6 กุมภาพันธ์ 2561 ข่าวสารทั้งออนไลน์และออฟไลน์พูดถึงการล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร
ถัดมาคือภาพของบรรดาซากสัตว์ ซึ่งรวมถึงหนังเสือดำที่ถลกไว้ดิบดี อาวุธและกระสุนปืนจำนวนมาก
ถัดมาอีกคือภาพชายผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งใน ‘ผู้ล่า’ เปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของประเทศ จนกลายเป็นประเด็นว่า ทำไมนายเปรมชัยถึงมีสิทธิ์เข้าไปแคมป์ที่มีลักษณะของการล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าสงวน จนถูกจับได้แบบคาหนังคาเขา – ที่สุดแล้ว เจ้าสัวแห่งวงการก่อสร้างรายนี้จะมีความผิดจริงหรือไม่
และเหมือนตัวเลขจะกลั่นแกล้ง เมื่อเหตุการณ์ทุ่งใหญ่ฯ 2561 ดูละม้ายคล้ายทุ่งใหญ่ฯ 2516 ที่เป็นหนึ่งในชนวนเหตุ 14 ตุลา
WAY รวบรวมเหตุการณ์เด่น คดีดัง ระหว่าง ‘คน’ กับ ‘ป่า’ ไล่เรียงตั้งแต่ปี 2516-2561 ทั้งนักการเมือง นายทหาร ผู้มีอันจะกิน ที่อยู่รอดปลอดภัย ไปจนถึงคนธรรมดาสามัญที่ไม่ติดคุกก็หายสาบสูญ
ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ เชื้อฟืนสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
“สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ
มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี
เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก
เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ”
ข้อความที่อยู่กึ่งกลางบทกวีไร้ฉันทลักษณ์กับถ้อยแถลงทางการเมืองนี้ ปรากฏในหนังสือเล่มหนึ่งของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่รวมตัวกันเป็นชมรมชื่อ มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ
ข้อความนี้ถากถางรัฐบาลขณะนั้นต่อกรณีเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2516 เป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับคณะนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เข้าไปล่าสัตว์ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน 2516 และการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด และจอมพลประภาส จารุเสถียร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก อีกคนละ 1 ปี โดยที่จอมพลถนอมนั้นเคยได้รับการต่ออายุมาก่อนหน้านั้นแล้วครั้งหนึ่ง
สองเหตุการณ์รวมอยู่ในข้อความเดียว หลังจากนั้นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจำนวน 9 คน ถูกสั่งให้ลบชื่อออกจากการเป็นนักศึกษา
ก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ 2 ปี จอมพลถนอมทำการปฏิวัติรัฐบาลตัวเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 เขาอ้างเหตุผลภัยคุกคามจากต่างชาติที่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในโดยสนับสนุนผู้ก่อการร้ายในประเทศ จอมพลถนอมส่งคนของตนเข้าไปในหน่วยงานที่มีอำนาจมากมายในการตรวจตราการปฏิบัติงานของข้าราชการ
เสียงเรียกร้องจากประชาชนให้คณะปฏิวัติรีบประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศไม่เคยเกิดผล ในปี 2515 เป็นปีที่สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้ถูกต้องตามธรรมเนียมนิยม ด้วยเหตุนี้จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี ‘สภานิติบัญญัติแห่งชาติ’ เพียงสภาเดียว โดยสมาชิกมีสิทธิ์ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ แต่ห้ามอภิปรายหรือซักถามเพิ่มเติม ที่สำคัญคือสมาชิกไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดว่าห้ามเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ
กรณีเฮลิคอปเตอร์ตก เผยให้เห็นคณะนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่พากันเข้าไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ โดยใช้อาวุธในราชการสงคราม ในเที่ยวกลับเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งในสองลำเกิดอุบัติเหตุตกลงกลางทุ่งนาอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซากสัตว์ป่าที่บรรทุกมากระจายเกลื่อนทุ่ง เรื่องจึงเป็นข่าวฉาว
นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รวมกลุ่มกันออกหนังสือของชมรมคนรุ่นใหม่ชื่อ มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ และการปรากฏข้อความ “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก ๑ ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ” ก็ทำให้เหตุการณ์ลุกลามออกไปวงกว้าง
นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจำนวน 9 คน ถูกคัดชื่อออกจากบัญชีนักศึกษา เหตุเพราะพวกเขาได้รวมกลุ่มกันออกหนังสือดังกล่าว ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงรวมตัวประท้วงคำสั่งของ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี และศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมสนับสนุนด้วย
นิสิตนักศึกษาทุกสถาบันประมาณ 50,000 คน เข้าร่วมขบวนประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516 พวกเขาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับนักศึกษาทั้ง 9 คน เข้าเป็นนักศึกษาดังเดิม และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก นักศึกษายังเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน เรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน ผลลงเอยที่นักศึกษาทั้ง 9 คน ได้กลับเข้าเรียนตามปกติ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี แต่ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ยังไม่เกิดขึ้นจริง
จากเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้กลุ่มผู้นำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สนใจ ร่วมกันก่อตั้ง ‘กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ’
ถ้ามองจากจุดนี้ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ได้เผยเงาร่างขึ้นมารางๆ แล้ว
ที่มา: สารคดีฉบับพิเศษ ‘รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย’ พ.ศ. 2541
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับเขายายเที่ยง
นับเป็นคดีร้อนฉ่าของนายกรัฐมนตรี (ในสมัยนั้น) เมื่อ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเขายายเที่ยง
เขายายเที่ยงเป็นภูเขาอยู่ในเขตตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีอาณาเขตติดต่อกับป่าเขาเตียน ป่าเขาเขื่อนลั่น ป่าปากช่อง ป่าหมูสี และเขื่อนลำตะคอง โดยปี 2508 กรมป่าไม้ได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนฯ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
เท้าความกลับไปปี 2534 กรมป่าไม้ได้เข้าไปจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรที่อาศัยอยู่บนเขายายเที่ยง นายเบ้า สินนอก ได้รับการจัดสรรที่ดินดังกล่าวจำนวน 2 แปลงติดกัน แปลงแรกมีเนื้อที่ 14 ไร่ ส่วนแปลงที่สองมีเนื้อที่ 7 ไร่ และเข้าไปทำการเกษตรเพื่อประกอบอาชีพ เช่น ทำไร่มันสำปะหลัง ละหุ่ง และข้าวโพด
ต่อมาในปี 2536-2537 นายเบ้าได้ตัดสินใจขายที่ดินให้ นายนพดล พิทักษ์วานิชย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ในราคา 700,000 บาท จากนั้นนายนพดลได้ขายต่อให้กับ พลเอกสุรฤทธิ์ จันทราทิพย์ ในราคา 50,000 บาท แต่พอปี 2545 ชื่อผู้ถือครองก็ถูกเปลี่ยนเป็นของพันเอกหญิง ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ ภรรยาของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
กระทั่งเรื่องมีปัญหาและบานปลายเมื่อปี 2550 หลังจากพลเอกสุรยุทธ์นั่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็ถูกทนายความ นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับพลเอกสุรยุทธ์ ข้อหาบุกรุกที่ดินป่าสงวนเขายายเที่ยง หลังจากนั้นจึงโดนอีกกรณีคือ ครอบครองโบกี้รถไฟในพื้นที่ส่วนตัว
ข่าวฉาวขององคมนตรีผู้นี้ลากยาวไปถึงปี 2552 แม้เจ้าตัวจะยืนกรานชัดเจนว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด พร้อมพานักข่าวกว่า 40 ชีวิต เข้าไปดูในบ้านตัวเองให้เห็นกับตา จนต้นปี 2553 คดีความก็สิ้นสุด เมื่ออัยการชี้ว่าคดีของพลเอกสุรยุทธ์ไม่ผิด เนื่องจากขาดเจตนาบุกรุกป่า แต่ยืนยันว่าพลเอกสุรยุทธ์ไม่มีสิทธิครอบครอง ส่งผลให้บ้านพักของพลเอกสุรยุทธ์ต้องถูกรื้อถอนไปในที่สุด
ที่มา: http://www.komchadluek.net/news/politic/43945
https://thaipublica.org/jabted_issue/%E0%B8%9B%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87/
คนเก็บเห็ดในตำนาน
