ไม่มีใครสามารถรู้ข้อมูลครบทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้สำหรับการตัดสินใจเรื่องหนึ่งๆ ได้  อย่างน้อยก็ไม่อาจรู้ได้ถึงผลที่จะตามมาในอนาคตจากการกระทำนั้นๆ

สอง มาตรฐานความดีชั่วถูกผิดนั้นไม่ได้มีลักษณะที่แน่นอนและสมบูรณ์ (certain and absolute) ในแง่ของพฤติกรรมหรือการกระทำของคนดี 2 คนอาจขัดแย้งหรือตรงกันข้ามกัน เช่น คนดีบางคนเป็นคนกล้าต่อสู้กับความชั่วร้ายและความอยุติธรรมทุกรูปแบบอย่างหัวชนฝา ในขณะที่ คนดีอีกคนหนึ่งเป็นคนที่สุขุมรอบคอบ หนักแน่นและมองโลกตามความเป็นจริง คนทั้ง 2 คนนี้เป็นคนดีทั้งคู่ แต่สิ่งที่แต่ละคนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ดีนั้นแตกต่างกัน และเราก็ไม่สามารถมีเกณฑ์หรือมาตรฐานเด็ดขาดทางศีลธรรม ที่จะมาใช้ตัดสินว่าแนวการกระทำของใครดีกว่าหรือถูกต้องกว่าของอีกคนหนึ่ง

สาม ลักษณะของการมามีสัมพันธ์กันของคนดี ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่อาจทำให้เกิดการประสานงานและช่วยเหลือกัน หรือการกระทบกระทั่งกัน เช่น คนดี 2 คนมาเจอกันในงานจัดหากองทุน กับ กรณีที่คนดี 2 คนมาเจอกันในอุบัติเหตุที่รถทั้งคู่ชนกัน ถือว่าเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ต่างกัน และก่อให้เกิดผลที่ต่างกัน

สี่ คนดี 2 คนอาจมีความเชื่อที่เกิดจากแรงกระตุ้นทางจิตใจที่ต่างกัน ทำให้คนเหล่านั้นมองโลกหรือมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปคนละแบบ เช่น ระหว่างคนดี 2 คน คนหนึ่งอาจมีแรงขับให้มองโลกในแง่ดี แต่อีกคนหนึ่งอาจมองโลกในแง่ร้ายกว่า ทำให้ทั้งคู่มองการกระทำที่ดีแตกต่างกันตามไปด้วยได้

เหตุผลในระดับที่สอง คาฟกาอ้างความคิดของทฤษฎีชีววิทยาวิวัฒนาการที่กล่าวว่า สังคมทุกสังคมเมื่อเวลาผ่านไปก็จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจมีสาเหตุมาจากภายนอกสังคม เช่น ได้รับรู้ข่าวสารหรือรับวัฒนธรรมที่เห็นว่าดีกว่า ทันสมัยกว่ามาจากต่างประเทศ หรือมาจากภายในสังคมเอง เช่น เห็นว่าของที่เป็นอยู่ไม่ดี ไม่งาม จึงต้องการจะแก้ไข

สิ่งหนึ่งที่คาฟกาเห็นว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงในแง่ของสังคมก็คือ วิธีการหรือแนวทางปฏิบัติหรือพฤติกรรมที่คนใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ โดยเมื่อวิธีการหรือการปฏิบัติหนึ่งๆ ใช้ได้ผล คนส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีนี้ แต่เมื่อวิธีการใหม่เริ่มถูกพบว่าใช้ได้ดีกว่า คนก็จะเริ่มหันไปใช้วิธีการใหม่กันมากขึ้น จนกระทั่งในที่สุด วิธีการใหม่นั้นก็จะกลายมาเป็นวิธีแก้ปัญหาแทนวิธีเดิมที่เคยใช้กันอยู่ ซึ่งเท่ากับสังคมได้เปลี่ยนแปลงจากจุดเดิมที่เคยอยู่มาสู่จุดใหม่ ตามที่ทฤษฎีวิวัฒนาการอ้าง จากประเด็นดังกล่าว คาฟกาเห็นว่าสังคมของคนดีเองก็หนีไม่พ้นกฎของวิวัฒนาการเรื่องการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่า แรกเริ่มเดิมที คนดี (ทุกคน) อาจหาทางแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดจากปัจจัย 4 ประการข้างต้นด้วยวิธีการแบบสันติ นั่นคือ ต่างก็ประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แทนที่จะยืนยันหัวชนฝาว่าความคิดของตนถูกและของอีกฝ่ายผิด แต่เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มมีคนบางคน ซึ่งคาฟกาตั้งฉายาไว้เสียน่ารักทีเดียวว่า ‘เทพพันธุ์ก้าวร้าว’ หรือ ‘aggressive angel’ เริ่มนำวิธีการแบบไม้แข็งมาใช้ นั่นคือ เมื่อเกิดมีความเห็นต่างกันขึ้น ก็จะไม่ยอมและดึงดันยืนยันความคิดของตัวเองอยู่ท่าเดียว

