ภาพยนตร์เป็นของราษฎร มิใช่เครื่องมือของรัฐอย่างที่เขาหลอกลวง

หลังจากมีการเกณฑ์ชายฉกรรจ์จำนวนมากเข้ามาปักหลักเต็มบริเวณอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แกนนำ ‘ราษฎร’ ก็กระทำการในสิ่งที่เรียกว่า ‘แกง’ กลางดึกของวันที่ 24 พฤศจิกายน ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการชุมนุมจะเริ่มขึ้น พวกเขาประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมจากสำนักงานทรัพย์สินฯ มาที่ธนาคารไทยพานิชย์ สำนักงานใหญ่

ถนนรัชดาภิเษกในบ่ายของวันที่ 25 พฤศจิกายน คึกคักไปด้วยผู้ร่วมชุมนุมที่ทยอยเดินทางกันเข้ามาอย่างหนาตา ทอดทิ้งให้ตู้คอนเทนเนอร์กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมขวางถนนของอีกฟากเมือง ปฏิบัติการของรัฐถูกย่ำยีด้วยการทำภาพมีมล้อเลียนในโลกออนไลน์ เราไม่พบรถฉีดน้ำความดันสูงหรือรถปล่อยสัญญาณเสียงเพื่อสลายการชุมนุม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนคุมเชิงบริเวณแผงกั้นยาวตลอดหน้าตัวอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์

การปราศรัยบนรถกระบะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างที่จะอิสระ ผู้ปราศรัยจำนวนหนึ่งคือผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเตรียมประเด็นมาปราศรัยตามความสนใจของแต่ละคน ผู้ปราศรัยหญิงรายหนึ่งตัดผมบ๊อบ ผอม สวมเสื้อกล้าม ผูกผ้าพันคอสีเหลือง เธอแนะนำตัวต่อหน้าผู้ฟังว่า เธอเป็นสถาปนิก และหากวันพรุ่งนี้เธอตกงาน การชุมนุมครั้งหน้าเธอจะมาสมัครงานที่ม็อบ

เธอค้นข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณขององค์กรต่างๆ เทียบกับงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ขณะที่ผู้ปราศรัยบางคนเลือกวิจารณ์พฤติกรรมส่วนตัวของกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา

วงปราศรัยมีมากกว่า 1 เวที บางคนพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ บางคนพูดเรื่องปัญหาที่ดิน บางคนพูดเรื่องปัญหาคนไร้สัญชาติ ยังไม่นับการปราศรัยที่ไม่มีเสียง แต่เป็นการแสดงข้อความบนเรือนร่าง ชายคนหนึ่งสวมชุดนักเรียน ใช้สีเขียนบนใบหน้าอาดูร “ไม่เอา 112” และ “ไม่เอา 116”

การย้ายสถานที่จากสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาสู่ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำให้เราพบว่า ‘เสียง’ คือทรัพย์สินที่ราษฎรพึงมี ภาพยนตร์ก็คือ ‘เสียง’ ประเภทหนึ่งเช่นกัน

“ภาพยนตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมานานมากแล้ว เราจึงจะพบวาทกรรมผ่านโครงการให้ทุนทำหนังอย่างหนังเพื่อความพอเพียง”

นวพล พืชผลทรัพย์ สวมหมวกนิรภัยเต็มใบแบบคนขี่บิ๊กไบค์ ถือไมโครโฟน กล่าวปราศรัยรณรงค์ความคิดของกลุ่ม Filmocracy ในขบวนแถวที่เดินฝ่าฝูงชนในม็อบ พวกเขา 5 คน ทำตัวเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ พูดรณรงค์เรื่องเสรีภาพของภาพยนตร์

เพื่อนแบกลำโพงอยู่แถวหน้า ทำหน้าที่เดินฝ่าวงล้อม เขาเดินถือไมโครโฟนเป็นสปีกเกอร์อยู่ลำดับที่สอง เพื่อนอีกสามคนปิดท้ายแถวแจกใบปลิดที่มีคิวอาร์โค้ด เมื่อสแกนเข้าไปจะพบกับแถลงการณ์ของกลุ่ม Filmocracy

