แม้ว่าสถานะและบทบาทของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทว่ายังมีกลุ่มผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่พวกเธอยังถูกละเลยจากรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พวกเธอกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง บทสรุปนี้ได้มาจากการพิจารณาข้อเสนอของขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นเรียกร้องให้คนทำงานดูแลในบ้านได้รับค่าตอบแทน โดยมีข้อเสนอ 3 ประการ ได้แก่
1. เรียกร้องให้มีการระบุถึงความสำคัญของงานดูแลในบ้านว่าเป็นงานที่มีคุณูปการต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ รวมถึงการให้ถือว่าเป็นงานที่มีมูลค่าไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
2. เรียกร้องให้รัฐดำเนินการสนับสนุนคนทำงานดูแลในบ้านในรูปแบบของ ‘ค่าตอบแทนงานดูแลในบ้าน’ (Care Income) โดยสามารถสนับสนุนในประเภทค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินหรือที่ดิน ทั้งนี้ รัฐอาจระบุข้อเรียกร้องดังกล่าวไว้ในหมวดที่ 3 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
3. เรียกร้องให้รัฐและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของการทำงานในบ้าน พร้อมทั้งจัดทำสถิติข้อมูลเผยแพร่ โดยให้ถือว่าเป็นมูลค่าเศรษฐกิจในระดับประเทศ
ความเป็นจริงของหญิงเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง
ในอดีตสังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกกำหนดโครงสร้างโดยผู้ชาย สถานะและบทบาทของผู้หญิงจึงถูกยึดโยงไว้กับสถาบันครอบครัวตลอดมา ในขณะที่สังคมภายนอกก็ยึดโยงสถาบันครอบครัวไว้อีกชั้นหนึ่ง เรื่องราวชีวิตของผู้หญิงส่วนใหญ่ตั้งแต่วัยเด็กขึ้นอยู่กับบิดา เมื่อทำการสมรสแล้วก็ขึ้นอยู่กับสามี กระบวนการต่างๆ ในสังคมได้หล่อหลอมความคิดนี้ว่าเป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่ต้องมีสถานะอันเป็นรองจากผู้ชาย ในวาระที่ผู้หญิงได้รับโอกาส แม้ว่าแรงงาน สติปัญญา และความพยายามของพวกเธอนั้นจะมีส่วนในการสร้างโลกได้เท่าเทียมกับผู้ชายก็ตาม ความจริงข้อนี้กลับถูกเพิกเฉยจากระบบคิดของผู้คนในสังคม
ความเป็นหญิงถูกทำให้มองว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ เคยมีผู้กล่าวว่า ผู้หญิงมีความเหมาะสมที่จะถูกกำหนดให้อยู่ในโลกที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ โดยครอบครัวเองก็เปรียบเสมือนผู้หญิง แต่ในความจริงแล้ว ความเป็นหญิงนี้เป็นสิ่งซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยวัฒนธรรม หาใช่โดยธรรมชาติ
ในสมัยสังคมยุคต้นๆ กฎหมายเป็นหนึ่งในฐานรองรับอันสำคัญที่ส่งผลให้สถานะของผู้หญิงถูกกดให้ต่ำกว่าผู้ชาย ผู้คนจำนวนหนึ่งมองว่า กฎหมายที่กดขี่ผู้หญิงไว้นั้นเป็นผลอันเกิดจากวัฒนธรรมที่ต้องการเหยียบย่ำคุณค่าผู้หญิงให้ต่ำกว่าภาพที่แท้จริง โดยใช้คำว่า ‘เป็นธรรมชาติ’ มาเป็นเหตุผลรองรับสถานะดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม นักคิดบางท่านได้ให้ข้อเสนอไว้ว่า สถานะในทางกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน หาใช่ปฐมบทของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงที่มีมาตั้งแต่ยุคสมัยแรกเริ่ม ทว่าเป็นผลของการที่ผู้หญิงถูกกดขี่ในทางเศรษฐกิจ ที่กำหนดให้การดูแลบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงต่อสังคม เป็นแรงงานที่มีความสำคัญพอๆ กับงานหาเสบียงของผู้ชาย โดยมีผลิตผลต่างๆ จำนวนเท่าที่เพียงพอต่อครอบครัว
เมื่อสังคมมีการพัฒนาทางด้านเทคนิคและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นๆ ได้ แรงงานผู้หญิงจึงไม่มีความจำเป็นในการผลิตเพื่อสังคมอีกต่อไป และถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นการทำงานเพื่อครอบครัวแทน โดยถูกกำหนดในอาณาบริเวณพื้นที่ส่วนตัว นั่นคืองานในบ้าน ซึ่งเป็นงานเพื่อบริการส่วนตัว แม้จะเป็นแรงงานที่ยังคงจำเป็น หากแต่เป็นไปในรูปแบบของงานที่มีสถานะอันเป็นรองเพื่อแลกเปลี่ยนผลผลิตที่มากเกินเท่านั้น
ต่อมาในยุคอุตสาหกรรม ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ทำงานประกอบอาชีพมากขึ้น ทว่าพวกเธอเลือกจะทำงานในบ้านเพื่อบริการส่วนตัวให้กับครอบครัวหรือสามีแล้ว พวกเธอก็อาจจะถูกกีดกันจากการเป็นผู้ผลิตให้กับสังคม ในทางตรงกันข้าม เมื่อพวกเธอเลือกออกไปประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตเพื่อสังคม และมีรายได้อย่างอิสระ พวกเธอก็อาจไม่สามารถบริการครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ผู้หญิงจึงถูกมองว่าเป็นเพียงผู้ผลิตในชนชั้นกรรมาชีพ ขณะที่ผู้ชายนั้นมีโอกาสจะได้รับบทบาทเป็นผู้นำทางชนชั้นมากกว่า
มองงานดูแลในบ้านและความเป็นแม่ ผ่านนิติศาสตร์สตรีนิยม
แนวคิดสตรีนิยมเชิงวัฒนธรรม (Cultural Feminism) หรือ สตรีนิยมแนวความสัมพันธ์ (Relational Feminism) ให้การยอมรับและสนับสนุนประเด็นความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงอย่างชัดเจน โดยอธิบายว่าวิธีที่ผู้หญิงมักใช้ในการแก้ไขปัญหา ท่าทีในการมองโลกและการสร้างตัวตนของพวกเธอนั้นมีความแตกต่าง โดยพยายามทำให้ ‘เสียง’ ของผู้หญิงที่แสดงออกมามีความแตกต่างว่ามาจากความห่วงใยต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แนวคิดนี้สนับสนุนบทบาท กิจกรรม และให้ความสำคัญของการเป็นแม่ โดยมองว่าผู้หญิงนั้นมีลักษณะที่เอื้อต่อการทำหน้าที่แม่ ผู้หญิงต้องร่วมกันเคลื่อนไหวต่อสู้ในการเปลี่ยนแปลงสถาบันสังคมให้มีความสอดคล้องกลมกลืนกับคุณค่าที่เกื้อกูลกับบุคลิกลักษณะที่ผูกพันกับผู้หญิงมาตั้งแต่เดิม
อีแวนส์ หนึ่งในนักสตรีนิยม มองว่า นักสตรีนิยมมีจุดยืนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อว่า ผู้หญิงยากลำบากจากระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมเพราะว่าเพศของพวกเธอเอง เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่นักสตรีนิยมจะต้องผลักดันให้สภาพของผู้หญิงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทางใดทางหนึ่งเป็นอย่างน้อย ความเห็นนี้สอดคล้องกับ อาร์นีล นักสตรีนิยม ที่มองว่า ไม่ว่าเวลาใดและสถานที่ใด สตรีนิยมยังคงมองว่าผู้หญิงและผู้ชายไม่เคยเท่าเทียมกันในทางอำนาจ ทั้งในทางสังคมหรือในชีวิตส่วนตัว ผู้หญิงและผู้ชายควรมีความเท่าเทียมกัน รวมถึงความเชื่อที่ว่าความรู้ที่ดำรงอยู่ในสังคมได้ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชายและเป็นไปเพื่อผู้ชาย
ปัจจุบันที่พบในบางกรณีปฏิเสธได้ยากว่า การเป็นแม่กับงานดูแลในบ้านยังคงเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ยากมาก โวลสโตนคราฟท์ นักสตรีนิยมปฏิเสธอย่างชัดเจนว่า ผู้ชายกับผู้หญิงนั้นไม่ได้แตกต่างกันตามธรรมชาติ แต่ยังคงยอมรับว่า ‘การเป็นแม่’ เป็นหน้าที่ของผู้หญิงตามธรรมชาติ และมองว่า “การดูแลเด็กในช่วงที่เป็นเด็กอ่อน เป็นหนึ่งในหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ที่ยึดโยงกับคุณสมบัติของความเป็นหญิงโดยธรรมชาติ”
