มวลมหาอาญาสิทธิ์: ความรุนแรงในเชิงศีลธรรม

“…ชื่องานวิจัยของผมคือ ‘ธรรมมาธรรมะสงคราม ความรุนแรงเชิงศีลธรรมและอนารยะขัดขืน’ การเมืองอัตลักษณ์ของคนดีในมิติการเมืองไทย งานชิ้นนี้พยายามทำอะไร ประเด็นหลักก็คือการอธิบายการเคลื่อนไหวของ กปปส. เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยชุดใหญ่ เพียงแต่ว่าของผมได้รับมอบหมายให้เน้นศึกษาเฉพาะแง่มุมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวของ กปปส. กับมิติของความรุนแรงนะครับ มิติความรุนแรงในที่นี้คือมิติความรุนแรงในเชิงกายภาพเพื่อจะตอบคำถามว่าท้ายที่สุดแล้วการเคลื่อนไหวของ กปปส. ในช่วงนั้นเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสันติวิธีหรือไม่ เข้าข่ายเป็นการเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืนหรือไม่ อันนี้เป็นความรุนแรงที่จะตอบคำถามในเชิงกายภาพ

“อีกส่วนหนึ่งก็คือส่วนของการต่อสู้ในเชิงวาทกรรม แล้วก็กระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรง ก็คือมิติที่ว่าเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ขบวนการ กปปส. ทั้งแกนนำและก็ระดับมวลชนอธิบายความรุนแรงนั้นอย่างไรทั้งในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้ใช้ และในฐานะที่ตัวเองตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง…”

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดในงานสัมมนาสาธารณะเมื่อ 15 ธันวาคม ‘การเมืองคนดี: ความคิด ปฏิบัติการณ์ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุนขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย’ ภายใต้การดำเนินการของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่ออธิบายแนวคิดเบื้องหลังกลุ่มมวลชนที่ก่อตัวขึ้นภายหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทางการเมือง เพื่อเป้าหมายรื้อกระดานทางการเมืองที่เกิดความขัดแย้งยาวนานเสียใหม่ โดยหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้มีทั้ง ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของยิ่งลักษณ์ และแม้กระทั่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีส่วนในการใช้ความรุนแรงปราบปรามมวลชนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในปี 2553 ภายใต้วาทกรรม ‘กระชับพื้นที่’ ซึ่งต่อมาได้ลาออกจากการเป็นนักการเมือง แล้วปวารณาตัวเองเกิดใหม่ในนามของ ‘ลุงกำนัน’ เพื่อนำขบวนการ กปปส. ไปสู่การล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เปิดทางให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ผลงานของประจักษ์เป็นหนึ่งในงานวิจัยของคณาจารย์หลากหลายวิชาที่เข้ามาร่วมโครงการสัมมนาสาธารณะเพื่อจะเปลือยให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายใต้คำว่า ‘คนดี’ มีความหมายที่ซุกซ่อนลงไปมากกว่านั้นในแง่ใดบ้าง และความหมายนั้นตอบอะไรเราในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมเพื่อฉายภาพย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม หนึ่งในความหมายที่เป็นหัวข้อวิจัยหลักของประจักษ์คือ การพยายามชี้ให้เห็นความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ภายใต้วาทกรรมคำว่า ‘อารยะขัดขืน’ ความรุนแรงในนามของความดี ซึ่งล้วนแล้วแต่ชี้ไปยังนิยามท้ายสุดคือ การมองไม่เห็นคนเท่ากัน ระหว่างมวลชน กปปส. กับมวลชนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์

