สุวรรณา สถาอานันท์: การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ บทเรียนที่ยังเป็นปริศนา

หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั่วทั้งแผ่นดินเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ประชาชนต่างโศกาอาดูรกับการสูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่ง

จาก 13 ตุลาคม 2559 จนถึงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 26 ตุลาคม 2560 ‘ความเศร้า’ เกิดขึ้นในหลายมิติ หลายรูปแบบ ทั้งความเศร้าในใจแบบปัจเจก และการแสดงออกภายนอกสู่สาธารณะ การไว้ทุกข์ ติดริบบิ้นดำ สวมเสื้อสีดำ งดกิจกรรมบันเทิง กระทั่งสักถ้อยคำบางประโยคลงบนร่างกายเป็นการระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9

ความโศกเศร้านี้แผ่ในมวลอากาศ เป็นความเศร้าที่มี ‘ขนาด’ ไพศาล เป็นความเศร้าสาธารณะที่ปรากฏถ้วนหน้า นี่คือการสูญเสียพระมหากษัตริย์ บุคคลที่ผูกพันและเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรหลายสิบล้านคน ความรู้สึกที่ประชาชนมีต่อการเสด็จสวรรคตก็มากกว่าการแสดงออกที่เปี่ยมล้น

ความโศกเศร้าก่อตัวจากภายในใจคน แต่ความรู้สึกด้านอารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่จะหาคำตอบได้ง่าย ปรัชญาเป็นวิธีหนึ่งหรือภาษาแบบหนึ่งที่สามารถจับเรื่องที่เป็นนามธรรมมาอธิบายเป็นคำพูดและตัวหนังสือให้ทำความเข้าใจได้กระจ่างขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายศาสตร์ด้านอารมณ์ออกมาเป็นคำพูดที่อาศัยหลักปรัชญา ตั้งต้นที่การคร่ำครวญของ ขงจื๊อ การยึดติดกับความเศร้า เบื้องหลังของการไว้ทุกข์จากหลายสำนัก และการจัดการความเศร้าเพื่อสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้คือการเรียบเรียงคำถาม ตั้งสมมุติฐาน และหาคำตอบให้กับการสูญเสียพระมหากษัตริย์ครั้งสำคัญ การรับมือและอยู่ร่วมกับความโศกเศร้าในปัจจุบัน ก่อนจะเดินไปสู่อนาคตที่เราทุกคนช่วยสร้างคุณค่าร่วมกัน

ในประวัติศาสตร์ มีความโศกเศร้าแบบไหนบ้างครับ ที่เกี่ยวโยงกับมุมมองด้านปรัชญา

ดิฉันเห็นว่าปรัชญาเกี่ยวกับทุกเรื่อง เป็น ‘สถาปัตยกรรม’ ที่สร้างโลกที่เราอยู่  เข้าใจว่ามีความโศกเศร้าครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์มากมาย แต่ในวงวิชาการปรัชญาจีน ความโศกสลดของขงจื๊อเป็นปริศนาที่นักวิชาการให้ความสนใจมาก ขงจื๊อเป็นนักปรัชญาที่ประหลาด เขามีลูกศิษย์คนโปรดที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เขาก็คร่ำครวญ ร้องไห้ จนลูกศิษย์คนอื่นทักว่า ไม่เกินไปหรืออาจารย์ ขงจื๊อก็บอกว่า อย่างนี้เกินไปหรือ ถ้าไม่ร้องไห้ให้คนนี้แล้วจะร้องไห้ให้ใครกัน เป็นภาพขงจื๊อที่ ‘อาละวาด’ ซึ่งเป็นบุคลิกที่แปลกไปจากขงจื๊อซึ่งมักจะสุขุมรอบคอบเยือกเย็น แต่อันนั้นคล้ายๆ กับเป็นขงจื๊อที่น็อตหลุด

มีคำอธิบายต่อไหมว่าทำไมขงจื๊อถึงออกอาการน็อตหลุดขนาดนั้น

ความโศกเศร้ามาจากการสูญเสีย การสูญเสียมาจากการประเมินค่า ถ้าของที่หายไปมีค่าน้อยหรือเราไม่ได้ให้ความหมายหรือคุณค่ากับสิ่งนั้นมากนัก เราก็ไม่เสียใจมาก แต่ถ้าของที่หายไป สูญเสียไปมีคุณค่ามาก ขีดขั้นของความโศกเศร้า ความเจ็บปวด การใคร่ครวญ การระลึกถึง และการลืมไม่ได้ ยิ่งเข้มข้นมาก อาการน็อตหลุดเป็นการแสดงความลึกซึ้งของคุณค่าของสิ่งที่สูญเสียไป

กรณีของขงจื๊อ เผอิญว่าลูกศิษย์คนนี้อายุยังไม่มากก็ตายเสียก่อน เป็นคนที่เก่งมาก สามารถทำให้คำสอนของขงจื๊องอกเงย ทั้งๆ ที่ไม่ชอบเถียงกับอาจารย์ ทีแรกขงจื๊อนึกว่าโง่ แต่ขงจื๊อเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินจากการโต้แย้งไปเป็นไปคอยดูว่าเขาทำอะไรบ้างจากคำสอน ปรากฏว่าลูกศิษย์คนนี้ ไปทำอะไรได้มากมาย ดิฉันให้เหตุผลว่า ขงจื๊อมองว่าการจากไปก่อนวัยอันควรนั้นไม่ยุติธรรม คล้ายๆ สวรรค์ตาบอดทำไมคนเก่งๆ อย่างนี้ต้องตายตั้งแต่อายุยังน้อย ดิฉันอธิบายว่า การที่ขงจื๊อคร่ำครวญมากเป็นพิเศษเท่ากับเป็นการชดเชยความไม่ยุติธรรมของโลกธรรมชาติที่ทำให้เขาตายจากไป มนุษย์ทำอะไรไม่ได้กับโลกธรรมชาติ ก็ทำได้แต่ว่าฉันยืนยันที่จะแสดงความโศกเศร้าเป็นเวลานาน อย่างเข้มข้นและรุนแรง

ถ้ามองเรื่องการสูญเสีย ขึ้นอยู่กับว่าเราให้คุณค่ากับสิ่งนั้นหรือคนผู้นั้นมากแค่ไหนใช่ไหม

เป็นเช่นนั้น

หมายความอย่างไรครับ ถ้ามองจากบริบทสังคมไทยตอนนี้

ดิฉันมองว่าในสังคมไทย การตัดสินและยอมรับคุณค่าร่วมกันมีขีดจำกัดค่อนข้างมาก ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น สังคมเราในสิบปีที่ผ่านมา มีความแตกแยกมาก พวกหนึ่งจะไปทางซ้าย พวกหนึ่งจะไปทางขวา แล้วไม่ยอมกัน เราเคยตกลงกันจริงๆ ไหมว่าจะพัฒนาประเทศไปยังไง

คุณค่าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรสนิยมหรือความถูกผิด แต่หมายความว่า สิ่งที่เป็นอยู่อย่างนี้ เราต้องการไปต่อยังไง คุณค่าในความหมายของการตกลงร่วมกันว่าเราจะเดินไปข้างหน้าร่วมกันยังไง ดูเหมือนว่าสิ่งที่เรายอมรับคุณค่าร่วมกันมีจำกัด แต่องค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งหนึ่งในน้อยสิ่งมากที่เราเห็นคุณค่าร่วมกัน

การกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือตอนนี้ไทยแลนด์ 4.0 (ไม่ได้บอกว่าอันนี้ไม่ดี) มีกระบวนการที่เราในฐานะพลเมืองมีส่วนกำหนดหรือถกเถียงจนตกลงเป็นคุณค่าร่วมกันมากน้อยแค่ไหน

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านเป็นหนึ่งในไม่กี่อย่างในสังคมไทยที่ผู้คนซาบซึ้ง เห็นคุณค่าร่วมกันมาต่อเนื่องยาวนานถึงกว่า 70 ปี ในแง่นี้การสูญเสียพระองค์ท่านเป็นอารมณ์สูญเสียที่รุนแรงและเข้มข้น”

ปรากฏการณ์สูญเสียขนาดใหญ่แบบนี้เคยเกิดขึ้นที่ไหนไหมครับ

ดิฉันเชื่อว่ามีแน่ เท่าที่ทราบในนิยาย สี่แผ่นดิน อาจารย์คึกฤทธิ์ (ปราโมช) เขียนถึงตอนในหลวง รัชกาลที่ 5 สวรรคต แล้วคนทั้งเมืองร่ำไห้ เคยมีคนบอกว่า ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการสูญเสียสองครั้งที่กระทบใจผู้คนมากจริงๆ คือ การสูญเสีย พระปิยมหาราช กับในหลวงรัชกาลที่ 9 คือทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงประชาราษฎร์ เป็นเรื่องของความรัก ความผูกพัน