“ภาพยนตร์เป็นสื่อที่นอกจากให้ความบันเทิงแล้ว ยังเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ และสื่อที่สร้างแนวคิดค่านิยมที่ก่อให้เกิดปัญญา อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการเรียกร้อง การวิพากษ์สังคม และการบอกเล่าเรื่องราวที่ผู้สร้างต้องการสื่อสารไปสู่วงกว้าง” คือประโยคแรกของแถลงการณ์

เนื้อหาหลักของแถลงการณ์ฉบับนี้ มุ่งทำให้เห็นอำนาจรัฐที่เข้ามามีอิทธิพลต่อภาพยนตร์ผ่านกฎหมายและการใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐ กระทั่งทำให้อุดมการณ์ของรัฐเป็นเพียงความคิดชุดเดียวที่ถูกต้อง และมันเบี่ยงเบนให้ความหลากหลายของภาพยนตร์กลืนกลายหายไปในเบ้าหลอมนั้น

“ภาพยนตร์เหล่านั้นจะถูกผลิตและใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของรัฐบาลหรือคนบางกลุ่ม อีกทั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีคู่แข่งทางการเมืองโดยภาครัฐ เพื่อผลิตซ้ำแนวคิดของการจงรักภักดีเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น วงการภาพยนตร์ไทยซบเซาลงอย่างมาก เพราะถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มนายทุนบางกลุ่ม ที่ต้องการทำภาพยนตร์เพียงไม่กี่รูปแบบ  ทำให้ลดทอนความหลากหลายของภาพยนตร์ ทางด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็กดขี่แรงงานผู้ทำหนัง ด้วยค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือ และระบบชนชั้นในกลุ่มผู้ทำภาพยนตร์จนเกิดการเลือกปฏิบัติ” บางส่วนจากแถลงการณ์ระบุ

“วันนี้เรามากันครั้งแรก” นวพล ตัวแทนของกลุ่ม Filmocracy บอกกับ WAY ว่า Filmocracy คือกลุ่มคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และรวมถึงนักศึกษาภาพยนตร์ด้วย

เรารู้สึกว่าวงการภาพยนตร์ถูกกดขี่อย่างรุนแรง แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูด เพราะพวกเรายังต้องทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่หลายคนที่ออกมาก็ต้องแอบๆ ออกมา แต่พวกเราต้องเติบโตต่อไปในอุตสาหกรรมนี้ เราจึงจำเป็นต้องออกมา

นวพล ในฐานะตัวแทนกลุ่ม Filmocracy บอกเล่า

กฎหมาย การเมือง ภาพยนตร์ คือจุดตัดระหว่างพื้นที่และเวลาที่ทำให้เกิดกลุ่ม Filmocracy ออกมาส่งเสียงในครั้งนี้

หลังจาก ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. พรรคก้าวไกล จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เธอถือหุ้นประกอบกิจการสื่อ พวกเขาจึงเกิดคำถามกับกฎหมาย การเมือง ภาพยนตร์

“สืบเนื่องจาก คดีพี่กอล์ฟ ที่โดนตัดสิทธิ์เรื่องสื่อ ซึ่งในทางกฎหมาย สื่อมวลชนกับสื่อภาพยนตร์ มันมีช่องว่างที่ห่างกันมาก ไม่มีกฎหมายที่ใช้เซ็นเซอร์เนื้อหาของสื่อมวลชนอย่างตรงๆ แต่สื่อภาพยนตร์มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ที่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหา ภาพยนตร์บางเรื่องจึงไม่สามารถฉายในราชอาณาจักรไทย สิ่งนี้ทำลายหนังมานานแล้ว เพราะเราไม่สามารถพูดในสิ่งที่อยากพูด ทำในสิ่งที่อยากทำได้”

