คำถามต่อไป “ถ้าไม่เอาจำนำข้าว จะเอาอะไร”

ภาพถ่าย: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพประกอบ: Shhhh

คดีประวัติศาสตร์ วันที่ 25 สิงหาคมที่จะถึงนี้ จะเป็นวันตัดสินคดีทุจริตจำนำข้าวภายใต้การบริหารของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ว่าผลการตัดสินใจจะเป็นเช่นไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีนี้มีความสำคัญและอาจจะเป็นบรรทัดฐานบางประการในการเอาผิดเชิงนโยบายต่อผู้บริหารประเทศในนามของรัฐบาลชุดต่อๆ ไป

ทว่าก่อนจะไปถึงคำตัดสินนั้น คำถามหนึ่งที่สังคมยังคงสงสัยกันก็คือ โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดให้ความสำคัญกับชาวนาในฐานะกระดูกสันหลังของชาติจริงหรือ และถ้าการจำนำข้าวไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรชาวนาชาวไร่แล้ว วิธีไหนที่จะเหมาะสม และจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเช่นไร คำถามเหล่านี้นำมาสู่งานเสวนาในหัวข้อที่ชื่อ ‘ไม่จำนำข้าวแล้วเอาอะไร? แนวทางแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร’ ซึ่งจัดขึ้นโดยพรรคใต้เตียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)


ก่อนนั้น ปี 2537

เมื่อเป็นความผิดเชิงนโยบาย อย่างน้อยหากนับตั้งแต่ที่ สมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ยื่นเรื่องต่อ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2555 ในข้อหาเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย (ดูรายละเอียดไทม์ไลน์ได้ ที่นี่)ผู้ที่จะให้คำตอบถึงที่มาที่ไป ซึ่งนำมาสู่นโยบายจำนำข้าวได้ดีที่สุด หลีกไม่พ้น กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง ในคณะรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งเล่าย้อนกลับไปยังช่วงปี 2537 ในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศกำลังขยายตัวหลังผ่านเหตุการณ์พฤษภา 35 โดยประเทศไทยในตอนนั้นมีตัวเลข GDP อยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่า 38 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งหมด

แต่แล้วในปี 2539 ประเทศไทยประสบภาวะขาดดุลทางการค้า นำเข้ามาก แต่ส่งออกน้อย สืบเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งเกินไป ส่งผลให้ในปีต่อมาเมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทที่อ่อนลงไปทำให้ประเทศไทยเสียดุลการค้าจากการนำเข้าที่มีราคาแพงขึ้น สวนทางกับการส่งออกที่ประเทศได้ราคาดี จนเมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ผลของค่าเงินที่อ่อนลงจึงไปหนุนเสริมให้การส่งออกเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยที่ขาดดุลการค้าก็กลับกลายเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าในที่สุด

กิตติรัตน์ ณ ระนอง

สี่ล้อของเศรษฐกิจ

จากปี 2537 มาจนถึงปี 2542 ตัวเลข GDP โตขึ้นไปเป็น 68 เปอร์เซ็นต์ จนอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยที่คอยพยุงเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติต้มยำกุ้งก็คือ การส่งออก

กิตติรัตน์กล่าวต่ออีกว่า เวลาที่จะนึกถึงเศรษฐกิจไทย ให้นึกถึงล้อสี่ล้อที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้หมุนไปข้างหน้า โดยแต่ละล้อจะแทนการขับเคลื่อนได้ แบ่งออกเป็นสี่หัวข้อ คือ การส่งออก การใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชน และการใช้จ่ายภายในประเทศหรืออุปโภคบริโภค ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นในแต่ละปี จำเป็นต้องอาศัยการหมุนไปด้วยกันของล้อทั้งสี่ ในบางปีการส่งออกอาจไปได้ดี ขณะที่อีกสามล้อที่เหลือ ไม่ได้หมุนอย่างเต็มที่นัก หรือในบางครั้งการส่งออกกับการลงทุนไปได้ดี อีกสองล้อที่เหลือกลับหมุนไปได้อย่างอ่อนๆ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาได้

“สิ่งที่ผมกำลังจะชี้คือ ประเทศเราพึ่งพาการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2540 หลังจากลอยตัวค่าเงินมาจนถึงปี 2560 ฉะนั้น ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราชินกับการที่เศรษฐกิจหมุนได้ดีโดยอาศัยการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่อีกสามตัวพอไปได้ ที่น่าสนใจก็คือ ตอนที่ผมได้ทำหน้าที่ในรัฐบาล คำถามที่เรามีในตอนนั้นคือ การส่งออกขยับขึ้นไปเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งประเทศแล้ว แล้วเราจะยังเติบโตได้ด้วยการส่งออกจริงๆ หรือ เพราะถ้าเมื่อไหร่ต่างประเทศชะลอการซื้อ เราก็จะมีปัญหา ขณะเดียวกัน การที่เราพึ่งพาการส่งออก แปลว่าคนในโรงงานต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงเพื่อส่งออกนอกประเทศ คนงานได้จับต้องสินค้าแบรนด์อย่างดีเลย แต่สุดท้ายไม่มีปัญญาซื้อ ไม่มีปัญญาใส่ เพราะค่าแรงน้อย น้อยกว่าที่จะไปซื้อสินค้าที่ตัวเองผลิต แล้วก็มีความภูมิอกภูมิใจกันพอสมควรว่าค่าแรงเราถูก เราสามารถส่งออกสินค้าได้ดี เศรษฐกิจเติบโต”

ในขณะที่ตัวเลข GDP เมื่อปี 2537 อยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท ก่อนเพิ่มสูงขึ้นมาถึง 14 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน กิตติรัตน์กล่าวต่อว่า ในส่วนของวาทกรรมที่พูดกันว่าเสียหายไปแสนล้านนั้น ความจริงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตถึง 14 ล้านล้านบาท การที่จะเคลื่อนด้วยโครงการในระดับร้อยล้าน แล้วเศรษฐกิจจะเคลื่อน มันไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้

คำถามสำคัญของกิตติรัตน์คือ ประเทศจะพึ่งพาการส่งออกไปถึงไหน เพราะต้องไม่ลืมว่าเราจะต้องพึ่งคนที่เขาพร้อมจะซื้อด้วย

แล้วเราจะไม่พึ่งตัวเองเลยหรือ เพื่อให้คนของเรามีกำลังซื้อที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองที่มีค่าแรงต่ำ ฝีมือน้อย ไปจนถึงคนที่จบการศึกษาระดับปริญญา

กิตติรัตน์ ณ ระนอง

เหตุผลของนโยบายจำนำข้าว

กิตติรัตน์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนความร่ำรวยกับความยากจนที่แตกต่างกัน โดยคนที่ร่ำรวยที่สุดมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,673 บาทต่อเดือน ขณะที่คนจนที่สุดมีรายได้ 1,246 บาทต่อเดือน กระนั้นในเชิงสถิติก็ยังมีเส้นของความยากจนระหว่างคนที่เกือบจนและคนที่ยากจนมีสัดส่วนไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ทว่าเมื่อนำตัวเลขทั้งหมดมาหารกับตัวเลขของคนที่ร่ำรวยแล้ว จะพบความแตกต่างที่มากถึง 23 เท่า ก่อนจะเพิ่มเป็น 25 เท่า ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“เพราะฉะนั้นถ้าหากเราไม่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำก็บริหารไปเถอะครับ จะรวยจะจน GDP โตเสียอย่าง แต่ถ้าเราสนใจว่าการที่คนจำนวนมากมีรายได้น้อย หน้าที่ของรัฐบาลที่ดีก็จะต้องหาวิธีทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีรายได้ที่ดี ไม่ได้หมายความว่าให้ฟุ้งเฟ้ออะไรแบบนั้น แต่การมีรายได้ดีหมายถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

