มีอยู่แล้ว แต่ยังเคลม: ทำไม ‘มะเร็งรักษาฟรี’ จึงถูกหยิบมาเป็นนโยบาย

“เอ๊ะ แปลก หลังๆ ไม่ได้ดูประจำ เดี๋ยวนี้เชียร์คุณอนุทินแล้วหรือ?”

ข้างต้นคือคอมเมนต์จากเฟซบุ๊กส่วนตัวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อโพสต์ของเพจไข่แมวX ที่วาดการ์ตูนสนับสนุนนโยบายรักษามะเร็งฟรีของพรรคภูมิใจไทย

ภาพการ์ตูน 3 ช่อง ที่คุ้นตาตามสไตล์ไข่แมวX ประกอบไปด้วย บิลค่ารักษามะเร็ง 2xx,xxx บาท คนไข้ที่น้ำลายฟูมปากเพราะกระอักค่าใช้จ่ายมหาศาล และอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ถือป้าย ‘มะเร็งรักษาฟรี’ พร้อมแอ็กชันถีบหมอที่ถือบิลค่ารักษาลงหุบเหวเฉกเช่นฉากในตำนานของภาพยนตร์เรื่อง 300 (2006)

นอกจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แล้ว โพสต์ของไข่แมวX เมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา สร้างข้อถกเถียงบนโลกออนไลน์โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การรักษามะเร็งฟรีไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะผู้ถือสิทธิบัตรทองก็สามารถรักษามะเร็งฟรีตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

16 เมษายน อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ที่รู้จักในนามปากกา ‘ใบตองแห้ง’ ระบุผ่านเฟซบุ๊กของตนว่า บัตรทองรักษามะเร็งฟรีเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ปี 2545 และพัฒนาเรื่อยมากระทั่งปี 2564 ที่ผู้ป่วยสามารถเข้ารักษาที่สถาบันมะเร็งโดยไม่จำเป็นต้องถูกส่งต่อเฉกเช่นระยะแรก ซึ่งนโยบายของพรรคภูมิใจไทยหนนี้ เป็นเพียงการซื้อเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งให้โรงพยาบาลทุกจังหวัด แต่อ้างว่าเป็นการรักษามะเร็งฟรี

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพยายามนำเสนอตัวเอง นับเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงที่เข้าใจได้ แม้จะอาศัยการบิดคำเสียใหม่ก็ตาม แต่ถ้าย้อนมองการรักษามะเร็งฟรี ก็มีคำถามที่น่าสนใจว่า เหตุใดนโยบายรัฐที่สังคมรับรู้กันมานานแล้ว จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงบนป้ายไวนิลข้างถนน หรือกระทั่งตามมีมของเพจและอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ 

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ‘30 บาท รักษาทุกโรค’ (ครอบคลุมโรคมะเร็ง)

ย้อนไปในทศวรรษ 2530 สังคมไทยมีระบบสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ 5 ระบบ ได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพโดยสมัครใจ (โครงการบัตรสุขภาพ) โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร. หรือบัตรอนาถา) และระบบประกันสุขภาพของภาคเอกชน (ประกันชีวิต) หากแต่ยังพบผู้ที่ไม่ได้สิทธิหรือกลุ่มตกหล่นจำนวนมาก จึงมีความพยายามผลักดันระบบประกันสุขภาพนับแต่นั้น

ปี 2533 นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือ ‘หมอสงวน’ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ถูกปัดตกไปในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย

ปี 2544 ท่ามกลางบรรยากาศเลือกตั้งในขณะนั้น หมอสงวนศึกษาความเป็นไปได้และงบประมาณสำหรับแผนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใหม่หรือที่เรียกว่า ‘สมุดปกเหลือง’ และเริ่มเดินสายนำเสนอให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งพรรคไทยรักไทยของ พลตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เห็นถึงความเป็นไปได้ นำไปต่อยอดเป็นนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกโรค’

ปี 2545 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถูกประกาศใช้ โดยให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันผ่านชื่อคุ้นหูคือ ‘บัตรทอง’

หากขีดเส้นการมีบัตรทองในปี 2545 กว่า 10 ปีก่อนหน้านั้น อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 70-71 ปี แต่ 10 ปีหลังจากมีบัตรทอง อายุขัยคนไทยก็มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น เฉพาะปี 2557 มีค่าอายุขัยเฉลี่ย 74-75 ปี