จากกรณีที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มผู้หญิงได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อให้ประเด็นการทำงานในบ้านได้รับการกำหนดคุณค่าไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กฎหมาย และรัฐ เป็นไปในลักษณะที่มีวิธีการซับซ้อนและไม่ชัดเจน อันเป็นผลทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับประโยชน์หรือความเป็นธรรมจากกฎหมายเท่าที่ควร ดูราวกับว่ากฎหมายไร้ซึ่งจิตใจที่มีให้กับผู้หญิง มุมมองนี้นำมาสู่การเป็นแนวคิดที่เรียกว่า ‘นิติศาสตร์แนวสตรีนิยม’ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดสตรีนิยม มุ่งศึกษาผ่านเพศสภาพในแง่มุมที่เป็นผู้หญิง โดยมองว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และอยู่ในสถานะความเป็นรองภายใต้อุดมการณ์แบบชายเป็นใหญ่ หรือเรียกว่า ‘ระบอบปิตาธิปไตย’ ที่ผู้ชายได้ครอบงำเข้าไปในทุกโครงสร้างของสังคมและกฎหมาย เป็นการพินิจพิเคราะห์ถึงกฎหมายที่มีรากฐานแยกขาดจากความสัมพันธ์ภายในสังคม เพื่อโต้ตอบกับกระแสความคิดทางกฎหมายที่ถูกอธิบายว่าเป็นผลผลิตจากอุดมการณ์แบบชายเป็นใหญ่ โดยแสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นหรือท่าทีของผู้หญิงต่อกฎหมายว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวพันหรือมีความสัมพันธ์ต่อผู้หญิงอย่างไร ดังนั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวที่มีความเชื่อมโยงทางด้านกฎหมาย กฎหมายนั้นจึงควรให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติที่พิเศษต่อผู้หญิง
นิติศาสตร์แนวสตรีนิยมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองด้วย ตราบใดที่ผู้หญิงยังไม่มีสถานะในทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หรือยังคงถูกกีดกันไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตให้กับสังคมอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเฉพาะถ้าหากเป็นสภาวการณ์ที่อยู่ภายใต้สังคมที่คนส่วนน้อยกดขี่เอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง สามารถกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคมเพื่อตนเองเท่านั้น ตราบนั้นความเสมอภาคทางเพศก็ยังไม่มีความชัดเจน
ในงานบ้านและความเป็นแม่ นับว่าเป็นการใช้แรงงานประเภทหนึ่งซึ่งควรได้รับความสำคัญจากทางภาครัฐ ความเสียสละนี้ไม่เพียงแต่ต้องใช้แรงงานทางกำลังกายและความคิดเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการเสียสละเวลาในยุคที่เราหลายคนยอมรับว่า เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญ และในบางวาระที่เวลาถูกแปลงเป็นค่าตอบแทนได้เสมอ จึงเป็นเหตุผลที่กลุ่มผู้หญิงได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างมีความหวัง
การจะเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมแก่ผู้หญิงนั้น จะเคลื่อนไหวอย่างโดดเดี่ยวโดยไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองร่วมกันย่อมเป็นไปไม่ได้ ซึ่งกลุ่มประชาสังคมไทยอาจจะต้องร่วมมือกันอีกทาง
อ้างอิง
- วิระดา สมสวัสดิ์. ผู้หญิงกับความจริงในสังคม: สำนักพิมพ์ปัทมา, 2523.
- วิระดา สมสวัสดิ์. นิติศาสตร์แนวสตรีนิยม เชียงใหม่: ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2549.
- วารุณี ภูริสินสิทธิ์. สตรีนิยม: ขบวนการและแนวคิดทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2545.
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. การวิจัยกฎหมายทางเลือก: แนวคิดและพรมแดนความรู้, กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2558.