มหากาพย์จำนำข้าว ไทม์ไลน์จากสภาสู่วันพิพากษาคดี

6 ปี กับอีก 2 วัน นับจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขึ้นแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งวรรคตอนสำคัญคือให้คำมั่นว่าจะเดินหน้านโยบายจำนำข้าวในราคาสูงถึง 15,000-20,000 บาทต่อตันตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ ถ้อยแถลงนั้นสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลต่อสังคมไทย

ในด้านหนึ่งคือเสียงเฮของชาวนาที่จะได้ขายข้าวในราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่อีกด้านคือการคัดค้านท้วงติง ทั้งจากนักวิชาการ และนักการเมือง ที่ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการบิดเบือนกลไกตลาด

2,194 วันนับจากวินาทีนั้นที่รัฐสภาถึงวันพิพากษาคดีจำนำข้าว รายทางของเรื่องราวเกี่ยวข้องกับใคร เกิดอะไรขึ้นบ้าง เรารวบรวมหมุดหมาย ทบทวนให้เห็นเส้นเรื่องและนัยสำคัญ ดังต่อไปนี้


23 สิงหาคม 2554

หลังจากชนะเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ข้อความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดในราคา 15,000-20,000 บาท/ตัน

7 ตุลาคม 2554

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มนโยบายจำนำข้าวฤดูกาลแรก ปี 2554/2555 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนตามนโยบายจำนำข้าวกว่า 3,260,685 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 59.78 ล้านไร่

15 ตุลาคม 2555

สมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ยื่นเรื่องต่อ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ให้ไต่สวนนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ข้อหาเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบายและทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 84 ว่าด้วยรัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม

6 พฤศจิกายน 2555

ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เสนอต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

 

3 ธันวาคม 2555

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สส.พรรคประชาธิปัตย์ นำรายชื่อสส.จากพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 146 ราย ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้มีการสอบสวนนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยตั้งประเด็นความโปร่งใสของการระบายข้าวผ่านสัญญารัฐต่อรัฐกับประเทศจีน

5 มิถุนายน 2556

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการระบายข้าวค้างเก่าในโครงการรับจำนำปี 2554/2555 เป้าหมายในการยื่น ป.ป.ช.ครั้งนี้ เน้นไปที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายข้าว และนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว

9 กรกฎาคม 2556

กล้านรงค์ จันทิก โฆษก ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้า ระบุไต่สวน 2 ประเด็นสำคัญคือ 1. การดำเนินโครงการ โดย ป.ป.ช. ได้ขอเอกสารไปยังส่วนราชการต่างๆ 7 หน่วยงาน และ 2. การระบายข้าว ป.ป.ช. ได้ขอและได้รับเอกสารข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 6 หน่วยงาน

3 ธันวาคม 2556

วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าว พบว่ามีมูลทุจริตโครงการจีทูจี ดังนั้น ป.ป.ช. จึงมีมติขยายการไต่สวนไปยังอีก 5 กลุ่มบุคคล ในคำแถลงระบุว่า “การที่รัฐกำหนดการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายจากการขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554-มิถุนายน 2556 อีกทั้งปริมาณการส่งมอบข้าวไปยังจีนส่งไปเพียง 375,000 ตันเศษ จากปริมาณที่ต้องส่งมอบตามสัญญา จำนวน 4.8 ล้านตัน ซึ่งกรมศุลกากรยืนยันว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีข้าวส่งออกโดยผ่านพิธีการศุลกากรแต่อย่างใด”

16 มกราคม 2557

ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหา บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมผู้เกี่ยวข้องรวม 15 ราย ในความผิดกรณีการขายข้าวแบบจีทูจี และให้มีการไต่สวนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่า จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่

20 มกราคม 2557

คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ชุมนุมขับไล่รัฐบาลเพื่อไทยระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556-เดือนพฤษภาคม 2557 เคลื่อนขบวนจากเวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปปิดล้อมธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ที่สะพานควาย เพื่อคัดค้านการนำเงินฝากของประชาชนมาช่วยเหลือโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการทุจริต

28 มกราคม 2557

ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ไต่สวน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แทนการตั้งคณะอนุกรรมการก่อนแจ้งข้อกล่าวหาต่ออดีตนายกรัฐมนตรีในเดือนถัดมา การดำเนินการไต่สวนกระทำควบคู่กันทั้งในกรณีคำร้องขอให้ถอดถอน และคำร้องขอให้ดำเนินคดีอาญา มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง โดย วิชา มหาคุณ และ ประสาท พงษ์ศิวาภัย เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน

18 กุมภาพันธ์ 2557

ป.ป.ช. มีมติเรียก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้มาพบในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา กรณีละเลยการระงับความเสียหายและปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยระบุความผิดของผู้ถูกกล่าวหาว่า “ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นการจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 178 อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270”

20 กุมภาพันธ์ 2557

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขียนเฟซบุ๊ค ระบุว่า ป.ป.ช. มีกระบวนการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม ใช้เวลาในการดำเนินคดีเพื่อแจ้งข้อหากับตนเพียง 21 วัน ขณะที่ยิ่งลักษณ์ระบุว่าตนไม่ใช่ผู้ปฏิบัติแต่กลับถูกกล่าวหา ในข้อความดังกล่าวได้มีการตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการไต่สวนไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. มาตรฐานของการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2. บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาใช้เวลาเพียง 21 วัน และ 3. การปฏิเสธการขอเลื่อนคดีของจำเลย

