What is ลูกจีนรักชาติ

‘ลูกจีนรักชาติ’ คืออะไร

เคยไหม…เวลาญาติผู้ใหญ่จัดโต๊ะไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษในวันตรุษจีน หรือเผากงเต็กในวันสารทจีน แต่กลับไม่แจกอั่งเปา ซ้ำยังพูดจีนไม่ได้มากไปกว่าการนับเลข 1-10 

คุณคงเกาหัวแกรกๆ เพราะแม้สิ่งที่ประสบพบเจอคือพิธีกรรมและวัฒนธรรมจีนอย่างแน่นอน แต่คนไทยเชื้อสายจีนเหล่านั้นก็แทบจับต้นชนปลายและอธิบายการกระทำของตนเองไม่ได้เสียแล้ว ทว่านั่นอาจไม่ใช่เรื่องน่าตระหนก เพราะเราอาจอยู่ในยุคสมัยที่ความเป็นจีนถูกกลืนให้เป็นไทยไปเรียบร้อยแล้ว

ในอดีตอันใกล้ มีความพยายามในการผูกโยงอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ุของชาวจีนเข้ากับสำนึกความเป็นไทยอย่างแข็งขัน ขณะเดียวกัน แม้จะมีการรักษาวัฒนธรรมและคงสำนึกความเป็นจีนบางอย่างเอาไว้ แต่คนจีนที่อพยพมาพึ่งใบบุญของพระมหากษัตริย์ไทย ก็ถูกย้ำเตือนอยู่เสมอให้ซาบซึ้งในบุญคุณและห้ามกำเริบเสิบสานเนรคุณแผ่นดินไทย สำนึกความเป็นคนไทยเชื้อสายจีนเช่นนี้ โดดเด่นที่สุดในช่วงทศวรรษ 2550 ผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่มีจุดร่วมคือการ ไม่เอา ‘ทักษิณ’ (ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) และลิ่วล้อบริวาร

ปี 2551 กลุ่มคนเสื้อเหลืองชุมนุมขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช โดยมองว่าอาจเป็นนอมินีของทักษิณ กลุ่มพันธมิตรยังเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านท่าทีของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพราะมองว่าเป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์ 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการเน้นย้ำอัตลักษณ์คนไทยเชื้อสายจีนหรือ ‘ลูกจีน’ อย่างเปิดเผยในการปราศรัยของแกนนำกลุ่มพันธมิตร

‘ลูกจีนรักชาติ’ ประโยคสีแดงที่ถูกสกรีนลงบนเสื้อขาว พร้อมผ้าพันคอเหลืองที่ปักคำว่า ‘กู้ชาติ’ กลายเป็นภาพจำของกลุ่มพันธมิตร พร้อมๆ กับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญ สามารถปลุกเร้าคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากในม็อบให้ออกมาปกป้องชาติ (ศาสนา และพระมหากษัตริย์) ได้อย่างทรงพลัง

ถึงอย่างไร ใช่ว่าลูกจีนจะเกิดรักชาติขึ้นมากะทันหันระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง หากแต่แนวคิดลูกจีนรักชาติเป็นผลสืบเนื่องของการประกอบสร้างสำนึก ตัวตน และอัตลักษณ์ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พร้อมคลื่นอพยพของชาวจีนที่พัดพามายังชายฝั่งไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังแผ่นดินใหญ่ตกอยู่ใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์เต็มใบในปี 2492

บทความ ลูกจีนรักชาติ”: สำนึกประวัติศาสตร์ และนิยามประชาธิปไตย (2562)  ของ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์ลูกจีนรักชาติไว้อย่างน่าสนใจ

ทศวรรษ 2490-2500 ชัยชนะของคอมมิวนิสต์เปลี่ยนประเทศจีนเป็นสีแดง และส่งผลสะเทือนให้เกิดคลื่นผู้อพยพชาวจีน เพื่อหนีภัยทางการเมืองและความอดอยากจำนวนมาก ชาวจีนบางส่วนเลือกลงหลักปักฐานในไทย ส่วนใหญ่หาเลี้ยงชีพด้วยการใช้แรงงานในฐานะ ‘จับกัง’ 

ชีวิตใหม่ในไทยแม้ไม่ยากจนข้นแค้นเหมือนในแผ่นดินใหญ่ แต่ชาวจีนอพยพก็มักถูกเบียดขับให้กลายเป็นอื่น (the other) กระทั่งเป็นคนชายขอบในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำเนินนโยบายชาตินิยมอย่างเข้มข้น เมื่อบ้านเก่าก็กลับไม่ได้ และบ้านใหม่ก็เผชิญอุปสรรค คนจีนในไทยจึงพยายามรักษาโรคพร่องความเป็นไทย (Thai deficiency syndrome) ด้วยยาหลายขนาน อาทิ การเปลี่ยนชื่อแซ่เป็นนามสกุลไทย หันมานับถือพุทธเถรวาทแบบไทย หรือใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน แทนภาษาแม่ของตน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนจีนคล้ายถูกบีบบังคับให้ลดทอนและสลายอัตลักษณ์ของตนลง แล้วโอบรับวัฒนธรรมไทยอันเป็นศูนย์กลางของสังคมใหม่นั่นเอง

อย่างไรก็ดี วาทกรรมปิศาจจีนแดงและการดูหมิ่นถิ่นแคลนคนจีนเริ่มลดลงในช่วงทศวรรษ 2510 เมื่อสหประชาชาติรับรองสถานะรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลไทยก็รับไม้ต่อด้วยการสานสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีนในช่วงรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ส่งผลให้ความตึงเครียดและสภาวะแปลกแยกของคนไทยเชื้อสายจีนค่อยๆ ลดลง ดังสะท้อนให้เห็นจากวรรณกรรมชิ้นสำคัญที่เขียนขึ้นในห้วงเวลานั้น อาทิ จดหมายจากเมืองไทย (2513) ของ โบตั๋น หรือ อยู่กับก๋ง (2519) ของ หยก บูรพา ซึ่งล้วนตอกย้ำโครงเรื่องเสื่อผืนหมอนใบ และความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษและตนเองที่ต่อสู้กับความยากลำบากในแผ่นดินใหม่อย่างขยันขันแข็ง จนสามารถตั้งตัวได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมแฝงคุณค่าที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมไทยอย่างการรู้จักที่ต่ำที่สูงไว้ในเนื้อเรื่อง

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลสะเทือนสังคมไทยหลายประการ และประการหนึ่งคือ สร้างภาพลักษณ์ให้คนจดจำว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยไร้ประสิทธิภาพ เปิดทางให้แนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น ทัศนะของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่เรียกหาเสถียรภาพทางการเมืองจากการมีผู้นำที่เข้มแข็ง กล่าวอีกนัย มุมมองเช่นนี้เห็นว่า ระบบอุปถัมภ์สามารถจัดระเบียบและสร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคม การเมืองเป็นเพียงเรื่องการแย่งชิงผลประโยชน์ของคนไม่กี่กลุ่ม และหลักทศพิธราชธรรมก็เป็นเครื่องมือกำกับที่เพียงพอ และทำให้ประมุขของรัฐไทยพิเศษและแตกต่างจากประมุขของสังคมอื่น 

เมื่อลักษณะของประชาธิปไตยแบบไทยๆ เหล่านี้ มาผสมโรงกับวรรณกรรมอย่าง คนจีน 200 ปีภายใต้พระบรมโพธิสมภาร (2526) และ สมเด็จพระตากสินมหาราชและบทบาทชาวจีนในสยาม (2527) ของ เสทื้อน ศุภโศภณ สำนึกของคนจีนในเวลานั้นจึงเริ่มก่อร่างชัดขึ้น คือเป็นลูกจีนที่อยู่เคียงข้างพระมหากษัตริย์ไทย และร่วมมือกันเพื่อกู้ชาติมาช้านาน 

หลังความคุกรุ่นของสงครามเย็นคลี่คลายลงในทศวรรษ 2530 เศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัว ส่วนหนึ่งเพราะภาคอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาไทย ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง แรงงานเชื้อสายจีนเริ่มขยับเลื่อนสถานะเป็นผู้ประกอบการชนชั้นกลาง  ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่ภาคประชาชนมีสามารถโค่นรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่คนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นชนชั้นกลางเหล่านี้ ซึ่งนับวันยิ่งจะมีความเป็นเนื้อเดียวกับสังคมไทยมากขึ้น กระทั่งส่วนหนึ่งเกิดเป็นกลุ่มพันธมิตรในปลายทศวรรษ 2540  

“ผมมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ล่องเรือไปสู่เมืองสยาม ฝ่าไม้เขียวแผ่นดินงดงาม อยู่สยามไม่ตายแน่นอน เสื่อผืนหมอนใบก่อร่างสร้างตน สู้อดทนสู้จนสุดตัว สร้างฐานะจนเป็นเจ้าสัว ไม่ทำชั่ว คดโกงใครกิน…

“ลูกจีนรักชาติ เตี่ยให้สู้ ลูกจีนรักชาติ อาม่าให้สู้ ลูกจีนรักชาติ กู้แผ่นดิน ไล่ทักษิณ ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

ท่อนหนึ่งจากเพลง ‘ลูกจีนรักชาติ’ ที่ถูกขับร้องบนเวทีพันธมิตรในปี 2551 สะท้อนและขมวดปมของการต่อสู้ดิ้นรนที่คนไทยเชื้อสายจีนต้องฝ่าฟันได้เป็นอย่างดี หากแต่ในปัจจุบัน เสียงเพลงหรือกระทั่งปรากฏการณ์ข้างต้น อาจเป็นเพียงบทเห่กล่อมของวันวานที่เลือนรางลงทุกขณะ

อ้างอิง
  • สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. 2558. “ลูกจีนรักชาติ”: สำนึกประวัติศาสตร์และนิยามประชาธิปไตย. วารสารมนุษยศาสตร์สาร, 16(2), 112-157.

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า