เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
รายงานวิจัยไทยชี้ ผู้หญิงในอาชีพเกษตรกรรมเสี่ยงมีสาร ‘ไกลโฟเสท’ (Glyphosate) และ ‘พาราควอต’ (Paraquat – ชื่อทางการค้าในไทยคือ กรัมม็อกโซน) ตกค้างในเลือดมากกว่าผู้หญิงในอาชีพทั่วไปกว่าแปดเท่า ในกรณีของหญิงมีครรภ์ ปริมาณสารเคมีดังกล่าวจะถูกส่งผ่านไปยังทารก ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อพัฒนาการต่อทักษะพื้นฐานของเด็กในการพัฒนาทักษะด้านการเจริญเติบโตต่อไป
ความเสี่ยงของผู้หญิง แม่ เมีย ในพื้นที่เกษตรกรรม
เก็บตัวอย่างจากคุณแม่อาสาสมัครที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไปจำนวน 113 คน ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ นครสวรรค์ และกาญจนบุรี เพื่อตรวจสอบสมมุติฐานที่ว่า
“สารตกค้างจากสารเคมีทั้งจากยาฆ่าหญ้าและฆ่าแมลง มีผล ‘อย่างไร’ ต่อแม่และวิวัฒนาการของเด็ก”
ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายข้อสรุปงานวิจัยดังกล่าวอีกครั้งในเสวนา ‘จากต้นน้ำสู่ครรภ์มารดา: ปัญหาตกค้างของสารเคมีกำจัดพืชที่ต้นน้ำ’ ซึ่งเป็นข้อสรุปที่เรียกเสียงฮือฮาจากชาวนาตัวจริงกว่าร้อยคนที่นั่งอยู่ในที่ประชุม ด้วยรายละเอียด 3 – 4 ข้อได้ว่า
หนึ่ง-สารกำจัดศัตรูพืชไกลโฟเสทและไพโรควอต เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (โดยเฉพาะเป็นยาฆ่าหญ้า) ยอดนิยมที่มีการนำเข้าในประเทศไทยสูงสุดในประเทศไทยปี 2557 มีผลเร่งเร้าให้เกิดมะเร็งเต้านม ขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ และทำลายการทำงานของยีนที่ถูกควบคุมการสร้างเอสโตรเจน
สอง-นอกจากจะมีผลโดยตรงต่อมะเร็งเต้านมในผู้หญิง สารเคมีดังกล่าวยังสามารถส่งผ่านไปสู่ทารกในครรภ์ได้ด้วย
สาม-โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่รายงานว่าเธอต้องเข้าเรือกสวนไร่นา และยิ่งลงมือขุดดินด้วยตัวเองด้วยแล้ว ก็ยิ่งพบความเสี่ยงของระดับพาราควอตสูงกว่าค่าปกติที่สามารถวัดได้มากขึ้นเท่านั้น
สี่-และถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือขุดสวนทำดินด้วยตัวเอง หากเป็นภรรยา เป็นแม่ เป็นญาติที่ต้องใกล้ชิดกับเกษตรกร กระทั่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่ใช้สารเคมี ก็มีแนวโน้มที่จะพบระดับของสารเคมีดังกล่าวในเลือดผกผันโดยตรงตามปริมาณความใกล้ชิดกับตัวเกษตรกรหรือพื้นที่เพาะปลูกด้วย
หากตีความจากประโยคชวนงงสี่ข้อข้างต้น อาจตีความว่า
‘ผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับวิถีการทำเกษตรกรรม’ ล้วนมีความเสี่ยงพบสารเคมีตกค้างในเลือดได้ด้วยกันทั้งนั้น
คลอไพริฟอส กับความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
งานวิจัยข้างต้นให้ข้อสรุปสอดคล้องกับงานวิจัยของไทยและเทศเรื่อง ‘คลอไพริฟอส’ (Chlorpyrifos) ที่ ผศ.ดร.สุพัตรา ปรศุพัฒนา ยกขึ้นมาอภิปรายว่า สารกำจัดศัตรูพืชคลอริไฟฟอสเฟต สามารถส่งผ่านจากเลือดแม่สู่เลือดลูก ซึ่งจะส่งผลต่อความผิดปกติของสมองและการพัฒนาทักษะพื้นฐานของเด็กอย่างสัมพันธ์กันด้วย
“งานวิจัยเรื่องสารเคมีคลอไพริฟอสในสหรัฐอเมริกา สำรวจประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจำนวน 55,701 คน ระหว่าง พ.ศ. 2536-2544 เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการรับสารดังกล่าวกับการฆ่าตัวตาย พบว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า ที่นำไปสู่ภาวะการฆ่าตัวตายของเกษตรกรราว 2.37 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสารดังกล่าว”
สุพัตราอธิบายงานวิจัยต่างประเทศซึ่งทำการวิจัยระหว่างการรับสารดังกล่าวกับพัฒนาการของเด็กว่า เด็กที่มีระดับคลอไพริอสสูง (มากกว่า 6.17 pg/g plasma) มีผลต่อการพัฒนาทางจิตใจ กาย อารมณ์ และมีปัญหาต่อการแสดงความสนใจต่อสิ่งรอบตัว ที่ทำให้เกิดการควบคุมพฤติกรรมได้ยากด้วย
ก่อนปิดท้ายเวที เธอตั้งคำถามกลับไปที่รายงานวิจัยของ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ศึกษาเรื่องการทำไร่ข้าวโพด ที่ส่งผลต่อความเป็นพิษของต้นน้ำเมืองน่าน ซึ่งเป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบว่า
“เพราะการรับสารกำจัดศัตรูพืชทั้ง ไกลโคเสท พาราควอต และคลอไพริฟอส สามารถรับได้โดยการสัมผัสและการดื่มกิน ผู้คนที่เราศึกษากลุ่มนี้คือผู้ที่ได้รับสารดังกล่าวโดยตรง แล้วผู้ที่รับสารผ่านอาหาร ผ่านปลา ผ่านน้ำดื่ม คนกลุ่มนี้ หรือก็คือเราทุกคน ก็ถือว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีดังกล่าวด้วยหรือไม่?”
อ่านรายงาน “ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.น่าน” โดยคณะวิจัยจากบริษัท ป่าสาละ จำกัด นำทีมวิจัยโดย สฤณี อาชวานันทกุล