เงินปากผี ฤกษ์ดาวโจร กับความหมายหลายนัยของลอยกระทง

‘ลอยกระทง’ ในความเข้าใจของแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว 

ทุกวันนี้ความหมายของลอยกระทงมีสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการบูชาพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที บ้างบูชาพระแม่คงคา ขอขมาพระแม่คงคา บูชาพระอุปคุต บูชาพญานาค สะเดาะเคราะห์ ลอยเคราะห์ลอยโศก หรือแม้แต่ผูกโยงเข้ากับเรื่องความรัก ชีวิตคู่ บางคู่ถึงขนาดว่าต้องเช็กลิสต์เสียก่อนว่าควรไปลอยที่ไหน ไม่ควรไปลอยที่ไหน เพราะขืนไปลอยที่นั่นที่นี่ อาจเป็นลางร้ายทำให้แยกทางกันก็เป็นได้ บ้างเตือนแบบจริงจังว่าแฟนกันไม่ควรลอยกระทงเดียวกัน ให้ต่างคนต่างลอย หรือบางคนก็ออกไปลอย สนุกๆ อินเทรนด์

ลอยกระทงจึงเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่ความหมายไม่เคยนิ่ง และการที่ความหมายของมันเลื่อนไหลเหมือนกระทงและสายน้ำเช่นนี้ ทำให้ลอยกระทงเป็นประเพณี/พิธีกรรมหนึ่งที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดในสังคมสมัยใหม่ เห็นทีว่าจะเป็นรองก็แต่สงกรานต์อย่างเดียว และเป็นงานหนึ่งที่วัยรุ่นไทยชื่นชอบกันมาก เพราะสามารถยึดโยงเอาความหมายอะไรก็ได้ของใครของมัน ไม่ว่าจะเป็นความหมายแบบทางโลกย์หรือทางศาสนาก็ว่ากันไป จึงทำให้ลอยกระทงอันเป็นประเพณีอย่างเก่า อยู่รอดปลอดภัยในโลกสมัยใหม่ได้ เพราะความหมายที่เลื่อนไหลดึงให้คนหลากหลายความเชื่อเข้าร่วมได้อย่างเสรีและคับคั่ง

แม้ว่าจะเป็นนักขัตฤกษ์อย่างเก่าก่อนที่อยู่รอดในสังคมสมัยใหม่ แต่ก็พบว่าลอยกระทงในสังคมสมัยใหม่กลับกลายเป็นปัญหาน่าหนักใจของหลายภาคส่วนอยู่ไม่น้อย เพราะทุกวันนี้วาทกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมมาแรง ทำให้กระทงถูกมองว่าเป็นขยะกองโต สร้างมลพิษในแต่ละปีมากมายมหาศาล มีขยะกระทงทั่วประเทศ ถึงขนาดว่าขอร้องให้เปลี่ยนพื้นที่ไปลอยในโชเซียลมีเดียกันก็มี 

ทำไมลอยกระทงของคนแต่ก่อนโน้นเริ่มมีปัญหาที่คนสมัยนี้บอกว่า เป็นประเพณีที่เจตนากับปฏิบัติอาจสวนทางกัน?

หลักฐานลายลักษณ์ชี้ว่าอิทธิพลตำนานนางนพมาศ ซึ่งแต่งในสมัยต้นกรุงเทพฯ ทำให้เทรนด์การทำกระทงเปลี่ยนมาเป็นกระทงใบตองรูปดอกบัว ในกระทงใส่ธูป เทียน ดอกไม้ และใส่เหรียญเงินในกระทง ถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ สิ่งที่น่าสนใจคือ การใส่เหรียญเงินลงในกระทง ซึ่งเป็นร่องรอยที่จะทำให้เรามองเห็นอีกความหมายของการลอยกระทงก่อนหน้านี้ 