โดยประจักษ์ใช้กรอบแนวคิดสามกรอบหลักๆ เพื่อทำการวิจัย ประกอบด้วย แนวคิดเรื่องพื้นที่ความรับผิดชอบทางศีลธรรม แนวคิดเรื่องความรุนแรงเชิงศีลธรรม และแนวคิดเรื่องอนารยะขัดขืน ซึ่งการศึกษาเรื่อง กปปส. ในหมู่นักวิชาการร่วมโครงการด้วยกัน กระทั่งงานศึกษาทั้งในส่วนของบทความและงานวิจัยตลอดสามปีที่ผ่านมา ประจักษ์ตั้งคำถามว่า ขบวนการ กปปส. นั้น แท้ที่จริงแล้วมีอุดมการณ์ในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองเพื่ออะไรกันแน่ และมีอุดมการณ์อะไรกำกับชี้นำ

“…ไม่ว่าจะเป็นชุดอุดมการณ์แบบเสรีนิยม ตกลงมันประชาธิปไตยหรือมันอนุรักษ์นิยม ปัญหาของมันก็คือว่าเราไม่สามารถจัดการเคลื่อนไหวของ กปปส. ไปลงกรอบอุดมการณ์อันใดอันหนึ่งเพื่อจะชี้ชัดลงไปได้ว่ามันเป็นขบวนการอะไรในเชิงอุดมการณ์ ยิ่งพอศึกษาในเนื้อรายละเอียดจากข้อมูลภาคสนามของงานวิจัยชิ้นนี้เอง ทำให้ผมรู้สึกว่าการพยายามที่จะเอากรอบอุดมการณ์หลักมาอธิบาย กปปส. อาจจะมีประโยชน์น้อย ในที่นี้สิ่งที่ตัวเองพบก็คือว่า ถึงที่สุด ขบวนการ กปปส. เนื่องจากเป็นขบวนการขนาดใหญ่ มีคนเข้าร่วมแตกต่างหลากหลาย ทุกคนทุกกลุ่มที่มาเข้าร่วมล้วนมีชุดอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ในที่สุดผมจึงกลับไปใช้เครื่องมือเดิมในตอนที่ผมศึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์ตอนปริญญาโท ตอนศึกษาขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา คือในท้ายที่สุดแล้ว แทนที่จะไปชี้ชัดว่า กปปส. เป็นฟาสซิสต์ เป็นอนุรักษ์นิยม เป็นเสรีนิยม เป็นประชาธิปไตย มันกลับเป็นหลายๆ อย่าง เพราะว่าถ้าเราชี้ลงไปตรงไหน เราก็จะพบแง่มุมทางอุดมการณ์ต่างๆ แบบเสรีนิยมก็เจอ จากแบบสำรวจ ประชาธิปไตยก็เจอ อนุรักษ์นิยมก็เจอ รอยัลลิสต์ก็เจอ”

อุดมการณ์ ‘คนดี’

สิ่งที่ประจักษ์มองว่าเป็นความน่าสนใจคือการที่ชุดอุดมการณ์ซึ่งแตกต่างกันเหล่านี้กลับมารวมตัวกันอยู่ได้ภายในขบวนการขนาดใหญ่อย่าง กปปส. ได้ ภายใต้แนวทางการต่อสู้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง ณ จุดนั้นของประวัติศาสตร์ วาทกรรมคำว่า ‘ความดี’ เป็นสิ่งที่ประจักษ์พบมากที่สุดในเชิงแถลงการณ์บนโลกออนไลน์ ซึ่งทำให้นำไปสู่ข้อสังเกตอีกว่าความดีที่ไหลเวียนอยู่อย่างมากมายภายใต้ช่วงการชุมนุมของ กปปส. นั้น ได้กลายเป็นชุดอุดมการณ์ที่ครอบคลุมความแตกต่างทั้งหลายเอาไว้ เป็นชุดอุดมการณ์หลวมๆ ที่ในแง่หนึ่งอาจมองเป็นความไม่เข้มแข็งในเชิงขบวนการ ทว่าประจักษ์กลับมองว่า ภายใต้ขบวนการ กปปส. อุดมการณ์หลวมๆ ของคำว่าความดีนี้กลับเป็นจุดแข็งที่หลอมรวมคนใต้ คนกรุงเทพฯ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีความแตกต่างทางชนชั้น ทั้งระดับบนและระดับล่างมารวมอยู่ด้วยกัน

