24 ตุลาคม เวลา 14.38 นาฬิกา คือจุดบอกเวลาที่ทำให้ผู้หญิงหลายหมื่นคนในไอซ์แลนด์ ทิ้งปากกา ปล่อยไม้กวาด ยุติการดูแลลูกชั่วคราว -รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เราจะจินตนาการได้ว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง-แล้วออกไปรวมกันในพื้นที่สำคัญของเมือง เพื่อประท้วงต่อความไม่เท่าเทียมของค่าแรงระหว่างเพศสภาพชายและหญิง (gender wage gap)
และตัวเลข 14.38 ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการเดาสุ่ม
แต่เป็นตัวเลขที่ใช้เปรียบเทียบรายรับต่อชั่วโมงระหว่างชายหญิง ว่าถ้าผู้หญิงทำงานหลังจุดเวลานี้ คือการทำงานที่ไม่ได้รับค่าแรง
ตัวเลขดังกล่าวค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ปีละไม่เกิน 3 นาที ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1975 และเป็นครั้งที่ต้องบันทึกไว้ว่า ในวันนั้นผู้หญิงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ ได้ออกไปร่วมชุมนุม
และการชุมนุมใหญ่ถูกจัดขึ้นอีก 2 ครั้ง คือ
ปี 2005 หยุดทำงานเวลา 14.08 น.
และอีกครั้งในปี 2010 หยุดทำงานที่เวลา 14.25 น.
ในอีกทางหนึ่งหมายความว่า ยิ่งจุดเวลาเพิ่มขึ้นเท่าไร ก็เท่ากับความต่างของค่าแรงระหว่างสองเพศค่อยๆ เขยิบเข้าใกล้กันมากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งถ้ากิจกรรมดังกล่าวดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ค่าแรงของบุคคลเพศสภาพหญิงและชายจะเท่าเทียมกันในปี 2068
ตามสถิติอัตราการจ้างงานของประเทศไอซ์แลนด์พบว่า ค่าแรงที่ผู้หญิงได้รับนั้นน้อยกว่าผู้ชายอยู่ 17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนเวลาที่ทำได้เท่ากันกับเพศชาย
ขณะที่ กิลฟิ อาร์นบียอร์นซัน (Gylfi Arnbjörnsson) ประธานสหภาพแรงงานแห่งไอซ์แลนด์กล่าวว่า
“เป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว ที่เรารับรู้กันว่าการจ้างงานในประเทศนั้นมีพื้นฐานว่าคุณเป็นเพศใด แต่สัญญาจ้างตามกฎหมายนั้นระบุชัดเจนว่าเงินเดือนของคุณต้องขึ้นกับความสามารถและประเภทของงาน ไม่ใช่อยู่ที่เพศของคุณ
“และเราคงไม่อาจรอให้โปรเจ็คต์ที่มีเป้าหมายคืนความเท่าเทียมของค่าจ้างแรงงานระหว่างเพศ ให้เสร็จสิ้นลงในช่วงเวลา 50 ปี เพราะมันยาวนานราวกับชั่วอายุคน”
ที่มา: icelandreview.com
grapevine.is