ถ้าถามว่าบันทึกเกี่ยวกับการสูญเสียระดับอารยธรรมโลกคิดว่ามีมากมายแต่ยังไม่มีโอกาสสืบค้น แต่ใน หลุนอี่ว์ (คัมภีร์ขงจื๊อ) มีการบันทึกว่า เครื่องวัดความเป็นกษัตริย์ที่ดีคือเมื่อท่านสิ้นไปแล้วจะมีคนระลึกถึงแค่ไหน หรือไม่ อย่างไร ความทรงจำมีหลายขั้นตอน มีความโศกเศร้าจากการสูญเสีย ความโศกเศร้าแสดงออกอย่างไร เป็นการไว้ทุกข์ ไว้อาลัย การไว้ทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของการไว้อาลัย

มีพวกนักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่า การไว้อาลัย หรือ mourning นั้นจบลงได้จริงๆ หรือเปล่า และจบเมื่อไหร่ ก็จะมีสองสาย พวกหนึ่งบอกว่า mourning จบได้เมื่อเราทอดเวลาให้กับการเห็นคุณค่าของสิ่งที่สูญเสีย นี่คือช่วงเวลาของการไว้ทุกข์ เมื่อช่วงเวลานี้จบลง เราสามารถกลับไปสู่ชีวิตปกติ ก้าวต่อไปโดยสิ่งนี้ได้รับการปลอบประโลม หมายความว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งของอารมณ์ ที่ต้องให้มีการปลดปล่อยแสดงออก ถ้าเราเก็บเอาไว้ไม่มีโอกาสแสดงออก ความโศกเศร้าอาจกลายเป็นความโกรธ ความเคียดแค้นจะไม่จบ

มีคนเปรียบความเจ็บปวดโศกเศร้าที่ไร้ทางออกว่าเหมือนสปาเก็ตตีเน่าค้างอยู่ในตู้เย็น ต้องเอาออกมาจึงจะไม่ไปรบกวนของสดอื่นๆ ให้ตู้เย็นได้ทำหน้าที่ของมัน ความเจ็บปวดจากการสูญเสีย ต้องมีเวลาและวิธีให้คลายออก นี่คือบทบาทของการไว้ทุกข์ นี่คือทฤษฎีแบบที่หนึ่ง คือการไว้ทุกข์เป็นการทอดเวลาให้อารมณ์มีทางแสดงออก จะได้ก้าวข้ามความรู้สึกสูญเสียนี้ไปสู่ชีวิตใหม่ต่อไปได้

ยังมีอีกแบบหนึ่งที่เขาคิดว่าไม่จริง คล้ายๆ การสูญเสียที่รุนแรงจริงๆ เราไม่สามารถก้าวข้ามมันไปได้ การก้าวข้ามเป็นการหลอกตัวเอง เป็นการลืมทิ้งไว้ข้างหลัง พวกนี้ไม่ได้ปฏิเสธการไว้ทุกข์ แต่มองว่าการไว้ทุกข์ ไว้อาลัยไม่ใช่เป็นการปลอบประโลมเท่านั้น แต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างตัวตนใหม่ที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต ตรงนี้กลายเป็น memory ซึ่ง memory เป็นรากแก้วของ identity การสูญเสียนี้เป็นรากฐานของอัตลักษณ์ของเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราพยายามก้าวข้าม

ถ้าเราดูจากกรณีพระราม ในภาพยนต์ซีรีส์อินเดีย สีดา-ราม การที่พระรามประกาศกลางสภาขุนนางว่าจะไม่อภิเษกใหม่หลังได้เนรเทศพระนางไปเมื่อ 12 ปีก่อนหน้านั้น โดยให้เหตุผลว่า ความทรงจำถึงนางสีดาคืออัตลักษณ์ของราม ถ้าจะให้ลบความทรงจำนี้ออกไปก็จะไม่ใช่รามอีกต่อไป ในกรณีนี้พระรามกำลังยืนยันความโศกเศร้าจากการสูญเสียนางสีดาว่าเป็นหมุดหมายแห่งอัตลักษณ์ที่ไม่ต้องการจะลืมเลือนไป

ถ้าศาสนาที่มีพระเจ้า ชีวิตจริงจะอยู่ที่โลกหน้า ในแนวทางของขงจื๊อ ความหมายของความตายเป็นอย่างไร

ขงจื๊อไม่เน้นชีวิตที่พ้นไปจากชีวิตนี้ เคยมีคนมาถามขงจื๊อว่า ควรจะไหว้ภูตผีไหม ขงจื๊อบอกว่า ก็ไหว้ได้ แต่ให้เก็บไว้ห่างๆ แล้วก็พูดต่อไปทำนองว่า คนตายเราต้องทำพิธีเซ่นไหว้ให้เขา แต่การรับใช้ ให้รับใช้คนเป็น พูดในมิติภววิทยา คือเป็นปรัชญาที่มีความสนใจน้อยที่จะถกเถียงว่ามีโลกหลังความตายหรือเปล่า มีชีวิตหลังความตายหรือเปล่า มีสวรรค์หรือเปล่า มีนรกหรือเปล่า ขงจื๊อไม่ถึงกับบอกว่าไม่มี แต่เขาก็ไม่ได้บอกว่าตรงนั้นเป็นสิ่งที่เราจัดการได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการรับใช้พ่อแม่ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่

ขงจื๊อถือว่าไม่สำคัญหรือเปล่า

ขงจื๊อไม่ได้พูดตรงๆ อย่างนั้น เขาบอกว่า ก็ไหว้เสีย แต่เก็บไว้ห่างๆ หมายความว่า ทำสิ่งที่ใกล้เราก่อน ถ้าเราดูแลพ่อแม่ดี สิ่งพวกนั้นจะตามมาเอง ถ้าเราใช้ชีวิตที่ดี ความตายที่ดีก็จะตามมา

ขณะที่ศาสนาที่สอนว่าโลกนี้มาจากพระผู้เป็นเจ้า โลกนี้เป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า การเชื่อแบบนั้นเท่ากับบอกว่าโลกนี้เป็นเพียงสิ่งสร้าง เป็นหนทาง เป็นบททดสอบ เป้าหมายที่แท้จริงอยู่ที่การกลับไปอยู่กับพระเจ้า ทั้งศาสนายิว คริสต์ อิสลามสอนแบบนี้ ในแง่นี้ความหมายของโลกนี้ไม่จบแค่โลกนี้ มันถูกนิยามโดยโลกข้างหน้า หรือโลกของพระเจ้าตลอดเวลา เป็นปฏิสัมพันธ์ต่อกันเสมอ

สำหรับขงจื๊อ แม้จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับมิติโลกหน้ามากนัก แต่ไม่ได้แปลว่าขงจื๊อไม่ได้พูดถึงสวรรค์ แต่ ‘เทียน’ ที่แปลว่าฟ้า ที่เราแปลว่าสวรรค์ ไม่ได้หมายถึงพระผู้เป็นเจ้าหรือโลกหน้า แต่หมายถึงพลังธรรมชาติที่เกินไปกว่าพลังของมนุษย์

เรื่องชะตาฟ้าลิขิต หรือสวรรค์กำหนดความตาย ขงจื๊อไม่ได้พูดถึงเรื่องพวกนี้เลยใช่ไหม

ขงจื๊อมีการพูดถึงชะตาลิขิต ‘มิ่ง’ มีเหมือนกัน แต่ไม่ได้พูดในความหมายว่าถูกพระพรหมกำหนดไว้แล้ว หรือถูกลิขิตไว้แล้ว ขงจื๊อยอมรับว่าความพยายามของมนุษย์หรือสิ่งที่มนุษย์ทำได้ก็มีขอบเขตจำกัด ที่เหลือเป็นเรื่องฟ้าลิขิต สวรรค์ลิขิต ทำนองนี้มี แต่ดิฉันอ่านว่า ไม่ได้แปลว่าพระเจ้ามาควบคุมชีวิตเราเหมือนเราเป็นตุ๊กตาหรือหุ่นยนต์ มันหมายความว่า มนุษย์เองทำอะไรได้มากมาย แต่แม้ทำได้มากก็ยังมีข้อจำกัด

ถ้าเราสนใจวิธีคิดเรื่องความตายในสังคมไทย จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ในชนชั้นสูงจะมีการผสมผสานความเชื่อต่างๆ แต่ระดับคนธรรมดาจะไม่ใช่แบบนั้น?

ดิฉันมีความรู้ไม่มากในเรื่องนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า เราเรียกพระมหากษัตริย์ว่า รามาธิบดี กรุงศรีอยุธยาชื่อ ‘ศรีรามเทพนคร’ รัชกาลที่ 1 ทรงถือว่ากรุงเทพฯ เป็นการสืบต่อความรุ่งเรืองของอยุธยา พระมหากษัตริย์ของราชวงศ์จักรีจึงชื่อ ‘รามาธิบดี’ (Rama) ถ้าเราย้อนกลับไปยังพระราม พระรามเป็นองค์อวตารของพระวิษณุ เพราะฉะนั้นสำหรับพระมหากษัตริย์ การสวรรคตก็คือการกลับไปเกษียรสมุทร แต่เราผสมคติสวรรค์ชั้นต่างๆ เข้ามาด้วย การสวรรคตคือการเสด็จกลับสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไม่ได้บอกว่าไปเกษียรสมุทร อันนี้คล้ายๆ กรอบใหญ่เป็นฮินดู

แต่สำหรับเนื้อหาข้างใน เรามีคติพุทธ เช่น ทศพิธราชธรรม เราเรียกรัชกาลที่ 5 ว่าพระพุทธเจ้าหลวง คล้ายๆ เราเอาคติพุทธมาใส่ในจริยวัตร ในวิถีปฏิบัติ เพราะฉะนั้นมันเป็นชั้นของความเชื่อที่เราเอามาใส่ด้วยกันอย่างนั้นมากกว่า ในแง่นั้นดิฉันไม่ได้คิดว่าต่างไปจากชาวบ้าน เพียงแต่สำหรับชาวบ้าน เราไม่ได้โยงกับอวตารของพระวิษณุ ชาวบ้านก็คือสิ้นบุญสิ้นกรรม อะไรก็ว่ากันไป เราก็อยู่ในโลกของภาษาของพุทธศาสนา

คนอย่างเรา วิธีคิดเรื่องความตายเราไปไหน ถ้าชนชั้นกษัตริย์คือกลับคืน คนแบบเราไปไหน

ก็ไปเกิดใหม่ ตราบใดที่ยังไม่บรรลุธรรม ยังไม่หลุดพ้นจากสังสารวัฏ จะไปเกิดเป็นแมลง จะเป็นนก เป็นอะไรก็แล้วแต่บุญกรรมที่คุณทำในชาติภพนี้

เปรียบเทียบว่านี่เป็นวิธีคิดที่ต่างจากขงจื๊อเลยใช่ไหม

ใน คัมภีร์ขงจื๊อ ไม่มีการเอ่ยถึงการไปเกิดเป็นอะไร ชีวิตจบที่การเสียชีวิตนี้ แต่ขงจื๊อสนใจว่าการใช้ชีวิตที่ผ่านมาทำให้การตายมีคุณค่าหรือเปล่า ในแง่นี้ไม่ได้พูดถึงก้าวต่อไปหลังจากชีวิตนี้

แต่ถ้าเป็นแบบเชื่อพระเจ้า ชีวิตนี้มีอนาคตเข้ามาตลอดเวลา ชาวมุสลิมละหมาดวันละห้าครั้ง ชาวคริสต์ไปร่วมพิธีมิสซาทุกวันอาทิตย์ เหมือนไปเติมพลังมาจากพระเจ้า คล้ายๆ โลกนี้ถูกนิยามด้วยความสัมพันธ์กับโลกหน้า แต่ในพุทธศาสนา ชีวิตนี้สัมพันธ์กับชาติหน้า ไม่ใช่โลกหน้าที่มีพระผู้เป็นเจ้า แต่ของขงจื๊อเรามีแต่โลกนี้ มีแต่ชาตินี้ ชีวิตนี้ พ่อแม่เรา บรรพชนเรา คืออดีต อนาคตคือลูกหลาน การมีครอบครัวเป็นจุดเน้นที่สำคัญที่สุด

ถ้ามองเรื่องสวรรค์ การสวรรคตคล้ายการไปอยู่กับพระเจ้าหรือเปล่า

การไปอยู่กับพระเจ้าในศาสนาที่เชื่อพระเจ้าองค์เดียวคือ fulfillment ของชีวิตเรา คือความเสร็จสมบูรณ์ของชีวิตเรา ดิฉันไม่ได้คิดว่าคติฮินดูเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่การไปเฝ้าพระศิวะแล้วชีวิตเราจะสมบูรณ์ คิดว่าเป็นเรื่องสถานที่มากกว่าไปเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า

หากคำว่าสวรรคตคือการกลับคืนสู่สวรรค์ มันมีนัยของความไม่เศร้าด้วยหรือเปล่า

“สำหรับท่าน ท่านไปสวรรค์ สำหรับเรากับท่าน เราสูญเสีย”

มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ถ้าบอกว่า พระมหากษัตริย์คือพระวิษณุ พระนารายณ์ ส่วนในระดับสามัญชน พอคนเฒ่าคนแก่ตาย เราก็อาจจะเชื่อว่าจะกลับมาเป็นลูกเป็นหลานในครอบครัวอีก

นี่คือกำลังพูดถึงฮินดูและพุทธพร้อมกัน ถ้าเป็นทฤษฎีอวตาร คำว่า ‘อวตาร’ มีลักษณะเฉพาะบ่งถึงศักยภาพ หน้าที่ และพันธกิจ ของพระนารายณ์พระวิษณุ ถ้าเราพูดถึงการเกิดใหม่ในทางพุทธ ก็ไม่ต้องเกี่ยวกับพระนารายณ์เลย เราเชื่อว่ามนุษย์จะเกิดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะบรรลุธรรม จะพ้นจากวัฏสงสาร คือไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายอีก

ดิฉันเข้าใจว่าชนชั้นสูงคล้ายๆ กับมีคติพราหมณ์เข้ามาผสมผสานอีกชั้นหนึ่ง ขณะที่ชาวบ้านก็เป็นเรื่องคติพุทธทั่วไป บางคนก็บอกว่าอันนี้เป็นคติความเชื่อที่พัฒนาจากการมองโลกในเชิงเกษตรกรรม เพราะต้นไม้ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นชีวิตอื่น เขาเลยเชื่อว่ามันไม่หายไปไหน ผุพังเน่าเปื่อยในดินเดี๋ยวก็งอกเงยเป็นต้นไม้หรือชีวิตอื่นได้อีก วนเวียนกันไปเรื่อยๆ

การสูญเสียขนาดใหญ่แบบนี้ต้องเป็นกษัตริย์เท่านั้น มีความต่างกับคนธรรมดาไหม

ดิฉันเชื่อว่าต่างในแง่ขอบเขต แต่ไม่อยากบอกว่าต่างในแง่ความหมาย ถ้าเราบอกว่าต่างในแง่ความหมายเท่ากับเราทำให้คนบางคนด้อยหรือไร้คุณค่า แต่ต่างในแง่ขอบเขต เพราะว่าไม่ใช่ทุกชีวิตจะเกี่ยวข้องกับทุกชีวิตมากเท่ากับการเป็นกษัตริย์ เราอาจจะเกี่ยวกับร้อยคน สองร้อยคน แต่พระมหากษัตริย์เกี่ยวกับคนทั้งประเทศ ในเชิงความสัมพันธ์กับคนหมู่มาก

ถ้ามองแบบนี้ ความตายของพระมหากษัตริย์ย่อมสำคัญกว่าเสมอ?

สำคัญกว่าในแง่ขอบเขตของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนจำนวนมาก แล้วมีระบบราชการคุณก็ต้องบอกได้ว่าใครต้องแสดงออกอย่างไรเป็นขั้นตอน นี่คือจารีต แต่ไม่น่าจะหมายความว่าชีวิตคนธรรมดาสามัญไม่มีคุณค่า ขงจื๊อสอนศาสตร์และศิลป์แห่งการบริหารบ้านเมืองให้แก่คนที่ยากจน เหยียนหุย ลูกศิษย์ที่รักที่สุด อันนี้เป็นตัวแทนที่เราพูดได้เลยว่า ลูกศิษย์ที่รักที่สุดของขงจื๊อคือลูกศิษย์ที่ยากจนที่สุด

ถ้าความรู้แบบขงจื๊อช่วยนำพาคนให้ไปอยู่ในตำแหน่งบริหารบ้านเมือง ตรงนี้ทำไมขงจื๊อถึงชื่นชมลูกศิษย์คนนี้ที่ยากจนที่สุด แปลว่าเขาเห็นความเท่าเทียมบางอย่างในแง่ศักยภาพที่จะเป็นถึงผู้บริหารบ้านเมืองได้

โอรสสวรรค์เป็นแนวคิดที่ราชวงศ์โจวพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความรับผิดชอบให้แก่กษัตริย์ โดยเรียกร้องว่าคุณต้องมีความชอบธรรมในฐานะโอรสสวรรค์ คุณถึงจะมีสิทธิ์ปกครองบ้านเมืองได้ ถ้าโอรสสวรรค์ทำตัวไม่ดี ใน คัมภีร์เมิ่งจื่อ จะเขียนชัดเลยว่า โอรสสวรรค์ที่ไม่ทำหน้าที่โอรสสวรรค์นั้นไม่ใช่โอรสสวรรค์แล้ว ขงจื๊อไม่ได้พูดชัดขนาดนั้น

อีกบริบทหนึ่งเขาใช้ในพิธีบูชาประจำปี กษัตริย์โบราณของจีน พูดในภาษาสมัยใหม่คือ ไปรายงานประจำปี ถ้าไปปักกิ่ง ที่พระราชวังต้องห้าม จะมีหอฟ้า (เทียนถาน) ตรงนั้นคือที่โอรสสวรรค์ไปประกอบพิธีบูชาและมีพิธีกรรม ถือเป็นการถวายรายงานกับสวรรค์ ว่าปีนี้ทำอะไร ข้าวยากหมากแพงหรือเปล่า มีสงครามหรือเปล่า มีการย้ายเมืองหลวงหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น

ทีนี้คำว่าโอรสสวรรค์ที่ใช้คือ คนนี้เท่านั้นที่มีสิทธิ์ประกอบพิธีกรรมนี้ แล้วคุณธรรมของคนคนนี้เป็นตัวประกันว่าเขามีความชอบธรรมที่จะปกครองดินแดน

