ทำความรู้จัก ‘ageism’ มายาคติต้นเหตุความขัดแย้งของคนต่างวัยในที่ทำงาน

ดูเหมือนการที่ผู้ใหญ่ต่อว่าเด็กสักคนด้วยประโยค “เด็กสมัยนี้เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” หรือการที่เด็กโพสต์ระบายถึงผู้ใหญ่บางคนลงในโซเชียลแพลตฟอร์มว่า “หัวโบราณ ดักดานเหมือนอยู่ยุคไดโนเสาร์” จะเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปและพบเห็นมาตลอด โดยเฉพาะเมื่อเด็กและผู้ใหญ่เหล่านั้นถกเถียงกัน

สภาวะเหล่านี้เรียกว่า การเหยียดอายุ (ageism) คือ การเหมารวมหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยเหตุผลเรื่องอายุ อาทิ ปฏิเสธการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของคนที่อายุน้อยกว่า เนื่องจากคิดว่าเขาอายุน้อยเกินไป ไร้ประสบการณ์ ไร้ความน่าเชื่อถือ หรือแม้กระทั่งการปฏิเสธรับบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน เนื่องจากคิดว่าพวกเขามีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำ บุคคลที่มีความคิดเหยียดอายุจะยึดถือความเชื่อในเชิงลบเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ตนเองไม่ชอบ และแสดงออกทั้งการกระทำ คำพูด และความคิด

ทุกคำดูหมิ่นสร้างบาดแผลในจิตใจเสมอ ไม่ต่างจากการเหยียดเชื้อชาติ เพศ หรือสีผิวสักเท่าไร แม้การเปิดรับทางความคิดและยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจะทำให้เรื่องเหล่านี้เบาบางลง ทว่าการเหยียดอายุยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ซึบซาบเข้าไปในความคิด จิตใจ หยั่งรากลึกจนถึงแกนกระดูก ราวกับว่าเป็นเรื่องปกติ ที่น่าเศร้าคือ หลายคนแทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าถูกการเหยียดอายุกัดเซาะอยู่ตลอดเวลา จนนำไปสู่ความเครียดและปัญหาในชีวิต

ปัญหาการเหยียดอายุพบได้ทั่วไป แต่ปรากฏชัดมากที่สุดใน ‘ที่ทำงาน’ ศูนย์รวมมนุษย์หลายช่วงวัย สถานที่ที่มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม เด็กจบใหม่ที่ถูกแปะป้ายว่า ‘อ่อนประสบการณ์’ กับผู้ใหญ่ที่ทำงานมานานจนถูกมองว่า ‘ความคิดล้าหลัง’ กลายเป็นระบบนิเวศที่คล้ายกับทุ่งหญ้าสะวันนา (Savannah) มีผู้ล่า มีผู้ถูกล่า มีสัตว์กินซาก มีสัตว์ที่อยู่จุดต่ำสุดและจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร สภาวะที่เหมือนสงครามประสาทขนาดย่อม เป็นหนึ่งในปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน (work environment problem) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้คนในวัยทำงาน อันนำไปสู่การลดทอนประสิทธิภาพของงานและองค์กรในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การหยุดพฤติกรรมเหยียดอายุ ไม่จำเป็นต้องมีการรณรงค์ หรือสร้างแคมเปญใดๆ เพียงแค่เราคำนึงถึงจิตใจของผู้คนในสังคมบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ และสลักไว้ในสามัญสำนึกของตนเองว่า ไม่มีใครดีหรือเลว เก่งมากหรือเก่งน้อย เพียงเพราะอายุของพวกเขา เพื่อร่วมสร้างสังคมในที่ทำงานให้น่าอยู่

ที่มา:

Author

กนกวรรณ เชียงตันติ์
ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า