บรูโน ลาตูร์ (22 มิถุนายน 1947 – 9 ตุลาคม 2022): นักคิดผู้เชื่อมโลกวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และปรากฏการณ์โลกรวน

“ภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นถี่และรุนแรงในประเทศไทย พูดตามภาษา ‘กฎแห่งกรรม’ ก็คือ ธรรมชาติกำลังมาเอาคืน แก้แค้นคนไทยที่ย่ำยีทำลายธรรมชาติ”

ข้อความข้างต้นกล่าวถึงวิกฤตน้ำท่วมใหญ่หรือ ‘มหาอุทกภัย’ ในปี 2554 เมื่อกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศต้องจมอยู่ใต้บาดาลจากอิทธิพลของพายุฝนฟ้าคะนองลูกแล้วลูกเล่าที่ซัดกระหน่ำมากเกินฤดูกาลปกติ

ข้อสันนิษฐานที่อยู่ภายใต้คำพูดดังกล่าวคือ ธรรมชาติกำลัง ‘เอาคืน’ ‘ล้างแค้น’ หรือ ‘ลงโทษ’ มนุษยชาติที่ได้ก่อ ‘กรรม’ ทำร้ายธรรมชาติมาโดยตลอดด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ใช้ทรัพยากรและพลังงานเชื้อเพลิงอย่างสิ้นเปลือง ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก มลพิษ และความร้อน ฯลฯ 

แม้ผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี แนวคิดเรื่อง ‘พระแม่ธรรมชาติ’ กำลังลงโทษมนุษยชาติก็ไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย ดังจะเห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นตามหน้าข่าวสารในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติธรรมชาติร้ายแรง อาทิ น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม หรือโรคระบาด แม้ในอีกฟาก นักวิทยาศาสตร์จะพยายามระดมยิงข้อมูลเชิงสถิติและอธิบายสาเหตุของการเกิดภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ แต่ ‘ข้อเท็จจริง’ เหล่านั้นก็ไม่อาจลดทอน ‘ความเชื่อ’ ของคนไปได้โดยง่าย

แต่ความรู้หรือข้อเท็จจริงจำเป็นต้องอยู่ตรงข้ามกับความเชื่อหรือค่านิยมเสมอไปเช่นนั้นหรือ

บรูโน ลาตูร์ (Bruno Latour)

บรูโน ลาตูร์ (Bruno Latour) นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส เป็นคนหนึ่งที่ไม่คิดเช่นนั้น เขาเสนอว่า การนำเสนอปัญหาโลกรวน (climate change) ด้วยข้อเท็จจริงล้วนๆ แบบที่นักวิทยาศาสตร์ทำมาตลอด ไม่อาจโน้มน้าวผู้เชื่อในพลังเหนือธรรมชาติที่ให้คุณให้โทษแก่มนุษย์และผู้ปฏิเสธว่าโลกรวนไม่มีจริง (climate change denial) ได้ พอๆ กับที่นักวิทยาศาสตร์ไม่มีทางเชื่อถือศรัทธาในเรื่องเล่าที่เหนือธรรมชาติ

สำหรับลาตูร์ เราจะแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ก็ต่อเมื่อพลิกวิธีการมองโลกจากคู่ตรงข้าม ระหว่างข้อเท็จจริงกับความเชื่อ วิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ ธรรมชาติกับวัฒนธรรม และมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhuman) เสียก่อน จากนั้นมนุษย์จึงค่อยหาหนทางในการอยู่ร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ข้ามสายพันธุ์ท่ามกลางพื้นที่ในการใช้ชีวิตร่วมกันบนโลกใบนี้

ทั้งนี้ ลาตูร์เป็นนักคิดที่เชื่อมต่อโลกวิทยาศาสตร์เข้ากับสังคมศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ ผ่าน ‘ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำการ’ (Actor-Network Theory หรือ ANT) ที่เขาร่วมคิดค้นกับเพื่อนอีก 2 คน นอกจากผสานรอยแยกระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ งานของลาตูร์ยังพยายามตั้งคำถามกับการยึดมั่นเอามนุษย์ รวมถึงสังคมและวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลาง จนละเลยความสำคัญของตัวแสดงอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ที่มีผลต่อปรากฏการณ์ทางสังคม (และธรรมชาติ)