12 กรกฎาคม 2553 หลัง นายอุดม ศิริสอน อายุ 53 ปี และ นางแดง ศิริสอน อายุ 50 ปี สองสามีภรรยาจังหวัดกาฬสินธุ์ จอดรถจักรยานยนต์ไว้หน้าเขตป่าสงวนแห่งชาติ บ้านหนองกุงไทย หมู่ 6 ตำบลโนนสะอาด อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งคู่ให้การภายหลังว่าเพื่อเข้าไปเก็บเห็ด เป็นเวลาเดียวกับที่เจ้าหน้าที่กำลังเข้าจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ ทั้งคู่ให้การในภายหลังอีกว่า เพราะเห็นกลุ่มคนตัดไม้หลบหนีออกจากป่า ด้วยความกลัว พวกเขาจึงวิ่งหนีตามไปด้วย จักรยานยนต์คันดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ยกไปสอบทะเบียน ทราบว่าเจ้าของรถคือนายอุดม
ต่อมาทั้งสองถูกตั้งข้อหาว่าบุกรุกและตัดไม้ในพื้นที่ป่าแห่งนี้รวม 72 ไร่ ครอบครองไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต มีพยานหลักฐานคือไม้สักและกระยาเลยกว่า 1,000 ต้น
26 กันยายน 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 30 ปี แต่ผู้ต้องหาทั้งสองยอมรับสารภาพจึงลดโทษเหลือเวลา 15 ปี ทั้งคู่สู้คดีต่อไป แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือจำคุก 15 ปี ก่อนที่จะมีการยื่นฎีกา
ทั้งสองยืนยันว่า ที่รับสารภาพต่อหน้าศาลเพราะไม่เข้าใจคำฟ้อง เห็นว่าหากยอมรับว่าเข้าไปเก็บเห็ดในป่าสงวนมากินจะได้รับโทษสถานเบา เพราะเชื่อเพื่อนบ้านว่าหากรับสารภาพแล้วศาลจะลดโทษ และปล่อยตัวกลับบ้าน
แน่นอนว่านายอุดมและนางแดงไม่ได้รับโทษสถานเบา ไม่ใช่การจ่ายค่าปรับแล้วกลับบ้านไป หลังจากการต่อสู้อย่างยาวนานตลอด 7 ปี และเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจในฐานะตัวแทนของ ‘ชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย’ ‘การสู้คดีในฐานะคนจน’ และ ‘การต่อสู้เพื่อไม่ให้เป็นแพะ’
2 พฤษภาคม 2560 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกสองสามีภรรยาเก็บเห็ดคนละ 5 ปี
วันเดียวกันนั้น นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงว่า การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความยุติธรรม ปราศจากอคติเรื่องความจนรวย ไม่ใช่วาทกรรม ‘สองตายาย’ เพราะในระหว่างที่ทั้งคู่ถูกดำเนินคดี ขณะนั้นนายอุดมอายุ 48 ปี ยืนยันว่าที่ศาลชั้นต้นพิจารณาโทษเช่นนั้นเพราะจำเลยรับสารภาพที่หน้าศาล
ที่มา: https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_329663
https://www.posttoday.com/local/scoop/493065
http://www.manager.co.th/game/viewnews.aspx?NewsID=9590000028017
‘บิลลี่’ นักสู้ผู้หายตัวจากแก่งกระจาน
17 เมษายน 2557 พอละจี รักจงเจริญ หรือ ‘บิลลี่” แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หายตัวไปในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพยานเห็นบิลลี่ครั้งสุดท้ายอยู่กับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต่อมา นายชัยวัฒน์ยอมรับว่าควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง เพราะพบว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง 6 ขวด จึงเรียกไปตักเตือน แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว
หลังจากนั้นตำรวจได้ตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดี ก่อนสรุปสำนวนส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินคดีกับนายชัยวัฒน์ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในส่วนคดีอาญาเกี่ยวกับการบังคับให้บิลลี่หายตัวไป ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ ‘มึนอ’ ภรรยาของบิลลี่ ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีการไต่ส่วนการหายตัวของบิลลี่ แต่ศาลยกคำร้อง โดยศาลระบุว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ต่อมามึนอยื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ กระทั่งเดือนเมษายนปีที่แล้ว ดีเอสไอจึงมีมติกลับมาสืบคดีบิลลี่อีกครั้ง
มูลเหตุสำคัญในการหายตัวไปของบิลลี่ เกี่ยวข้องกับกรณีชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เผาบ้าน เผายุ้งข้าว เมื่อเดือนพฤษาคม 2554 บิลลี่ในฐานะสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง เข้ามาช่วย ‘ปู่คออี้’ หรือ โคอิ มิมี และชาวบ้าน พาไปฟ้องที่ศาลปกครอง สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าหน้าที่