ถ้าลองไปดูกระทงของล้านนาอย่างที่เห็นได้ชัดมาก คือ ที่ลำปาง มีล่องสะเปา เขาเอากาบกล้วยมาทำเป็นรูปเรือสำเภา ถ้าแบบดั้งเดิมเลยนั้น นอกจากดอกไม้ธูปเทียนแล้ว เขาจะใส่ข้าวปลาอาหารเครื่องเซ่นลงไปด้วย หรือเย็บกระทงใบตองสี่มุม ใส่หมากพลูเครื่องเซ่น แล้วเอาไปวางบนแพที่ทำจากต้นกล้วยอีกที เป็นแพกระทงเซ่นและใส่เงินเหรียญไปด้วย เงินเหรียญที่ใส่ไปนี่ไม่ต้องมาก เป็นเศษสตางค์ เช่น เหรียญ 50 สตางค์ หรือเหรียญบาท แต่ปัจจุบันนี้พบว่าใส่ธนบัตรกันก็มี ที่เป็นอย่างนี้ว่ากันว่าเป็นพิธีเซ่นสรวงบูชาผีบรรพบุรุษและการติดต่อสื่อสารกับโลกหน้า 

ตามความเชื่อโบราณ แม่น้ำเป็นสถานที่ติดต่อระหว่างโลกนี้และปรโลก เชื่อกันมาว่าบรรพบุรุษเดินทางไปปรโลกทางน้ำ เพราะทุกวันนี้เราก็ยังมีการลอยอังคารที่แม่น้ำหรือทะเลหรือแหล่งน้ำ สายน้ำจึงเป็นเส้นทางถึงปรโลกได้

เพราะเราไม่รู้จะติดต่อบรรพบุรุษทางไหนได้ จึงใช้การลอยไปทางน้ำ และการสัญจรทางน้ำก็เป็นเส้นทางสัญจรหลักของผู้คนในสมัยโบราณเสียด้วย อย่าว่าแต่คนที่ตายไปแล้วเลย มีเรื่องเล่าว่าลอยกระทงเป็นไปเพื่อระลึกถึงญาติพี่น้องที่พลัดพรากจากกันในสมัยโบราณ ในตำนานเมืองลำพูน ฉบับใบลานผูกของวัดบ้านโฮ่งหลวง เล่าถึงการล่องสะเปาสมัยหริภุญไชยไว้ว่า ราวพุทธศตวรรษที่ 14 อหิวาตกโรคระบาดอย่างหนักในเมือง ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงพากันอพยพครอบครัวออกจากหริภุญไชยไปอยู่เมืองหงสาวดี (ในพม่าปัจจุบัน) เป็นเวลาหลายปี (เรื่องเล่าว่าอพยพไปเมืองหงสาวดีนี้ พบในตำนานเมืองเหนือหลายฉบับ มีเส้นทางโบราณจากหริภุญไชยไปออกทะเลทางนั้น) เมื่อทราบข่าวว่าอหิวาตกโรคสงบลงแล้วจึงพากันเดินทางกลับคืนสู่หริภุญไชย แต่หลายคนไม่ได้กลับมา เนื่องจากมีครอบครัวใหม่ บางคนก็ไม่สะดวก พวกที่กลับมายังหริภุญไชยเกิดคิดถึงญาติพี่น้องที่ยังตกค้างอยู่ในเมืองหงสาวดี จึงทำกระทงเรือรูปสำเภาหรือสะเปา พร้อมทั้งใส่เครื่องอุปโภคบริโภคลงในสะเปา ลอยลงแม่น้ำปิง แม่น้ำกวง เป็นนัยว่าระลึกถึงญาติพี่น้องทางโน้น

ร่องรอยที่น่าสนใจคือ ข้าวของที่ใส่ในกระทงและเครื่องเซ่นต่างๆ นัยว่าเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษที่อยู่แสนไกลที่คิดถึงหรือเดินทางไปปรโลกแล้ว อีกนัยหนึ่งก็อุทิศให้กับตัวเองนี่แหละ สำหรับเอาไว้ใช้สอยในภพหน้าโน้น แม้ว่าลอยกระทงแบบสมัยใหม่นี้จะไม่ใส่เครื่องเซ่นอะไรพวกนี้แล้ว แต่ก็ยังมีร่องรอยให้เห็นหลงเหลืออยู่จากแนวคิดเรื่องเดินทางไปปรโลกคือ เงินเหรียญหรือเศษสตางค์ มีรายงานข่าวช่วงเทศกาลลอยกระทงพบว่ามีแก๊งเก็บเงินในกระทง แก๊งคว่ำกระทงเอาเงินในกระทงออกถมเถ ถึงขนาดเคยมีข่าวคราวว่าพวกนี้ผิดไหมที่คว่ำกระทงชาวบ้านเพื่อเอาทรัพย์ในกระทง ลองค้นข่าวเก่าๆ ดูได้เลย