กล่าวได้ว่า ในปรากฏการณ์ทางสังคมก็ล้วนมีตัวแสดงจากธรรมชาติ (สภาพอากาศ เปลือกโลก ดวงอาทิตย์ ก๊าซต่างๆ สัตว์ พืช ตลอดจนไวรัส) และในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติก็ล้วนมีตัวแสดงในฟากสังคม โดยเฉพาะมนุษย์ (นักวิทยาศาสตร์ นักคิด นักเขียน นักการเมือง นายทุน ชาวบ้านร้านตลาด ฯลฯ)

กระทั่งลาตูร์ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2022 ด้วยวัย 75 ปี เหลือไว้เพียงทฤษฎีให้ผู้คนได้ขบคิดกันต่อไป 

ลงสู่พื้นพิภพ-เผชิญหน้ามารดาโลก (Gaia)

ตลอดช่วงชีวิตนักวิชาการ ลาตูร์เขียนงานชิ้นสำคัญๆ เอาไว้จำนวนมาก แต่งานที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกโดยตรง ได้แก่ Facing Gaia: Eight Lectures on the New Climatic Regime (2017) และ Down to Earth: Politics in the New Climatic Regime (2018)

ลาตูร์หยิบยืมมโนทัศน์ ‘Gaia’ ที่พัฒนาขึ้นโดย เจมส์ เลิฟล็อก (James Lovelock) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เพื่อวิจารณ์แนวคิด ‘มนุษยสมัย’ หรือ แอนโธรพอซีน (Anthropocene) และเพื่อเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบสภาพอากาศใหม่’ (New Climate Regime)

เดิมทีนักธรณีวิทยาแบ่งยุคสมัยของโลกผ่านชั้นดินที่สะสมแร่ธาตุ สารเคมี และก๊าซต่างๆ ซึ่งบ่งบอกได้ว่า สภาพอากาศและระบบนิเวศของโลกในช่วงนั้นเป็นเช่นนั้น ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่เรียกว่า ‘โฮโลซีน’ (Holocene) ทว่านักวิทยาศาสตร์อย่าง พอล เจ ครุตเซน (Paul J. Crutzen) ได้เสนอ ‘แอนโธรพอซีน’ ขึ้นมา เพราะเชื่อว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคที่มนุษย์กำลังครองโลกเพียงเผ่าพันธุ์เดียว ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ก็ได้ส่งผลกระทบต่อธรณีวิทยา ระบบนิเวศ และสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างใหญ่หลวง รุนแรง และรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมาในยุคอื่น

พอล เจ ครุตเซน (Paul J. Crutzen)

แม้มนุษย์ได้ก่อร่องรอยบนพื้นโลกมาตั้งแต่ก่อร่างอารยธรรม และย่ำรอยเท้าหนักขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 16 แต่กว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะสนใจ ‘มนุษยสมัย’ ในฐานะช่วงเวลาทางธรณีวิทยา ก็ต่อเมื่อเกิดสภาวะโลกรวนที่ภัยธรรมชาติรุมเร้าโลกในปลายศตวรรษที่ 20 ต่อต้นศตวรรษที่ 21 ความลังเลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเห็นว่ามนุษย์เพิ่งสร้างอารยธรรมขึ้นมาได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ หากพิจารณาจากอายุของโลกที่เกิดขึ้นมาแล้ว 4,500 ล้านปี

แม้เหล่านักคิดจะมีเจตนาที่ดีในการตักเตือนว่า มนุษย์มีส่วนสำคัญในการก่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่แนวคิดมนุษยสมัยก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าตื้นเขิน ทั้งยังเป็นมุมมองที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentric) ไม่ต่างไปจากแนวคิดที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกอย่างทุนนิยม ซึ่งมองธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่รอให้มนุษย์ (และทุน) นำไปใช้เพื่อผลิตสินค้าและบริการ แข่งขันกันในตลาด จนก่อให้เกิดขยะ ของเหลือใช้ และมลพิษตามมา

นักคิดฝ่ายซ้ายบางคนอาจวิพากษ์มนุษยสมัยด้วยการมองว่า ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและระบบนิเวศของโลก แต่เป็นมนุษย์บางคนที่ทุนหนา จนเกิดเป็นข้อเสนอให้เปลี่ยนชื่อยุคมาเป็น ‘ยุคสมัยแห่งทุน’ (Capitalocene) ซึ่งลาตูร์ก็เห็นว่า ระบบการผลิตแบบทุนมาจากรากฐานของการนิยาม ‘ธรรมชาติ’ ที่ล้าสมัย นั่นคือมองธรรมชาติอย่างเชื่องๆ (passive) รอคอยให้มนุษย์ใช้งาน