ในแนวคิดขงจื๊อมีการลำดับชั้นความตายหรือไม่ เช่น กษัตริย์ ขุนนาง คนธรรมดา

อยากจะเล่าบันทึกอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ปรัชญาจีนที่พูดเรื่องนี้ไว้น่าสนใจมาก คือเป็นนักปรัชญารุ่นหลานของขงจื๊อ ชื่อ สวินจื่อ (Xunzi) เคยเป็นครูของเสนาบดีเอกของจิ๋นซีฮ่องเต้ เขาขียนเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ เขามองว่า การไว้ทุกข์เป็นวิธีหนึ่งที่เราแสดงความเป็นมนุษย์ที่สำคัญที่สุด เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างคน การไว้ทุกข์เป็นการแสดงจารีตแห่งการลาจากครั้งสุดท้าย ไม่มีโอกาสอีกแล้ว และการให้คุณค่าแก่ชีวิตนี้ที่จากไปขึ้นอยู่กับวิธีที่เราไว้ทุกข์

เขาให้รายละเอียดเกี่ยวกับจารีตการไว้ทุกข์ไว้ในหนังสือ สวินจื่อ ตั้งแต่กษัตริย์ ขุนนาง ประชาชนธรรมดา แล้วก็อาชญากร ดิฉันอยากยกตัวอย่างเรื่องอาชญากร สวินจื่อบอกว่า สำหรับอาชญากร ห้ามเพื่อนบ้านหรือสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ใช่คู่สมรสและลูกไว้ทุกข์ สร้างกฎไว้เลย ห้ามไว้ทุกข์ เฉพาะคู่สมรสและลูกเท่านั้นที่ไว้ทุกข์ได้ ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านห้ามไว้ทุกข์ สอง – เวลาแห่ขบวนศพ ห้ามแห่ในเวลากลางวัน ให้แห่งเวลากลางคืน ไม่ให้ใครเห็น ไม่พึงได้รับการคารวะหรือการแสดงความโศกเศร้าจากคนในชุมชน คนที่สวมชุดผ้าป่านสำหรับไว้ทุกข์ในขบวนแห่ ให้สวมได้เฉพาะลูกกับคู่สมรสเท่านั้น สาม – จำนวนชั้นของผ้าห่อศพก็กำหนดไว้ ความหนาและจำนวนชั้นของโลงศพก็เท่านี้เท่านั้น ห้ามเกิน และสุดท้ายเมื่อฝังเสร็จแล้วให้ทุกคนทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ประหนึ่งว่าให้ลืมการสูญเสียให้เร็วที่สุด

นี่คือวิธีที่จารีตสำนักหนึ่งของจีนโบราณมองว่าชุมชนมนุษย์เราจะใช้จารีตแห่งการไว้ทุกข์ควบคุมพฤติกรรมทางศีลธรรมของคนได้อย่างไร

คือเป็นบทลงโทษทางสังคม?

เป็นเช่นนั้น คือลงโทษด้วยการห้ามแม้แต่จะระลึกถึง ห้ามให้เกียรติ ห้ามจำ ห้ามแสดงความอาลัย แล้ววันรุ่งขึ้นทุกคนก็ไม่ให้พูดถึงเรื่องนี้อีกเลย

กับคำว่า โอรสสวรรค์ ความเข้าใจเดิมคิดว่าขงจื๊อมองทุกคนอยู่ในระดับเท่ากัน?

ไม่นะ ใน คัมภีร์หลุนอี่ว์  ไม่มีที่ไหนที่บอกเราได้ว่าขงจื๊อเป็นนักประชาธิปไตย ดิฉันคิดว่าขงจื๊อเชื่อว่าสังคมยังไงก็มีช่วงชั้น ไม่ใช่วรรณะแบบอินเดียที่เข้มงวด แต่ขงจื๊อไม่เคยคิดว่าขุนนางเท่ากับประชาชน อย่างน้อยมีจารีตที่กำกับ เช่น ตอนลูกศิษย์ตาย ลูกศิษย์คนนี้ยากจนมาก พ่อของลูกศิษย์มาบอกขงจื๊อว่า ขอเอารถม้าซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งของขงจื๊อ เอาไม้ของรถม้าไปทำโลงศพให้กับลูกศิษย์คนนี้ได้ไหม ขงจื๊อไม่ยอม ทั้งๆ ที่ร้องไห้คร่ำครวญอยู่เป็นนาน ขงจื๊อบอกว่า ขุนนางเดินเท้าในที่สาธารณะไม่ได้ ในแง่นั้น ขงจื๊อยอมรับว่าขุนนางยังไงก็ต้องปรากฏให้ดูสูงส่งกว่าประชาชน ในแง่นั้นไม่ได้เท่ากัน

กับการไว้ทุกข์ แบบแรกคือให้มีเวลาได้แสดงออกถึงความเศร้าเพื่อข้ามผ่านความทุกข์ไปสู่ชีวิตใหม่ กับแบบที่สองที่มองว่าการก้าวข้ามความทุกข์เป็นการหลอกตัวเอง แนวคิดการไว้ทุกข์สองแบบ อ้างอิงจากหลักอะไร

เท่าที่อ่านเป็นหนังสือที่วิเคราะห์การไว้อาลัยจากนวนิยายในศตวรรษที่ 20 แล้วเขาบอกว่าเป็นวิธีคิดแบบ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ในสำนักแรกที่พูดว่าเป็นการก้าวข้ามไปเพื่อทิ้งอดีต แต่แบบที่สองเป็นวิธีวิเคราะห์แบบ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เขาเถียงกับพวกที่คิดแบบนี้ เท่าที่ทราบคือไม่ได้เถียงกับฟรอยด์โดยตรง แต่เถียงกับวิธีที่รัฐบาลอังกฤษทำพิธีไว้อาลัยให้ทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1

หากสายหนึ่งของการไว้ทุกข์คือการพยายามก้าวข้าม ในความเป็นจริงจะไม่ไว้ทุกข์ไว้อาลัยได้จริงๆ หรือ

สายนี้ไม่ได้บอกว่าไม่ให้มีพิธีไว้อาลัย แต่บอกว่าคุณเข้าใจการไว้อาลัยว่าอย่างไร การไว้อาลัยไม่ได้แปลว่าเป็นการก้าวข้ามเพื่อลืม เขาไม่เชื่อว่าลืมได้ แต่เขาเชื่อว่าการไว้อาลัยเป็นเวลาหนึ่งที่ทำให้ความสูญเสียตกตะกอนเป็นความทรงจำ เป็นฐานของอัตลักษณ์ของเราต่อไป ไม่ใช่ทิ้งมันไว้เบื้องหลัง เหมือนเราผูกพันกับพ่อหรือแม่มากๆ การตายของพ่อหรือแม่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราลืมได้และก้าวต่อไปในชีวิต แต่การสูญเสียนั้นเองคือหมุดหมายแห่งอัตลักษณ์ของเรา ตัวตนของเราถูกนิยามโดยการจากไปของพ่อหรือแม่ คนที่ดูหนังซีรีส์อินเดีย สีดา-ราม จะเห็นได้ว่า พระรามไม่ยอมลืมการจากไปของสีดา แต่เก็บความทรงจำนั้นไว้ในหัวใจและเป็นเครื่องบ่งบอกความเป็นพระรามไปตลอดชีวิต

สายนี้อธิบายว่าอะไรคือความหมายที่แท้จริงของการไว้อาลัย

ที่อ่านมา วิธีคิดแบบนี้เป็นของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีที่รัฐบาลอังกฤษไว้อาลัยทหารที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ 1 พิธีไว้อาลัยแบบนั้นมันดูหลอกลวง ทำให้ความทุกข์ที่แท้จริงมันไม่ปรากฏ เพราะถูกบีบให้ไว้อาลัยตามแบบแผนเฉพาะ

เช่นอะไรบ้างครับ

เช่น มีพิธีทางศาสนาโบสถ์ มีป้ายหลุมศพ มีพิธีกรรม รวบรัดตัดตอนบีบให้อยู่ตรงนี้ ขาดการไตร่ตรองร่วมกันทางสังคม ความโศกเศร้ามิติอื่นมันไม่มีที่ เขาก็เถียงกันเรื่องนี้

ดิฉันคิดว่าสังคมไทยน่าจะถามคำถามนี้ การสูญเสียในหลวงรัชกาลที่ 9 ถ้าคิดแบบพวกที่คิดว่าในที่สุดแล้วจะก้าวต่อไปได้ เราควรจะจินตนาการภาพสังคมไทยยังไง กับพวกที่คิดว่าอย่าหลอกตัวเองเลยว่าจะลืมได้นั้น จะมีจินตนาการสังคมไทยในอนาคตอย่างไร

ดิฉันคิดว่ามีเรื่อง อารมณ์กับพัฒนาการทางการเมือง กล่าวคือการจากไปของรัชกาลที่ 9 คือการจากไปของพระมหากษัตริย์ที่ทรงทำงานกับระบอบประชาธิปไตยได้ และทรงผูกพันดวงใจคนไทยได้ การสูญเสียองค์อธิปัตย์องค์นี้ ถ้ามีความทรงจำนี้อยู่กับเรา เราจะสร้างอนาคตต่อไปยังไงโดยไม่มีกษัตริย์องค์นี้แล้ว

ฉะนั้นจึงเป็นข้อถกเถียงใช่ไหมว่า จะถือว่าเป็นการยื้ออดีต?

