ข้อมูลจากจุลสารการจัดการองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง อธิบายเรื่องนี้ไว้ในตอนหนึ่งของพระราชพิธีอันเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พระราชพิธีที่แสดงความสมบูรณ์แห่งพระมหากษัตริย์ตามที่กำหนดในโบราณราชประเพณี เป็นแบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
เฉพาะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2325 แม้เริ่มต้นด้วยการ ‘ปราบดาภิเษก’ ซึ่งในทางพระราชพิธีถือว่ายังไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง รวบรวมรูปแบบการพระราชพิธี สร้างเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ สำหรับพระนครแล้ว พ.ศ. 2328 จึงประกอบ ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ เพื่อความสมบูรณ์แห่งพระมหากษัตริย์ โดยในพระราชพิธีนี้มีขั้นตอนสำคัญคือสรงมูรธาภิเษก ซึ่งหมายถึง การรับน้ำอภิเษกโดยพระราชครูพราหมณ์ ซึ่งในคตินี้เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพที่อุบัติมาเพื่อขจัดความทุกข์เข็ญ และให้ความร่มเย็นแก่พสกนิกรใต้พระบรมโพธิสมภาร
พระราชพิธีบรมราชภิเษก เป็นแบบแผนที่ได้รับการปฏิบัติเรื่อยมา แต่ในบางรัชกาลก็มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เช่น ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีสัมพันธไมตรีกับประเทศในยุโรป และทรงรับคติการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในการพระราชพิธีฯ อย่างราชสำนักยุโรป และโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพระราชพิธีสงฆ์ด้วย ในขั้นนี้น้ำอภิเษกจึงมีทั้งน้ำพระพุทธมนต์และน้ำพระเทพมนต์ นอกจากนั้นยังมีพิธีสำคัญที่ปฏิบัติสืบมาคือ การบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกประจำปี เรียกว่า ‘วันฉัตรมงคล’
ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอย่างย่นย่อ และมีการตัดทอนการพิธีลงหลายอย่าง โดยมีกำหนดพระราชพิธีเพียง 3 วัน คือ 3-5 พฤษภาคม 2493 ครั้งนั้นมีเหตุการณ์สำคัญที่คนไทยจดจำได้ดีคือพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ขณะที่สมัยรัชกาลที่ 10 นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562
อ้างอิง: |