ที่ผ่านมา มนุษย์พยายามครองโลกราวกับว่าตนเองเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตสายพันธ์ุเดียวที่อาศัยบนดาวเคราะห์ดวงนี้ แต่ลาตูร์แย้งว่า แท้จริงแล้วเราไม่ใช่และไม่เคยเป็น ‘ตัวแสดง’ (actant) เดียวที่สามารถกระทำการในปรากฏการณ์ทางสังคม (และทางธรรมชาติ) หากชีวิตของมนุษย์ยังต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ อีกมาก รวมถึงสิ่งไม่มีชีวิตอย่างพื้นดิน แม่น้ำ อากาศ พูดให้ชัดก็คือเมื่อธรรมชาติประกอบขึ้นจากสิ่งต่างๆ นับไม่ถ้วนเหล่านี้ ก็เป็นไปได้ที่ธรรมชาติจะกระทำการบางอย่าง เพื่อโต้กลับต่อสังคม (หรือมนุษย์) และสิ่งนั้นก็ปรากฏผ่านเหตุการณ์โลกรวนที่เราเผชิญกันอยู่นี้

เพื่อจะดึงมนุษย์ที่ทำตนสูงส่งราวกับพระเจ้าลงสู่พื้นพิภพ ลาตูร์จึงใช้โมเดล ‘Gaia’ ของเลิฟล็อก กล่าวคือ Gaia ไม่ใช่เจ้าแม่หรือเทพี ซึ่งเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่มีพลังอำนาจลงโทษมนุษย์ ในขณะเดียวกัน Gaia ก็ไม่ใช่ผลรวมของความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ-ผลลัพธ์ของสรรพสิ่งตามกฎวิทยาศาสตร์ที่แห้งแล้ง หากแต่ Gaia เป็นบางอย่างที่อยู่กึ่งกลาง (in-between) หรือที่ลาตูร์เรียกว่า พื้นที่แห่งการเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่าง (metamorphic zone)

หากเราเชื่อในพระแม่ธรณี เราก็จะวิงวอนร้องขอให้อำนาจเหนือธรรมชาตินั้นหยุดลงโทษมนุษย์ หากเราเชื่อในกลไกวิทยาศาสตร์ เราก็จะแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่า ทั้งสองทางเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกันอย่างสุดขั้ว ในทางหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์พยายามอธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดจากการวิจัยที่น่าเชื่อถือ แต่เมื่อนำเสนอมักกล่าวออกมาอย่างแห้งแล้ง ปราศจากค่านิยม (values) ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้จึงเป็นเพียงชุดข้อมูลหนึ่งๆ ที่ไม่ได้มีความหมายนักในสายตาของผู้ที่ ‘เชื่อ’ แบบอื่น โดยเฉพาะพวกที่เชื่อว่าโลกรวนไม่ได้มีจริง แม้จะมีความหมายอยู่บ้างก็เป็นความหมายที่ถูกตีความให้เข้ากับความเชื่อของตน

“วิทยาศาสตร์ไม่เคยปลอดจากอคติทางการเมืองเลย”

ลาตูร์โจมตีทัศนคติอันสูงส่งของนักวิทยาศาสตร์ที่มักมอง ‘ธรรมชาติ’ ว่าเป็นความจริงที่สุด ในขณะที่ความเชื่อความศรัทธาอื่นใดใน ‘สังคม’ ล้วนจอมปลอมและต้องยอมสยบแก่ชุดข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ ทว่าก็อย่างที่เห็น ความรู้ใดๆ จะถูกเชื่อถือหรือนำไปใช้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความแม่นตรงของมันมากเท่ากับว่ามันมี ‘ความหมาย’ หรือสำคัญต่อคนในสังคมอย่างไร เราทราบดีว่าแต่ละปีมนุษย์ผลิตกองขยะมหาศาลเพียงใด เรามีส่วนสร้างปรากฏการณ์โลกรวนมากเพียงใด ตลอดจนการแก้ไขฟื้นฟูด้วยการปรับลดพฤติกรรมเหล่านี้ แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบหาย เพราะนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นไม่สามารถทำให้ผู้คนเชื่อถือได้ว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควร

ลาตูร์จึงเสนอว่า การจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่อาจเคลื่อนไหวได้ด้วยข้อเท็จจริงหรือค่านิยมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาควบคู่กัน เพราะทุกสิ่งในโลกหรือ Gaia ต่างก็มีบทบาทร่วมสร้างปรากฏการณ์ เราจึงต้องแสวงหาความร่วมมือไม่เพียงจากนักวิทยาศาสตร์ (ที่เป็นกระบอกเสียงแก่ธรรมชาติ) เท่านั้น แต่ยังต้องรวมเอานักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งพูดในนามสังคม (หรือมนุษย์) เข้ามาด้วย นี่คือสิ่งที่ลาตูร์เรียกว่า ‘ระบอบสภาพภูมิอากาศใหม่’ (New Climatic Regime) ซึ่งพยายามเปิดทางให้ทุกๆ ฝ่ายได้แสดงบทบาทเป็น ‘เครือข่าย-ผู้กระทำการ’

นักวิชาการผู้มักถูกกล่าวอ้างอย่างผิดๆ 

ท่ามกลางกระแสวิวาทะระหว่างศาสตร์ (sciences war) ที่ดำเนินไปอย่างดุเดือดในโลกวิชาการยุคทศวรรษ 1980-1990 ฟากหนึ่งยืนยันว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ว่าเป็นจริงได้อย่างเป็นวัตถุวิสัย ขณะที่อีกฟากแย้งว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เองก็เป็นเพียงหนึ่งใน ‘สิ่งประกอบสร้างทางสังคม’ (social construction) พูดอีกนัยคือ เป็นการทะเลาะกันของพวกสมัยใหม่ (modern) และพวกหลังสมัยใหม่ (post-modern)

บรูโน ลาตูร์ ได้ทะลุกลางปล้องขึ้นมาด้วยการเสนอว่า ไม่ว่าจะพวกโมเดิร์นหรือโพสต์โมเดิร์นต่างก็เถียงกันบนสมมุติฐานเดียวกัน นั่นคือเชื่อว่าความเป็นสมัยใหม่เกิดขึ้นแล้ว

ลาตูร์ยกสิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมนูญสมัยใหม่’ (Modern Constitution) ขึ้นมาวิจารณ์ กล่าวคือกรอบคิดหรือญาณวิทยาของตะวันตกเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่นั้นพยายามแบ่งแยกสิ่งต่างๆ ออกจากกัน เพื่อให้จัดประเภทและบริหารจัดการได้ง่าย ตัวอย่างเช่นในทางการเมือง รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเพื่อแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ นิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร โดยจะไม่ทำงานก้าวก่ายกัน ธรรมนูญสมัยใหม่ในทางญาณวิทยาที่ลาตูร์เสนอ ก็พยายามแบ่งแยกการมองโลกระหว่างสิ่งที่เป็นวัตถุ (object) และตัวของมนุษย์ หรือ ‘subject’ (สังคม วัฒนธรรม) ออกจากกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งการแบ่งแยกวัตถุตามธรรมชาติออกจากมนุษย์ในสังคมนี้ก็ได้สร้างปัญหาแก่ศาสตร์ต่างๆ ที่พยายามจัดการกับประเด็นในขอบเขตที่ตนรับผิดชอบ

นักวิทยาศาสตร์จึงต้องปวดสมองเมื่อพบว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมักมีตัวแสดงทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ พวกเขาสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จากการคำนวณปริมาณฝนในแต่ละปี หาพื้นที่รองรับมวลน้ำ หรือจัดเส้นทางให้น้ำไหล แต่มักไปไม่เป็นเมื่อในความเป็นจริงบางพื้นที่ไม่อนุญาตให้น้ำไหลผ่านหรือท่วมได้เลย เพราะผู้มีอำนาจในท้องถิ่นสั่งห้าม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือนักธุรกิจ ในทำนองเดียวกัน นักสังคมศาสตร์ก็ต้องปวดหัวเมื่อปรากฏการณ์ทางสังคมเริ่มได้รับผลกระทบจากตัวแสดงที่มาจากฝ่ายธรรมชาติ อาทิ พายุฝนฟ้าคะนอง โคโรนาไวรัส

แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากธรรมนูญสมัยใหม่ไม่เคยถูกร่างขึ้นจริง เส้นแบ่งดังกล่าวก็เป็นสิ่งอุปโลกน์ขึ้น อย่างที่ลาตูร์กล่าวไว้อย่างโด่งดังว่า “พวกเรายังไม่เคยเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่” ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของเขา We have never been modern (1993) 

We have never been modern (1993)