7 กันยายน 2559 ศาลปกครองกลางตัดสินว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ แต่ให้จ่ายสินไหมทดแทนคนละ 10,000 บาท ซึ่งผู้ฟ้องได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อ
“พี่บิลลี่เคยบอกว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งเขาเดินทางออกมาจากป่าเด็งมาถึงบางกลอยแล้วเขาหายไป ไม่ต้องเป็นห่วงเขานะ ไม่ต้องตามหาเขานะ ให้รู้เลยว่าเขาถูกฆ่าตาย” มึนอให้สัมภาษณ์
ที่มา: https://thaipublica.org/2017/04/polajee-rakchongcharoen-or-billy/
https://www.matichon.co.th/news/531185
จำคุก พลตำรวจเอกจุมพล มั่นหมาย รุกป่าทับลาน
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 พลตำรวจเอกจุมพล มั่นหมาย อดีตรองรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ถูกออกหมายจับในข้อหาก่อสร้างบ้านพักตากอากาศบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2560 ตำรวจกองปราบปรามได้นำตัวมารับทราบข้อกล่าวหาและสอบปากคำในสภาพผมสั้นเกรียน
จากเอกสารสรุปข้อเท็จจริงที่ตำรวจกองปราบปรามแจกจ่ายให้สื่อมวลชน มีใจความว่า พลตำรวจเอกจุมพล มีบ้านพักตากอากาศที่บ้านสุขสมบูรณ์ หมู่ 2 ตำบลไทยสามัคคี พื้นที่ประมาณ 13 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา ซึ่งพบว่าตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 และ 55, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 (1) (4), พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ
10 มีนาคม 2560 ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาไต่สวนคดีที่พลตำรวจเอกจุมพล พร้อมพวกรวม 7 คน ถูกกล่าวหาบุกรุกป่าทับลาน โดยศาลพิพากษาให้จำคุก 6 ปี ฐานทุจริตต่อหน้าที่และบุกรุกทำลายป่า แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากพื้นที่ที่บุกรุก และชดใช้ค่าเสียหายให้กับทางราชการเป็นจำนวน 892,000 บาท
ปัจจุบัน พลตำรวจเอกจุมพลอายุ 67 ปี โดยก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งสำนักพระราชวังที่ 183/2560 เรื่อง ลงโทษไล่ออกจากราชการ ในตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ที่มา: http://www.bbc.com/thai/thailand-39137492
https://www.thairath.co.th/content/880615
‘หลานสุเทพ’ พัวพันขบวนการมอดไม้พะยูง
นายวิทวัฒน์ เทือกสุบรรณ หลานชายของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หัวหน้าขบวนการ กปปส. มีส่วนพัวพันกับคดีลักลอบตัดไม้พะยูงที่สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของนายสุเทพเอง
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 ตำรวจ สภ.บ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สฎ.2 (ห้วยมุด) เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงบ้านนาสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจยึดท่อนไม้พะยูงที่ถูกลักลอบตัดบริเวณริมถนนสายเอเชีย 41 และยึดรถยนต์กระบะที่คนร้ายทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ โดยรถคันดังกล่าวเป็นของ นายบรรจง เทือกสุบรรณ ซึ่งอ้างว่า นายวิทวัฒน์ เทือกสุบรรณ อายุ 34 ปี บุตรชาย ยืมไปเมื่อ 2 วันก่อน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ โต๊ะข่าวภาคใต้ รายงานความคืบหน้าว่า นายวิทวัฒน์ เทือกสุบรรณ อายุ 34 ปี ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เข้ามอบตัวให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนแล้ว พร้อมทั้งให้การว่า ในคืนเกิดเหตุมีผู้มาจ้างวานให้ไปรับคนงานในบริเวณดังกล่าว แต่เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบจึงวิ่งหนีเอาตัวรอดด้วยอาการตกใจ และจำต้องทิ้งรถไว้ในที่เกิดเหตุ ซึ่งในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหานายวิทวัฒน์ ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตไว้ในครอบครอง ซึ่งไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรัฐขาย ทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต
ที่มาและภาพ: https://mgronline.com/south/detail/9610000011824
แคมป์ทุ่งใหญ่ 2561 บิ๊กอิตาเลียนไทยกลางป่ามรดกโลก
ตกเป็นข่าวครึกโครมแทบจะทันที เมื่อมีการเปิดเผยเหตุจับกุมนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปตั้งแคมป์ในทุ่งใหญ่ และเมื่อตรวจสอบบริเวณตั้งแคมป์พบไก่ฟ้าหลังเทา ซากเนื้อเก้ง ซากเสือดำ พร้อมอาวุธปืนเครื่องกระสุนจำนวนมาก
ข่าวคราวอาจไม่ฮือฮาขนาดนี้ หากในจำนวนผู้ถูกจับกุมไม่มีชื่อของ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของประเทศที่รับเหมาโครงการน้อยใหญ่ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
แฟนเพจคนอนุรักษ์ ซึ่งเปิดประเด็นนี้สู่สาธารณะรายงานว่า เหตุการณ์จับกุมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13.00 น. บริเวณป่าห้วยปะชิ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
เว็บไซต์มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร รายงานลำดับเหตุการณ์ว่า นายเปรมชัย กรรณสูต และพวกรวมทั้งหมด 4 คน ได้เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในเส้นทางที่ชื่อว่า ทินนวย-ทิคอง-มหาราช ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์
4 กุมภาพันธ์ เจ้าที่ได้รับแจ้งว่าคณะของนายเปรมชัยลักลอบตั้งแคมป์พักแรมในจุดห้วยปะชิ ซึ่งอยู่ระหว่างหน่วยฯ ทิคอง กับหน่วยฯ มหาราช โดยจุดดังกล่าวไม่อนุญาตให้มีการตั้งแคมป์แต่อย่างใด เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพบอาวุธปืนไรเฟิล ปืนยาวลูกซองแฝด ปืนยาวขนาด .22 และพบซากไก่ฟ้าหลังเทากับเนื้อเก้ง จึงได้ควบคุมตัวนายเปรมชัยพร้อมคณะมาที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
จากนั้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมพบในจุดตั้งแคมป์ พบซากเสือดำซึ่งถูกชำแหละแยกชิ้นส่วนกะโหลก 1 หัว และผืนหนังเสือดำซึ่งถูกถนอมซากด้วยการทาเกลือไม่ให้เน่าเสียบรรจุอยู่ในถุงดำซุกซ่อนไว้ใต้พุ่มไม้ นอกจากนี้ยังพบเครื่องกระสุนปืนลูกซองขนาดต่างๆ กระสุนปืนไรเฟิล พร้อมอุปกรณ์เดินป่าอีกจำนวนมาก
หลังการจับกุมและส่งมอบตัวนายเปรมชัยและพวกต่อพนักงานสอบสวน สภ.ทองผาภูมิ ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา 6 ข้อหาในฐานความผิด ได้แก่
- ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 36 และมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
- ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 16 และมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
- ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 19 และมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
- ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามข้อ 1 (1) ของกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
- ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
- ความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
เรื่องร้อนไปถึงผู้บริหารระดับสูง นางสาวกาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาปฏิเสธว่า นายเปรมชัย กรรณสูต ไม่ใช่แขกของตนเองตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด เพียงแต่มีการติดต่อสอบถามเรื่องเข้าพักในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งตนได้แจ้งข้อมูลเบื้องต้นและประสานไปยังหัวหน้าเขตฯ ตามขั้นตอนปกติเท่านั้น
ส่วนนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า แม้ผู้ต้องหาเป็นนักธุรกิจระดับสูงก็ไม่รู้สึกกังวลแต่อย่างใด การดำเนินการต่อจากนี้จะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
ด้านพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จะต้องมีการสอบสวนตามพยานหลักฐาน อย่าเพิ่งปรักปรำใคร อย่าใช้ความรู้สึกไปตัดสิน และขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่
สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีพื้นที่ 2,279,500 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกตั้งแต่ปี 2534 ให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ผืนป่าแห่งนี้ยังเป็นต้นธารของแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด โดยเสือดำที่พบเป็นซากนั้นเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองซึ่งอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง เฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมีการสำรวจพบเพียง 100-130 ตัวเท่านั้น
ที่มา: เฟซบุ๊คเพจ คนอนุรักษ์