ความล้มเหลวของโรงรัฐจำนำ: ผ่ากลไกนโยบายช่วยเหลือชาวนา

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: อารยา คงแป้น

จุดเริ่มต้นของนโยบาย ‘จำนำข้าว’ เกิดขึ้นราวหกปีที่แล้ว จากวันนั้นคงไม่มีใครคาดว่า ข้าวเม็ดเรียวเล็กจะเรียงตัวกันขยายใหญ่โต กลายเป็นมหากาพย์คดีทุจริต สามารถล้มรัฐบาลและสร้างแรงสั่นสะเทือนได้มากมายขนาดนี้ – ทุกอย่างเริ่มจากข้าว ธัญพืชเม็ดเล็กๆ ที่กองรวมกันเป็นล้านตัน

และทุกอย่างที่ว่ากำลังจะถึงปลายทางในวันที่ 25 สิงหาคม เมื่อศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีตกเป็นจำเลย

“คิดว่ารัฐบาลต้องตรงไปตรงมา ว่าประกาศจากรัฐบาล คือความต้องการเป็นผู้ค้าข้าวเอง บริหารจัดการข้าวเอง ซื้อข้าวมาเพื่อผูกขาดการบริหารจัดการ สร้างตลาด และดึงราคาให้สูง ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ พัง อย่างไม่ต้องสงสัย เข้าไปและผลกระทบของ ‘คดีทุจริตจำนำข้าว” คือหนึ่งในถ้อยคำวิพากษ์ของ รองศาสตราจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาวนาวันหยุด ลุยลงแปลงนาทุกฤดูในพื้นที่คลองโยง จังหวัดนครปฐม จนได้ผลผลิตข้าวอินทรีย์มาไม่น้อย

จริงอยู่ว่า การจำนำข้าวของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือชาวนาด้วยการแทรกแซงราคาปกติ แต่ ‘การจำนำข้าว’ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แตกต่างออกไป

เมื่อแนวนโยบายช่วยเหลือชาวนามีหลายทางเลือก และการเอางบประมาณรัฐมาสวมบทพ่อค้าข้าว เป็นวิธีที่ ‘ผิด’ ควรเรียนรู้ข้อผิดพลาดและเก็บเกี่ยวบทเรียนจากการจำนำข้าวอย่างไร ยังมีวิธีไหนอีกบ้าง ที่สามารถช่วยชาวนาได้ โดยรัฐบาลไม่เจ็บตัว และไม่ต้องทำผิดซ้ำรอยเดิมเหมือนที่ผ่านมา

ชวนอ่าน: 10 คำถามเรื่องข้าว กับ ประภาส ปิ่นตบแต่ง

นโยบายการรับจำนำข้าวหรือนโยบายข้าวในชื่ออื่นๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นอย่างไรบ้าง

หลังจากรัฐบาลชุดปัจจุบันยกเลิกนโยบายจำนำข้าวเมื่อปี 2557 ก็มีนโยบายหลายอย่างออกมา เช่น ช่วงต้นมีการให้เงินช่วยเหลือไร่ละหนึ่งพันบาท ไม่เกิน 15 ไร่ และในชุดนั้นมีนโยบายอื่นๆ ด้วย เช่น การลดต้นทุนหรือควบคุมต้นทุนการผลิต เช่น ประกาศห้ามไม่ให้จ้างรถเกี่ยวเกินไร่ละ 500 บาท

ในช่วงหลังจึงเปลี่ยนมาเป็นนโยบายจำนำยุ้งฉาง เริ่มที่ภาคอีสานก่อนแล้วจึงไล่มาในพื้นที่ภาคกลาง ในภาคอีสาน รัฐบาลคำนวนราคาตลาดของข้าวหอมมะลิอยู่ที่ประมาณ 11,000 บาท และรับซื้อในราคา 90 เปอร์เซ็นต์ ก็จะตกอยู่ราว 9,500 บาท

แล้วยังมีค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวไร่ละ 2,000 บาท ค่าเก็บรักษาข้าวในยุ้งฉาง ให้ตอนเก็บ 1000 ตอนไถ่ถอน 500 ผู้ไม่ร่วมได้แค่เฉพาะค่าเก็บเกี่ยว 2,000 บาทต่อตัน ในพื้นที่ไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งเงินส่วนนี้หลายคนบอกว่า มันก็คือเงินให้เปล่า

ในมุมชาวนา นโยบายจำนำยุ้งฉางมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

มันก็ดีนะครับ ถ้ามองจากมุมของชาวนา ก็จะได้ราคาเพิ่มขึ้นกว่าราคาตลาด ซึ่งช่วงหลังก็ขยายมาสู่ข้าวในภาคกลางซึ่งเป็นข้าวคุณภาพต่ำด้วย ราคาก็อาจจะต่างลงมาสัก 2,000 บาท ข้าวคุณภาพต่ำคือที่เราเรียกว่า ข้าว กข. ส่วนข้าวปรับปรุงพันธุ์ก็จะคล้ายๆ กัน

ถามว่ามันมีปัญหาอะไรบ้าง ก็อย่างที่พูดกันอยู่คือ ชาวบ้านมียุ้งฉางหรือเปล่า เพราะชาวนาปัจจุบันก็แทบจะไม่ได้เก็บข้าวไว้เป็นของตัวเอง การตากข้าวให้แห้ง โดยเฉพาะการตากข้าวจำนวนมากๆ เป็นเรื่องยุ่งยากมากและอาจไม่คุ้ม

เพราะฉะนั้นจึงเหมือนว่า เหมือนนโยบายจำนำยุ้งฉางคือการอุดหนุนนั่นแหละ ไม่ได้ต่างจากนโยบายที่ผ่านมาเท่าไร ถ้ามองในเชิงผลของมัน เพราะมีชาวนาที่ไหนไปไถ่ถอนข้าวคืนบ้าง ผมยังไม่เห็น

การจำนำยุ้งฉางเรียกว่าเป็นการแทรกแซงกลไกทางการตลาดเหมือนกันไหม

ใช่แหงๆ อยู่แล้ว คือรัฐบาลเอางบประมาณเข้ามาสนับสนุน อุดหนุนนั่นแหละพูดง่ายๆ เราจะอธิบายงบประมาณค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 2,000 บาทต่อตันนั้นอย่างไร มันคือเงินให้ฟรีแหงๆ อยู่แล้ว

ทีนี้ในส่วนของการซื้อตันละ 9,500 บาท คือราคาที่ใกล้เคียงกับตลาดมาก หรืออาจจะสูงกว่านิดหน่อยด้วยซ้ำ มันก็เหมือนรัฐบาลรับซื้อ คล้ายๆ กับนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อันนี้อาจจะจำนำแล้วไปอยู่ที่โรงสี จะไปไถ่ถอนกับโรงสี หรือเอาไปทำอะไรต่อ แต่ชาวบ้านเขาไม่ได้เก็บข้าวไว้เอง

เมื่อรัฐเข้าไปแทรกแซงกลไกการตลาดมาตั้งนานแล้ว การจำนำยุ้งฉางจึงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยใช่ไหม

เรื่องพวกนี้ไม่เคยใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องการพยุงราคา เพียงแต่ว่าไม่ได้ทำอย่างกว้างขวางเหมือนกับช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การจำนำทุกเม็ด หรือซื้อทุกเม็ด ซื้อข้าวมาเพื่อบริหารจัดการและสีขายเอง แต่ก่อนหน้านั้นคือการแทรกแซงเฉพาะช่วงเวลา ไม่ได้มากขนาดจำนำข้าว หวังว่าถ้ารัฐบาลซื้อในราคาที่สูงแล้ว ก็หวังว่าพ่อค้าข้าวจะต้องซื้อในราคานี้ตามไปด้วย

ส่วนช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เป็นเงินอุดหนุนเหมือนกัน แต่อุดหนุนโดยคำนวณว่า ต้นทุนของชาวนาเป็นเท่าไหร่ การขายข้าว ให้ได้ราคาเพิ่มประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ชาวนาอยู่ได้ รัฐจะต้องซื้อในราคาเท่าไหร่ เช่น ในช่วงนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์อุดหนุนโดยที่ตั้งราคาไว้ประมาณ 10,000-11,000 บาท และราคาข้าวในตลาดมันอยู่แค่ 10,000 รัฐบาลก็ให้ส่วนต่าง 1,000 นี้แก่ชาวนา ถามว่ามันต่างจากค่าเก็บเกี่ยวและรักษาคุณภาพข้าวอย่างไร ไม่ได้คิดว่ามันต่างนะ

โดยส่วนตัวผมยังคิดว่า การแทรกแซงของรัฐยังจำเป็น เพราะที่ผ่านมา รัฐแทรกแซงหรือเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวและค้าขายข้าวมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ช่วงที่ราคาข้าวส่งออกได้เยอะ รัฐบาลก็ไม่ยอมให้ชาวนาได้ราคาที่สูง เพราะกลัวคนจะกินข้าวแพง

ถ้าถามผม แล้วในเมื่อช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาอยู่ไม่ได้ ต้นทุนกับราคาข้าวซึ่งมันไม่ได้ต่างกันมาก หมายความว่ามันต่างกันน้อย มันก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาดูแล อุดหนุน หรืออาจจะเรียกแทรกแซง อะไรก็แล้วแต่

แต่การแทรกแซงจากรัฐในบทบาทเป็นพ่อค้าข้าวแบบการจำนำข้าว ไม่เคยมีเกิดขึ้นมาก่อน?

ผมคิดว่าคงจะพูดแบบนั้นได้ คือการรับจำนำทุกเม็ด ผมคิดว่าอันนี้เป็นจุดที่แตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆ

ถ้าเทียบคุณภาพชีวิตของชาวนายุคนี้กับยุคยิ่งลักษณ์?

อันนี้ต้องพูดก่อนว่ามองจากด้านชาวนานะ ไม่มีชาวนาที่ไหนบอกว่าการจำนำข้าวเกวียนละ 15,000 มันเป็นเรื่องแย่นะ มันต้องดูอยู่แล้ว ราคา 15,000 บาท ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ขายจริงๆ อยู่ที่ 13,000 บาทเป็นอย่างต่ำ

13,000 บาท คือราคาเกี่ยวสด แต่ตอนนี้เกี่ยวสดอยู่ที่ 5,000-6,000 บาท ตอนนี้คือครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง มีชาวนาที่ไหนจะบอกว่าคุณภาพชีวิตช่วงนั้นไม่ดี แต่แน่นอนว่า การเข้าถึงการขาย มันอาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะช่วงนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มันก็คงจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่โดยรวม ชาวนาได้ประโยชน์แน่ๆ

ในการบริหารจัดการ เรื่องการเก็บข้าวแล้วไปปล่อยไม่ได้ ข้าวเสีย ข้าวเน่า ต้องมาจ่ายค่าเก็บ ค่าสี อย่างที่เราทราบกันอยู่ ส่วนนี้ชาวนาจะไปเกี่ยวอะไร แต่คนที่บริหารจัดการต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้ามองเชิงธุรกิจ มันเป็นการทำธุรกิจที่ขาดทุนมหาศาล

โดยส่วนตัวผมคิดว่า ต้องตรงไปตรงมา ในส่วนต้นที่รัฐบาลพูดว่าโครงการรับจำนำข้าว จะเป็นการบริหารจัดการ โดยที่รัฐบาลเป็นคนซื้อข้าว มาสี เก็บ และก็ขาย หวังที่จะผูกขาด เหมือนประเทศ OPEC ที่ผูกขาดน้ำมัน อันนี้ผมคิดว่าต้องตรงไปตรงมาในเรื่องนี้

นี่จึงเป็นเหตุผลที่นโยบายจำนำข้าวถึงได้รับแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบ ทั้งที่เป็นวิธีที่ทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ใช่ไหม

จำนำข้าว ในคำพูดผม คือไม่ใช่การเข้าไปอุดหนุนนะ หรือพูดง่ายๆ ว่ามันคือการทำการกุศล แต่ต้องการที่จะเป็นพ่อค้าข้าว สร้างกำไรจากการผูกขาด ในฐานะที่รัฐบาลเป็นแม่ค้าข้าว ซื้อข้าวทั้งหมดเอง เมื่อข้าวอยู่ในมือ แล้วจะสีเอง ขายเอง จะทำให้ ราคาในตลาดโลกสูง คนต้องมาง้อเรา อันนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

อย่างที่ผมพูดไป คิดว่ารัฐบาลต้องตรงไปตรงมา ว่าประกาศจากรัฐบาล คือความต้องการเป็นผู้ค้าข้าวเอง บริหารจัดการข้าวเอง ซื้อข้าวมาเพื่อผูกขาดการบริหารจัดการ สร้างตลาด และดึงราคาให้สูง ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ พัง อย่างไม่ต้องสงสัย

ผมไม่ได้ขัดว่า เราไม่ควรอุดหนุนชาวนา แต่อย่างไรก็ดี การอุดหนุนชาวนามีหลายแบบ อุดหนุนอย่างไร ที่จะไม่ให้เสียหายเยอะ อันนี้ ก็ต้องพูดก่อน

ถ้าผมเป็นชาวนาแล้ว ผมก็ดีใจกับพี่น้อง ราคาข้าว 15,000 ทำไมชาวนาจะลืมตาอ้าปากไม่ได้ มันทำได้ แหงๆ อยู่แล้ว กับข้าวตันละ 6,000-7,000 บาท อย่างไหนมันดีกว่ากันสำหรับชาวนา คุณภาพชีวิตมันต้องดีกว่าอยู่แล้ว รัฐบาลยุคนั้นทำให้ชาวนาซื้อรถปิ๊กอัพ ได้จับจ่ายใช้สอย มันแหงอยู่แล้ว เงินเข้ามือชาวนาตั้งเยอะแยะ

อันนี้จริงว่าคุณภาพของชีวิตชาวนาดีขึ้น ใครๆ ก็เห็นได้ ใครๆ ก็ชื่นชอบ แต่อย่างที่ได้บอก ผมคิดว่าในเชิงนโยบายสาธารณะ เราจะทำแบบนี้ไม่ได้ เราต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ทางเลือกนโยบายที่ โอเค… ถ้าจะอุดหนุนก็อุดหนุนไปให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ให้เข้าไปอยู่ในมือชาวนา ไม่ต้องไปเสียค่าบริหารจัดการ มาเก็บข้าวไว้ เก็บเอาไว้ทำอะไร ซึ่งอาจจะมีข้อถกเถียงว่าปล่อยไม่ได้ รัฐบาลนี้ไปยึดอะไรอยู่… อันนั้นก็ไปเถียงกันเรื่องข้อเท็จจริง แต่ผมคิดว่าที่ผ่านมามันก็พิสูจน์ว่ มันไม่สามารถทำราคาตลาดได้

ราคาข้าวปัจจุบันที่แกว่งอยู่ราว 6,000-7,000 บาทต่อตัน (ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์) ชาว­­­­­­­นาจะลืมตาอ้าปากอย่างไร

ไปไม่รอดหรอก เราก็เห็นๆ อยู่ ถ้าไล่ราคาข้าว มันก็จะเป็นแบบนี้จริงๆ คือในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ให้ตันละ 15,000 บาท จำไม่ได้ชัดเจน ต้องไปเช็คอีกนิด ราคาข้าวในตลาด อยู่ที่ 10,000-11,000 บาท ประมาณนี้ ซึ่งมันสูงนะ สูงกว่าปัจจุบันเยอะ แม้ไม่มีนโยบายจำนำ ก็ยังได้มากกว่าช่วงนี้เยอะ เอาตัวรอดยาก เพราะว่าส่วนต่างมันน้อย

โอเคว่าถ้ามีนาเยอะหน่อย ได้กำไรไร่ละ 500-1,000 บาท แต่แม้มีนา 20 ไร่ ผมให้ได้ไร่ละ 1,000 บาท หมายความว่าจะต้องขายข้าวให้ได้ประมาณ 6,500 บาท (ไร่ละ 1 ตัน) ถ้า 20 ตัน ก็จะเหลือเงินประมาณ 20,000 บาท เงิน 20,000 บาท ทำนา 20 ไร่ สี่เดือน เหลือเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งการใช้ชีวิตมันคงอยู่ยาก

ภาคกลางมีนา 20 ไร่ นี่ถือว่าเยอะแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นการดิ้นรนแสวงหาทางออกด้านอื่นๆ คือสิ่งที่ชาวนากำลังทำกัน ก็คงไม่ปล่อยให้ได้รายได้เดือนละ 4,000-5,000 บาท

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ราคาข้าวค่อนข้างตกรุนแรง กลไกที่รัฐใช้แก้ปัญหาคือแทรกแซงแบบไหน

รัฐใช้วิธีหลายอย่าง เราดูราคาข้าวในปัจจุบันตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา ผมติดตามราคาข้าว ทั้งจากที่สมาคมโรงสีประกาศทุกเดือน มีราคาข้าวประกาศทุกวัน ถ้าถามชาวบ้านหลังโครงการจำนำข้าว ชาวบ้านก็จะบอกว่าขายตันละ 5,000-6,000 บาทมาตลอด นั่นหมายความว่า ข้าวที่ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ โรงสีซื้ออยู่ที่ 7,200 บาท หมายความว่า การเกี่ยวข้าวจากนาจะถูกหักความชื้นไปประมาณ 100-120 บาท เพราะฉะนั้นก็จะอยู่ประมาณนี้ ช่วงเดือนหรือสองเดือนที่ผ่านมา จะขึ้นมาตันละ 8,000 บาท ที่ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ หรือขายในทุ่งได้ประมาณ 7,000 บาท แต่ตอนนี้ก็เริ่มลงมาแล้ว เหลือสักหกพันกว่าบาท จะสูงกว่าเดิมก็ไม่มากเท่าไร อันนี้คือสถานการณ์ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน

ผมเคยคำนวณกับเพื่อนซึ่งเป็นชาวนาว่า เราต้องคิด (ต้นทุน) ว่าเป็นการจ้างทั้งหมด แม้ว่าเราจะลงแรงเอง ไร่หนึ่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5,500 บาท นี่ผมคิดเป็นราคาต่ำมากๆ แล้วนะ และถ้าเช่านาก็ต้องเพิ่มไปอีก 1,000 บาท เพราะเขาคิดไร่ละ 1,500 บาทด้วยซ้ำ

นั่นหมายความว่าต้องได้ปริมาณข้าวไร่ละตัน ด้วยราคา 6,000 บาท แต่ในขณะที่ต้นทุนการผลิตที่ 5,500 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่ต่ำแล้วนะ กำไรมันจึงน้อยมาก การได้ข้าวตันหนึ่ง มันไม่ได้ง่ายนะ แม้จะเป็นข้าว กข. ก็เถอะ

ทีนี้วิธีการแก้ของรัฐ ก็โอเคว่า ช่วงต้นมีนโยบายเรื่องการอุดหนุนไร่ละ 1,000 บาท มีเรื่องการลดต้นทุนการผลิต คุมเรื่องค่าปุ๋ย ค่ายา ค่ารถเกี่ยว ซึ่งนี่ต้องการการเก็บข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ข้อมูลเรื่องรถเกี่ยวผมพอจะรู้ เพราะบ้านผมก็จ้างรถเกี่ยว เขาจะคิด 350 บาทต่อไร่ หรือถ้ารวมค่าน้ำมันก็อาจจะ 400 บาท หมายความว่า ไม่ต้องไปคุมที่ 500 หรอก เพราะเขากำหนดราคาต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนดอยู่แล้ว

โอเค อาจจะให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลหน่อย เพราะรถเกี่ยวมันต้องขึ้นมาจากภาคกลาง แต่ ณ วันนี้ รถเกี่ยวก็ไม่ได้ลงหรอก เพราะว่าชาวนาภาคอีสานก็ยินดีที่จะจ่ายค่ารถเกี่ยว 500-600 บาท เพราะมันมีค่าขนส่งเยอะแยะไปหมด ค่าเดินทางมาจากภาคกลาง เพราะรถส่วนใหญ่จะต้องขึ้นมาจากภาคกลาง

นอกจากนี้ก็อาจจะเป็นนโยบายย่อย ในเรื่องการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับพ่อค้ารับซื้อข้าว ซึ่งอันนี้เราก็ไม่เห็นว่าได้ผลนะ เพราะข้าวก็มีราคาอย่างต่ำอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า การไปอุดหนุนพ่อค้า ไม่ได้ส่งผลต่อการซื้อข้าวที่ราคาสูงขึ้น นั่นก็เป็นก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง

ช่วงนั้นคนปลูกข้าวกันเยอะ เพราะขายได้ค่อนข้างแพง มาถึงปลายปีที่แล้ว จนมีข้าวล้นตลาดหรือเปล่า ราคารับซื้อจึงต่ำขนาดนั้น

มันก็คงมีผลแน่ๆ เพราะถ้าดูจากตัวเลขข้าว ปัจจุบันปริมาณข้าวเปลือกอยู่ที่ 32 ล้านตัน พื้นที่เกือบๆ 70 ล้านไร่ ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ดำเนินนโยบายจำนำข้าว ข้าวเปลือกขึ้นไปถึง 38 ล้านตัน หมายความว่าน่าจะสูงกว่าปกติ คงจะเกี่ยวข้องกับราคาสูง ปลูกกันหลายรอบ

อย่างบ้านผมถ้าน้ำดีๆ บางทีก็สามรอบได้ เราจะเห็นการล้มสวนมาปลูกข้าว อันนี้ก็คงจริงอยู่แน่ๆ ซึ่งตอนนี้พื้นที่พวกนี้เริ่มลดลงไป เพราะข้าวราคาไม่ดี อย่างที่รู้ แต่มันก็ไม่ได้ลดลงไปมาก แต่กลับไปสู่วงจรแบบเดิม คือประมาณ 32 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลพยายามลดให้เหลือ 27 ล้านตัน ซึ่งในทัศนผม ผมว่ายังลดไม่ได้ เพราะโครงการปรับเปลี่ยนที่พูดถึงการเปลี่ยนมาปลูกอ้อย ข้าวโพด อะไรแบบนั้น มันก็ยังไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปมาก

หมายความว่า การปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด ที่เคยว่ากันว่าจะเป็นแนวนโยบายรัฐก็ยังไม่ได้เกิดจริงในทางปฏิบัติ?

ผมคิดว่าในไร่นาขนาดใหญ่ ที่เปลี่ยนไปทั้งแผง ยังไม่เกิด แต่ถ้าไปดูทุ่ง ก็จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของชาวนาด้วยตัวเอง ก็จะปรับ เช่น ที่บ้านผม เป็นที่สหกรณ์ มีอยู่ 20 ไร่ ก็อาจจะปรับมาสัก 2-3 ไร่เพื่อปลูกพืชล้มลุก หอม ผักชีฝรั่ง หรือ นาบัว นาผักบุ้ง เต็มไปหมด มีสตางค์หน่อยก็เปลี่ยนเป็นนากุ้ง ถ้าจะเป็นแบบนั้นต้องมีทุนสูง มีสตางค์ ชาวนาต้องปรับตัว ด้นชีวิตกันไปอย่างนั้น

นโยบายแบบไหนบ้างที่ดูมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

ผมอยากจะพูดอีกนโยบายหนึ่งซึ่งกำลังจะถูกดัน และเริ่มจะมีการนำไปปฏิบัติเยอะ คือ ‘นาแปลงใหญ่’ ซึ่งเท่าที่สังเกต มันก็ดีที่จะมีนโยบายต่างๆ มารองรับ ที่เขาพูดถึงประสิทธิภาพการผลิต การมีนาแปลงใหญ่มันก็สัมพันธ์กับประสิทธิภาพการผลิต เอาพ่อค้ามารับซื้อ หวังว่าภาคีต่างๆ ในส่วนของโรงสีหรือภาคธุรกิจจะมีซื้อข้าวจากนาแปลงใหญ่

แต่เวลาทำเข้าจริงๆ ผมว่าจะมีปัญหาหลายอย่างนะ หนึ่ง-แง่การจัดการบริหารนาแปลงใหญ่ มันต้องการการบริหารจัดการแบบกลุ่ม หลายกลุ่มคงไปได้ แต่โดยทั่วๆ ไปถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ส่วนใหญ่จะมีปัญหา

แปลงนาใหญ่ๆ ทีแรกกำหนดไว้สัก 1,000 ไร่ ผมคิดว่าไม่ต้องถึงขนาดนั้น สัก 500 ไร่ มีรถดำนาสักสามสี่คัน มีรถเกี่ยวสองสามคัน ในแง่การบริหารจัดการมันก็ไม่ได้ง่าย ใครจะบริหารจัดการ ใครจะเสียสละ มีรถดำนาสามคัน ผมอยากจะดำวันนี้ แต่ใครๆ ก็อยากจะดำนาวันนี้ มันจะเพาะข้าวยังไงเพื่อไม่ให้ดำนาพร้อมกันทีละ 500–1,000 ไร่ มันไม่ง่ายเท่าไหร่ที่จะบริหารจัดการ

เกี่ยวก็เหมือนกัน ด่านแรกคือเกี่ยว ด่านสุดท้ายข้าวอาจจะงอกไปหมดแล้ว แปลงแรกได้ดำ แปลงสุดท้ายอาจจะออกรวงไปแล้วก็ได้ มันไม่ได้ง่าย

ในความเข้าใจของผมคือ เขามองว่าเขาคือผู้กำหนดนโยบาย มองว่าการทำเกษตรรายย่อย มันมีปัญหา ซึ่งเขาใช้คำว่า economy of scale ขนาดการผลิต ที่มันเล็ก ทำให้ต้นทุนสูง ซึ่งเป็นปมเยอะอยู่ว่ามันจริงหรือไม่จริง ที่ผมได้พูดไป ผมคิดว่าการเป็นรายย่อยไม่ได้หมายความว่าไม่มีประสิทธิภาพ แปลงใหญ่กลับจะมีปัญหาเยอะแยะ

ผมอยากพูดอีกนิดหนึ่งว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ นโยบายช่วยเหลือชาวนา จึงอาจไม่ใช่การพยุงราคา หรือการจำนำอย่างเดียว ยังคิดว่าการแทรกแซงจำเป็น เวลารุ่งโรจน์ก็ขูดรีดชาวนา เก็บค่าต๋งอะไรก็แล้วแต่ แต่พอไปไม่รอด ก็ไม่ใช่การมองว่าชาวนาเป็นอาชญากร ข้าวราคาถูกขนาดนี้ พวกมึงยังปลูกข้าวกันอยู่อีก

ผมคิดว่าเขาคงอยากจะพูดแบบนี้ แต่คงไม่ได้ปากเสียแบบผม ใช่ไหม? (หัวเราะ) ขายไม่ได้แล้วยังเสือกปลูกกันอีก…ไม่ใช่ เขาพยายามจะปลูกอยู่หลายอย่าง ทีนี้ สิ่งซึ่งควรจะมองก็คือว่า การดิ้นอยู่ในเรื่องข้าว รัฐควรจะเข้ามาอุดหนุนนโยบายซึ่งมันสอดคล้อง ซึ่งจะกลับมาพูดอีกทีหนึ่ง

ทีนี้สิ่งซึ่งคนไม่ค่อยพูดกัน คือว่า เอ๊ะ เขาก็ดิ้นชีวิตไปหลายแบบนะ เช่น แรงงานรับจ้าง เป็นรายได้ซึ่งสูง รับจ้างในเมือง เข้ามาเป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานเหล่านี้ได้ค่าจ้างที่เป็นธรรมหรือยัง? มีสวัสดิการรึยัง อันนี้ก็ต้องมอง ผมคิดว่าถ้าไม่มองเรื่องพวกนี้ ก็จะมองการปรับตัวของชีวิตชาวนายาก

ปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยวกับข้าวและนโยบายจึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง?

เพราะว่าโครงสร้างเรื่องข้าว มันบอกว่าอีกยาวนาน หรือไม่รู้จะสิ้นสุดที่ไหน เพราะข้าวที่ราคาต่ำ พอมันต่ำมา 5-6 ปีแล้ว มันคงต่ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ชาวนาที่ดิ้นรนไปขาย ไปปลูกพืชล้มลุก ซึ่งเขาก็ทำมาตลอด ซึ่งถามว่ากลไกการรับซื้อ ราคารับซื้อ ตลาดรับซื้อ มันเอารัดเอาเปรียบเขามากน้อยขนาดไหน ไปเป็นพืชตัวอื่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องดูว่าเขาดิ้นรถไปทางไหน นโยบายเขาที่จะมารองรับเขา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการรองรับจากอาชีพชาวนาเพียงอย่างเดียว

อีกนิดหนึ่งก็คือ ในเชิงของข้าว ก็โอเคว่า มีนโยบายที่ดูดีคือ การปรับตัวอย่างไรให้ออกจากการปลูกข้าว กข. ข้าวคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะภาคกลาง แน่นอนว่าโดยนโยบาย มันไม่มีทางเปลี่ยนได้โดยฝ่ามือ หรือช่วงเวลาสั้น ไม่มีทาง เพราะพื้นที่มันเยอะมาก

จึงเป็นที่มาของการพูดถึงการปลูกข้าวคุณภาพสูงอย่างข้าวอินทรีย์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าใช่ไหม

พอพูดถึงระยะยาว ที่พูดถึงข้าวอินทรีย์หรืออะไรก็ตาม มันก็จะต้องมีนโยบายเฉพาะ เช่น การรับซื้อ ไม่ว่าจะการรับจำนำ หรือพยุงราคาข้าว การเข้ามาแทรกแซง หรือนโยบายข้าวที่เข้ามาเป็นแรงจูงใจกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งตรงนี้ไม่เคยมี

ควรจะต้องคิด ก็ต้องมีนโยบายมากยิ่งขึ้น แต่ผมไม่ได้คิดว่ามันจะรองรับชาวนาได้หมด มันคงปรับเปลี่ยนได้น้อยมาก ซึ่งเมื่อดูตัวเลข เฉพาะปีนี้ ของประทรวงเกษตรระบุว่า ข้าวอินทรีย์ เพิ่มขึ้น 200,000 ไร่ ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะเดิมมีแค่หนึ่งแสนกว่าไร่

หมายความว่าแค่ปีเดียว ชาวนาพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ตอนนี้กลุ่มผมก็ชักชวนกันเข้ามาปลูกได้ง่ายขึ้น เพราะข้าวในตลาดมันไปได้รอดน้อยลง แต่ผมก็ยากย้ำว่า อย่าไปหลง คิดว่าจะเปลี่ยนเป็นข้าวอินทรีย์ รับซื้อข้าวอินทรีย์ทั้งหมด หรือดำเนินนโยบายด้านนี้อย่างเดียว ก็ไม่มีทางเปลี่ยนได้หมดหรอก เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องตลาด เรื่องช่องทางการระบายข้าวอีกเยอะ คงต้องขยับอีกยาว

ยังมีทางออกอื่นๆ อีก เช่น ให้ชาวนาเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เช่น ปลูกอ้อย ข้าวโพด?

ชาวนาจะเลือกหรือไม่เลือก ผมยังไม่เห็นใครเลือกไปปลูกอ้อย หรือข้าวโพดนะ เพราะมันมีปัญหาอีกเยอะแยะ เรื่องราคาตลาดอะไรอีก เพราะฉะนั้นเขาจะดิ้น หรือเรียกว่า ‘ด้น’ ด้นชีวิตไปในทางที่เขาคิดว่ามันเป็นไป เช่น นาผักบุ้ง นาบัว หรือเข้าไปรับข้างแรงงานมากขึ้น บ้านผมเดี๋ยวนี้เข้าไปรับจ้างเป็นแรงงาน ครอบครัวหนึ่ง สองสามคนเป็นอย่างน้อย ต่างๆ เหล่านี้

เสียงบ่นจากชาวนาต่อนโยบายนี้มีอะไรอีกบ้าง ซึ่งอาจเป็นเสียงที่คนกรุงเทพฯ ไม่ได้เคยได้ยิน

ผมคิดว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ทำแบบนี้ ต้องได้รับเสียงสรรเสริญแน่ๆ อย่างน้อยๆ ราคาข้าวก็ได้มากกว่าราคาตลาด 2,000 บาท ซึ่งเรียกว่าค่าอุดหนุนนั่นแหละถูกแล้ว (หัวเราะ) มันก็ไม่ได้ต่างจากนโยบายที่ผ่านมา ในเชิงการอุดหนุน ถ้าจะบ่น ก็คือว่า จะให้เราเก็บที่ไหน อาจจะเป็นเสียงบ่นเล็กๆ น้อยๆ

ผมคิดว่า ที่จะเป็นเสียงบ่นส่วนหนึ่ง และเป็นเสียงที่รัฐบาลไม่ค่อยได้ยิน อาจจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่จะมีผลในระยะยาว คือว่า เอ๊ะ… ทำไมไม่คิดถึงคุณภาพข้าว เช่น ข้าวอินทรีย์ หรือข้าวคุณภาพสูงๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนการผลิตต่างๆ ในส่วนนี้ก็ได้ราคาเท่าๆ กัน ซึ่งนี่เป็นปัญหาคล้ายกันกับนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่จำนำทุกเม็ด แต่ไม่เคยคำนึงถึงคุณภาพข้าวเฉพาะ

ทางแก้ปัญหาราคาข้าวที่ชาวนาพออยู่ได้ และรัฐบาลเจ็บตัวน้อยสุด มันควรอยู่ที่จุดไหน

เรื่องจำนำข้าว ถึงตอนนี้ที่กำลังจะมีการพิพากษา หรืออาจจะพิพากษาไปแล้วก็ได้ (หัวเราะ) คือสิ่งที่กลายเป็นมรดก ที่บอกว่ารัฐแทรกแซงหรือหนุนชาวนาไม่ได้ มันเป็นประชานิยม ผมคิดว่าอันนี้เป็นผลทางการเมือง ของรัฐบาลปัจจุบัน ที่ไปหยิบประเด็นพวกนี้ และทำให้มันดูเป็นนโยบายซึ่งไม่ดี หรือจะใช้คำว่าสามานย์ก็ได้

อยากจะกลับไปพูดในจุดเดิม การพยุงราคา การแทรกแซง หรือใช้คำว่าอุดหนุน เป็นสิ่งที่รัฐบาลไหนๆ ก็ต้องทำ เหตุผลก็อย่างที่ได้พูดไปแล้วว่า ช่วงที่รุ่งโรจน์ รัฐบาลก็เก็บต๋ง ตอนประเทศปฏิวัติเขียว รัฐบาลก็พามา เพราะฉะนั้นการห้ามทำนโยบายที่ผ่านมา ว่าทำไม่ได้อีกต่อไป ผมคิดว่าทำไม่ได้อีกแล้ว

อย่างไรก็ดี นโยบายที่สอดคล้อง รัฐเสียหายน้อยที่สุด จริงๆ ไม่อยากใช้คำนี้ คือให้รัฐใช้นโยบายที่สอดคล้องน่ะ อุดหนุนก็อุดหนุนไป ถ้าจะบริหารจัดการอย่างที่ผ่านมา การจำนำ ผมก็คิดว่าเป็นบทเรียนที่ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าผิดพลาด เมื่อผิดพลาดก็รับผิดชอบต่อประชาชนไป ว่านโยบายนี้ใช้ไม่ได้ ก็ใช้นโยบายที่สอดคล้อง

ความจริงผมยังคิดว่าถ้าไม่เกิดการรัฐประหาร ประชาชนเขาก็รู้ มันมีนโยบายอื่นที่ดีกว่า ไม่สร้างความเสียหาย เข้าไปอุดหนุนชาวนาได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริหารจัดการ ชาวนาก็เลือกเองแหละ ผู้คนในสังคมก็เลือกเอง ตรวจสอบกันโดยกลไกทางสังคมได้ มีกลไกการเลือกตั้งอะไรต่างๆ

ดูเป็นกลไกทางการเมือง?

ใช่ ก็เป็นกลไกทางการเมือง มันจะถูกหยิบมาอ้างซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่ดี ทั้งที่เอาเข้าจริง รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำหรอก อย่างเรื่องการจำนำยุ้งฉาง ค่าการเก็บเกี่ยว ทำความสะอาด ปรับปรุงคุณภาพข้าว มันก็คือการให้เปล่าเหมือนกัน

ท่ามกลางสถานการณ์ทั้งปวง หลังจากนี้รัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องรู้อะไร และต้องทำอะไรบ้าง

เฮ้อ… ถอนหายใจหน่อย รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยากมากนะ เราก็ไม่ได้เห็นภาพรวม ผมก็คงจะพูดซ้ำอย่างที่ได้พูดไป ก็คือ เนื่องจากว่าชีวิตของชาวนา ผู้คนมันเยอะมาก ข้าวก็จำนวนเยอะมาก การบริหารข้าว 32 ล้านตันนี่ จะทำอย่างไร

รัฐบาลคำนวณว่า กินและส่งออก อยู่ที่ 27 ล้านตัน 5 ล้านตันที่จัดการไม่ได้ เขาก็พยายามปรับเปลี่ยนด้วยวิธีการต่างๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่รับฟังได้ว่าข้าวเยอะจริงๆ ต้องจัดการอย่างไร ในส่วนที่ผมคิดว่าจะพอที่จะทำให้ข้าวพวกนี้มีราคาในระยะยาวได้ทางหนึ่ง

ถ้าเรามาดูข้าวที่เราบริโภคภายใน ปัจจุบันเราบริโภคภายในอยู่ 55 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าเรากินข้าวอะไร ข้าวถุงหรือเปล่า ข้าวอะไรก็ไม่รู้ ผมเรียก ‘ข้าวไม่มีหัวนอนปลายตีน’ ตรงนี้การสร้างราคาทางหนึ่ง ในระยะยาว ซึ่งผมคิดว่าปัจจุบันมันไปในทางนี้พอสมควร เริ่มมีการรณรงค์ปลูกและขยายกันเองภายในเครือข่ายเกษตรกรยั่งยืน ที่เอาข้าวคุณภาพดี พื้นเมือง ที่ให้คนกิน มากินโดยตรง ซึ่งข้าวที่บริโภคภายในประเทศ 55 เปอร์เซ็นต์นี้ ถ้ามันขยายตลาดตรงนี้ ทำยังไงให้คนกินกับคนปลูกมาเจอกัน อย่างข้าวในญี่ปุ่น เขาขายโดยสหกรณ์ชุมชน มีเครื่องสีข้าวหยอดเหรียญเล็กๆ เต็มไปหมด

คล้ายๆ กับการสร้างเรื่องราวให้ข้าวในแต่ละสายพันธุ์?

คือมันอาจจะไกลจากประเทศไทย แต่ผมคิดว่า มันเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้มันเกิดการเพิ่มมูลค่าของชาวนา ปลูกข้าวดีๆ และขายให้คนกินอย่างพวกเรา ได้กินข้าวแพงหน่อย แต่อร่อย อย่างที่ผมพูดบ่อยๆ ว่าให้เรากินข้าว อย่างชิมไวน์ ให้กินข้าวดี ข้าวที่มีประวัติศาสตร์ มันต้องอร่อย

ข้าวพื้นเมืองมันอร่อยอยู่แล้ว ไม่ต้องไปคิดถึงข้าวที่ปลูกปริมาณมากๆ ผมคิดว่ามันจะทำให้ปริมาณข้าวลด แต่ขณะที่ตลาดคนกินขยาย รายได้ของชาวนาเพิ่ม แต่สิ่งนี้มันต้องการการพัฒนาในระยะยาว

ระยะสั้น อย่างที่ได้พูดไปแล้ว ข้าวติดพื้นที่มันเยอะ การประคับประคอง คือการอุดหนุน มันหนีไม่พ้นหรอก ก็ต้องทำให้ชีวิตมันพออยู่รอดไปได้ อีกส่วนหนึ่งคือการอุดหนุนให้ชาวนาทำข้าวคุณภาพ ซึ่งมันก็ต้องเป็นข้าวแบบปลอดสาร ข้าวอินทรีย์ อะไรต่างๆ ตรงนั้นก็ควรจะมีนโยบายเฉพาะลงไป

ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลนี้มีความชัดเจนกับนโยบายนี้มากขึ้น แต่ผมคิดว่ายังพัฒนาได้อีกเยอะแยะ เช่น ถ้าไม่เผาฟาง ก็อุดหนุนชาวนากลุ่มนี้ได้มั้ย มันยังทำได้อีกหลายรูปแบบ

อีกส่วนหนึ่ง ผมยังคิดว่า ต้องคิดถึงการดิ้นรนของชาวนาในหลายทิศหลายทาง ทำยังไงให้ชีวิตแรงงานนอกระบบ พออยู่ได้ ตรงนั้นกลายเป็นพื้นที่รายได้ตรงหนึ่ง คือการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชอื่นๆ แต่ไม่ใช่อ้อย ข้าวโพด

สิ่งที่ชาวนาปรับจริงๆ คือ การทำให้เกษตรกรรายย่อย ผลิตพืชผักไปสู่ตลาดคนกิน เพราะฉะนั้นกลไกตลาดพวกนี้ ยังไม่มีใครพูดถึง ซึ่งมันรวมไปถึงมาตรฐานการผลิต ความปลอดภัย การตรวจสาร เข้าไปดูแลพี่น้อง การใช้สารเคมี และเรื่องของการดูแลกลไกตลาด ที่ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบชาวนา

ตอนนี้ เท่าที่ผมตามดู ผักชีฝรั่งปีที่แล้ว กิโลละ 60 บาท ปีนี้ 15 บาท ยาวๆ หน่อย 13 บาท ผักบุ้งเหลือ 3 บาท เพราะสุดท้ายมันก็จะเข้าไปผูกขาดที่ตลาด ซึ่งมีไม่กี่ฝั่ง ตลาดสี่มุมเมือง อะไรแบบนี้ อันนี้ไม่เคยมีใครพูดถึง ไม่เคยมีใครดูชีวิตผู้คนว่าเขาอยู่กันอย่างไร ความสำคัญของตลาดเป็นอย่างไร รัฐจะเข้าไปดูแลแทรกแซงยังไง ให้อยู่ได้

ถ้าจะย้ำอีกทีคือ รัฐบาลจะมองแต่เรื่องราคาข้าว นาแปลงใหญ่อะไรแบบนี้ ซึ่ง ผู้คนเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยมาก โครงการเล็กๆ น้อยๆ ที่จริงๆ แล้วมันใช้เงินเยอะมาก กลายเป็นโครงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ช่วงก่อนแถลงปิดคดี อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เดินสายพบปะพี่น้องอยู่บ่อยครั้ง เห็นได้ว่ามีมวลชนสนับสนุนอยู่มาก ในมุมการเมืองจากนี้ไป หลังคำตัดสินพิจารณาคดี มีอะไรควรจับตามองบ้าง

ไม่ค่อยได้คิดเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ ถ้าผมเดาการตัดสินครั้งนี้ คุณยิ่งลักษณ์คงหมดสิทธิ์เล่นการเมือง ไม่น่าจะมีทางอื่น

แต่กระแสของมวลชนจะเป็นอีกทางหนึ่ง แต่คิดว่าที่ผ่านมาก็เริ่มยึดทรัพย์หรือะไร มวลชนหรือคนที่ได้ประโยชน์จากนโยบาย ก็มีสิทธิ์จะเห็นอกเห็นใจ คนชั้นกลางในเมืองภาคธุรกิจมีนโยบาย เช่น BOI การยกเลิกภาษี เงินสนับสนุนการลงทุน ก็เป็นเงินจำนวนมหาศาล เป็นที่ชื่นชอบ รัฐบาลแบบนี้ นักธุรกิจก็ชื่นชอบ เพราะตัดสินใจเร็ว ไม่ต้องประเมินผลกระทบ ไม่ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วม

กระบวนการผังเมืองก็ชื่นชอบ ถามว่าพวกนี้เป็นเรื่องดีไหม ถ้ามองจากสังคมประชาธิปไตยที่ต้องการให้คนมีส่วนร่วม มันก็ละเมิดเรื่องพวกนี้ไปหมด แต่ก็มีคนนิยมชมชอบ โดยเฉพาะคนในเมือง ภาคธุรกิจซึ่งได้ประโยชน์ ก็ไม่ได้แตกต่าง ถ้ามองจากมุมนี้ รัฐบาลเองก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาลได้เอนไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งเสมอ

บทเรียนสำคัญจากนโยบายการจำนำข้าวคืออะไร

ไม่มีอะไรใหม่ ผมคิดว่าการช่วยเหลือ การอุดหนุนชาวนาเพื่อให้พออยู่ได้ เป็นสิ่งซึ่งไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องทำ แต่ทางเลือกนโยบายหลายแบบ และต้องอาศัยหลักเหตุผล การอธิบายได้ต่อสาธารณชน

ซึ่งต้องเข้าใจว่าชาวนาเป็นกลุ่มซึ่งได้รับประโยชน์มากที่สุด กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ ไม่มีใครบอกว่าสิ่งนั้นมันไม่ดี ถึงจะพูดก็พูดด้วยเสียงที่ค่อยมาก ทีนี้นโยบายหนึ่งๆ มันกระทบกับผู้คนหลายกลุ่ม ก็ต้องอธิบายเหตุผลกับคนหลายๆ กลุ่ม ไม่ใช่เหตุผลเดียว เหตุผลของคนส่วนใหญ่ ว่าเป็นนโยบายที่ได้ประโยชน์

รัฐบาลอะไรนะ ที่บอกจะให้ 20,000 แล้วถ้าเกิดมีอีกรัฐบาลบอกว่าให้ 30,000 เราจะทำยังไง ผมคิดว่าความมีเหตุมีผล และตอบคำถามได้กับส่วนอื่นๆ

นโยบายของแต่ละรัฐบาลต้องสอดคล้องกัน?

มันมีนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานรากเยอะนะ ช่วงรัฐบาลทักษิณ และยิ่งลักษณ์ ก็จะมีเรื่อง SML เรื่องอะไรต่ออะไร ช่วงนี้ก็มีบางนโยบายที่พูดไม่ได้ หรือพูดก็พูดค่อยๆ หน่อย

ผมคิดว่าสิ่งที่มันเป็นปัญหามากคือ การลงไป ทรัพยากรที่ลงไปก็จำกัด และเป็นปัญหามากเชิงการกระจาย หรือการเข้าถึง ยกตัวอย่างโครงการปัจจจุบัน ที่จะไปสร้างงานหรืออะไร งบประมาณก็มีไม่เยอะ

ทีนี้สิ่งที่ผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจฐานราก แต่คนไม่ค่อยพูดถึงก็คือ กลไกการกระจาย ทรัพยากร อันนี้เรามองรัฐในแง่ ต้องการที่จะช่วยชาวนาถึงฝั่ง มองในเชิงเจตนาดี ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ค่อยมีโครงการในเชิงลบมาก แต่เป็นปัญหาในเชิงการกระจายรายได้

ประเด็นคือว่า กลไกการกระจายส่วนล่าง เราไม่ค่อยได้มอง โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลที่เรียกว่าอำนาจนิยม ไม่มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนันก็กลายเป็นกลไกของส่วนภูมิภาค ฉะนั้นทรัพยากรต่างๆ มันก็จะไปกระจุกตัวอยู่ที่ผู้คนจำนวนหนึ่ง ชาวนารายย่อย ชาวนายากจนถ้าไม่ได้เป็นเครือข่ายใกล้ชิดกับโครงสร้างไม่ต้องพูดถึง

ที่มีอำนาจตัดสินใจในการกระจายทรัพยากร พอกลไกมันไม่เป็นประชาธิปไตยมันยิ่งหนักเข้าไปอีก เลือกตั้งท้องถิ่นก็ไม่มี กำนันผู้ใหญ่บ้านก็อยู่จนเกษียณ กำนันอาจบอกว่า มึงไม่ได้เลือกกูนี่ จะมายุ่งอะไร มันจะเป็นแบบนี้หมด ฉะนั้น ในแง่การกระจายทรัพยากรจะมีปัญหามาก ถ้าเลือกตั้งก็จะได้ต่อรอง อันนี้เป็นปัญหามาก

เรื่องการเลือกตั้งและความลำบากยากแค้นของชาวนาจึงเกี่ยวกับประชาธิปไตย?

ตราบใดที่ไม่ได้คืนประชาธิปไตยให้ผู้คน เช่น พื้นฐานอย่างการเลือกตั้งที่ทำให้คนสามารถต่อรองหรือมีวาระถอดถอนได้ ผู้ใหญ่บ้านกำนันก็ควรจะเลือกเป็นวาระ แต่ก็ไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนข้างล่าง ยังไม่รวมถึงเรื่องน้ำจะท่วม น้ำจะแล้ง จะเดินขบวนปิดถนน เปิดน้ำให้พอทำนา คนที่ประสบอุทกภัยหลายพื้นที่ ที่หน้าแล้งก็ทำนาไม่ได้ แต่ตอนนี้ก็จมลงไปอีกแล้ว นี่คือสิ่งซึ่งเวลาสังคมบอก กลไกการต่อรองอำนาจมันจึงสำคัญ

อย่าไปคิดแค่เรามีนโยบายที่ดี ที่ถูกอย่างเดียว คิดเชิงเหตุผล อันนั้นก็สำคัญ แต่ไม่พอ ต้องคิดถึงกลไกให้ทุกคนมาโหวกเหวกโวยวายต่อรองกันได้ จะได้เข้าถึงทรัพยากรต่างๆ อันนี้ไม่รวมถึงนโยบายข้าวข้างบน ถามว่ามีกลไกให้ชาวบ้านเข้าไปกำหนดนโยบายข้างบนมั้ยเลยนะ อันนี้เราก็รู้แล้ว

อาจจะมีสมาคมชาวนา แต่ก็เป็นชาวนาแบบ ไม่รู้สิ เราก็รู้อยู่ ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวนาเท่าไร เป็นแต่เพียงองค์กรของชาวนาที่เข้าไปจัดตั้ง อะไรแบบนี้ นี่ก็เป็นปัญหามากของกลไกสาธารณะ ซึ่งเวลาเราพูดถึงปัญหาข้าว ชาวนา อะไรแบบนี้ เราไม่สนใจ และเราไม่สามารถไม่สนใจการเมือง หรือความเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้ มันเกี่ยวข้องกัน

ชาวนาจะมีปากท้องที่ดี หรือไม่ดี ประเทศต้องเดินไปสู่การเป็นประชาธิปไตย กลไกการต่อรองมันสำคัญ รัฐบาลนี้พยายามลดทอน ไม่พูดถึงไปเลย คิดแต่จะมีนโยบายที่ดีลงไป

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า