31 มีนาคม 2557

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางเข้าชี้แจงข้อกล่าวหาทุจริตโครงการจำนำข้าว ซึ่งถือเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาชี้แจง หลังจากที่ ป.ป.ช. มีมติไม่อนุญาตให้ขยายเวลาตามที่ร้องขอ 45 วัน สำหรับการเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เป็นการชี้แจงด้วยลายลักษณ์อักษร และให้ปากคำด้วยวาจา ประมาณ 25 นาที ขณะที่ยิ่งลักษณ์ขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบพยานเพิ่มเติมประมาณ 10 ปาก

30 เมษายน 2557

ทีมทนายความของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โต้แย้งกรณี ป.ป.ช. ตัดพยาน 7 ปาก พร้อมกล่าวหา ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดย บัญชา ปรมีศณาภรณ์ หนึ่งในทีมทนายความระบุว่า “การที่ ป.ป.ช. ตัดพยานทั้ง 7 ปาก และไม่ลงพื้นที่ตรวจสต๊อกข้าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นพยานที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นการด่วนสรุป ละเลยไม่ตรวจสอบหลักฐาน ไม่ให้ความเป็นธรรมกับนายกฯ ถือเป็นการใช้ดุลยพินิจไม่สุจริต ขณะนี้ทีมทนายความกำลังรวบรวมหลักฐานพฤติกรรมไม่ชอบของ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบในการตัดพยาน”

8 พฤษภาคม 2557

ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ชี้มูลให้ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและให้ดำเนินคดีอาญาด้วยมติเอกฉันท์เช่นกันในวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว สำหรับการชี้มูลความผิดนี้ จำแนกผู้ถูกกล่าวหาเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. นักการเมือง 3 คน ได้แก่ บุญทรง ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าว พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ 2. เจ้าหน้าที่รัฐ 3 คน ได้แก่ มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ อัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ

 

19 กุมภาพันธ์ 2558

อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

พร้อมระบุว่า จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว 5 โครงการ โดยไม่สนใจข้อทักท้วงทั้งก่อนและระหว่างดำเนินการจากหลายหน่วยงาน ทั้ง ป.ป.ช. สตง. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ รวมไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่านโยบายนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพข้าว บิดเบือนกลไกตลาดและเกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แต่จำเลย และ ครม. กลับเดินหน้านโยบายนี้โดยไม่ยับยั้งความเสียหาย ไม่มีการปรับแก้หลักเกณฑ์ให้เกิดความรอบคอบ ทำให้เกิดความเสียหาย ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

19 พฤษภาคม 2558

ศาลฎีกาพิจารณาคดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวนัดแรก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางยื่นต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาคดีลับหลัง แต่ศาลเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลตามนัดทุกนัด หากไม่สามารถมาศาลในนัดใด จะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุจำเป็นต่อศาลเป็นคราวๆ ไป

21 กรกฎาคม และ 28 กรกฎาคม 2558

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดตรวจพยานหลักฐาน แต่ก่อนถึงวันนัด ยิ่งลักษณ์ได้ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานใหม่ เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2558

15 มกราคม 2559

ไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก ครอบคลุมพยานโจทก์ 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด เมื่อยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงศาล ตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2) จำนวน 137 นาย ขอความร่วมมือจากมวลชนที่นิยมยิ่งลักษณ์ ห้ามชูแผ่นป้ายขนาดใหญ่ ทำได้เพียงมอบดอกไม้และส่งเสียงให้กำลังใจ

24 มิถุนายน 2559

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไต่สวนพยานโจทก์นัดสุดท้าย อัยการสูงสุดนำ จิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการจำนำข้าว เบิกความต่อเพิ่มเติม ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางมาฟังการไต่สวนด้วยเช่นกัน

5 สิงหาคม 2559

เริ่มไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดแรก ขณะที่จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด รวม 42 ปาก (5 สิงหาคม 2559 – 21 กรกฎาคม 2560)

21 กรกฎาคม 2560

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานฝั่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นัดสุดท้าย จนกระทั่งศาลไต่สวนพยานจำเลยจนจบ 3 ปาก ทนายจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 และคำร้องเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 11 และ 17 กรกฎาคม 2560 ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 212 โดยโต้แย้งว่าบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 3, 25, 235 วรรคหก ขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ก่อนที่ศาลจะยกคำร้องของจำเลย

1 สิงหาคม 2560

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงปิดคดีด้วยวาจา ระบุว่า ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม การตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการไต่สวนเนื่องจากมั่นใจในความบริสุทธิ์ ทว่าไม่เคยได้รับการไต่สวนภายใต้หลักนิติธรรมจาก ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด นอกจากนี้ยังโต้แย้งการเพิ่มพยานหลักฐานใหม่ พร้อมระบุว่าในอนาคตจะไม่มีผู้นำคนใดกล้าเสนอนโยบายช่วยเหลือประชาชน

25 สิงหาคม 2560

ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า