แล้วแต่จะอ่าน ถ้าเราอ่านวลีนั้นในบริบทของสกุลคิดแบบที่ 2 มันก็เป็นเรื่องดีได้ คือเราไม่หลอกตัวเองว่าเราจะลืม แต่คำถามคือความจำอันนั้นจะเป็นฐานของอัตลักษณ์แบบไหน ที่คนเก็บไปสู่อนาคต คงไม่ใช่หนีกลับเข้าไปสู่อดีต แล้วไม่ยอมเผชิญอนาคต คำถามคือความทรงจำนี้ดีมาก ทุกคนรักท่าน ผูกพันกับท่านแล้วเราจะนำพาความทรงจำนี้ไปสู่อนาคตด้วยกันอย่างไร

ความทรงจำเป็นรากแก้วของอัตลักษณ์ แล้วคำที่แสดงถึงความทรงจำถึงพระองค์แสดงถึงอะไร

คือยืนยันที่จะจำ ถ้าเราจำ เราจำอะไร จำยังไง ที่จะไปสู่อนาคตที่เราสร้างคุณค่าร่วมกัน

จริงๆ ก็ดูเหมือนก้าวข้าม แต่ก้าวแบบเอาอดีตบางอย่างติดตัวไป เช่น ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป หรือ ธ สถิตอยู่ในใจนิรันดร์ คือคำไปข้างหน้า โดยเรานำความทุกข์ความเศร้าไปกับตัวด้วย

วลีพวกนี้มันสื่อนัยของการเดินไปข้างหน้าหรือเปล่า ดิฉันไม่รู้ ดิฉันอ่านแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นการไปข้างหน้าด้วยความทรงจำอันนี้ ดิฉันรู้สึกว่าเป็นการยืนยันคุณค่าแบบกลับไปสู่อดีต และไม่ยอมทิ้งอดีต จะเอาไปในอนาคตด้วย แต่ไม่เห็นภาพของอนาคตจากอดีตนั้น

เรื่องความเศร้ากับห้ามแสดงความเศร้าในเรื่องความตายของอาชญากร ในทางกลับกัน มีปรากฏการณ์บางอย่างเกิดขึ้นช่วงหลังการสวรรคต ที่ใครไม่เศร้าจะตกเป็นเป้าโจมตี หนักกว่านั้นคือมีการทำร้ายร่างกาย

เมื่อได้ยินอย่างนั้นดิฉันเศร้าเป็นสองเท่า ฟังแล้วเหมือนการตำหนิหรือประณามคนอื่นแล้วทำให้เราดูดีขึ้น คนดีต้องเศร้ากระนั้นหรือ ใครไม่เศร้าหรือไม่แสดงความเศร้ากลายเป็นคนชั่วกระนั้นหรือ มันประหลาดมาก ถ้าบางคนไม่อยากแสดงความเศร้าขนาดนั้น สังคมไทยก็ไม่ยอม เธอต้องเศร้ากับฉันเท่านี้ด้วย และต้องเศร้าแบบนี้ด้วย ความเศร้าของเรานำสู่การบังคับเศร้าต่อผู้อื่นกระนั้นหรือ

บางสังคมก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องแสดงความเศร้า แนวคิดของบางศาสนาน่าจะเป็นแบบนี้?

ศาสนาที่มีพระเจ้าเป็นศาสนาที่คิดว่าโลกนี้เป็นของชั่วคราว ชีวิตจริงเราอยู่ที่อื่น ถ้าชีวิตจริงของเราอยู่โลกหน้า สำหรับยิว คริสต์ มุสลิม การร้องไห้คร่ำครวญสำหรับชีวิตนี้มันไม่น่าจะมากมาย เพราะนี่เป็นชีวิตที่เรามีกติกาตั้งแต่ต้นแล้วว่าชีวิตนี้คือชีวิตชั่วคราว มันเป็นบททดสอบด้วยซ้ำไป แล้วเราร้องไห้คร่ำครวญกับบททดสอบทำไม การจำกัดการแสดงความโศกเศร้าก็สมเหตุสมผลสำหรับวิธีคิดที่ถือว่าชีวิตจริงๆ เป้าหมายที่แท้จริงอยู่อีกโลกหนึ่ง

ในทางกลับกัน วิธีคิดแบบขงจื๊อไม่เน้นชีวิตหน้า ขงจื๊อมีแต่ชีวิตนี้กับบรรพชน มีอดีตนะไม่ใช่ไม่มี มีอดีต มีปัจจุบัน พวกขงจื๊อเวลาเศร้าต้องเศร้ามาก

สังคมจีนในอดีต เมื่อวัฒนธรรมแข็งตัวกลายเป็นจารีต มีนักร้องไห้อาชีพ จ้างนักร้องไห้มาคร่ำครวญในงานศพ มาร้องไห้เพื่อให้เกิดความสะเทือนใจร่วมกัน ซึ่งอันนั้นดิฉันรู้สึกว่า พูดแบบคนเรียนปรัชญาขงจื๊อ มันสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าโลกหน้าไม่ใช่เป็นชีวิตที่แท้จริงของเรา เราจะเน้นการแสดงความอาลัยอาวรณ์ต่อการจากไปอย่างเข้มข้น

เพราะฉะนั้นต้องเศร้าให้สุด?

ทำให้สุดเพราะเขาเชื่อว่าการสุดตรงนี้คือการให้ความเคารพที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงได้ ในความเป็นจริงทางสังคมโบราณ มันกลายเป็นปัญหา เป็นภาระทางค่าใช้จ่ายของคนจน เพราะว่างานศพ ถ้าคนจนจริงๆ ไม่สามารถทำให้ดีที่สุดได้ คุณคงเคยดูหนังจีนที่ลูกจะต้องโขกกำแพงบ้าง ตัดผมไปขายบ้าง เอาลูกสาวไปขายเพื่อหาเงินค่าทำศพบิดามารดา

เมื่อหลายปีก่อนดิฉันไปเมืองจีน ตกใจมาก สิ่งที่เราอ่านจากคัมภีร์ 2,500 ปีก่อนยังมีอยู่ พอดีเดินชมเมือง บนทางเท้ามีผู้ชายเอาฟูกที่นอนเก่าๆ โทรมๆ มาวางไว้ มีรูปผู้ชายอายุมากตั้งไว้ด้วย สักครู่เขามาเอาหัวโขกพื้นทางเดินขอเงินไปทำศพให้พ่อ ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวอย่างเรายังเห็นอยู่ แปลว่าแรงกดดันต่อการทำพิธีศพให้บรรพชนยังสูงมาก ซึ่งเหตุนี้ทำให้พวกขงจื๊อถูกพวกมั่วจื๊อ (หรือ ม่อจื๊อ) วิพากษณ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า ความพยายามที่จะ humanize มนุษย์ก็คือการแสดงความโศกเศร้าอย่างดีที่สุด กลายเป็นการ dehumanize คนยากจน เพราะคนจนไม่มีทรัพย์ ไม่มีอะไรทำได้สมเกียรติ ก็เลยต้องขายลูกสาวบ้าง ทำอะไรต่างๆ บ้าง

การร้องไห้หน้าศพเพื่อชวนให้คนอื่นเศร้า ในสังคมไทย บรรยากาศทางสังคมช่วงนั้นก็แผ่ความเศร้าขนาดใหญ่ไปถึงทุกคน มีคำอธิบายถึงเรื่องนี้หรือเปล่า

อันนี้ไม่แปลกเลยนะคะ ในทางกลับกัน เรื่องร่าเริงก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้ร่าเริงขนาดนั้น แต่บังเอิญเราอยู่ในบรรยากาศร่าเริง เราก็ร่าเริงตามไปด้วย  ไม่แปลก หรือบางทีคุณเคยสังเกตไหม เราไม่ได้ง่วงนอนขนาดนั้น แต่บังเอิญคนข้างๆ หาวนอน เราก็หาวตาม อันนี้ปกติ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศร้า

คือมนุษย์เรา อารมณ์ของเราไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียวจริงๆ ในฐานะปัจเจก อารมณ์ทั้งบวกและลบ รวมถึงทางกาย ความต้องการทางสรีระยังมีการเชื่อมต่อสัมพันธ์กันเลย มีคนเคยบอกว่า ผู้หญิงที่อยู่ในหอพักนักศึกษาเดียวกัน มีประจำเดือนคนละเวลา แต่อยู่ๆ ไปประจำเดือนจะมาใกล้ๆ กัน ดูเหมือนว่าเราเป็นสัตว์สังคม (social animal) อย่างถึงแก่นอย่างที่อริสโตเติลว่าจริงๆ

การแสดงออกถึงความเศร้า ซึ่งแต่ละวัฒนธรรมมีการแสดงออกที่แตกต่างกัน บ้างเชื่อว่าโลกนี้เป็นแค่โลกสมมุติ แต่โลกจริงรออยู่หลังความตาย จึงไม่จำเป็นต้องเศร้ามาก เพราะฉะนั้นการแสดงออกซึ่งความเศร้าจึงไม่ใช่สิ่งสากล แต่เป็นเรื่องปัจเจก?

