Womenomics of Abenomics

j1

 

แผนสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลคาดการณ์ใน 10 ปีนับจากนี้ ทั้งระยะกลางและระยะยาว จะเพิ่มผลิตภาพอีกร้อยละ 2 เพิ่มจีดีพีแท้จริงเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี โดยการจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องสร้างทุนจากพลังของผู้หญิง เราตั้งเป้าที่จะผลักดันให้คนทำงานผู้หญิงปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 73 ภายในปี 2020 รายได้ของผู้หญิงญี่ปุ่นก็จะต้องใกล้เคียงกับของผู้ชายมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ยังมีช่วงห่างกันอยู่มาก เพราะโดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงญี่ปุ่นมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายประมาณร้อยละ 30.2 (เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขนี้ในสหรัฐที่ร้อยละ 20.1  และที่ฟิลิปปินส์แค่ร้อยละ 0.2 เราจะต้องถมช่องว่างนี้ให้ได้โดยรวดเร็ว

ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น, 25 กันยายน 2013

 

วันเดียวกันกับที่นายกฯอาเบะเขียนบทความชิ้นนี้ลง The Wall Street Journal สำนักข่าวต่างประเทศก็พากันรายงานอาการ ‘หงายเงิบ’ ของรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อพบตัวเลขสาวญี่ปุ่น 1 ใน 3 ต้องการแต่งงาน และทำหน้าที่ ‘แม่บ้าน’ แบบเต็มเวลา

จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคม สอบถามประชากรญี่ปุ่นกว่า 3,000 คนที่อายุระหว่าง 15-39 ปี พบว่า ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน 34 เปอร์เซ็นต์ไม่อยากประกอบอาชีพหลังมีครอบครัว ส่วน 38 เปอร์เซ็นต์ยืนยันว่าไม่อยากทุ่มเททั้งชีวิตให้กับงานในบ้าน ที่เหลือยังไม่ตัดสินใจ ด้านหนุ่มๆ ที่ตอบแบบสอบถาม มีเพียง 1 ใน 5 ที่อยากให้ภรรยาอยู่เหย้าเฝ้าเรือนทั้งวัน

อารายกั๊น…อารายกัน ทำไมสาวญี่ปุ่นถึงเมินนโยบาย ‘Womenomics’ ของนายกฯอาเบะได้ขนาดนี้ ไม่คิดจะออกมาทำมาหากินสร้างชาติซะบ้าง – เสียงระหว่างบรรทัดของสื่อต่างๆ ตีความได้เช่นนั้น

หากรู้จักญี่ปุ่น ต้องไม่มองผลสำรวจนี้เพียงลำพัง แต่ต้องมองควบข้อมูลความเป็นจริงในสังคมญี่ปุ่นอีกปึกใหญ่

1 ใน 3 ของคนรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่าของการแต่งงาน ไม่อยากผูกมัดตัวเองกับใครจริงจัง และจำนวนมากเลือกที่จะ sexless

“หากคุณเป็นโสด คุณสามารถใช้เงินเท่าที่คุณต้องการ ไม่มีใครมานั่งบ่นว่าที่คุณจะใช้จ่ายกับสิ่งที่คุณชอบหรืองานอดิเรก มีพื้นที่ของตัวเอง แต่ถ้าแต่งงาน ทุกอย่างที่ว่ามาจะหายวับกับตา อยากถามจริงๆ มีความดีอะไรอยู่บ้างในการแต่งงาน” ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นกับนิตยสาร Joshi Spa!

หนุ่มสาวญี่ปุ่นที่อายุน้อยกว่า 40 ปีแทบหมดความสนใจในความสัมพันธ์แบบดั้งเดิม ไม่ต้องพูดถึงธุรกิจแม่สื่อที่เคยรุ่งเรืองในอดีต แต่คนเป็นล้านๆ ไม่สนใจจะออกเดท ไม่สนความสัมพันธ์แบบโรแมนติก – หรือแม้แต่จะมีเซ็กส์

Celibacy Syndrome หรือ อาการงดเซ็กส์ กำลังสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับรัฐบาลที่ต้องเผชิญปัญหาอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก

“การที่ญี่ปุ่นกำลังหลบหนีออกจากความสัมพันธ์ทางเพศ ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของรัฐบาล” ไอ อาโอยาม่า อดีตสาว AV ผู้ผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาด้านเพศและความสัมพันธ์ ตั้งข้อสังเกตกับ The Guardian

ไม่น่าแปลกใจกับข้อสังเกตของอดีตสาว AV ท่านนี้ เพราะหากดูพื้นฐานความคิดของสังคมญี่ปุ่นที่มีต่อครอบครัวยังเป็นผู้ชาย ‘Salary Man’ และผู้หญิงที่ต้องเป็นแม่บ้านเต็มเวลาดูแลลูกผัวไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ขณะที่สภาพเศรษฐกิจที่บีบรัด ไม่เปิดโอกาสให้การพึ่งพารายได้จากฝ่ายชายเพียงลำพังสามารถดูแลครอบครัวได้

นี่จึงสอดคล้องกับผลสำรวจเรื่องเงินกับความรักของ RBB Today นิตยสารหัวสีในญี่ปุ่นพบว่า สาวๆ ต้องการมีคู่ชีวิตที่มีรายได้ประมาณเดือนละ 500,000 เยน ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานภาษีแห่งชาติของญี่ปุ่นชี้ว่า รายได้ของผู้ชายอายุ 30 เศษ อยู่ที่ 360,000 เยน รายได้ผู้ชายปลาย 30 อยู่ที่ 420,000 เยนเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าต้องไปกัดก้อนเกลือกินกัน อย่าแต่งเลยดีกว่า อย่าไปหาเรื่องใส่ตัว (mendokusai) นี่จึงเป็นความคิดของทั้งหนุ่มและสาวในญี่ปุ่น

ที่สำคัญการต้องเป็นทั้งเมียและแม่ในสังคมญี่ปุ่นเนี่ย…ยากโคตร

เอาแค่ในการทำงานก่อน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความก้าวหน้าในการทำงานของผู้หญิงไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย และยิ่งแต่งงาน-มีลูก อนาคตการทำงานจบลงได้ง่ายๆ ไม่ใช่แค่ ‘อาจจะ’

สาวญี่ปุ่น 70 เปอร์เซ็นต์เลือกที่จะออกจากงานหลังจากที่เธอมีลูกแล้ว สูงกว่าในสหรัฐหรือในเยอรมนีสองเท่า ในจำนวนคนที่ตัดสินใจกลับเข้าทำงานหลังจากมีลูก มีเพียง 43 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่สามารถกลับไปทำงานแบบเดิมได้ เกินครึ่งถูกตัดเงินเดือน หรือไม่ก็ถูกผลักให้กลายเป็นคนชายขอบของบริษัท

นาโอโกะ โทโยดะ ทำงานอยู่ในบริษัทไอทีมา 10 ปี บอกกับ CNN ว่า เธอถูกลดขั้นไปอยู่ในตำแหน่งเดียวกับตอนเริ่มเข้าทำงาน หลังจากให้กำเนิดลูกคนแรก จนเธอต้องลาออกจากบริษัทในที่สุด

“ผู้หญิงที่เลือกจะไม่มีลูกสามารถไต่เต้าขึ้นไปมีตำแหน่งดีๆ ในบริษัทได้ ขณะที่คนที่เลือกมีลูกเหมือนถูกขับให้อยู่ในสภาพกึ่งๆ ปลดเกษียณ”

j2

รัฐบาลอาเบะประกาศ ‘Womenomics’ โดยถือเป็น 1 ใน 3 หัวหอกสำคัญของ ‘อาเบะโนมิกส์’ (Abenomics) ผลักดันให้ผู้หญิงทำงานกอบกู้เศรษฐกิจชาติ รับปากจะจัดหาบริการ daycare และพยาบาลดูแลเด็กให้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังให้มีชั่วโมงทำงานที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความสะดวกของแต่ละคน และให้มีระบบการจ่ายค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ภายใต้ระบบการประเมินผลงานที่เป็นธรรมมากขึ้น

แต่เอาเข้าจริง รัฐบาลอาเบะก็ถูกวิจารณ์ว่า เป็นอีกหนึ่งรัฐบาลที่ไม่ยินดีต่อสู้อย่างชนิดพร้อมยอมตายถวายชีวิตให้เพื่อให้มีการยอมรับคุณค่าของสตรีอย่างเป็นระบบ เพราะแค่เรื่องไม่ยากอย่าง daycare ทุกวันนี้มีเด็กกว่า 20,000 คน ที่จองคิวรอฝากเลี้ยงกับศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ซึ่งหมายความว่าคุณแม่เลี้ยงลูกอ่อนยังไม่สามารถกลับไปทำงาน ‘กอบกู้เศรษฐกิจชาติ’ ตามที่ท่านนายกฯต้องการ

แล้วบรรดาแม่ๆ ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวตัวคนเดียวล่ะ พวกเขาจะทำอย่างไร NHK ทำสารคดีชิ้นใหญ่ไปหาคำตอบนี้ สิ่งที่พวกเขาพบน่าตกใจ!!!

ธุรกิจทางเพศที่เฟื่องฟูของแดนปลาดิบ กำลังกลายเป็นตาข่ายทางสังคมให้กับสาวรุ่นและแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ยากจน รวมทั้งแม่บ้านที่สามีตกงานหรือมีรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว

เพราะนอกจากธุรกิจเหล่านี้จะมีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น รายได้ไม่เลว ปัจจุบันนี้ยังมีออพชั่นหอพักให้กับสาววัยรุ่นรายได้น้อย และ daycare ให้กับคุณแม่จะได้ไปทำงานบริการทางเพศอย่างสบายใจ โดยบางแห่งยังใจดีแถมอาหารให้ด้วย

ในสารคดี ฉันมองไม่เห็นวันพรุ่งนี้ ของ NHK ฮานะ แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 21 ปี ทำงานในคลับแห่งหนึ่งชานกรุงโตเกียวมาได้หกเดือนแล้ว ทุกวันทำงานเธอจะฝากลูกสาววัยเกือบ 2 ขวบไว้ที่ daycare ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับเจ้าของคลับ

ลูกค้าเสียค่าใช้จ่าย 19,000 เยน ต่อการใช้บริการเธอ 90 นาที เงินจำนวนนี้ 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นของทางคลับ ฮานะทำงานห้าวันต่อสัปดาห์มีรายได้ประมาณ 300,000 เยนต่อเดือน เธอกระเหม็ดกระแหม่ไว้เพื่อสร้างอนาคตให้ลูกสาว

“ครั้งแรกที่ ‘ทำงาน’ ฉันร้องไห้ตลอดเวลา แต่ก็มีพนักงานคนอื่นๆ มาคอยดูแลให้คำปรึกษา จนฉันทำใจได้ ฉันคิดว่าจะทำงานนี้ไปจนถึงอายุ 25 เพราะฉันยังอยากมีอาชีพที่กล้าบอกพ่อกับแม่ได้ว่า ฉันทำมาหากินอะไร”

แม่เลี้ยงเดี่ยวอีกคนในคลับเดียวกัน บอกกับ NHK ว่า เธอพยายามสมัครขอรับสวัสดิการของรัฐบาล แต่ถูกบอกให้รอถึงสามเดือนเพื่อตรวจสอบว่าคุณสมบัติเข้าข่ายรับการช่วยเหลือหรือไม่ แต่นั่นนานเกินไป เธอจึงต้องมาทำงานที่คลับ

ไทโซะ เอบินะ ผู้สื่อข่าวที่เกาะติดข่าวธุรกิจทางเพศ รายงานว่า ตั้งแต่นโยบายอาเบะโนมิกส์เริ่มต้น มีผู้หญิงเข้าสู่ธุรกิจทางเพศมากขึ้น ไม่ใช่แค่สาวโสด แต่รวมทั้งผู้หญิงที่มีครอบครัวอยู่แล้ว เพราะธุรกิจ SME ในญี่ปุ่นได้รับประโยชน์น้อยมากจากนโยบาย (ผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือพวกที่อยู่ในตลาดหุ้นและบริษัทขนาดใหญ่และผู้ส่งออก) ทำให้ต้องลดคนทำงาน หรือจ้างได้แค่ชั่วคราว สุดท้ายพวกเธอก็ต้องเข้ามาทำงานในธุรกิจทางเพศเพื่อช่วยกอบกู้เศรษฐกิจของครอบครัวโดยที่สามีของพวกเธอไม่รู้เลย

เมษายน ปีที่แล้ว ภาษีการบริโภคกำลังจะขึ้นอีกครั้ง จาก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 8 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ค่าครองชีพในญี่ปุ่นถีบตัวสูงขึ้น ขณะที่ค่าแรงถูกแช่แข็ง เพราะรัฐบาลอาเบะคัดค้านข้อเสนอของสหพันธ์การค้าญี่ปุ่นที่ขอให้ขึ้นฐานค่าจ้างอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ ภายในปีหน้า

สาวๆ ญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งจึงต้องเดินหน้ากอบกู้เศรษฐกิจตามแนวทางของตัวเองต่อไป

ส่วนบรรดาคนโสดที่อยู่ยากเหลือเกินในประเทศศิวิไลซ์แห่งนี้ จะให้ไปโรแมนติกหวานแหววเพื่อสร้างครอบครัวเล็กๆ ให้เป็นพลังกอบกู้เศรษฐกิจแบบท่านนายกฯอาเบะหวังคงไม่ได้ คงต้องออกแนวทำงานเป็นวัวควาย มนุษย์โรบอต หันหน้าเข้าหาเซ็กส์แบบ visual ที่ญี่ปุ่นสร้างรากฐานมาอย่างแข็งแกร่งจนกลายเป็น ‘Cool Japan’ ส่งออกไปทั่วโลก น่าจะเป็นภาระกับชีวิตน้อยที่สุด

นี่แหละ Sexless Abenomics และ Womenomics ของจริง

 

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับ 71 เมษายน 2557

อ้างอิงข้อมูลจาก:
online.wsj.com
nhl.or.jp
cnn.com
afp.com
reuters.com
guardian.co.uk
prachatai.com

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า