สื่อโลกมองไทย หลังเลือกตั้ง’66 เส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯ ของพิธา ในเงื้อมเงาชนชั้นนำทางทหาร

ในขณะที่นักผลิตทฤษฎีสมคบคิดกำลังปั่นประเด็นอเมริกาเข้ามาครอบงำไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เพียงอเมริกาเท่านั้น หากแต่สื่อรายใหญ่เกือบทุกสำนักทั่วโลกต่างร่วมกันรายงานสถานการณ์หลังการเลือกตั้งอย่างคึกคัก ไม่เว้นแม้แต่สื่อวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ระดับโลกอย่าง Nature ยังอุทิศพื้นที่ให้กับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย
พวกเขาเขียนถึงอะไรในการเมืองไทย มีสาระสำคัญอะไรบ้างที่สื่อเหล่านี้หยิบขึ้นมากล่าวถึง ซึ่งนั่นสะท้อนว่าสายตาชาวโลกผู้บริโภคสื่อเหล่านี้กำลังสนใจประเด็นอะไร
นี่คือส่วนหนึ่งของคำตอบ

โครงสร้างอำนาจที่ไม่เหมือนใครในโลก

ประเด็นสังเกตประการแรกในการรายงานผลการเลือกตั้งของสื่อต่างประเทศคือ รายงานข่าวการชนะอย่างถล่มทลายของอดีตพรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย มักจะตามมาด้วยคำถามว่า ชนะแล้วไง จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จริงหรือไม่ 

CNN พาดหัวข่าวว่า Thailand’s opposition won a landslide in elections. But will the military elite let them rule? (พรรคฝ่ายค้านของประเทศไทยชนะการเลือกตั้งอย่างแลนด์สไลด์ แต่ชนชั้นสูงทางทหารจะยอมให้พวกเขาได้บริหารประเทศหรือ)

ขณะที่ The Interpreter สื่อเผยแพร่ของ Lowy Institute คลังสมอง (think tank) ของออสเตรเลีย พาดหัวข่าวว่า Thailand’s election: will the country move forward? (การเลือกตั้งในประเทศไทย: จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปไกลหรือไม่) 

ส่วน The Guardian ของอังกฤษตั้งคำถาม 2 วันหลังการเลือกตั้งว่า Thailand election: will Move Forward be able to claim power? (การเลือกตั้งในประเทศไทย พรรคก้าวไกลจะได้อำนาจหรือไม่)

เช่นเดียวกับสำนักข่าว Al Jazeera ที่ตั้งคำถามในลักษณะเดียวกันว่า “การเลือกตั้งในประเทศไทย: ชนชั้นนำทางทหารจะยอมให้พรรคฝ่ายค้านได้อำนาจจริงหรือ” (Thailand election: will military elite let opposition take power?)

ทั้งหมดนี้รวบเป็นคำถามเดียวสั้นๆ ได้ว่า จะมีประเทศที่เรียกตนเองว่าเป็นประชาธิปไตยสักกี่ประเทศ ที่เสียงของประชาชนในการเลือกตั้งไม่ใช่ตัวชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ดังที่สำนักข่าว Reuters เขียนสรุปไว้ว่า “ในเกือบทุกประเทศ นี่ (ผลการเลือกตั้ง) จะทำให้พวกเขาได้เป็นรัฐบาลอย่างชัดเจน แต่ที่นี่ประเทศไทย…” 

การตั้งคำถามของสื่อต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเห็นอะไรบางอย่างที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยไม่เหมือนประเทศอื่น 

The Guardian เขียนถึงการยุบพรรคการเมืองซึ่งพวกเขามองว่าเป็น ‘แนวโน้มปกติ’ ของการเมืองไทย ด้วยสถิติ 17 ปีที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้ว 9 พรรค รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ สารตั้งต้นของพรรคก้าวไกล ที่ถูกยุบหลังการตั้งพรรคได้เพียง 1 ปี

ขณะที่ CNN ระบุว่าสำหรับประเทศไทยการชนะการเลือกตั้งไม่ได้หมายความถึงการจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เพราะประเทศนี้ใช้รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารที่สร้างวุฒิสมาชิกที่มีอำนาจพิเศษขึ้นมา

CNN ยังมองต่อไปอีกว่า ภัยคุกคามชัยชนะของฝ่ายก้าวหน้ายังรวมถึงพรรคการเมืองที่เคยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศ แต่ใช้อำนาจในการขับเคลื่อนสถาบันอนุรักษนิยมที่ยังมีอิทธิพลต่อประเทศไทย 

ส่วน Al Jazeera ให้ความสำคัญกับอำนาจของชนชั้นนำทางทหารที่พวกเขามองว่าแฝงตัวอยู่ในองคาพยพต่างๆ ของประชาธิปไตยไทย โดยเฉพาะในสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน นอกเหนือไปจากการใช้กำลังทหารและการรัฐประหารที่วนเวียนอยู่ในการเมืองไทยมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา 

มาตรา 112 วาระอ่อนไหว

สื่อต่างประเทศที่เกาะติดการเมืองไทยมานาน ตระหนักดีว่าสังคมไทยให้ความสำคัญและอ่อนไหวกับมาตรา 112 เพียงไร การที่พรรคการเมืองที่ชูประเด็นแก้ไขมาตรา 112 มาตลอดอย่างก้าวไกลได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง ทำให้รายงานข่าวและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเมืองไทยในสื่อต่างประเทศเกือบทุกชิ้นต้องมีพื้นที่ให้กับมาตรา 112 

สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้าง ‘นักวิเคราะห์’ ว่า นโยบายแก้ไขมาตรา 112 อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล เพราะทำให้พรรคการเมืองอื่นที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมีแนวโน้มที่จะไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับก้าวไกล

Al Jazeera มองว่าจุดยืนของก้าวไกลต่อมาตรา 112 ทำให้สมาชิกวุฒิสภาต้องคิดหนักว่าจะโหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปหรือไม่ Al Jazeera มองว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เป็นเรื่องใหญ่และยากสุดที่จะทำให้พรรคก้าวไกลรวบรวมเสียงสนับสนุนให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีให้เกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาภายใน 2 เดือน 

สัมภาษณ์สดพิธาออกอากาศทางช่อง BBC News วันที่ 29 พฤษภาคม โจนาธาน เฮด (Jonathan Head) นักข่าวที่เคยโดนแจ้งความจับด้วยมาตรา 112 เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ยังตั้งคำถามกับพิธาเกี่ยวกับจุดยืนของพรรคต่อการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้รายการสัมภาษณ์สดในวันนั้นถูกระงับสัญญาณจากสื่อในประเทศไทยที่พร้อมจะเซนเซอร์ตัวเอง เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ในมิติที่พวกเขาควบคุมไม่ได้  ทั้งหมดนี้พิธาและพรรคก้าวไกลแสดงท่าทีและให้คำอธิบายถึงการปรับตัวระหว่างสถาบันกษัตริย์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม พร้อมทั้งยืนยันว่าจะรับฟัง และใช้กระบวนการทางรัฐสภา เพื่อหาทางออกต่อประเด็นนี้ร่วมกันกับพรรคการเมืองอื่นๆ

พิธาและปรากฏการณ์คลื่นสีส้ม

กระแสความนิยมในตัวพิธาและปรากฏการณ์คลื่นสีส้ม ยืนยันชัดเจนผ่านตัวเลขคะแนนเสียงที่พรรคก้าวไกลได้รับจากการเลือกตั้ง 

ชื่อและภาพของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ปรากฏในสื่อหลายประเทศ ประเด็นสำคัญที่สื่อต่างชาติให้ความสำคัญกับพิธา ไม่ใช่ด้วยคุณสมบัติส่วนตัวที่เขาอายุน้อยกว่ามาตรฐานผู้นำไทยตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ใช่เพราะความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ หรือภูมิหลังการศึกษาที่จบ ซึ่งถือเป็นปัจจัยรอง 

สาเหตุสำคัญที่สื่อต่างประเทศให้พื้นที่กับเขาในฐานะผู้นำพรรคการเมืองรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ คือ แนวคิดและนโยบายในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักที่ฝังลึกในประเทศไทยมายาวนาน คำที่สื่อต่างประเทศใช้เรียกขานการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือ ปรากฏการณ์คลื่นสีส้ม หรือ ‘Orange Wave’ 

CNN น่าจะเป็นสื่อต่างประเทศสื่อแรกที่สัมภาษณ์สดพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ภายหลังรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ทุกคำถามล้วนท้าทายจุดยืนและทัศนคติทางการเมืองของเขา ตั้งแต่คำถามแรกที่ให้พิธาตีความนัยที่ซ่อนเร้นของผลการเลือกตั้งว่า ประชาชนไทยกำลังส่งสารใดถึงรัฐบาลทหารที่กำลังปกครองประเทศ ไปจนถึงแผนการที่จะก้าวข้ามความท้าทายในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะสำหรับประเทศไทยชัยชนะจากการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกับโอกาสในการได้จัดตั้งรัฐบาล 

ส่วน BBC News แม้จะสัมภาษณ์ทีหลัง แต่เต็มไปด้วยประเด็นที่ชวนให้คิดและวิเคราะห์ตาม นอกเหนือจากเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ที่ทำให้ช่องข่าวในไทยตัดสินใจตัดสัญญาณแล้ว ยังมีคำถามถึงโฉมหน้าของประเทศไทยที่เขาอยากเห็นหลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อนจะจบลงด้วยคำถามที่เปิดโอกาสให้พิธาได้แสดงวิสัยทัศน์และบริหารเสน่ห์ อาทิ นโยบายหลายอย่างของพรรคก้าวไกลเป็นสิ่งที่รัฐบาลก่อนๆ ทำมาแล้วแต่ล้มเหลว อะไรทำให้พิธาคิดว่ารัฐบาลของเขาจะทำสำเร็จ ซึ่งพิธารวบยอดคำตอบไว้ในประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียวว่า “เพราะผมแตกต่าง” 

การสัมภาษณ์ครั้งนี้ทำให้โจนาธาน เฮด ผู้คร่ำหวอดกับการเมืองไทยมาเนิ่นนานถึงกับบอกว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ใช่นักการเมืองไทยแบบที่พบได้ทั่วไป”

Asia Times เผยแพร่บทความเรื่อง ‘พิธากับความหมายต่อสังคมไทย’ ก่อนจะขยายความตามมาว่า “ผู้นำหัวก้าวหน้าที่ต้องการจัดการกับกองทัพ สถาบันกษัตริย์ และธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เขาไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” เนื้อหาของบทความพูดถึงความตั้งใจและความทะเยอทยานของพิธาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศที่ประชาธิปไตยอยู่ในกำมือของทหารและขับเคลื่อนด้วยอำนาจที่มองไม่เห็นของชนชั้นนำ มาเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจถูกกระจายไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

บทความชิ้นนี้ของ Asia Times ยังให้พื้นที่กับประวัติส่วนตัวของพิธาค่อนข้างมาก โดยให้นัยว่าคุณสมบัติส่วนตัวที่โดดเด่น ทั้งภูมิหลังครอบครัว ภูมิหลังทางการศึกษา ทัศนคติและจุดยืนในการขับเคลื่อนประเทศไทย เป็นปัจจัยที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น เพราะนอกจากจะดึงดูดคนหนุ่มสาวที่กระตือรือร้นทางการเมืองให้เข้ามาเป็นฐานเสียงได้แล้ว ฐานเสียงหนุ่มสาวเหล่านี้ยังสามารถโน้มน้าวใจให้ผู้อาวุโสกว่าในครอบครัวโหวตเลือกก้าวไกลด้วย 

หากนับบรรดาผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่รายงานข่าวโดยใช้พิธาเป็นศูนย์กลางแล้ว ริชาร์ด เอชร์ลิช (Richard Ehrlich) แห่ง Asia Times ผู้เขียนบทความชิ้นนี้น่าจะมองประเด็นอย่างตรงไปตรงมา เพราะแม้จะตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่น่าจะเป็นที่พิธาจะสามารถขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของไทย ด้วยอุปสรรคจากอำนาจของชนชั้นทางทหาร แต่บทความที่เผยแพร่ในวันที่ 18 พฤษภาคมของเขา แสดงความเห็นไว้ว่า ไม่น่าจะมีการเคลื่อนไหวจากฝั่งทหารในอนาคตอันใกล้ อุปสรรคใหญ่สุดน่าจะอยู่ที่การนำประเด็นถือหุ้นบริษัทที่เคยทำธุรกิจด้านสื่อซึ่งพิธาได้รับมรดกมาจากพ่อมาใช้เป็นเครื่องมือขัดขวางการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพิธาและพรรคก้าวไกลก็จับสัญญาณพิรุธจนตัดสินใจโอนหุ้นให้ทายาทคนอื่น 

สิ่งที่น่าสังเกตและทำความเข้าใจคือ การตั้งคำถามของสื่อต่างประเทศที่มองไปถึงปรากฏการณ์คลื่นสีส้มว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่จุดเปลี่ยนทางการเมืองได้อย่างแท้จริงเพียงใด ภายใต้เงื่อนไขโครงสร้างสังคมและการเมืองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงนั้นมีความหมายอย่างไรต่อสังคมไทย 

คำถามเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงสายตาชาวโลกที่มองมายังประเทศไทย ไม่เว้นกระทั่งคำถามของวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์อย่าง Nature ซึ่งไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้ประเด็นการเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ยังตั้งคำถามว่า รัฐบาลใหม่หัวก้าวหน้าที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งในเมืองไทย จะขับเคลื่อนงานวิจัยและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศที่เต็มไปด้วยแรงงานไร้ฝีมือได้อย่างไร 

ทั้งหมดนี้อาจกล่าวสั้นๆ ได้ว่า ประชาคมโลกต่างแสดงความห่วงใยในความล้าหลังของสังคมไทย แต่ยังมีความหวังเมื่อเห็นผลการเลือกตั้ง

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า