เคยมีโครงการวิจัยซึ่งศึกษาการแสดงอารมณ์ทางใบหน้า เพื่อจะหาคำตอบว่าสีหน้าต่างๆ ของผู้คนนั้นเป็นเฉพาะวัฒนธรรมหรือเป็นสิ่งสากล เช่น หน้าเครียด หน้ารังเกียจ หน้าเศร้า หน้าสุข หน้าทุกข์ หน้ากังวล หน้ารื่นเริง หน้าแปลกใจ ผลการศึกษาของเขาพบว่า มีอยู่หกสีหน้า (Human Facial Expressions of Six Basic Emotions ของ Paul Ekman: happy, sad, angry, fear/worry, surprise and disgust) ที่เป็นสากล เช่น หน้ามีความสุข หน้าประหลาดใจ หน้าโกรธ… เข้าใจว่าหนึ่งในนั้นมีหน้าเศร้าด้วย แปลว่า ใบหน้าที่แสดงถึงความเศร้าน่าจะเป็นการแสดงออกที่เป็นสากล

ดิฉันคิดว่าทุกสังคมน่าจะมีอารมณ์เศร้า แต่วิธีแสดงความเศร้า และแสดงออกอย่างไร แค่ไหน ไม่น่าจะเป็นเรื่องปัจเจก แต่เป็นวัฒนธรรมกลุ่ม ถ้าลองดูข่าว CNN หรือ BBC เวลาเขาไปทำข่าวสงครามในที่ต่างๆ ผู้หญิงและผู้ชายในโลกมุสลิมและแถบลาตินอเมริกาจะแสดงอารมณ์เยอะกว่าคนเยอรมันและคนญี่ปุ่น ถ้าสังเกตดีๆ คนเยอรมัน คนญี่ปุ่น เวลาเศร้าเขาจะเก็บงำอารมณ์ไว้แล้วทำหน้าขรึม เขาไม่ร้องไห้ตีอกชกตัวง่ายๆ แต่คนในโลกอาหรับ ลาตินอเมริกา อินเดีย ผู้คนเขาก็ร้องไห้ฟูมฟายในที่สาธารณะเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเรื่องนี้น่าสนใจว่าแต่ละวัฒนธรรมแสดงอารมณ์ต่างกันมากแค่ไหนและอย่างไร แน่นนอนการพูดแบบนี้มิได้หมายความว่าทุกคนในแต่ละวัฒนธรรมแสดงออกทางอารมณ์เหมือนกันหรือเท่ากันไปหมด

การที่เขาปลดปล่อยอารมณ์ได้เต็มที่อาจถือเป็นเรื่องปกติไหม เพราะวัฒนธรรมอนุญาตให้แสดงออกเช่นนั้นได้

เคยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่งเล่าให้ฟังเวลามีคนมาเยี่ยมที่ศูนย์ เขาพบข้อสังเกตว่า คนญี่ปุ่นถ้าเขารู้สึกเห็นใจ เขาจะเก็บอารมณ์ไว้แล้วค่อยๆ เดินผ่านไป ส่วนคนไทยจะยิ้ม ทั้งๆ ที่เห็นใจ คนยิวก็อีกอย่าง คนรัสเซียก็อีกอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมากว่า วิธีที่คนแสดงความเห็นใจจะไม่เหมือนกัน ดิฉันสงสัยว่าความโศกเศร้าก็อาจจะเป็นเช่นนั้น

ในสังคมไทยอาจจะแปลกกว่านั้น ตรงที่ว่าในท่ามกลางความโศกเศร้า ถ้าใครไม่โศกเศร้าจะถูกมองได้ว่าเป็นคนแปลกแยก

พวกคุณคิดว่ายังไงล่ะ

ถ้าลำดับเหตุการณ์ช่วงปี 2559-2560 อาการเศร้าของคนไทยคล้ายจะขึ้นๆ ลงๆ ผันแปรไปตามช่วงเวลาของพระราชพิธีต่างๆ

ถ้าจะให้เศร้าเข้มข้นตลอดก็คงไม่ไหว มีสมมุติฐานอย่างหนึ่งว่าคนไทยลืมง่าย ถ้าจะจดจำอะไรได้มากๆ คือช่วงที่ผิดปกติ แต่ภาวะปกติคือลืมง่าย

“สังคมพุทธแบบไทยดูจะไม่ค่อยลงทุนกับความต่อเนื่องของกาลเวลา เพราะเราเชื่อว่าทุกสิ่งอนิจจัง ความต่อเนื่องของกาลเวลาจึงดูเหมือนขัดกับหลักอนิจจัง ทุกขัง และที่สำคัญคืออนัตตา เราไม่มีตัวตนที่คงที่ผ่านกาลเวลา เป็นไปได้ว่าเราได้พัฒนาวัฒนธรรมที่ไม่ลงทุนกับความต่อเนื่องของกาลเวลา”

เคยมีคนเล่าให้ฟังว่ามีโครงการวิจัยเรื่องหนึ่ง ทดลองว่าจะแจกเงินให้กลุ่มเด็กไทย 10 คน กับกลุ่มเด็กจีน 10 คน แต่มีเงื่อนไขว่าถ้าใครรับเงินวันนั้นเลยจะได้ 5 บาท แต่ถ้าใครรอถึงสัปดาห์ต่อไปจะได้ 10 บาท ปรากฏว่าเด็กไทยเกือบทั้งหมดเอา 5 บาท เด็กจีนเกือบทั้งหมดเอา 10 บาท อะไรคือคำอธิบาย อาจคือความเชื่อในความต่อเนื่องของกาลเวลา เด็กไทยอาจจะฉลาดก็ได้ เพราะไม่ไว้ใจ เอาเงินไปก่อนดีกว่า เผื่อว่าสัปดาห์หน้าอาจจะโดนเบี้ยว เลยเอาชัวร์ไว้ก่อน แต่เด็กจีนอาจอยากได้เงินมากกว่า กล้าได้กล้าเสียมากกว่า ยอมลงทุนกับเวลาในอนาคตมากกว่า อันนี้เป็นข้อสังเกตชวนคิดมากกว่าเป็นคำชี้ขาดเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย

พูดอย่างนี้อาจจะเหมารวมไปหน่อยก็ได้ ว่าอารยธรรมหรือความเชื่อทางศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว เชื่อในกาลเวลาที่นิจนิรันดร์ ทำให้คนยอมลงทุนกับกาลเวลาที่ต่อเนื่อง มีวินัยเรื่องเวลา ขณะที่อีกอารยธรรมหนึ่งไม่เชื่อเรื่องการลงทุนกับความต่อเนื่องของกาลเวลา แน่นอนเราต้องคิดถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น เป็นสังคมเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม เป็นต้น

เรื่องการจำและการลืม ทำไมคนที่เคยมีอารมณ์ร่วมไปกับเหตุการณ์หนึ่ง แต่พอถึงวันหนึ่งก็ลืมไปง่ายๆ

อาจต้องไปถามนักจิตวิทยา แต่คล้ายกับว่าเมื่อเกิดความเศร้ามากๆ ความเศร้านั้นถูกผลิตด้วยปัจจัยอย่างอื่นด้วยหรือเปล่าจึงทำให้รู้สึกเศร้ามากๆ พอขาขึ้นถูกทำให้สูงขนาดนั้น พอขาลงก็อาจจะรู้สึกแตกต่างกันมากไปด้วย หรืออาจเป็นธรรมชาติของอารมณ์มนุษย์ถ้าดีใจมากๆ ก็อยู่ได้ไม่นาน เช่นเดียวกับเศร้าโศกมากๆ อารมณ์นั้นก็คงอยู่ไม่นานเหมือนกัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกดิ่งลึกไปได้ขนาดนั้น อาจจะเป็นเพราะสื่อหรือป้ายต่างๆ ที่แวดล้อมเราด้วยหรือเปล่า

ดิฉันสงสัยว่าน่าจะมีส่วน ถ้าเป็นความเศร้าโดยส่วนตัวก็คงเศร้าในระดับหนึ่ง แต่ความเศร้าที่ถูกกระบวนการแผ่ขยายและแผ่กว้างไปทุกหนแห่ง ทั้งโลกโซเชียลมีเดีย ทีวี หนังสือพิมพ์ ถนนหนทางต่างๆ ก็อาจมีผลต่อความรู้สึกของคน แล้วถ้าทุกคนออกมาเศร้าร่วมกันก็เหมือนการระเบิดออกของความเศร้า ซึ่งโดยธรรมชาติของสิ่งที่ระเบิดออกก็คงสภาพได้ไม่นานมิใช่หรือ

ถ้าดูจากการผลิตคำขึ้นมา ดูเหมือนว่าจะมีนัยยะในทางนิรันดรเสียมากกว่า สิ่งนี้สามารถยืนยันได้ไหมว่าคนกลุ่มหนึ่งจะไม่ลืมแน่ๆ