ลาตูร์กล่าวย้ำว่า เราอาศัยอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยพวกพันธุ์ทางและลูกผสม โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ ไม่ใช่กรรมสิทธิของมนุษย์ แต่ยังมีสรรพสิ่งอื่นๆ ที่คอยกำกับทิศทางราวกับว่าเป็นรัฐสภา (parliament of things) เราจึงไม่มีทางแก้ปัญหาอะไรได้เลยหากไม่ยอมเปลี่ยนวิธีคิดอันคับแคบของมนุษย์ แล้วพยายามหาทางอยู่ร่วมกับสิ่งอื่นๆ ในวิถีทางใหม่ 

มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber)

ตัวอย่างเช่นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หากนักรัฐศาสตร์ที่เชื่อตาม มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันว่า รัฐเป็นองค์กรผูกขาดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง แล้วเราจะอธิบายอย่างไรเมื่อความรุนแรงต่อชีวิตมนุษย์นั้นเกิดจากการกระทำของธรรมชาติผ่านภัยพิบัติและสภาพอากาศที่แปรปรวน หรือกระทั่งว่าคำพูดในตอนต้นบทความเรื่อง ‘กรรม’ ที่เกิดกับคนไทย ก็มิใช่มุมมองคับแคบที่ยึดเอามนุษย์ในสังกัดรัฐชาติเดียวเท่านั้นหรอกหรือ จนมองไม่เห็นว่า สภาวะโลกรวนได้ตัดข้ามพรมแดนระหว่างรัฐชาติเสียแล้ว

เนื่องจากลาตูร์ไม่เห็นด้วยกับการยัดเยียดให้ปรากฏการณ์ใดๆ เป็น ‘สิ่งสร้างทางสังคม’ อย่างที่นักคิดหลังสมัยใหม่ชอบทำ เพราะเป็นมุมมองคับแคบที่พิจารณาเพียงปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของมนุษย์เท่านั้น เขาจึงเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาแนวคิดที่เรียกว่า ‘ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำการ’ (Actor-Network Theory หรือ ANT) ร่วมกับ มิเชล คาลลอน (Michel Callon) และ จอห์น ลอว์ (John Law) ซึ่งได้บุกเบิกทางแก่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ Science and Technology Studies (STS) ขนานใหญ่ ผ่านมโนทัศน์สำคัญๆ อาทิ nature-culture, nonhuman, actant, blackbox, hybrid, translation และ assemblage ซึ่งพยายามข้ามหรือตัดผ่านเส้นแบ่งที่พร่าเลือนระหว่างความเป็นวัตถุวิสัยและอัตวิสัย ธรรมชาติและวัฒนธรรม มนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ 

Actor-Network Theory หรือ ANT
credit: www.researchgate.net

แม้จะเรียกว่าทฤษฎี แต่ ‘ANT’ ไม่ใช่ข้อค้นพบหรือสูตรที่มีความตายตัวแต่อย่างใด แต่เป็นการถ่ายทอดความคิดเห็น ข้อถกเถียง และบันทึกลงกระดาษหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งจะถูกส่งผ่านเครือข่ายไปยังผู้อ่านผ่านการพิมพ์ การค้า การประชุมสัมมนา และเทคโนโลยีต่างๆ เปิดโอกาสให้ผู้กระทำการมากหน้าหลายตาผลัดกันแสดงออกหรือกระทำการต่อความรู้ดังกล่าว ทั้งโดยตรงหรือกระทำผ่านผู้อื่น

และ ‘เครือข่าย’ ของ ANT ยังแตกต่างจากเครือข่ายเชิงเทคโนโลยีอย่างระบบคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต เพราะไม่ได้มีการวางโครงอย่างเป็นระบบ ไม่ได้มีจุดเชื่อมต่อหรือ node ที่ตายตัว หากแต่สลับหน้าที่กันอยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน ‘เครือข่าย-ผู้กระทำการ’ ก็ต่างจากเครือข่ายทางสังคม เพราะไม่ได้สนใจเพียงผู้กระทำการที่เป็นมนุษย์ แต่ยังขยายขอบเขตไปยังสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อีกด้วย

ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำการของลาตูร์จึงไม่เพียงทำหน้าที่เป็นผู้กระทำการถกเถียงในโลกวิชาการ แต่ยังเป็นเครือข่ายหรือพื้นที่ในการถกเถียงแก่ตัวกระทำการอื่นๆ ดังจะเห็นว่างานสาย STS และแนวคิดต่างๆ ที่พวกเขาเสนอเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในโลกวิชาการในช่วงไม่กี่ปีมานี้

