11 พฤษภาคม 2566 เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ออกแถลงการณ์ความเห็นต่อการเลือกตั้งทั่วไปล่วงหน้า-นอกเขต วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 2.2 ล้านคน และจากการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เครือข่ายฯ มีข้อกังวล 7 ประเด็น ดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ กปน. เขียนหมายเลขเขตเลือกตั้งผิด
เครือข่ายฯ มีข้อกังวลต่อระบบการจัดฝึกอบรมและให้ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เนื่องจากพบว่า กปน. บางส่วนมีความเข้าใจในกระบวนการที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะขั้นตอนการเขียนรายละเอียดบนซองใส่บัตรเลือกตั้งผิดพลาด ตัวอย่างเช่น ระบุหมายเลขเขตเลือกตั้งผิด โดยเขียนเป็นรหัสไปรษณีย์แทน และระบุเลขรหัสเขตเลือกตั้งผิดเขต ซึ่งมีข้อกังวลว่าจะทำให้บัตรเลือกตั้งถูกส่งกลับไปไม่ถึงเขตเลือกตั้งตามภูมิลำเนา และอาจทำให้ผลคะแนนไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
2. ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าเสียสิทธิกว่า 200,000 คน
แม้ว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าจะมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิกว่าร้อยละ 91 คิดเป็นจำนวน 2 ล้านคนโดยประมาณ แต่ยังเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่มีผู้ไม่ไปใช้สิทธิเป็นจำนวนกว่า 200,000 คน ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อผลการเลือกตั้ง
การที่มีประชาชนเสียสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเช่นนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการทบทวนว่า การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ได้มีการประชาสัมพันธ์ การอำนวยความสะดวก และการจัดมาตรการรองรับการใช้สิทธิที่เพียงพอต่อผู้มาใช้สิทธิจำนวนมากหรือไม่
อีกทั้งยังไม่พบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมาตรการที่เปิดให้ประชาชนได้มีโอกาสกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยมีข้อสังเกตเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2557 ที่เปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามได้ลงทะเบียนไว้ สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้
3. เว็บไซต์ล่ม ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ทัน
ในวันสุดท้ายของการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขตเลือกตั้ง ในวันที่ 9 เมษายน 2566 มีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถลงทะเบียนได้ทัน เนื่องจากเว็บไซต์สำหรับการลงทะเบียนเกิดเหตุขัดข้องตั้งแต่เวลาราว 21.00 น. นับเป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามต่อการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ความผิดพลาดเช่นนี้ ทำให้ไม่อาจกล่าวได้ว่าการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า มีการเตรียมการอย่างมีประสิทธิภาพ
4. บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รายละเอียดไม่ตรงกัน
บัตรเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 2 ประเภท คือ 1. บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และ 2. บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง พบว่าหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและหมายเลขพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็นหมายเลขที่ไม่ตรงกัน และในส่วนของบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมีเพียงหมายเลขผู้สมัคร ไม่มีรายชื่อหรือตราสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองของผู้สมัคร อันเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยลดภาระ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน
5. สถานที่เลือกตั้งล่วงหน้าไม่มีความพร้อม
หลายหน่วยเลือกตั้งมีการเลือกใช้และจัดการสถานที่โดยไม่ได้เป็นไปตามหลักการรองรับความหลากหลายของผู้มาใช้สิทธิ กล่าวคือ ไม่รองรับการใช้สิทธิของผู้ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ฯลฯ และยังพบว่าหลายหน่วยเลือกตั้งไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ สำหรับการรับมือสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ผู้ใช้สิทธิจำนวนมากมีอาการวิงเวียน หน้ามืด และเป็นลม ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจปล่อยปละละเลยได้
6. ข้อมูลหน้าหน่วยเลือกตั้งไม่ครบถ้วน
ประการที่หนึ่ง เอกสารแนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ซึ่งปรากฏว่ามีรายชื่อผู้สมัครบางพรรคหายไปจากกระดานปิดประกาศ
ประการที่สอง ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งที่ติดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้งเป็นสีขาว-ดำ ซึ่งไม่แสดงสีจริงของบัตรเลือกตั้งทั้งสองประเภท
ประการที่สาม เอกสารรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (ส.ส.5/5) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดที่ได้รับมา และระบุจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น ซึ่งต้องปิดประกาศไว้ให้ประชาชนรับทราบก่อนเปิดให้ลงคะแนน ทั้งนี้ในหลายหน่วยเลือกตั้งพบว่า มีความผิดปกติของในหลายส่วน ดังนี้
(1) ปิดประกาศล่าช้า หลังเปิดให้ลงคะแนนเป็นเวลานาน
(2) ไม่ระบุรายละเอียดจำนวนบัตรเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งนั้นได้รับมา หรือกรอกตัวเลขจำนวนบัตรที่ได้รับ แต่กลับไม่ระบุเป็นตัวหนังสือที่ช่องข้อความด้านหลัง ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการกลับมาแก้ไขหรือไม่
(3) ระบุข้อมูลรายละเอียดเอกสารไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุชื่อหน่วยเลือกตั้ง และสถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง
7. กีดกันอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
แม้ว่าโดยส่วนใหญ่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะให้ความร่วมมือกับการสังเกตการณ์ แต่ยังคงมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่บางหน่วยไม่อนุญาตให้อาสาสมัครเข้าสังเกตการณ์ รวมถึงไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพบรรยากาศการเลือกตั้ง หรือถ่ายภาพเอกสารซึ่งปิดประกาศอยู่ที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง แม้ว่าการกระทำนั้นจะไม่รบกวนต่อการลงคะแนนเลือกตั้ง และไม่กระทบต่อสิทธิหรือข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งแท้จริงแล้วย่อมสามารถเข้าสังเกตการณ์กระบวนการจัดการเลือกตั้ง เพื่อเป็นประจักษ์พยานในการยืนยันมาตรฐานด้านความโปร่งใส
4 ข้อเสนอแนะต่อการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566
เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 มีข้อเสนอแนะต่อการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ดังต่อไปนี้
1. กกต. ควรชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีการจัดการที่ผิดพลาด และชี้แจงวิธีการแก้ไขอย่างละเอียด พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชนที่มาใช้สิทธิ เพื่อให้การนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ไม่มีจำนวนบัตรเพิ่มขึ้นหรือลดลงในเขตเลือกตั้งใด กล่าวให้ชัดคือจะไม่มีกรณีของ ‘บัตรเขย่ง’
2. กกต. ควรประกาศสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งจะมีการนับคะแนนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ทั้ง 400 เขต เพื่อให้ประชาชนได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนน
3. ตามกฎหมายเลือกตั้งระบุให้มีการเปิดเผยรายงานผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้ง (แบบ ส.ส.5/18) บนเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.จังหวัด ภายใน 5 วันนับจากวันเลือกตั้ง
เครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอแนะให้ กกต. มีคำสั่งให้เปิดเผยเอกสารสำคัญอีก 2 ฉบับ เพิ่มเติมบนเว็บไซต์ของ กกต.จังหวัด ไปพร้อมกัน ดังนี้
ฉบับแรก แบบรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (แบบ ส.ส.5/5) และฉบับที่สอง ประกาศรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งเมื่อเสร็จสิ้นการออกเสียงลงคะแนน (ส.ส.5/7)
4. เน้นย้ำให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ให้ความร่วมมือการสังเกตการณ์การเลือกตั้งโดยประชาชน ทั้งการถ่ายภาพกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และการบันทึกผลคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศไทย ดำเนินไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม