“ดวงตาของเขาอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ควรอยู่บนใบหน้าประมาณหนึ่งนิ้ว ตรงเกือบถึงกลางแก้ม และเอียงลงมากจนเกือบดูเหมือนรอยกรีดทแยงมุมที่มีคนบากไว้บนใบหน้าเขา ตาข้างซ้ายอยู่ต่ำกว่าตาข้างขวาอย่างชัดเจน ดวงตาสองข้างโปนออกมาเพราะเบ้าตาตื้นเกินกว่าจะหุ้มไว้ได้ เปลือกตาบนปิดลงมาครึ่งหนึ่งตลอดเวลาเหมือนเขากำลังสะลึมสะลือ ส่วนถุงใต้ตาก็หย่อนมากคล้ายมีด้ายล่องหนดึงลงด้านล่างจนเห็นส่วนที่เป็นสีแดงๆ ข้างในคล้ายมันจะปลิ้นออกมาด้านนอก ออกัสต์ไม่มีคิ้วและขนตา จมูกใหญ่ไม่รับกับใบหน้า และมีเนื้อค่อนข้างมาก ด้านข้างศีรษะบริเวณที่ควรจะเป็นหูบุ๋มลงไปเหมือนมีคนใช้คีมยักษ์บีบตรงกลางใบหน้า เขาไม่มีโหนกแก้ม สองข้างจมูกมีรอยพับยาวลงมาจนถึงปาก ทำให้ผิวเขาเยิ้มๆ บางครั้งผู้คนก็คิดว่าเขาถูกไฟคลอก เพราะหน้าตาเขาดูหลอมละลายคล้ายน้ำตาเทียนที่ย้อยลงข้างเล่มเทียน…”
‘โอลิเวีย’ บรรยายถึง ‘ออกัสต์ พูลล์แมน’ ผู้เป็นน้องชายแท้ๆ มันเป็นการพรรณนาลักษณะภายนอกเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ยังมีอีกหลายส่วนที่ทำให้เราอาจหน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยการจินตนาการตามนั้นมักจะเกิดคำถามระหว่างทางว่า เด็กชายคนนี้มีชีวิตจริงๆ หรือเป็นเพียงประติมากรรมที่พระเจ้าแกล้งปั้นทิ้งขว้างอย่างไม่ไยดี
หมอบอกว่า อาการของออกัสต์คือ “โรคกระดูกขากรรไกรล่างและใบหน้าเจริญผิดปกติในรูปแบบที่ไม่เคยพบมาก่อนซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนด้อยบนออโตโซม คือยีนทีซีโอเอฟ 1 ซึ่งอยู่บนโครโมโซม 5 และมีความพิการแทรกซ้อนจากอาการใบหน้าด้านหนึ่งเล็กผิดปกติ อันเป็นลักษณะเฉพาะของโรคโอเอวีสเปกตรัม”
อธิบายให้กระชับกว่านั้นคือ ‘อาการของออกัสต์เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม’ จึงทำให้เด็กน้อยที่ควรจะเติบโตเหมือนเด็กทั่วไปต้องกลายเป็นคนที่แตกต่าง และนั่นก็นำมาสู่ความพิเศษของเรื่องราวที่เกิดขึ้นรายรอบตัวของเด็กชายที่เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ผู้เป็นศูนย์กลางของจักรวาลเรื่องเล่า ถึงแม้จะเป็นดาวฤกษ์ที่บิดเบี้ยวไปหน่อยก็เถอะ
หนังสือขนาดกำลังพอดีมือเลือกเล่าเรื่องชีวิตของออกัสต์และคนอื่นๆ โดยมีฉากสำคัญคือครอบครัวและโรงเรียน
ที่บ้านของเขา ออกัสต์เป็นคนพิเศษที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษตั้งแต่ลืมตาดูโลก แต่สำหรับที่โรงเรียน มันเป็นบททดสอบที่แตกต่าง เพราะเด็กชายผู้มีใบหน้าผิดรูปผิดรอยนั้นกลายเป็นจุดสนใจในด้านที่ไม่ค่อยดีนักจากเพื่อนในโรงเรียน ที่นั่นคนรอบข้างของออกัสต์ไม่ใช่พ่อแม่ผู้มีแต่ความรักมอบให้ การเข้ามาเรียนร่วมกับเด็กปกติอื่นๆ จึงกลายเป็นความยากลำบากสำหรับเด็กที่มีความแตกต่างอย่างเขากับการเผชิญหน้า ขั้นต่ำคือต่อสู้กับสายตาของคนนับร้อยที่จ้องมองเขาวันแล้ววันเล่า
หากการกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับเด็กทั่วไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ออกัสต์ พูลล์แมน อาจต้องคูณด้วยตัวเลขมากกว่าหลักหน่วย เพราะมันคือการต่อสู้ทั้งภายนอกและภายในจิตใจตนเอง ไหนจะต้องจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมชั้นเรียน ครูบาอาจารย์ และที่สำคัญอย่างยิ่งยวดคือครอบครัว
ถึงแม้เรื่องราวทั้งหมดจะมีจุดศูนย์กลางคือออกัสต์ แต่วิธีการเล่าเรื่องกลับเกลี่ยน้ำหนักตัวละครให้ทุกคนโดดเด่นเท่าๆ กัน หรือเหลื่อมล้ำกันน้อยที่สุด
หนังสือเล่าเรื่องทีละบทผ่านตัวละครทีละคนโดยตัวละครนั้นๆ มีเสียงพูดและความคิดเป็นของตนเอง ตลอดการอ่านหนังสือเล่มนี้เราจึงสัมผัสได้ว่า แต่ละคนนั้นมีเหตุผลในการทำและไม่ทำอะไรในแบบของตนเอง ไม่มีใครร้ายทั้งหมดหรือดีเลิศทั้งหมด ระหว่างละเลียดอักษรทีละวรรคเราจึงตกหลุมรักตัวละครเท่าๆ กัน และความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ พัฒนาไปนั่นเองที่พาเราไปเจอเรื่องราวธรรมดาอันน่ามหัศจรรย์
หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ติดอันดับ 1 ของ New York Times Bestseller ข้ามปี แต่หากพิจารณาดีๆ วรรณกรรมเยาวชนเหมาะเหลือเกินที่จะให้ผู้ใหญ่ได้อ่าน อย่างน้อยก็เพื่อทบทวนวัยเยาว์ของตน และอย่างมากคือการได้มองผู้คนรอบข้างอย่างละเอียดลออมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าใจชีวิตตลอดจนวิธีคิดของเด็กๆ ในช่วงวัยที่กำลังก้าวพ้นการเป็นตุ๊กตาของพ่อแม่เพื่อเติบโตสู่ชีวิตที่ต้องเผชิญโลกกว้างที่อาจมีทั้งดีและร้ายปะปนกัน
นอกจากเนื้อหาและพล็อตเรื่องที่น่าสนใจแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องบรรจุและบอกเล่าเอาไว้ในช่วงท้ายก็คือ นี่คือวรรณกรรมที่เขียนโดยคนที่ทำงานออกแบบปกหนังสือให้คนอื่นมาตลอด 20 ปี กระทั่งวันหนึ่งเขารู้สึกว่าต้องมีหนังสือเป็นของตัวเองเสียที จึงใช้เวลากลางคืนหลบลี้จากงานออกแบบมาเรียบเรียงตัวอักษรกลายเป็นหนังสือเล่มแรกของเขาที่โด่งดังเป็นพลุแตก ทั้งยังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายทั่วโลก
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย อาร์ เจ ปาลาซิโอ ในชื่อภาษาอังกฤษว่า Wonder ส่วนหน้าปกของมันถูกออกแบบให้โดย… ผู้อื่น
ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ อาร์ เจ ปาลาซิโอ เขียน ปณต ไกรโรจนานันท์ แปล สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน |