มาทำไม? ไม่รักก็คงไม่มา

ดูราวกับว่าบรรยากาศอันคุ้นเคยจะหวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อคลื่นขบวนมวลชนจากหลายจังหวัดหลั่งไหลมาให้กำลังใจอดีตผู้นำที่พวกเขาชื่นชอบ ท่ามกลางกองกำลังทั้งทหารตำรวจที่ตั้งแถวคุ้มกันอย่างเข้มงวดหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันพิพากษาคดีรับจำนำข้าวที่มียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกกล่าวหา

จากเช้าตรู่จวบถึงช่วงเที่ยงวัน ท้ายที่สุดแล้วเหล่ามวลชนไม่อาจมีโอกาสได้พบกับบุคคลที่พวกเขาเฝ้ารอคอย และช่อกุหลาบแดงไม่อาจส่งถึงมือผู้รับ

 

1

“มาจากชัยภูมิ ออกจากบ้านตี 1 ถึงที่นี่ตี 5 มากัน 5 คน อีกคันมา 10 กว่าคน มาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ เพราะเขาดีกับเรา”

“สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชาวนาก็ชีวิตดี ทำไร่อ้อย สวนยางพารา ได้ราคาดีหมด แต่พอเป็นแบบนี้มันก็เลยตกไปหมด คนเขาก็ด่ากันทั้งประเทศแหละ แต่เขาไม่รู้”

“ชีวิตหลังไม่มีจำนำข้าวเป็นอย่างไร?” เราถาม

“ตาย ตาย ทุกวันนี้ตาย ไม่งั้นจะมากันอย่างนี้เหรอ เห็นไหมเนี่ย” เธอชี้นิ้วกรีดไปที่ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ผุดลุกผุดนั่งข้างๆ เธอ

“มานี่เพราะอยากให้มีเลือกตั้ง มี สส. อยากให้เป็นพวก Politics นะ”

“4 ปีก็ทำงานไป ถ้าไม่ดีก็เอาเขาออกได้ ให้เขาลองก่อน นี่เขาอยู่ปีสองปีก็เอาเขาออก ปีกว่าก็เอาเขาออก แบบนี้มันไม่ใช่ ฉันอยู่เมืองนอกมายี่สิบกว่าปี อยู่แทบทุกประเทศ ทั้งฟินแลนด์ เยอรมัน ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ไม่มีแบบนี้” เธออยู่หลายประเทศ เพราะติดสอยห้อยตามสามีซึ่งย้ายที่ทำงานไปประเทศต่างๆ ในยุโรป”

“พออายุมากก็กลับบ้าน เรามีบ้านอยู่ที่นี่ มีไร่นา 20 กว่าไร่ ตอนนี้ให้น้องสาวทำ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้ เออ แย่ แย่มาก ปีที่แล้วเกี่ยวข้าวขายกิโลกรัมละ 5-6 บาท มันขายได้ยังไง”

คำตอบของเธอเจือปนด้วยคำถามอย่างเข้มข้น

 

2

“ผมออกจากหนองคายตอนหกโมงเย็น ถึงหลักสี่ตอนตีสี่ แล้วเดินเท้าจากหลักสี่มาที่นี่ (หน้า DSI) ถึงประมาณเจ็ดโมงพอดี อยากมาเห็นหน้าคุณยิ่งลักษณ์ อยากมาให้กำลังใจ อยากจะบอกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยวนะ”

“ผมคิดว่าศาลจะตัดสินว่าเขาไม่ผิดนะ เพราะถ้าผิด ทุกรัฐบาลก็ต้องผิดหมด เพราะทุกรัฐบาลก็จำนำข้าวหมด ทุกรัฐบาลทำเพื่อประชาชน ทหารก็ทำ ทำไมไม่ผิด”

“ตอนนี้กี่โมงแล้วอีหนู สิบโมงเหรอ? ไม่เป็นไร เขาคงมีธุระ”

 

3

“ที่ลุงถือเรียกว่าอะไรอะครับ?”
“ยาเส้นไง ใช้ใบกล้วยตากแห้งมวนๆ เอา”

“ลุงมาเชียร์ยิ่งลักษณ์?”
“เออ”

“มาจากไหนครับนี่?”
“เชียงราย”

“มาคนเดียว?”
“เออ”

“ทำไมถึงมาอะครับ?”
“มาให้กำลังใจ นี่ถ้า ‘มัน’ ตัดสินให้ติดคุกก็จะต่อสู้อีก คนเป็นสิบล้าน เราไม่ยอมง่ายๆ หรอก แค่คณะนั้นคนไม่กี่คน”

“ศาลน่ะหรือครับ?”
“เออ”

“ลุงทำอะไรอยู่ที่เชียงรายครับ?”
“รับจ้างสิ ไม่ได้ทำนาแล้ว ทำไม่ไหว สามปีก่อนหมดหนี้ สามปีนี้มาเป็นหนี้อีกแล้ว ลงนาไปสองแสน ขายได้แสนแปด เดี๋ยวนี้ขายได้เกวียนละหกพัน ทำไม่ไหว มารับจ้างดีกว่า เชื่อมเหล็กอะไรไป”

“แย่เนอะลุง”
“แย่ๆๆ”

“จะสู้กันต่อไหม?”
“สู้อยู่แล้ว ลุงเพิ่งจะเจ็ดสิบสาม ยังไม่เจ็ดสิบห้า เจ็ดสิบห้าถึงจะเรียกว่าแก่”

 

4

“ที่บ้านพ่อแม่ทำนา 11 ไร่ ตอนเด็กเราก็ทำนาช่วยพ่อแม่ ตอนนี้ทำงานรับราชการก็เลยไม่ได้ทำ”

แม้จะห่างจากเรือกสวนไร่นาด้วยหน้าที่การงาน แต่เธอยังติดตามเรื่องข้าวเพราะบิดามารดาบังเกิดเกล้ายังใช้มันยึดเป็นอาชีพ

“หลังจากได้ยินว่าจะมีนโยบายจำนำข้าว เรารู้สึกว่าถึงเวลาที่ชาวนาจะได้ลืมตาอ้าปาก”

“พอไม่มีจำนำข้าว ก็จะมีพ่อค้าคนกลางไปกว้านซื้อข้าวในราคาถูก จาก 15,000 บาท เหลือ 5,000-6,000 บาท แล้วตอนนี้ชาวนาก็ไม่มีโอกาสต่อรองราคาเลย ทำมาเท่าไหร่ก็ต้องขายเท่านั้น เพราะต้องเอาเงินไปใช้หนี้ต่างๆ นานาที่ใช้ไประหว่างทำนา”

“ผู้หญิงสมัยใหม่ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ตอนนี้เราสนใจการเมือง แล้วประชาชนทุกคนอยู่ในสังคมก็ต้องสนใจการเมืองเพราะมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเมืองเป็นเรื่องชาวบ้าน เกี่ยวพันกับปากท้องเราทั้งนั้น ถ้าเราเลือกคนดี ชีวิตเราก็จะดีขึ้น”

 

5

“ไม่ชอบที่เขาบอกว่า ถ้าขายไม่ดีก็ให้ไปขายที่ดาวอังคาร มันใช่เหรอ!? บอกเลยว่าตอนนี้แค่ผักก็ยังเหลือ ขายไม่ได้ กับข้าวทำมาขายก็เหลือทิ้งทุกวัน ใครบอกว่าเศรษฐกิจดี ทุกคนบอกว่าต้องประหยัดให้มากขึ้น เพราะต้องเก็บเงินไว้ให้ลูกเรียน ขนาดเรายังเก็บเงินไว้ไม่ซื้ออะไรมากเลย”

“แม่มาจากแพร่ตั้งแต่เมื่อคืน มากันประมาณสิบคน นั่งรถทัวร์มา ตอนแรกว่าจะเช่ารถตู้ แต่มาไม่ได้ เพราะพวกทหารไปบล็อครถตู้ตามหมู่บ้านไว้หมด มารถตู้ไม่ได้ก็มารถทัวร์ ถ้ารถทัวร์ไม่ได้อีกก็จะมาเครื่องบิน ถ้าไม่ได้อีกก็จะเดินมา ถ้าเขาถามก็บอกเขาไปว่ามาหาลูกหลานที่กรุงเทพฯ ไม่เห็นผิดอะไร”

“อะไรนะ ไม่มาแล้วเหรอ เขาบอกว่าอะไรนะ? ไม่เป็นไร เราจะมาใหม่”

“โกรธมั้ย?” – เราถาม

“โกรธใคร โกรธท่านน่ะเหรอ? โกรธทำไม ไม่โกรธเลย”

 

6

“ตอนนี้มันต้องทำได้อย่างดีจริงๆ ถึงจะขายได้ 6,600 บาทต่อตัน แต่ลงทุนมันมากกว่านั้นเยอะ ราคาตอนนี้กับตอนมีจำนำข้าวนั้น โอ้โห…” เธอเว้นวรรคแล้วส่ายหัว เมื่อพูดถึงการทำนาบนผืนดิน 24 ไร่ของตนเอง”

“ตอนจำนำข้าวเคยได้หมื่นกว่า มันเหมือนกับนาฬิกาชีวิตเดินต่อได้ มีเงินก็ไปจับจ่ายใช้สอยที่จำเป็น ตอนนี้นาฬิกามันเดินไม่ได้ มันหยุด แล้วไปถามร้านค้าดูสิว่าขายดีไหม ก็ไม่ดีเลย เพราะข้าวราคาไม่ดี ชาวนาไม่มีเงิน ทุกคนจนทั้งหมด จนทั้งหมด จนทั้งหมด” เธอกล่าวย้ำ ซ้ำๆ และซ้ำๆ”

“ฉันมีหนี้ประมาณ 3-4 แสนบาท มีลูกหลายคนต้องเลี้ยงก็ต้องกู้มาทำ ขายแล้วก็ชำระหนี้ ธกส. ตอนที่ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีเราชำระหนี้งวดนั้นได้ 18 หมื่น แล้วกู้กลับมาทำนา 5 หมื่น อีก 13 หมื่นเอาไว้ในธนาคารใช้หนี้เขา แต่ตอนนี้ทำแบบนั้นไม่ได้ ส่งไปเท่าไหร่ก็ต้องกู้มาเท่านั้น แล้วอันที่จริงชำระได้แค่ดอกเบี้ย”

“รัฐบาลชุดที่แล้วมาจากการเลือกตั้ง ต่างประเทศเขาก็ให้ความเชื่อถือแล้วยอมรับเรา แล้วดูสิตอนนี้เขายอมรับไหม ไม่อยากจะพูดมาก เดี๋ยวจะโดน”

 

7

“ตอนสมัยทักษิณ ยายยังทำนาอยู่ แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ทำนาและขายของที่บ้านไปด้วย เพราะว่าลูกส่งเงินจากกรุงเทพฯมาให้ เศรษฐกิจดีมาก เลยไม่ต้องทำงานหนัก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้น ขายของแทบไม่ได้เลย ลูกหลานเขาก็ลำบาก ใครเขาว่าเศรษฐกิจดี กรุงเทพฯเป็นยังไงไม่รู้ แต่ที่บ้านยายไม่ได้ดีแบบนั้น”

“ยายนั่งปิ๊กอัพมาจากอุดรฯ กับเพื่อนบ้านอีกสี่คน ผู้หญิงหมดเลย แล้วผู้หญิงขับด้วยนะ เมื่อยก็แวะพักตามปั๊ม เช่าหอพักอยู่ที่ดอนเมือง นอนรวมกันสี่คน หารๆ กัน แค่อยากมาให้กำลังใจ เตรียมดอกไม้มาด้วย แต่ถ้าวันนี้ไม่ได้เจอก็ไม่เป็นไร เพราะเคยเจอแล้ว เคยกอดด้วยนะ”

 

8

“เขาไม่ให้เราเข้าไปทำข่าวในศาล แต่น้องนักข่าวเราอีกคนเข้าไปได้ เขาคงมองเราเป็นชาวบ้านมั้ง เรื่องของเรื่องคือ เราไม่มีบัตรประจำตัวของสื่อมวลชนด้วยไง ซึ่งเราก็เข้าใจเขาแหละ เจ้าหน้าที่เขาก็แค่ทำงาน แต่เราก็อดนึกไม่ได้หรอก แค่คนจะมาเก็บบรรยากาศวันพิพากษา ต้องตรวจเข้มขนาดนี้เหรอ”

“พอเขาบอกให้เราต้องไปเข้าประตูเก้า เราก็ไปตามเขาว่านะ เขาบอกอยู่ถัดไป พอเราถามประตูถัดไป เจ้าหน้าที่ทหารก็บอกให้ไปอีกประตู เราก็เดินอีก ซึ่งไม่ใกล้เลย พอถึงประตูหน้า เจ้าหน้าที่ประตูหน้าก็บอกว่าที่นี่ไม่ใช่ประตูเก้า แล้วชี้ส่งๆ บอกเราให้ไปทางโน้นๆ ในใจเราก็คิดเลยนะ นี่มันเมจิคัลเหี้ยๆ แบบประตูที่ไม่มีวันไปถึง ประชาธิปไตย และ ความยุติธรรม ที่ไม่มีวันไปถึง”

“สุดท้ายเจอประตูเก้ามั้ย?” – เราถาม

“ไม่เจอไง…”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า