“ทีนี้จุดเริ่มแรกที่อยากจะอธิบายกรอบใหญ่ของงานวิจัยชิ้นนี้ ‘การเมืองแบบคนดี’ ซึ่งแน่นอนเป็นการเมืองแบบที่มีมิติทางศีลธรรมกำกับสูง จริงๆ แล้วไปด้วยกันได้กับการใช้ความรุนแรง กล่าวอีกแบบ การเคลื่อนไหวของ กปปส. ไม่ได้เข้าข่ายสันติวิธีและอารยะขัดขืน มีการใช้ความรุนแรงด้วย แต่เป็นความรุนแรงที่ผู้เคลื่อนไหวมองว่ามีความชอบธรรม ทำไมถึงเป็นความชอบธรรมได้ เพราะว่าสำหรับ กปปส. เขาไม่ได้มองว่าศีลธรรมกับความรุนแรงมันอยู่ตรงข้ามกัน เรามักจะมองว่าความรุนแรงมันเกิดขึ้นจากคนไร้ศีลธรรม หรือศีลธรรมบกพร่องเลยใช้ความรุนแรง ความรุนแรงเป็นเรื่องของการใช้อารมณ์ชั่ววูบ การใช้ความโกรธเกรี้ยวเพื่อเอาชนะคนอื่น จริงๆ งานศึกษาจำนวนมากในระยะหลังกลับชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงนี่แหละสามารถถูกกระตุ้นและถูกให้ความหมายว่าใช้เพื่อปกป้องและรื้อฟื้นระบบศีลธรรมที่กำลังถูกคุกคาม เช่น ความรุนแรงที่กระทำในนามของการปกป้องชาติ มาตุภูมิ หรือปกป้องสถาบันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพนะครับ”

ในมุมของประจักษ์ ความรุนแรงจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากภาวะไร้ศีลธรรม หรือใช้ศีลธรรมในกำกับยับยั้งความรุนแรงเสมอไป ตรงกันข้าม การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีศีลธรรมมากำกับสูง และมองคนแต่เพียงในแง่ของขาวและดำ กลับเป็นตัวทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงในนามของความดีมากยิ่งขึ้น

ในนามของความดีนั่นแหละ กลับเป็นตัวอนุญาตให้ผู้เคลื่อนไหวมองว่าตัวเองต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างที่ตัวเองต้องการ รวมถึงความรุนแรงในบางเงื่อนไข

บริบทและรูปแบบของความรุนแรง

สิ่งที่ประจักษ์ค้นพบในการวิจัยชิ้นนี้คือบริบทและรูปแบบของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาระหว่างปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 เกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่ม กปปส. กับเจ้าหน้าที่รัฐในความหมายภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ รวมไปถึงความรุนแรงระหว่างมวลชนกับอุดมการณ์ และความรุนแรงที่เกิดจากการกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธ เช่น มือปืนป๊อปคอร์น

ประจักษ์กล่าวว่า สภาวะของความรุนแรงเช่นนั้นเกิดขึ้นได้เพราะการเกิดอนาธิปไตยบนท้องถนนที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของ กปปส. เอง ที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงจากกลุ่มคนที่มีความแตกต่าง เพราะสังคมได้ถูกผลักให้ไปสู่ทางตัน รวมไปถึงความล้มเหลวของกลไกในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างสันติ ทุกองค์กรหยุดทำหน้าที่ แล้วใช้องค์กรของตัวเองเป็นเครื่องมือทางการเมือง นำไปสู่สภาวะรัฐล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของ กปปส. ที่เลือกใช้วิธีเผชิญหน้าแบบไม่ยอมเจรจา จนมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ความขัดแย้งบานปลายไปสู่ความรุนแรง