สิ่งที่กิตติรัตน์ต้องการจะชี้ให้เห็นคือ การทำให้เศรษฐกิจโตอย่างเดียว โดยที่คนข้างล่างไม่ได้โตด้วย คนข้างล่างไม่มีรายได้ ไม่มีกำลังซื้อ เมื่อเขาไม่มีรายได้ เขาจะเอารายได้จากไหนเพื่อกลับมาเป็นผู้บริโภคต่อเนื่อง

การที่เราเลือกที่จะใช้งบประมาณเพื่อไปดูแลกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ทั้งในกลุ่มที่เป็นคนเมืองและในกลุ่มภาคเกษตรกร เราก็สามารถทำได้ ความจริงผมก็สามารถพูดได้นะครับ ความพร้อมนี่เราจะซื้อเรือดำน้ำก็ซื้อได้ครับ จะซื้อหลายๆ ลำก็ซื้อได้ครับ สิ่งที่น่าสนใจคือควรจะซื้อแค่ไหน ขณะเดียวกัน เราก็เห็นว่าการใช้งบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเป็นเรื่องสำคัญ

“ชาวนาและครอบครัวมีจำนวนรวมกันมากกว่า 15 ล้านครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 23 ของจำนวนคนทั้งประเทศ ถ้าเราดูแลเขาให้มีรายได้ที่ดีขึ้นตามสมควรแก่ต้นทุนการผลิต สมควรแก่ค่าแรงงานของเขาก็เป็นเรื่องที่ดี การดูแลด้วยระบบจำนำทำกันมา 30 กว่าปีแล้ว ก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้โครงการรับจำนำข้าวไปหนึ่งปี แล้วเปลี่ยนเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งมีลักษณะพยายามประกันราคา โดยตั้งเป้าหมายราคาไว้ แล้วเขาก็บอกว่าถ้าคุณไปขายได้ต่ำกว่าราคานี้จะชดใช้ให้ ซึ่งกลไกนี้น่าสนใจตรงที่ว่าถ้าชาวนาไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้สำเร็จ ท่านก็สามารถที่จะมาขอรับเงินชดเชยได้ จะปลูกจริงไม่ปลูกจริง จะมีข้าวหรือไม่มีข้าว ก็สามารถไปรับเงินชดเชยได้ ตรงนี้มีความน่าสนใจก็คือว่า มีรายงานของสำนักนายกรัฐมนตรีพบว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมมีพื้นที่ที่เป็นนาน้อยกว่ายอดที่มาขึ้นทะเบียนรวมกันเป็นจำนวนมาก”

กิตติรัตน์กล่าวว่า การรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ใช่รัฐบาลแรกที่ตั้งราคาสูงกว่าตลาด ซึ่งคำว่า ‘สูงกว่าตลาด’ ไม่ได้คิดเพียงต้นทุนในการปลูกข้าว แต่ยังคิดรวมไปถึงต้นทุนค่าแรง ซึ่งการคิดคำนวณต้นทุนในส่วนนี้ไม่ได้สูงไปกว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยทั้งประเทศในเวลานั้นด้วยซ้ำ ดังนั้น โครงการรับจำนำข้าวจึงเกิดขึ้น

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

ปัจจุบันของชาวนายุค 4.0

รองศาสตราจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ ‘ปัญหาของชาวนาในปัจจุบัน และบทเรียนของนโยบายอุดหนุนชาวนา’ ว่า ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนำข้าวค่อนข้างมากแล้ว สิ่งที่ต้องการนำเสนอในครั้งนี้คือ สถานการณ์ปัจจุบัน และนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลชาวนามากน้อยเพียงไร

รศ.ประภาส ระบุว่า ปัจจุบันมีการผลิตข้าวในจำนวนทั้งหมดกว่า 33 ล้านตันต่อจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ 70 ล้านไร่ ซึ่งจำนวนข้าวที่ผลิตได้นี้ ครึ่งหนึ่งถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ

“นั่นหมายความว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เราปลูกข้าวเพื่อกิน ได้แก่ ข้าวสี ข้าวอินทรีย์ ได้ 1.5 แสนไร่ ช่วงปัจจุบันที่ผ่านมาก็เป็นแนวโน้มที่ดีที่ข้าวอินทรีย์ ข้าวสี เพิ่มขึ้นมาประมาณ 3.5 แสนไร่จาก 70 ล้านไร่ สิ่งนี้บ่งบอกได้ว่า การแสวงหาทางออกเพื่อกินข้าวที่เราผลิตได้ เราก็ต้องกินวันละหกมื้อ

“ประเด็นของผมก็คือ นโยบายการอุดหนุนชาวนาคืออะไร ในเมื่อเราต้องพึ่งการส่งออก รัฐต้องมีหน้าที่ในการดูแล เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่การปฏิวัติเขียวมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 1 เราปลูกข้าวเพื่อการส่งออกเป็นหลัก เวลาที่เรารุ่งเรือง รัฐบาลก็เก็บค่าต๋ง ค่าภาษี ไปให้คนในเมืองกินข้าวราคาสูง กดเอาไว้ เอาภาษีและความมั่งคั่งที่ชาวนาควรจะได้ไปทำอย่างอื่น นี่คือสิ่งที่ตอบคำถามได้ว่า ทำไมรัฐบาลถึงต้องมีนโยบายดูแลชาวนา ชาวนาเคยได้รับการพูดว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ตอนนี้จะกลายเป็นอาชญากร ถ้าพูดอย่างหยาบๆ คือ จะปลูกข้าวไปทำห่าอะไร ขายก็ไม่ได้ ราคาก็ต่ำ ทำไมไม่ไปปลูกหมามุ่ย ซึ่งถ้ามองจากมุมของชาวนามันก็เจ็บช้ำน้ำใจ”

รศ.ประภาสกล่าวว่า ราคารับจำนำข้าว ณ ปัจจุบัน เมื่อหักค่าความชื้นแล้วจะเหลือที่ราคา 5,500-6,000 บาทต่อตัน แม้จะเคยมีช่วงหนึ่งที่ขึ้นไปถึง 8,000 บาทต่อตัน เพราะข้าวใกล้หมดคลัง ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงสมัยที่มีการรับจำนำข้าวที่ราคา 15,000 บาทต่อตัน ประภาสตั้งคำถามง่ายๆ ว่า แล้วชาวนาจะอยู่กันได้อย่างไรต่อราคาที่แตกต่างกันเช่นนี้ ในเมื่อต้นทุนการผลิตไม่ได้ลดตาม เฉพาะแค่ต้นทุนเพียงอย่างเดียว ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 5,500 บาทต่อตันด้วยซ้ำ ชาวนาส่วนมากในภาคกลางจึงอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าประคองตัวกันไป หมุนกันไปเพื่อให้อยู่รอดเท่านั้น

“ชาวนาในปัจจุบันนี้เขาก็พยายามปรับตัวไม่น้อย เขาไม่ได้เปลี่ยนไปปลูกหมามุ่ยอะไรหรอก เขาก็ปลูกผักบุ้ง ปลูกผักชีฝรั่ง อย่างแถวบ้านผม นาผักบุ้งขึ้นเต็มไปหมด ถ้ามีเงินมากหน่อยก็เปลี่ยนไปทำนากุ้ง”

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

ทำไมยังทำนา

“ผมยังยืนยันว่า ไม่ใช่ชาวนาไม่ปรับตัว แต่ชาวนาปรับตัวบนฐานของตัวเอง ทีนี้เวลาเราพูดถึงทางออกของชาวนา ชีวิตที่พอให้อยู่ได้ตามความเป็นจริง เรื่องราคาข้าว รัฐต้องดูแล อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรให้ชีวิตชาวนาพออยู่ได้มากกว่าการช่วยของรัฐ เขาก็ปรับมาปลูกผักบุ้ง ผักอะไรก็แล้วแต่ ทำอย่างไรที่จะทำให้เขาไม่อยู่ในโครงสร้างที่มันเอารัดเอาเปรียบ ตอนนี้ผักบุ้งเหลือกำละ 3-4 บาท ส่วนผักชีฝรั่งกิโลละ 15 บาท จากปีที่แล้ว 60 บาท”

หากถามว่า ทำไมชาวนาถึงยังทำนา ทั้งที่ไม่เห็นอนาคต ถ้าหากยังไม่ปรับตัวไปปลูกพืชชนิดอื่นตามที่ลุงท่านหนึ่งแนะนำ คำตอบของผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมกล่าวว่า พื้นที่แต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน พืชชนิดหนึ่งใช่ว่าจะปลูกแล้วเจริญงอกงามได้ในอีกพื้นที่หนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าชาวนาไม่ได้ไม่ปรับตัว แต่ชาวนาปรับตัวตามบริบทของสภาพแวดล้อมที่หากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ชาวนาย่อมรู้ดีกว่าคนที่ทั้งชีวิตจับเป็นแต่ปืนอย่างแน่นอน ซึ่งพื้นที่และความผันผวนของราคาตลาด เป็นหนึ่งในหลายๆ เงื่อนไขที่ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวนาไม่ได้ดีขึ้น หากสภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมยังคงกดคนที่ยากจนให้ยากจนอยู่ต่อไปตามเดิม

“เราไม่ควรมองชีวิตชาวนาแค่การทำนาอย่างเดียวต่อไปอีกแล้ว เราต้องมองเข้าไปถึงเรื่องของแรงงานรับจ้าง เรื่องหลักประกันสังคม เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงทางออก เราไม่ควรไปพูดถึงแค่เรื่องราคาข้าวอย่างเดียว เพราะเวลารัฐบาลนี้พูดว่าจะไม่ทำแบบประชานิยม ก็พูดไปอย่างนั้นแหละ เพราะเมื่อเราดูในเชิงเนื้อหาก็ไม่ได้แตกต่างกัน ผมไม่ได้บอกว่าผิด แต่ว่าถ้าจะผิดก็คือ พูดกันตรงๆ หนีไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องกลับมาทำแบบเดิม”

ประเด็นสำคัญของทางออกในนโยบายแก้ไขราคาข้าว รศ.ประภาสกล่าวว่า จำเป็นที่รัฐบาลแต่ละชุดจะต้องคำนึงถึงชีวิตชาวนาที่แปรเปลี่ยนและแตกต่างกัน ประเด็นต่อมา รัฐจำเป็นต้องให้การอุดหนุน เนื่องจากชาวนาไม่สามารถอยู่ได้ในโครงสร้างผลิตข้าวแบบที่เป็นอยู่อีกต่อไป เพราะราคาข้าวแบบที่เป็นในปัจจุบันแทบไม่มีอนาคต กับราคาข้าว 5,500-6,000 บาทต่อตัน

ถ้าจะปรับแบบพลิกแผ่นดินคงเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีที่นาตั้งเกือบ 30 ล้านไร่ เอาแค่ 1-2 ไร่ยังแทบจะตายแล้ว แต่เราอาจทำแบบประคับประคองเพื่อไปสู่การเปลี่ยนผ่าน การปรับเปลี่ยนเรื่องการบริโภคภายในยังเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หรืออาจมีการปรับหลายระดับ ตั้งแต่ระดับพันธุ์ข้าวไปถึงการรับจำนำข้าวบางประเภท เช่น ข้าวอินทรีย์ เพื่อเปิดตลาดไปสู่คนกินที่มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นนโยบายที่เพิ่มเติมเข้าไปได้ แม้ว่ารัฐบาลนี้จะมีการทำบ้างแล้วในเรื่องการสนับสนุนข้าวอินทรีย์ แต่ก็ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดี ต้องมีการปรับเปลี่ยน ทั้งในแง่ของการตลาดและการปรับเปลี่ยนผู้บริโภค ถ้าทุกวันนี้เรายังกินแต่ข้าวแบบไม่มีคุณภาพอยู่ อนาคตก็ขยายไม่ได้

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า