ดิฉันมองกลับกันเลย เวลาที่ใครสักคนประดิษฐ์คำว่า ‘รักเธอชั่วนิจนิรันดร์’ ถ้ามองในแง่ลบก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมคนจึงต้องคิดคำคำนี้ขึ้นมา ทำไมคนถึงคิดว่าจะรักนิรันดร์ได้ แม้กระทั่งพระรามกับสีดายังมีเรื่องกันได้

“มองในแง่ลบ การที่คนเราบอกว่าจะรักนิรันดร์ แปลว่าเรารู้อยู่ก่อนแล้วว่าเราไม่เข้มแข็งขนาดนั้นหรอก เรากำลังบอกกับตัวเองต่างหากว่าให้ซื่อสัตย์กับความรักนี้ เพราะรู้อยู่แล้วว่ารักนิรันดร์ไม่มีทางเป็นจริงแน่ จึงต้องหาคำพูดมาทดแทนสิ่งที่เรารู้ตัวว่าเป็นจุดอ่อนของความรู้สึก”

มองในแง่บวก เวลาที่คนพูดแบบนั้น มันเป็นการยืนยันความจริงของประสบการณ์ ณ เวลานี้ เพราะความจริงของเวลานี้ย่อมถูกกำกับด้วยเวลาในอนาคตเสมอ อนาคตจะลบเวลานี้กลายเป็นอีกเวลาหนึ่ง

มองในแง่บวกก็คือ ฉันต้องการประกาศรักนิรันดร์นี้ให้โลกรู้ว่ามันยิ่งใหญ่และสำคัญสำหรับฉันมากเสียจนกระทั่งฉันยินดีจะบอกว่า เวลานี้จะดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เป็นการให้คำมั่นต่อความรัก เป็นการประกาศว่าฉันรักเธอมาก และฉันเชื่อว่าต่อไปถ้าฉันเจอสถานการณ์ที่เลวร้ายหรือเปลี่ยนแปลง ฉันก็ยังรักเธอเกินกว่าสถานการณ์เหล่านั้นแน่นอน

ดิฉันอ่านในบริบทของการผลิตคำ ‘รักนิรันดร์’ ว่าเป็นการยืนยันคุณค่า เป็นการปฏิเสธว่าจะไม่ลืม แต่ถ้ามองในแง่ลบก็คือ ลึกๆ แล้วฉันรู้ว่าฉันหวั่นไหว

การประกาศความรักให้คนอื่นรู้ อย่างเช่นสติ๊กเกอร์ รอยสัก แล้วถ้าวันหนึ่งความเศร้าเริ่มลืมเลือนไปจะเป็นอย่างไร

ก็เหมือนกับวันนี้มีคนไปสักว่าฉันรักเธอ เป็นรูปหัวใจ มีหน้าเธอกับหน้าฉันอยู่คู่กัน แต่วันหน้าไม่รู้อีกกี่เดือนกี่ปีก็ไปลบออก

เวลาคนพูดถึงคำว่ารักนิรันดร์ มันเป็นเหมือนความรู้สึกที่เข้มข้นมากๆ ลึกซึ้งมากๆ แต่เรารู้ว่าความรู้สึกนั้นเดี๋ยวมันจะค่อยๆ จางหายไป เราจึงอยากจะประทับความรู้สึกนั้นไว้ที่อะไรสักอย่างเพื่อให้คงอยู่ต่อ ถ้อยคำก็เป็นเรื่องหนึ่ง การสร้างทัชมาฮาลก็เป็นวิธีหนึ่งของกษัตริย์องค์หนึ่งที่อยากจะแสดงออกว่ารักผู้หญิงคนนั้นมาก จนต้องทำอะไรบางอย่างให้มันคงอยู่ กลายเป็นทัชมาฮาล

ตามราวสะพานในเมืองนอก เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส จะมีคู่รักเอาแม่กุญแจไปล็อคไว้ แล้วโยนลูกกุญแจทิ้งแม่น้ำ เหมือนกับว่าล็อคนี้รักกันไม่มีวันถอด คือมีร้อยแปดวิธีที่มนุษย์อยากจะบันทึกความรู้สึกนี้เพราะมันมีคุณค่า

การที่เราจะบอกรัก หรือว่าจะจดจำ ทำไมจึงมีเงื่อนเวลามาผูกตลอด

เพราะเรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่จีรังยั่งยืน อารมณ์เราเองก็เปลี่ยนวันละเป็นร้อยครั้ง ถ้าเราต้องการจะให้คุณค่าแก่อารมณ์ เราก็ต้องเอาเวลามาเป็นตัวสัญญาว่าฉันจะอยู่กับอารมณ์นี้ไปชั่วนิรันดร์ ฉันจะรักเธอตลอดชีวิต ฉันจะรักเธอชั่วฟ้าดินสลาย ฉันจะรักเธอชั่วนิรันดร์

เราประดิษฐ์คำขึ้นมาเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจในเวลาอันสั้นและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา?

ถ้ามองที่ ตัวตน หรือ self ของมนุษย์ มีวิธีอธิบายหลายอย่างในทางปรัชญา ถ้าคิดแบบเอกเทวนิยมทั่วไป self ของเรามันมีแก่นสารที่ไม่เปลี่ยนแปลง ต่อให้ตายวิญญาณเราก็ยังอยู่ ที่ไปหาพระเจ้าคือคนเดิม คือสิ่งที่เป็นแก่นแกนของเรา คือวิญญาณ นี่คือ soul คือ self ที่ไม่เปลี่ยน

ในคติฮินดูคือ อาตมัน คือมีตัวตนที่แท้จริงอยู่ เวลาเราตายเหมือนเปลี่ยนเสื้อ ข้างในไม่เคยเปลี่ยน นี่คือ self แบบหนึ่ง self แบบนี้เวลารักก็รักข้ามภพข้ามชีวิต เพราะเราเชื่อว่ามี self เดินทางผ่านเวลาที่ไม่จบสิ้นและไม่เปลี่ยน

ทีนี้มี self แบบพุทธ ที่บอกว่า ไม่มี self เรามีแต่องค์ประกอบขันธ์ 5 และองค์ประกอบก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ที่เราเรียกว่าเป็นตัวเรานั้นเป็นเพียงเวลาชั่วคราว ที่ขันธ์ทั้ง 5 อยู้ด้วยกัน ถ้าเราบอกว่า ดับขันธ์ หรือขันธ์แตกสลาย ไม่อยู่ด้วยกันแล้วก็จบ เพราะฉะนั้นพวกที่เชื่อแบบพุทธ หรือ non-self เวลาจะมีพันธะ (commitment) เรื่องความรักหรือความทรงจำ มันต้องมีเวลามากำกับเยอะมาก เพราะเป็นการพูดจาก self ที่ไม่เชื่อว่าจะมีตัวเองในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับ self อีกแบบหนึ่งของสายนักปรัชญาฝรั่งเศส เขาไม่คิดทั้งสองแบบนี้ เขาคิดว่า self มี แต่เป็น self ที่เขาเรียกว่า narrative self หมายความว่ามีตัวตนที่ประกอบสร้างเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเรา self แบบนี้ทั้งก้าวข้ามผ่านเวลา เป็น non-substantialist คือ ไม่ใช่แบบแรกที่มีตัวตนที่ไม่เปลี่ยน แต่ก็ไม่ใช่แบบที่สอง แต่มี narrative คือมีเรื่องเล่า ทีนี้ถ้าเป็นแบบนี้ วิธีพูดถึงความรักก็อาจจะผนวกเข้ามาในเรื่องความหมายต่อชีวิต อัตลักษณ์ของ narrative อะไรก็ว่ากันไป

ในสังคมที่ให้ความสำคัญและลงทุนกับเวลาเป็นอย่างไร

ฝรั่งเรียก linear time คือแน่ชัดว่าเวลาจะเดินจาก A มา B จากอดีต สู่ปัจจุบัน สู่อนาคต มีจุดตั้งต้นและจุดจบ พระเจ้าสร้างโลกในคัมภีร์พันธสัญญาเก่าดำเนินมาสู่พันธสัญญาใหม่ จากโรมัน โลกยุคกลาง ยุโรปสมัยใหม่ แล้วพระเยซูจะกลับมาใหม่ จะมีวันสิ้นโลก คนดีทุกคนไปสวรรค์หมด คนที่คิดในกรอบเวลาแบบนี้จะสร้างอารยธรรมที่ต่อเนื่อง เพราะเราลงทุนกับ self ของเราที่ต่อไปจะต้องไปพบพระเจ้าบนสวรรค์ ขึ้นสวรรค์ก็ตลอดกาล ตกนรกก็ตลอดกาล แน่นอนเรายังไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยอื่นอันสลับซับซ้อนที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ในพุทธศาสนาไม่เชื่อว่ามีอะไรที่เป็นนิรันดร์ คงสภาพโดยไม่เปลี่ยนแปลง ต่อให้เราเลวแค่ไหน เราตกนรก เราชดใช้กรรมเสร็จก็ไปเกิดเป็นเทวดาได้ ไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะเรามีโอกาสใหม่เสมอ

คือมองว่าเวลาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยในพุทธศาสนาหรือเปล่า

“ไม่ใช่เวลาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย แต่เวลาเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัด สมมุติคุณมีแก้ว 100,000 ใบ แก้วคุณแตกไปใบหนึ่ง คุณจะนั่งร้องห่มร้องไห้ฟูมฟายไปทำไม คุณยังมีแก้วเหลืออีกมากมาย แต่ถ้าคุณมีแก้วใบเดียวแล้วแก้วคุณแตก นี่หมดเลยนะ อันนี้เป็นทฤษฎีของดิฉันมานานแล้วว่า คนที่อยู่ในวิธีคิดแบบเอกเทวนิยมมักจะเคร่งครัดศีลธรรม เพราะเขามีชีวิตเดียว ถ้าเจ๊งก็ตกนรกนิรันดร์เลย”

การไว้ทุกข์หรือความโศกเศร้าของคนไทยมันสัมพันธ์กับเส้นเวลาที่วนไปมาด้วยหรือเปล่า

มีบางคนอธิบายว่า การคิดถึงเวลาถ้าเขียนเป็นเส้นจะมีสามแบบ คือแบบเอกเทวนิยม คือ linear เป็นเส้นตรง เดินไปเรื่อยๆ ประวัติศาสตร์ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ อีกพวกหนึ่งคือ cyclic เดินเป็นวงกลมกลับมาที่เก่า คือแบบสังสารวัฏในพุทธศาสนา เกิดแล้วเกิดอีก ถ้าไม่บรรลุนิพพานก็ไม่หลุดพ้น อีกพวกหนึ่งคือพวกจีน เขาบอกเป็น spiral เป็นแบบสปริง คือวนเหมือนกัน แต่วนแล้วไปต่อ วัฒนธรรมของอาณาจักรจีนก็จะมีราชวงศ์นั้นราชวงศ์นี้ รุ่งเรืองแล้วก็เสื่อมล่มสลาย แล้วก็เกิดราชวงศ์ใหม่อีก

แต่ถ้าในโลกตะวันตก ถ้าดิฉันอธิบายจะอธิบายตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 สมัยหลังจาก modernity พูดถึงความก้าวหน้า การพัฒนาประเทศ ทำไมเราใช้คำนี้ตลอดเวลา ‘พัฒนาประเทศ’ ‘ความก้าวหน้า’ ทั้งหมดนี้เป็นภาษาของโลกหลังศตวรรษที่ 17 คือเราจะไปข้างหน้า ใครถอยหลังแปลว่าล้าหลัง ไม่อารยะ ทั้งหมดนี้มันอยู่ในวาทกรรมของการไปข้างหน้า

ในเรื่องคำ ความทรงจำ การไว้อาลัย การสร้างอัตลักษณ์ด้วยตัวตนกับเวลา?

มันเกี่ยวกันหมด เพราะตัวตน อัตลักษณ์ และเวลา สามอย่างนี้คุณพูดยังไงคุณก็ต้องเจออีกสองอย่างที่เหลือ อัตลักษณ์คือการคงที่ผ่านกาลเวลา อัตลักษณ์ของใคร ก็คือตัวมนุษย์ เราไม่ได้พูดถึงอัตลักษณ์ของต้นไม้ สามคำนี้ยังไงมันไปด้วยกันอยู่แล้ว

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เราจะเอามาเป็นบทเรียนเพื่อก้าวข้ามไปสู่อนาคตอย่างไร

เนื้อหาของสิ่งนั้นคืออะไร เรายังไม่ควรตัดสิน แต่สิ่งที่ดิฉันอยากจะชี้คือ ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นนี้น่าจะมีสัญญาณที่ชี้ไปสู่การสร้างกระบวนการบางอย่างที่จะทำให้คนเห็นคุณค่าร่วมกันในเรื่องนี้ได้ ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ คือมีเวที มีสำนึกที่จะสร้างกระบวนการเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่า เนื้อหาของคุณค่านั้นคืออะไร

ตอนนี้มีสัญญาณอะไรบ้างที่พอจะบ่งชี้ได้ว่า เราน่าจะเดินต่อไปข้างหน้าร่วมกันได้

ยังไม่เห็นนะ ถ้าเมื่อใดสังคมไทยตั้งคำถามนี้ขึ้นมา ดิฉันคิดว่านั่นคือสัญญาณที่จะเห็นทางออก ไม่ใช่ roadmap ทางการเมือง แต่ถ้าเราถามคำถามนี้ร่วมกันได้ ว่าเราจะสร้างกระบวนการอะไรที่จะพัฒนาคุณค่าร่วมกันต่อไปได้ เราก็จะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

การจะก้าวข้ามได้ ควรต้องมองให้เห็นฝั่งก่อนไหมจึงจะรู้ว่าก้าวไปไหน

การก้าวข้ามอาจเริ่มต้นที่การหาวิธีที่ทำให้อยากเดินทางไปด้วยกัน อยากหาหนทางไปด้วยกัน ณ เวลานี้เราอาจยังไม่เห็นฝั่งหรือเป้าหมาย แต่ตอนนี้มีเหตุการณ์ประหลาดคือมีการบังคับเป้าหมายทั้งๆ ที่คนจำนวนมากยังไม่ยอมเดินทางไปด้วยกัน ตอนนี้เราไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เราเคยเดินตามไปด้วยกัน

การสร้างอนุสาวรีย์ (พระบรมราชานุสาวรีย์) จะเป็นการทดแทนคุณค่าร่วมได้ไหม

อนุสาวรีย์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจว่าจะสร้างยังไง เพื่ออะไร ต้องการความทรงจำแบบไหน และจะทำให้เกิดความรู้สึกร่วมอย่างไรที่จะแสวงหาคุณค่าร่วมกันได้ต่อไป

สิ่งสำคัญคือไม่ใช่แค่สร้างอนุสาวรีย์ แต่เราจะส่งสารอะไรออกมา อย่างอนุสาวรีย์เจ้าหญิงไดอานา เขาเลือกที่จะไม่ทำรูปปั้นไดอานาเลย แต่ไดอานาเป็นน้ำที่ไหลลงมา เพราะเขาต้องการให้เกิดความรู้สึกนุ่มนวลอ่อนโยน ไม่ใช่อนุสาวรีย์แบบรูปปั้นนักรบ

หรือสุดท้ายแล้วบางครั้งอนุสาวรีย์ก็สูญเสียความหมายจริงๆ จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทน?

ในประเทศไทย ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมาย

การผลิตคำด้วยการทำให้ในหลวงเป็นเหตุผลของการทำความดี เป็นเรื่องดูสมเหตุสมผล เช่น ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9 เพราะท่านเป็นตัวแทนของความดี

ถ้ามองในแง่หนึ่งก็น่าประหวั่นพรั่นพรึง เพราะเราจะหาเหตุผลอื่นในการทำความดีไม่ได้ ไม่ใช่หมายความว่าท่านไม่ควรเป็นเหตุผลของการทำความดี ไม่ใช่ แต่ถ้าเหตุผลการทำความดีถูกจำกัดไว้ที่องค์อธิปัตย์เพียงอย่างเดียว อาจเป็นอันตรายต่อจินตนาการทางศีลธรรมของพลเมืองเป็นอันมาก

สิ่งที่น่าประหวั่นพรั่งพรึงอีกอย่างคือ ณ ตอนนี้ดิฉันยังมองไม่เห็นว่าการสูญเสียครั้งนี้จะเป็นฐานของอัตลักษณ์บางอย่างที่เราจะหาคุณค่าร่วมกันต่อไปได้อย่างไร

อีกส่วนหนึ่งก็มีการผลิตคำประเภท “แปรความเศร้าเป็นพลัง” คือการยืนยันที่จะก้าวข้ามความเศร้าเพื่อจะไปข้างหน้าหรือเปล่า

ใช่ แต่คำถามคือ เราจะนำมาปรับใช้ในบริบทของการเมือง และพลังที่ว่านั้นเป็นพลังแบบไหน จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ถ้าข้างหน้าคือเหว คือเราไม่เคยคิดว่าจะก้าวไปโดยการแสวงหาอะไรบางอย่างร่วมกัน เราไม่เคยคิดในมุมนั้น เพราะเรามักจะมีคำตอบในใจไว้อยู่แล้ว

นี่คือเรื่องท้าทายของการมองหาอนาคต?

ใช่ และนี่คือหมุดหมายสำคัญ ประสบการณ์ที่เรารักท่านมา 70-80 ปี ประสบการณ์ที่เราเห็นพลเมืองรักขนาดนี้ อุทิศ ภักดี จริงใจ มีจิตอาสามากมายมหาศาลเพื่อท่าน เราจะบำรุงเลี้ยงอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันต่อไปได้ ตรงนี้ดิฉันยังมองไม่เห็นว่าจะมีคนเชื่อมโยงจากประสบการณ์ที่ดีจากการสูญเสียไปสู่การตั้งหลักใหม่ในอนาคตได้อย่างไร ก็ขอให้ช่วยกันใคร่ครวญต่อไป

สนับสนุนโดย

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า