ทว่าเมื่อมีคนชอบก็ต้องมีคนเกลียด มีคนเข้าใจถูกก็ต้องมีคนเข้าใจผิด แนวคิดของลาตูร์ที่พยายามถอดรื้อสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของนักวิทยาศาสตร์ที่เปรียบเสมือนประกาศกผู้เผยความจริงจากพระเจ้า ได้ถูกฝ่ายขวาหยิบฉวยไปบิดเบือน เพื่อด้อยค่าความรู้ของนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นแล้วนำเสนอคำตอบตามความเชื่อของตนเองอีกที ตัวอย่างเช่นการแพร่กระจายของโรคโควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแล้วว่าทฤษฎีสมคบคิดผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดมากเพียงใด

“ผมเองไม่ได้เป็นพวกต่อต้านวิทยาศาสตร์เลย แต่ต้องยอมรับว่าผมรู้สึกดีที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์น้อยลงบ้างเล็กน้อย แต่ผมคิดว่าเราไม่สามารถหันหลังกลับไปและพูดว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็น ‘เพียงข้อเท็จจริงรูปแบบหนึ่ง’ ได้”

ลาตูร์ยืนกรานในจุดยืนของตน เขาไม่ได้สนับสนุน ‘โลกหลังความจริง’ หรือ Post-truth ซึ่งใครต้องการจะเชื่อในความจริงชุดใดๆ ก็ได้ วิทยาศาสตร์ยังมีความสำคัญ หากเพียงแต่ต้องการให้ความรู้ชนิดนี้บูรณาการเข้ากับมิติอื่นๆ ของมนุษย์ พร้อมทั้งยังต้องนับรวมเอาสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์เข้ามาอยู่ในสมการด้วย 

After Lockdown (2021)

ลาตูร์เขียนไว้ใน After Lockdown (2021) ว่า ท่ามกลางการระบาดระลอกแรกๆ ของโควิด-19 รัฐบาลบางประเทศพยายามคุมสถานการณ์ด้วยกดตัวเลขการติดเชื้อให้เหลือศูนย์และการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ โดยมีฐานคิดว่า เจ้าไวรัสชนิดนี้จะต้องสูญพันธุ์จากโลกใบนี้ เพื่อที่มนุษย์จะได้ใช้ชีวิตทางสังคมและทางเศรษฐกิจแบบ ‘ปกติ’ อย่างไรก็ดี นั่นเป็นแนวคิดที่คับแคบและแยกส่วนจากนักการเมือง นักธุรกิจ แพทย์ หรือกระทั่งประชาชน ที่ไม่ได้คุยกันมากนัก เพราะในทางการแพทย์เราอยู่แล้วว่า ไวรัสเป็นส่วนประกอบหนึ่งของร่างกายมนุษย์เสมอมา เพียงแต่ที่ผ่านมามันไม่ใช่สายพันธุ์ที่ก่ออันตรายจนถึงแก่ชีวิต 

ลาตูร์จึงเสนอไว้ก่อนกาลว่า “นี่คือตัวอย่างที่ไม่น่าเชื่อของทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำการที่ผมพยายามโน้มน้าวนักสังคมวิทยามาตลอด 40 ปี ต้องขอโทษที่ผมพูดเอาไว้ถูกต้องเกินไป โควิดแสดงให้เห็นแล้วว่า ปัญหาระดับส่วนตัวกับส่วนรวมไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง”

อาจบางทีหากเราลองมองพ้นมนุษย์ไปยังสิ่งอื่นๆ ตามแนวทางของลาตูร์บ้างแล้ว ปัญหาใหญ่ๆ อย่างภาวะโลกรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจได้รับการแก้ไขและเยียวยาให้ดีขึ้นได้บ้าง แม้มนุษย์จะตัวเล็กลงท่ามกลางตัวกระทำการอื่นๆ ที่ขยายใหญ่ขึ้น แต่นี่คือกติกาใหม่ในการอาศัยร่วมกันบน ‘เครือข่าย-ผู้กระทำการ’ ขนาดใหญ่ที่ลาตูร์ผู้ล่วงลับเรียกว่า โลก หรือ Gaia

“การเรียนรู้วิธีใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตบนโลก คือความท้าทายอันใหญ่หลวงที่สุดของมนุษย์”

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า