‘เงินปากผี’ นัยยะของเศษเหรียญที่ใส่ในกระทง 

หลายคนอาจจะบอกว่าก็เป็นการทำบุญทำทานตามความเชื่อ แต่มันก็น่าคิดว่า ผู้หลักผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่มักบอกว่าไม่จำเป็นต้องใส่เยอะ ใส่แค่บาทเดียวก็พอแล้ว ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า มันยังคงแนวคิดตามความเชื่อหรือเรื่องเล่าอย่างเก่าคือ ที่เชื่อว่าแม่น้ำเป็นทางสัญจรถึงปรโลกโน้น และกระทงหรือสะเปาที่ทำเป็นรูปอย่างเรือบ้าง แพบ้าง แต่ลอยเหมือนๆ กัน นี่คือ ‘พาหนะ’ หรือเครื่องมือที่จะพาสัญจรสู่โลกหน้า มันทำให้นึกถึงคอนเซปต์เรื่อง ‘เงินปากผี’

เงินปากผี เป็นคำที่หลายคนรู้จักดี มันเป็นเงินที่ใส่ไว้ในปากคนตาย ความเชื่อเรื่องเงินปากผีมีประวัติความเป็นมานับพันๆ ปี ตั้งแต่สมัยกรีกโรมัน มีความเชื่อว่าผู้ที่เสียชีวิตแล้วจะต้องถูกพาตัวไปพิพากษาที่ยมโลก มีชายแก่แจวเรือจ้างนามว่า แครอน (Charon) เป็นคนแจวเรือพาคนตายข้ามฝั่งไปส่งที่หน้าประตูนรก ทุกคนต้องจ่ายค่าจ้างแก่เขา ซึ่งค่าจ้างในการเดินทางข้ามฝั่งนี้เรียกกันว่า ‘เหรียญของแครอน’ คนตายที่สามารถนั่งเรือของแครอนได้ จะต้องเป็นผู้ที่ถูกฝังหรือเผาศพอย่างเป็นพิธีการ และที่สำคัญต้องมีเงินปากผีเพื่อจ่ายค่าเดินทาง ความเชื่อนี้ได้แพร่กระจายไปไกลทั่วยุโรป จึงกลายเป็นที่มาของประเพณีการนำเหรียญทองแดง 1 เพนนี วางไว้ที่ตาของคนตาย 

ในไทยเองก็มีความเชื่อนี้ สมัยโบราณมักนำเงินพดด้วง เหรียญบาท หรือเหรียญสลึง มาใส่ไว้ในปากศพ เจตนาให้ผู้ล่วงลับเอาไว้ใช้เป็นค่าเดินทางไปปรโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ว่ากันว่าการใส่เงินปากผีเพื่อให้เป็นค่าจ้างแก่สัปเหร่อ ส่วนทางฝั่งฮินดูก็มีความเชื่อในเรื่องการนำเงินและข้าวสารใส่ลงไปในปากของคนตายเช่นกัน เพื่อให้คนตายเอาไปใช้ในโลกหน้า 

ในพม่าเรียกเงินปากผีว่า ‘กะโด๊ะคะ’ แปลว่า ค่าข้ามฟาก ทางฝั่งชาวเผ่าเจงเพาะซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในพม่าจะจัดการแต่งตัวศพให้เรียบร้อย แล้วนำเนื้อหมู เหล้า ข้าวเซ่น พร้อมด้วยเงิน ใส่เข้าไปในปากของคนตาย หากผู้ตายเป็นหัวหน้าเผ่าอันเป็นที่เคารพนับถือด้วยแล้ว จะนำหินแก้วใส่ไว้ใต้รักแร้ข้างละเม็ด แล้วจึงนำศพใส่โลง นอกจากนี้ยังเห็นได้ในพิธีศพของชาวจีนก็มีการนำเงินอีแป๊ะใส่ไว้ในปากของศพด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นไปตามความหมายว่าลอยกระทงถึงโลกหน้า เศษเงินเหรียญก็จะเหมือนกับเงินปากผีที่ใช้เป็นค่าสัญจรทางน้ำที่บรรพบุรุษล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