คาฟกาเห็นว่า ตามหลักของทฤษฎีวิวัฒนาการ เมื่อเทพจอมก้าวร้าวมาพบกับ ‘เทพพันธุ์ประนีประนอม’ หรือที่เขาเรียกว่า ‘compromising angel’ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ  ฝ่ายแรกจะชนะทุกครั้ง ขณะที่ฝ่ายหลังจะยอม เพราะต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่เมื่อเทพนักประนีประนอมชักจะแพ้บ่อยครั้งเข้า พวกเขาก็จะเริ่มกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอด นั่นคือ เปลี่ยนไปเป็นเทพจอมก้าวร้าวบ้าง และเมื่อถึงที่สุดในสังคมคนดีแห่งนั้น จำนวนเทพจอมก้าวร้าวก็นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนเทพนักประนีประนอมก็จะมีจำนวนลดน้อยถดถอยลง เพราะถ้ายึดแนวประนีประนอม ก็มีแต่จะแพ้ ทำให้ไม่มีใครอยากเป็นคนประนีประนอม และพากันเปลี่ยนไปเป็นคนก้าวร้าวแทน เพราะเป็น ‘เทพพันธุ์ก้าวร้าว’ แล้ว ย่อมจะได้ในสิ่งที่ตนต้องการ นั่นคือ สามารถบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำตามที่ตนเองคิดว่าถูกได้

เมื่อถึงตอนนี้ การร่วมมือกันในสังคมจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะคนดีในสังคมพากันกลายเป็นคนดีที่ดื้อรั้นและหัวแข็งกันจนหมดแล้ว แต่การจะร่วมมือกันได้บางครั้งจำเป็นที่ต้องมีบางฝ่ายที่ยอมผ่อนปรนบ้าง แต่สำหรับคนที่คอยที่จะยอมผ่อนปรน  ลึกๆ แล้ว พวกเขาก็มักจะหวังว่า สักวันหนึ่งอีกฝ่ายจะยอมผ่อนปรนให้ตนบ้าง จึงทำให้ทนยอมอยู่ได้ แต่ถ้าต้องยอมทุกครั้งเรื่อยไป โดยไม่มีหวังว่าจะมีสักวัน ที่จะได้แบบที่ตัวเองต้องการบ้าง ก็คงจะไม่มีใครทนยอมอยู่ได้ตลอดไป และเมื่อถึงตอนนั้นสังคมก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะสังคมต้องอาศัยความร่วมมือกันของสมาชิกของสังคม

ฉะนั้น ทางออกของปัญหาระหว่างคนดีกับคนดีคืออะไร?

ใครสนใจจะลองแก้โจทย์ดังกล่าวนี้ของคาฟกา สามารถส่งคำตอบมาที่ [email protected] ได้เลย

 

ปรับปรุงรายละเอียดที่อยู่อีเมลช่วงท้ายบทความเมื่อ 7 สิงหาคม 2564

Author

ไชยันต์ ไชยพร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้จักในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ในแนวทางอารยะขัดขืน นอกจากนี้ ดร. ไชยันต์เป็นนักวิชาการที่เขียนบทความเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า