มายาคติ ‘บัตรทอง’​ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือภาระ และทำให้คนไม่ดูแลสุขภาพ

ภาพปก: hfocus.org

แม้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะถูกประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2545 ให้สิทธิประชาชนทุกคนทั่วประเทศเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันผ่านชื่อคุ้นหูคือ ‘บัตรทอง’​ แต่ 20 ปีผ่านมา ข้อถกเถียงเรื่องนี้ก็ยังวนเวียนอยู่ในอ่าง เกิดคำถามบ่อยครั้งว่านโยบายที่ตั้งต้นโดยภาคประชาชน ก่อนผลักดันเป็นนโยบายที่ทำได้จริงในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แท้จริงแล้วเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อบ้านเมืองกันแน่ 

กระทั่งไม่กี่วันที่ผ่านมา สืบเนื่องจากกิจกรรม ‘หนึ่งคนว่าย หลายคนให้’​ ก็ยังมีข้อถกเถียงเรื่องนี้ โดยถ้อยคำดังกล่าวมาจากคนเป็นหมอซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยตรง

“ต่อให้พี่ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคมากว่า 1,000 ล้าน หมอ พยาบาล เค้าก็เหนื่อยเท่าเดิมครับ ขอยกตัวอย่างในฝั่งของหมอนะครับ ระบบสุขภาพของประเทศไทยคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่า คนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ (ซึ่งจริงๆ ดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ) ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม”

คำพูดนี้มาจากนายแพทย์เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือ ‘ริท เดอะสตาร์’ ดารานักร้องรุ่นเดียวกันกับ ‘โตโน่’ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ที่แม้จะตั้งคำถามให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไม่ได้ด้วยการบริจาค แต่ก็ยังแสดงความเข้าใจผิดต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า เป็นต้นตอที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องแบกรับภาระหนัก เพราะการจ่ายค่ารักษาพยาบาลราคาถูก ประชาชนจึงไม่ดูแลสุขภาพ

และนั่นก็ไม่ใช่มายาคติเดียวที่คนมีต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะยังมีคำถามอีกหลายประการที่จำเป็นต้องทบทวนให้เข้าใจว่า โรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่บันเทิงใจ ไม่มีใครอยากป่วยเพื่อเดินทางไปให้หมอรักษา

บัตรทองคือภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ

ข้ออ้างคลาสิกที่สุดสำหรับการก่นด่าเรื่องบัตรทองคือ ค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องแบกเอาไว้สูงเกินไปหากเทียบกับรายได้ของประเทศ

ในเวทีเสวนาเรื่อง ‘ความมั่นคง ความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ: ระบบการเงินการคลังที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับสังคมไทย’​ เมื่อปี 2557 ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยกล่าวเอาไว้ว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามักตกเป็นจำเลยมาตลอด โดยเฉพาะการบอกว่า ประเทศไทยมีเงินไม่พอ แต่ความจริงแล้วค่าใช้จ่ายดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 4 ของ GDP เท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง

นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายเพื่อการพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ก็กล่าวเช่นกันว่า รายจ่ายไม่ถึงร้อยละ 4 ของ GDP ที่ไทยจัดสรรให้กับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่อยู่ในระดับร้อยละ 5 ของ GDP และหากเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD หรือ องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 9.3 นั้น ถือว่าการใช้งบประมาณของไทยยังต่ำกว่ามาก 

งบประมาณบัตรทองที่สูงเกินแสนล้านบาทนั้น หากพิจารณาข้อมูลเมื่อปี 2560 ซึ่งมีการใช้เงิน 151,700 ล้านบาท นับว่าสูงมากหากเทียบกับค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการซึ่งใช้เงินเพียง 70,000 ล้านบาท แต่หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่า งบ 151,700 ล้านบาท เป็นการนำไปดูแลคนไทยที่ใช้สิทธิบัตรทอง 48.8 ล้านคน เฉลี่ยประมาณ 3,108 บาทต่อหัว ขณะที่ตัวเลข 70,000 ล้านบาท ครอบคลุมข้าราชการและคนในครอบครัว 6 ล้านคน เฉลี่ยประมาณ 11,666 บาทต่อหัว ซึ่งใช้เงินสูงกว่าบัตรทองเฉลี่ยต่อหัวถึง 3.7 เท่า

ยังไม่เทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สังคมตั้งคำถามอยู่เป็นประจำถึงความคุ้มค่าและการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ

รักษา 30 บาท ทำให้คนไม่ดูแลสุขภาพ

ยังไม่พบว่ามีการศึกษาชิ้นใดที่ชี้ชัดว่า ค่ารักษาพยาบาลแบบ 30 บาท รักษาทุกโรค ส่งเสริมให้คนไม่ดูแลสุขภาพ ด้วยเพราะไม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แต่นโยบายนี้ทำให้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์มากขึ้นแน่

ดร.ณัฏฐ์ หงษ์ดิลกกุล นักวิจัยหลังปริญญาเอก ด้านนโยบายสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชีย ณ ศูนย์วิจัยเอเชียแปซิฟิก (APARC) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งศึกษาผลกระทบทางสวัสดิการของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เผยแพร่เมื่อปี 2560 กล่าวว่า มีหลักฐานจากงานของ Gruber, Hendren and Townsend (2014) และงานของ Limwattananon et al (2015) ยืนยันว่าโครงการ 30 บาท ทำให้คนใช้บริการมากขึ้น แต่ประเด็นนี้ก็ต้องมองไปอีกว่า การใช้บริการมากขึ้นดังกล่าวเป็นเพราะเมื่อก่อนคนไข้ไม่มาใช้บริการทางการแพทย์ หรืออีกนัยคือ คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข แต่เมื่อมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงทำให้จำนวนของผู้มาใช้บริการสูงขึ้นกว่าเดิม

“ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนเจ็บป่วยก็ทน ไม่มาหาหมอ รอจนเจ็บหนัก จนมาถึงมือหมอก็ร่อแร่แล้ว หรือมันเป็นเพราะว่าคนได้รับบริการสาธารณสุขเพียงพออยู่แล้ว และ 30 บาท ทำให้คนใช้บริการเกินจำเป็น เช่น 30 บาท ทำให้คนไปนอนเล่นฟรีๆ ที่โรงพยาบาล ถ้าเป็นกรณีแรกการที่ utilization (การใช้ประโยชน์) เพิ่มก็น่าจะดี แต่กรณีหลังก็ไม่น่าจะดี ทีนี้มันจะเป็นกรณีไหน ก็ต้องไปวัดกันที่ผลของ 30 บาท ต่อดัชนีชี้วัดทางสุขภาพของคนไทย 

“ถ้าเป็นกรณีที่ทำให้จากเดิมที่คน underutilize (ใช้น้อยเกินไป) เข้ามารับการรักษามากอื่น ก็ต้องมีหลักฐานว่าโครงการ 30 บาท ทำให้ดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด เช่น แทนที่คนเจ็บจะรอจนเจ็บหนัก เขาก็สามารถเข้ามารับการรักษาก่อน อันนี้หมอก็มีโอกาสจะรักษาชีวิตคนไข้ได้มากขึ้น แต่เป็นกรณีว่าทำให้เกิด overutilization (ใช้มากเกินไป) เช่น ไม่ได้เจ็บป่วยอะไรแต่เข้ามานอนเล่นฟรีๆ อันนี้น่าจะดูได้จากการที่ว่า utilization เพิ่ม แต่ดัชนี้ชี้วัดด้านสุขภาพไม่ได้ดีขึ้นตาม”

ส่วนประเด็นที่ว่าโครงการนี้ ‘คุ้ม’​ หรือ ‘ไม่คุ้ม’​ ก็คือ หากขีดเส้นการมีบัตรทองในปี 2545 ห้วง 10 กว่าปีก่อนหน้านั้น อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 70-71 ปี แต่ 10 ปีหลังจากมีบัตรทอง อายุขัยคนไทยก็มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น เฉพาะปี พ.ศ. 2557 มีค่าอายุขัยเฉลี่ย 74-75 ปี

ข้อสรุปที่ Gruber, Hendren and Townsend (2014) ค้นพบอีกก็คือ โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ทำให้อัตราการตายของเด็กและทารกลดลง 13-30% เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลา 1 ปี ระหว่างก่อนและหลังการเริ่มโครงการ

ความคุ้มค่าอีกประการก็คือ เราจะพบว่าเมื่อต้องอยู่ในเวทีระดับนานาชาติ ไม่ว่านายกรัฐมนตรีประเทศไทยจะเปลี่ยนหน้าไปกี่คน นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ก็มักจะเป็นหัวข้อที่ผู้นำลุกขึ้นยืนพูดอย่างหน้าชื่นตาบาน ในฐานะประเทศที่เอาจริงเอาจังกับการผลักดันส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า

อ้างอิง

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า