การขอให้ สนช. ในที่ประชุมฟังความเห็นจากประชาชนเกือบ 400,000 เสียง ในประเด็น พ.ร.บ.คอม ก็เหมือนการร้องขอความรักจากคนที่เขาไม่เห็นค่า #ไม่รักไม่ต้องมาแคร์ #ไม่ต้องมาดีกับฉัน
แต่ก็ช่างมันดีกว่า WAY ต่อสายถึง คณาธิป ทองรวีวงศ์ นักวิชาการและนักวิจัยด้านกฎหมายสิทธิส่วนบุคคล เพื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไข เพิกถอน การอยู่ให้เป็น และกระทั่งขบวนการต่อสู้ในฉากต่อไป
ในแง่สถานะข้อกฎหมาย
คณาธิปอธิบายให้ฟังก่อนว่า การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกาศผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … และ พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ ในวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น อาจแปลได้ว่าโดยกระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้ ‘ผ่าน’ และอยู่ในขั้นตอนการเตรียมประกาศใช้จริงแล้ว เหลือแต่เพียงการรอเวลาเพื่อเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษา และรอวันประกาศบังคับใช้เท่านั้น
แนวทางแก้ไขล่ะ…เราจะอยู่กันอย่างนี้จริงๆ น่ะหรือ
ถามถึงแนวทางแก้ไขข้อความใน พ.ร.บ. ดังกล่าว คณาธิปตอบว่า หนทางแก้ไขมีได้อย่างน้อย 4 แนวทาง แต่เขาย้ำว่า
“นี่เป็นการตอบจากมุมของกฎหมายเท่านั้นนะครับ”
หนึ่ง-สามารถใช้โมเดลอย่างที่เคยเกิดกับ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.ยาม ที่ออกมาแล้วมีปัญหาเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรักษาความปลอดภัยจนทำให้ผู้ประกอบอาชีพนี้ได้รับความเดือดร้อน เมื่อเกิดเสียงทักท้วง นายกฯจึงใช้อาญาสิทธิ์ ม.44 ในการยกเลิกบางมาตราได้ ในทำนองเดียวกันว่า นายกฯ ก็ย่อมสามารถใช้อำนาจ ม.44 ในการยกเลิก พ.ร.บ.คอม ได้เช่นกัน
สอง-รัฐบาล คสช. สามารถกลับลำในการแก้ไขร่างใหม่ได้ โดยอาจแก้เป็นชุดๆ คือ พ.ร.บ.คอม ฉบับปี 2559 ทั้งหมด หรือแก้เฉพาะบางวรรคที่มีปัญหาได้ เช่น มาตรา 20/1 ที่มีการตีความอย่างกว้าง เช่น การใช้คำว่า ‘ละเมิดต่อศีลธรรมอันดี’
คณาธิปได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การแก้ พ.ร.บ.คอม 2559 ครั้งนี้ เป็นการเขียนเพื่อกลับไปแก้ไข พ.ร.บ.คอม ฉบับปี 2550 ซึ่งรัฐบาล คสช. อาจเสนอ พ.ร.บ.คอม ฉบับใหม่ คือปี 2560 เพื่อกลับมาแก้ไขฉบับ 2559 นี้อีกครั้งก็ได้
สำหรับข้อกังวลจากภาคประชาชนว่า เอ๋…เมื่อ พ.ร.บ.คอม ผ่านแล้ว กลไกการแก้ไขจะง่ายปานนั้นหรือ คณาธิปแสดงความเห็นว่า ในทางหลักการแล้ว การแก้กฎหมายในชั้น พ.ร.บ. นั้นยังง่ายกว่าการแก้ข้อความใน ‘รัฐธรรมนูญ’ มากนัก
สาม-เราอาจรอให้มีรัฐบาลที่มีจากการเลือกตั้ง ให้กลับไปรื้อแก้ หรือยกร่าง พ.ร.บ.คอม ฉบับใหม่ หรือฉบับ 2561 เลยก็ย่อมได้
หรือ สี่-รอให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ที่ผ่านประชามติแล้วมีผลบังคับใช้ และใช้สิทธิประชาชนเกิน 10,000 คนเข้าชื่อ เสนอร่างกฎหมายใหม่ เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.คอม ในประเด็นและมาตราที่มีปัญหา
เกือบสี่แสนรายชื่อ ไม่มีผลเลยจริงล่ะหรือ
อาจฟังดูโหดร้าย แต่คณาธิปอธิบายว่า ในทางกฎหมาย ณ ตอนนี้ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่มีกำหนดเรื่องสิทธิเสนอกฎหมายโดยประชาชน และยังไม่มีกฎหมายลูกเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ฉะนั้น เวลานี้จึงอาจกล่าวได้ว่า รายชื่อของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยยังไม่มีผลต่อการเสนอร่างใหม่
(เดิมทีเรามีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่ตกไปพร้อมกับการฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 จึงต้องรอรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้)
อย่างไรก็ตาม คณาธิปอธิบายว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2558 มีผลใช้บังคับแล้ว ประชาชนร่วมกันเข้าชื่ออย่างน้อย 10,000 ชื่อ สามารถเสนอแก้ไขหรือร่างกฎหมายได้ คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้น ความหวังยังคงมี ซึ่งอาจเป็นเหตุให้นำรายชื่อเกือบ 400,000 นี้ในการยื่นเสนอแก้ไขในอนาคตได้
ทางเลือก ทางรอด ทางออกประเทศไทย
แม้ว่าจำนวนรายชื่อเกือบครึ่งล้านจะไม่มีผลในทางกฎหมาย แต่ก็เชื่อว่าเป็นพลังของประชาชนที่ ‘มาอย่างถูกทาง’ แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา และการไม่ได้รับข้อมูลจากภาครัฐอย่างทั่วถึง ทำให้ประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยอาจยังไม่ทราบเนื้อหาของ พ.ร.บ.คอม ฉบับนี้ว่ามีใจความอย่างไร
คณาธิปย้ำอีกครั้งว่า พ.ร.บ.คอม ฉบับนี้ ได้มีผลใช้อย่างเป็นทางการแล้ว
ฉะนั้น พลเมืองเน็ตมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวังกิริยาอาการในการใช้เทคโนโลยี ไม่ให้ผิดกฎหมาย แต่ก็ขอให้จับตามองกระบวนการในการผลักแก้ปัญหาต่อไป ตราบใดที่ยังมีหนทางสู้ก็ยังมีความหวัง