นวพล เลือกนำเสนอประเด็นของกลุ่มในพื้นที่ของม็อบราษฎร เฉกเช่นกับกลุ่มผู้หญิงปลดแอก กลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มราษแดนซ์ กลุ่มราษเก็ต กลุ่มนักเรียนเลว ฯลฯ โดยเริ่มจากประเด็นกฎหมายที่ทำร้ายภาพยนตร์

“กฎหมายเซ็นเซอร์ที่ขีดเส้นว่า หนังบางเรื่องไม่สามารถฉายในราชอาณาจักรไทย ตัวนี้ตัวเดียวก็เรื่องใหญ่แล้ว เราต้องโต้เถียงกันอีกยาว ว่าเรามีวิจารณญาณที่จะประเมินได้เองหรือไม่ ว่าเราควรหรือไม่ควรดูอะไร”

พวกเขา – Filmocracy เป็นกลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ที่ “ขอต่อสู้เคียงข้างราษฎร เพื่อปลดแอกภาพยนตร์จากรัฐ ต่อไปนี้ภาพยนตร์จะไม่เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลและนายทุน แต่เราจะทำให้ภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งเสียงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมโดยภาคประชาชน”

เสียงคือทรัพย์สินที่ราษฎรพึงมี ภาพยนตร์ก็เป็น ‘เสียง’ ประเภทหนึ่งของราษฎร.


เเถลงการณ์กลุ่ม Filmocracy

ภาพยนตร์เป็นสื่อที่นอกจากให้ความบันเทิงแล้ว ยังเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ และสื่อที่สร้างแนวคิดค่านิยมที่ก่อให้เกิดปัญญา อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการเรียกร้อง การวิพากษ์สังคม และการบอกเล่าเรื่องราวที่ผู้สร้างต้องการสื่อสารไปสู่วงกว้าง

แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา ภาพยนตร์ไทยกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และยังถูกจำกัดเสรีภาพในการสื่อสาร เว้นเสียแต่ภาพยนตร์เหล่านั้นจะถูกผลิตและใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของรัฐบาลหรือคนบางกลุ่ม อีกทั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีคู่แข่งทางการเมืองโดยภาครัฐ เพื่อผลิตซ้ำแนวคิดของการจงรักภักดีเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น วงการภาพยนตร์ไทยซบเซาลงอย่างมาก เพราะถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มนายทุนบางกลุ่ม ที่ต้องการทำภาพยนตร์เพียงไม่กี่รูปแบบ  ทำให้ลดทอนความหลากหลายของภาพยนตร์  ทางด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็กดขี่แรงงานผู้ทำหนัง ด้วยค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือ และระบบชนชั้นในกลุ่มผู้ทำภาพยนตร์จนเกิดการเลือกปฏิบัติ

พวกเรา  Filmocracy เป็นกลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ที่ขอต่อสู้เคียงข้างราษฎร เพื่อปลดแอกภาพยนตร์จากรัฐ ต่อไปนี้ภาพยนตร์จะไม่เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลและนายทุน แต่เราจะทำให้ภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งเสียงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมโดยภาคประชาชน เราอยากให้วงการภาพยนตร์ไทยมีความหลากหลาย เราหวังจะเห็นภาพยนตร์ที่สามารถพูดถึงเสรีภาพ ความหลากหลายทางเพศ สิทธิสตรี คนต่างจังหวัด คนชายขอบ ผู้ถูกกดขี่ หรือ ผู้ที่เรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้อย่างเท่าเทียม

เพียงเเต่สิ่งที่เราฝันจะเกิดขึ้นไม่ได้ในรัฐที่ใช้ระบบเผด็จการควบคุมความคิดเเละเสรีภาพของประชาชน เเต่สิ่งเหล่านี้จะงอกงามได้ในรัฐ เเละสังคมที่เห็นคุณค่าของความหลากหลาย ความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม จากระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง.และนั้นเป็นที่มาของชื่อเรา ภาพยนตร์ และ ประชาธิปไตย Film(de)mocracy

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า