“ที่น่าสนใจอีกอันก็คือ ถ้าเปรียบเทียบในทางประวัติศาสตร์แล้ว ผมพบว่าขบวนการ กปปส. เป็นขบวนการประชาชน เป็น social movement อันแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มุ่งขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งโดยตรง คือไม่ใช่เพียงต่อต้านโยบาย ต่อต้านรัฐบาล แต่มุ่งโจมตีไปที่สถาบันพื้นฐานของประชาธิปไตยโดยตรง กระทั่งหลักการ คุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตย คือถึงขนาดกลับไปตั้งคำถามว่าคนเราควรเท่ากันหรือไม่? หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงหรือไม่? และเมื่อคนเรามันไม่ควรเท่ากัน และการเลือกตั้งเป็นบ่อเกิดของอำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม กปปส. จึงใช้ความรุนแรงไปหยุดยั้งตัวสถาบันพื้นฐานอันนี้ คือการเลือกตั้ง”

ประจักษ์กล่าวว่า ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ กปปส. เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่เพียงแต่มุ่งโจมตีสถาบันพื้นฐานของประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังมีมิติเชิงอุดมการณ์ควบคู่กันไปด้วย ทำให้นับต่อจากนี้ การเคลื่อนไหวรณรงค์การเมืองในทางประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นง่ายอีกต่อไป เพราะจะมีกลุ่มคนที่ไม่เพียงต่อต้านนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่กลับไปตั้งคำถามต่อคุณค่าพื้นฐานที่สำคัญในทางประชาธิปไตย ว่าคนเราควรเท่ากันหรือไม่? หนึ่งสิทธิ์เท่ากับหนึ่งเสียงหรือไม่?

การเมืองศีลธรรมกับความรุนแรง

กรอบแนวทางในการวิจัยข้อสุดท้ายที่ประจักษ์นำเสนอคือ การต่อยอดจากวิทยานิพันธ์ปริญญาเอกที่ประจักษ์สนใจประเด็นความรุนแรงในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากนักการเมืองหรือหัวคะแนนยิงกันเอง แต่หากเกิดขึ้นจากมวลชนที่มุ่งเข้าขัดขวางมวลชนที่แตกต่างทางอุดมการณ์ด้วยความรุนแรง เป็นรูปแบบใหม่ของความรุนแรงโดยสิ้นเชิง และหากนับเชิงสถิติ ยังเป็นความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย จากประเด็นนี้นำมาสู่กรอบการวิจัยที่ประจักษ์มองว่าความรุนแรงของ กปปส. ไม่ใช่เพียงความรุนแรงที่ใช้เพื่อเหตุผลทางยุทธศาสตร์ในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นความรุนแรงที่มีการให้ความหมายรองรับและมีมิติทางศีลธรรมกำกับ

“ซึ่งในแง่นี้มันน่ากลัวกว่าความรุนแรงแบบอื่น มันไม่ใช่แบบที่นักการเมืองมายิงกัน หรือหัวคะแนนไปยิงคนอื่น อันนี้ทำลงไปโดยไม่มีมิติทางอุดมการณ์ด้วย คนทำทำลงไปด้วยก็รู้สึกว่ามันไม่ดีหรอก แต่ได้รับเงินมา ถูกจ้างมา หรือนักการเมืองเวลาฆ่ากันช่วงการเลือกตั้ง เขาไม่ได้รู้สึกว่าเขากำลังทำความดีนะครับ แต่ความรุนแรงของบวนการ กปปส. ในช่วงนั้นที่เกิดขึ้น เป็นความรุนแรงที่ผู้ใช้ให้ความหมายรองรับ และรู้สึกว่าเป็นความรุนแรงที่ชอบธรรม ขบวนการ กปปส. เชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝ่ายตนถูกต้องชอบธรรม เพราะว่าใช้เพื่อกำจัดระบอบการเมืองและนักการเมืองที่ชั่วร้ายมากกว่า โดยมองว่าฝ่ายตรงข้ามกับตัวเองไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทรราชหรือผู้สนับสนุน มวลชนฝ่ายตรงข้าม ต่างอยู่นอกพื้นที่ทางศีลธรรมที่ตนเองจำเป็นต้องมีพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมด้วย”

ภาษาของสงคราม

นอกจากการให้นิยามความหมายเพื่อรองรับความรุนแรงโดยมีศีลธรรมกำกับ ประจักษ์ยังชี้ให้เห็นว่าตลอดช่วงการชุมนุมของ กปปส. ภายใต้การขับเคลื่อนเพื่อมุ่งไปสู่การปฏิรูป ยังมีการใช้ภาษาของสงครามเข้ามาตลอดช่วงการชุมนุม โดยเป็นสงครามระหว่างความดีกับความชั่ว เป็นเหตุผลที่งานวิจัยชิ้นนี้ของประจักษ์ใช้ชื่อ ‘ธรรมมาธรรมะของสงคราม’ ซึ่งมองว่าเป็นการเมืองแบบมิตร-ศัตรู อยู่ร่วมกันไม่ได้ ถ้าเราอยู่ เขาต้องไป เป็นการเมืองที่ไม่มีพื้นที่ตรงกลาง

“ถ้าใครยังจำได้ ในช่วงการเลือกตั้ง มีคนธรรมดาที่อาจไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหนไปใช้สิทธิ์การเลือกตั้ง เช่น นักแบดมินตันทีมชาติ คุณเมย์-รัชนก (อินทนนท์) เธอโดนโจมตีว่าเป็นคนเลว ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะสโลแกนตอนนั้นของ กปปส. ก็คือ รักประชาธิปไตยต้องไม่ไปเลือกตั้ง คนที่แค่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งถูกมองว่าไม่เลือกข้าง ไม่เลือกฝ่ายคนดี กระทั่งนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์บางคนออกมาติง กปปส. นิดหน่อย อย่าง คุณกรณ์ จาติกวณิช โดนมวลชน กปปส. วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง บอกว่า ระวังไม่มีแผ่นดินจะอยู่ ทำไมไม่เลือกข้างคนดี”

นัยยะทางการเมืองในการขับดันสงครามระหว่างความดีกับความชั่ว ประจักษ์มองว่ามันได้แปรเปลี่ยนการต่อสู้ทางการเมืองให้กลายเป็นการต่อสู้ทางศีลธรรมที่ไม่อาจประนีประนอมได้ราวกับเป็นการต่อสู้ด้วยความเชื่อทางศาสนา เมื่อใช้ความเชื่อทางศาสนามากำกับแล้ว จึงกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการละเมิดกฎหมาย และการใช้ความรุนแรงเพื่อสถาปนาการเมืองของคนดี

อัตลักษณ์คนดีกับพื้นที่จำกัดทางศีลธรรม

การสร้างอัตลักษณ์คนดีของ กปปส. ที่ผมมองว่าเป็นการสร้างอัตลักษณ์เพื่อคลุมอัตลักษณ์อื่นๆ เอาไว้ ไม่ได้ดำรงอยู่ลอยๆ แต่ดำรงอยู่จากการสร้างขั้วตรงกันข้าม ผ่านการกดคุณค่าของอีกฝ่ายให้อยู่ต่ำ ยิ่งขับเน้นความเป็นผู้มีศีลธรรมของผู้ชุมนุม กปปส. ให้สูงขึ้น

วาทกรรมที่ไหลเวียนอยู่ตลอดการชุมนุมที่สะท้อนออกมาให้เห็นถึงชุดอุดมการณ์ภายใต้อัตลักษณ์ของคนดีได้อย่างเห็นภาพอยู่ประโยคหนึ่งว่า “เราเป็นคนดี การต่อสู้ครั้งนี้ทำให้เราขึ้นสวรรค์ ส่วนเสื้อแดงมันเป็นคนโง่ มันก็ต้องตกนรก”

“คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ บอกว่า เราสู้กับอมนุษย์ที่มีสันดานอำมหิต การเคลื่อนไหวของ กปปส. แบ่งแยกขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือชุดวาทกรรมคนดีมันรวมหลายอย่างไว้ มันมีหลายมิติ ทั้งที่เป็นคนดีกว่าเพราะรักชาติ รักแผ่นดินมากกว่า รักในหลวงมากกว่า เคร่งศีลธรรมมากกว่า เป็นพลเมืองดีแบบใสซื่อมือสะอาด สุจริต ไม่คอรัปชั่น เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง มีการเปรียบเทียบในแง่การศึกษาสูงกว่า เป็นผู้ดีกว่า มีคุณภาพมากกว่า ไม่ตกเป็นทาสของนักการเมือง”

อัตลักษณ์คนดีของ กปปส. ประจักษ์มองว่าทำให้ กปปส. จำกัดพื้นที่ทางศีลธรรมไว้เฉพาะมวลชนของฟากฝ่ายตัวเอง ไม่ได้ขยายครอบคลุมไปถึงกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านั้นไม่เพียงแต่ถูกมองว่าเป็นศัตรู เป็นคนอื่น กระทั่งขาดความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม กล่าวอีกแบบคือ มีการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายโดยกลุ่ม กปปส. จำนวนมากตลอดการชุมนุม กระทั่งเมื่อเกิดการสูญเสียของมวลชนของอีกฝ่าย ไปจนถึงผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็กลับเห็นการเยาะเย้ยถากถางจากกลุ่ม กปปส. โดยลืมซึ่งความเป็นมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง

ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ ในฐานะผู้วิจารณ์ที่มองว่างานวิจัยของประจักษ์ชิ้นนี้ยังไม่ได้ฉายภาพการกระทำจากมวลชนอีกฝ่ายต่อ กปปส. อย่างชัดเจนและเท่าเทียม และยังตั้งคำถามอีกว่า การเกิดขึ้นของวาทกรรม ‘คนดี’ ของ กปปส. เป็นเพียงการตอบโต้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มอื่นๆ หรือไม่

“กปปส. มาถึงจุดนี้ได้เพราะมีตัวละครอื่นๆ พูดอีกแบบก็คือ ไอ้วิธีคิดเรื่องคนดี แล้วก็ปฏิบัติการความรุนแรงของ กปปส. มันเป็นรีแอคชั่นต่อ social movement แบบอื่น คือ นปช. หรือเปล่า เช่น ความต่างอันหนึ่งระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. ก็คือ พันธมิตรเกิดขึ้นตอนแรกความขัดแย้งยังไม่เข้มข้นขนาดนี้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีวิธีคิดเรื่องแดงล้มเจ้า แต่ว่าพอความขัดแย้งมันเข้มข้นเรื่อยๆ ไอ้แนวคิดเรื่องใครล้มเจ้ามันขยายจากกลุ่มนักการเมือง ไปยังกลุ่มมวลชน ทำให้ภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งหมดกลายเป็นแดงล้มเจ้า เพราะฉะนั้นการที่ กปปส. บอกว่าตัวเองเป็นคนดีมันเป็นคำตอบต่อการที่เขาเข้าใจว่ากลุ่มคนเสื้อแดงทั้งหมดคือ แดงล้มเจ้าหรือเปล่า ดังนั้นคนดีของ กปปส. มันจึงเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับขบวนการการเมืองอื่น”

งานวิจัยชิ้นนี้ของประจักษ์ยังคงอยู่ในขั้นตอนพัฒนาและแก้ไขต่อไป เพื่อให้กลายเป็นงานวิจัยที่ตอบคำถามหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เมื่อสามปีก่อนซึ่งนำมาสู่จุดที่เราอยู่ในปัจจุบัน เพื่ออย่างน้อยในความคิดเห็นของผู้เรียบเรียง เราอาจเข้าใจได้ในที่สุด ทำไมพวกเขาถึงทำเช่นนั้น ส่วนจะนำไปสู่สิ่งอื่นใด ประวัติศาสตร์คงจะบอกเองในท้ายที่สุด

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า