งานศึกษาเรื่อง The Great Equalizer: Health Care Access and Infant Mortality in Thailand ของ กรูเบอร์ เฮนเดรน และทาว์นเซน (Gruber, Hendren and Townsend) (2014) ค้นพบว่า โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ทำให้อัตราการตายของเด็กและทารกลดลง 13-30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลา 1 ปี ระหว่างก่อนและหลังการเริ่มโครงการ

ถึงอย่างไร โครงการนี้ก็มีข้อเสียหลายมิติ เช่น ไม่ครอบคลุมการรักษาโรคเรื้อรังที่มีใช้ระยะเวลารักษาเกินกว่า 180 วัน ใช้สิทธิได้เฉพาะกับโรงพยาบาลรัฐ หรือกระทั่งขั้นตอนที่ยุบยับจากกรณี ‘ใบส่งตัว’ ที่ผู้ป่วยต้องใช้ใบสำคัญดังกล่าวจากโรงพยาบาลตามสิทธิ สำหรับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นหากอยู่นอกพื้นที่

สำหรับกรณีรักษาโรคมะเร็ง ในช่วงตั้งไข่ของโครงการ ผู้ป่วยต้องรอการส่งตัวและอาจไม่ได้รับการรักษาทันที แต่ปัจจุบัน สปสช. ยืนยันว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเลือกไปรักษาที่หน่วยบริการที่มีศักยภาพในการรักษา โดยไม่จำเป็นต้องรอรักษากับหน่วยบริการใกล้บ้าน

(Not all) บุคคลย่อมมีสิทธิ

ข้อสังเกตคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 47 ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่มีคำว่า ‘เสมอกัน’ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 52 และรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 51 ว่าด้วยสิทธิการได้รับการรักษาพยาบาลจากรัฐ ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิ ‘เสมอกัน’ …

ปี 2559 โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรอบแรก ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการคัดแยก ‘คนจน’ หรือ ‘ผู้ยากไร้’ ออกมา เพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้ารับบริการ ‘สงเคราะห์’ จากรัฐ

ปี 2561 แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในราชกิจจานุเบกษา หัวข้อระบบหลักประกันสุขภาพ เป้าหมายระยะ 20 ปี ระบุตอนหนึ่งว่า “…และมีการร่วมรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายตามกำลังความสามารถในการจ่าย” ซึ่งหมายถึง ต้องการให้ประชาชนร่วมจ่ายตามฐานะของตัวเอง

ปี 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยพูดถึงความสำเร็จด้านสาธารณสุขของไทยที่มีพื้นฐานจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นปฏิปักษ์กับนโยบาย 30 บาท อย่างชัดเจน

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์กับประชาไท ถึงประเด็นข้อกฎหมายที่ค่อยๆ เปลี่ยนรูปของระบบหลักประกันสุขภาพว่า สิ่งนี้สะท้อนว่ารัฐมองคนไม่เท่ากัน รัฐมองว่าไม่จำเป็นต้องถ้วนหน้าและไม่จำเป็นต้องดูแลทุกคน เมื่อรัฐมองคนไม่เท่ากัน นโยบายรัฐก็จะดูแลแค่คนจน

ฉะนั้นแล้ว การหาเสียงด้วยนโยบาย ‘มะเร็งรักษาฟรี’ จึงอาจเป็นจุดขายที่มีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง 

ทั้งนี้ 16 เมษายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก Drama-Addict แสดงความเห็นว่า ประชาชนทั่วไปน่าจะรู้อยู่แล้วว่า มะเร็งอยู่ในกลุ่มโรคที่รักษาฟรี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหลายๆ รัฐบาล จนถึงปัจจุบันก็รับช่วงต่อและพัฒนาเรื่อยมา การรักษามะเร็งจึงครอบคลุมเกือบทุกชนิด

โดยทิ้งท้ายว่าพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงต้องไม่เคลมว่า จะรักษามะเร็งฟรี เพราะมันฟรีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น แต่ไปเน้นประเด็นการทำให้คนยากคนจนเข้าถึงจุดบริการได้ง่ายขึ้น น่าจะตรงประเด็นมากกว่า

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า