บูชา ‘ฤกษ์ดาวโจร’ ลอยกระทงขึ้นฟ้า

พิธีกรรมลอยกระทงไม่ใช่มีแค่ลอยลงน้ำ แต่ยังมีแบบลอยขึ้นฟ้าด้วย อย่างยี่เป็งของล้านนา และในพม่า ไทใหญ่ ที่เขาลอยว่าวควัน ลอยโคมกันเต็มฟ้า จนปัจจุบันนี้กลายเป็นมลภาวะทางอากาศรบกวนเส้นทางบินของสายการบินหลายสาย จนต้องประกาศหลีกเลี่ยงการบินในค่ำคืนลอยกระทงกัน 

ในนิราศธารโศกของเจ้าฟ้ากุ้ง (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐสุริยวงศ์) มีท่อนที่ว่า ‘เดือนสิบสองถ่องแถวโคม แสงสว่างโพยมโสมนัสสา เรืองรุ่งกรุงอยุธยา วันทาแล้วแก้วไป่เห็น’ 

นัยหนึ่งของการลอยโคม เพื่อเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ ในขณะที่ชาวล้านนาเชื่อว่า คนที่เกิดปีจอจะต้องหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุแก้วจุฬามณี ซึ่งเป็นที่บรรจุมวยผมของเจ้าชายสิทธัตถะที่ตัดออกก่อนดำรงเพศนักบวช แต่เจดีย์นี้อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ยากลำบากมากที่จะดั้นด้นไปถึงได้ ชาวล้านนาที่เกิดในปีจอ จึงใช้โคมลอยเป็นเครื่องบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี โดยปล่อยไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

ในวัฒนธรรมไทใหญ่ก็ปล่อยโคมกันคึกคัก มีการประกวดประชันแข่งขันใหญ่โตโอ่อ่า ทางพม่าก็จุดผางประทีปทั่วเมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาควบคู่กับสภาพลมฟ้าอากาศก็เหมาะสมดี เพราะว่าลมหนาวเริ่มมาเยือน การออกมาเล่นไฟ บูชาไฟ ก็เข้ากับอากาศในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปตอนบนอย่างล้านนา พม่า ไทใหญ่ หรืออย่างในจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ก็พรรณนาถึงบรรยากาศนี้ว่า เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เทียรย่อมคนเสียดกันเข้ามาดู ท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก’

ในขณะที่ทางฝั่งพม่า ไทใหญ่ มีเทศกาลโบราณอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้คนออกมาจุดไฟกันในค่ำคืนเดือนยี่ของล้านนาหรือเดือนสิบสอง เขาเรียกกันว่า ‘งานตื่นก่อนนกกาออกหากิน’ มันคือเทศกาลงานขโมยข้าวของเครื่องใช้ วัว ควาย แล้วเอามารวมไว้ที่ลานหมู่บ้านก่อนฟ้าสว่าง โดยที่เจ้าของบ้านจับไม่ได้ แต่รุ่งเช้าเจ้าของบ้านก็มาเลือกเอาของของตัวเองกลับไป แต่มันก็มีแบบขโมยจริงๆ ก็มี ไม่ใช่ขโมยเล่นๆ เป็นเทศกาล ว่ากันว่านั่นทำให้คนต้องออกมาจุดผางประทีปกันให้สว่างในช่วงนี้ เพื่อป้องกันขโมยและอิทธิพลของดาวโจรที่จะส่งผลดีร้ายหรือเป็นการแก้เคล็ด จนกลายเป็นประเพณีขึ้นมา

ถ้าเงยหน้ามองท้องฟ้าเดือนนี้ นอกจากโคมลอยที่สว่างไสวจนรบกวนการบินสมัยใหม่แล้ว เราจะพบว่าในช่วงของหัวค่ำของฤดูหนาว จะมีกลุ่มดาวสว่างอยู่ทางทิศตะวันออก คือ กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวสุนัขใหญ่ และกลุ่มดาวสุนัขเล็ก หากลากเส้นเชื่อม ดาวบีเทลจุส (Betelgeuse) ดาวสว่างสีแดงตรงหัวไหล่ของนายพรานไปยัง ดาวซิริอุส (Sirius) ดาวฤกษ์สว่างที่สุดสีขาว ตรงหัวสุนัขใหญ่ และดาวโปรซีออน (Procyon) ดาวสว่างสีขาวตรงหัวสุนัขเล็ก จะได้รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า เรียกว่า ‘สามเหลี่ยมฤดูหนาว’ (Winter Triangle) ซึ่งจะขึ้นในเวลาหัวค่ำของฤดูหนาว

แต่ในสามเหลี่ยมที่ว่านี้ ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าคือ ดาวซิริอุส (Sirius) หรือที่เรียกกันว่าดาวลูกไก่ หรือดาวโจร เนื่องจากสว่างจนทำให้โจรมองเห็นทางเข้ามาปล้น หรือมีอีกชื่อหนึ่งคือ ดาวกฤติกา อิทธิพลดาวโจรทำให้พม่า ไทใหญ่ ต้องออกมาจุดไฟทั้งที่เป็นผางประทีปและโคมเพื่อบูชาดาวโจร ที่คนโบราณเชื่อว่าอาจทำให้เกิดเรื่องไม่ดีเหมือนชื่อดาวโจร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าดาราศาสตร์เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเพณีและวิถีของคนโบราณในทุกวัฒนธรรมอยู่มาก เพราะต้องอย่าลืมว่า แต่ก่อนใช้วิธีการดูดาวเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตและใช้นำทาง ในสมัยเมื่อครั้งยังเด็กเชื่อว่าหลายๆ คนอาจเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘นิทานดาวลูกไก่’ ที่เล่าว่า มีตายายคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในป่า วันหนึ่งมีพระธุดงค์ผ่านมา คิดจะหาอาหารไปถวาย แต่เนื่องจากอยู่ในป่า ไม่มีอาหารดีๆ จึงหารือกันจะฆ่าไก่ที่เลี้ยงไว้เพื่อไปทำอาหารถวาย แม่ไก่ได้ยินก็สั่งเสียลูกไก่ทั้งหกตัวให้รักษาตัวให้ดี ตัวเองต้องแทนคุณตายายที่เลี้ยงดูมา เมื่อถึงเวลา ตายายฆ่าแม่ไก่ ลูกไก่ก็กระโดดเข้าเตาไฟตายตามแม่ไปด้วย เทพยดาเห็นแก่ความกตัญญู จึงให้แม่ไก่และลูกไก่ทั้งหมดขึ้นไปเป็นดาวอยู่บนฟ้าเพื่อเตือนใจคน

ตามตำนานกรีกเล่าว่า ดาวเหล่านี้เป็นตัวแทนของหญิงสาวเจ็ดพี่น้องแห่งไพลยาดีส (Pleiades) ขณะที่ตำนานชาวไวกิงบอกว่าดาวเหล่านั้นคือแม่ไก่ทั้งเจ็ดตัวของเฟรยา ชื่อของกระจุกดาวในภาษาโบราณของทางยุโรปหลายๆ แห่งจะมีความหมายว่า แม่ไก่กับลูกไก่ ซึ่งเป็นตำนานที่คล้ายคลึงกันในหลายวัฒนธรรม

ในยุคสำริดของยุโรป ชาวยุโรปบางส่วน เช่น ชาวเคลต์หรือวัฒนธรรมอื่นก่อนหน้านั้น เชื่อว่ากระจุกดาวนี้เกี่ยวข้องกับความอาลัยและงานศพ ในอดีตจะมีงานเทศกาลช่วงวันระหว่างวันศารทวิษุวัตจนถึงวันเหมายัน เป็นเทศกาลเพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์ กระจุกดาวนี้จะเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าด้านตะวันออกหลังจากตะวันลับขอบฟ้า ว่ากันว่ากระจุกดาวลูกไก่ให้ความรู้สึกถึงน้ำตาและความเศร้าโศก

และในช่วงเดือนเทศกาลลอยกระทง เราจะเห็นดาวนี้ได้ชัด หากลองสังเกตดูจะพบว่า หลายๆ เทศกาลที่จัดขึ้นในช่วงฤดูเดือนนี้มักเกี่ยวข้องกับความอาลัย งานศพ วิญญาณ หรือเพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์ อย่างฮาโลวีน และรวมถึงลอยกระทงในความหมายว่าลอยถึงปรโลกก็ด้วย

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า