Wonder: จักรวาลที่ไม่โดดเดี่ยวของเรา

เอาแค่หน้าหนัง ในใจพลันนึกขึ้นมาทันที อีกแล้วเหรอ หนังฟีลกู๊ด โลกสวย แม้มีอุปสรรคเพียงใด แต่ที่สุดแล้วเรื่องร้ายๆ ก็จะกลับกลายเป็นดี ยอมรับตรงๆ เลยว่าหน้าหนังเรื่องล่าสุดของ จูเลีย โรเบิร์ตส์ และ โอเวน วิลสัน ไม่ได้มีอะไรดึงดูด กระทั่งเลยเถิดไปยังการตั้งคำถามว่า สุดท้ายหนังจะแค่ทำหน้าที่ในการเรียกน้ำตา ขายดราม่า โดยมีเด็กหน้าตาประหลาดๆ เป็นศูนย์กลางที่เรา – ในฐานะคนดู – ต้องเอาใจช่วยอีกไหม

จนกระทั่งเมื่อเสียงปรบมือหลังหนังจบลง กับคราบน้ำตาที่ยังคงเหลือร่องรอยอยู่บนใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มของใครหลายคน จึงได้พบว่า เอาเข้าจริงเราแทบไม่ต่างอะไรจากตัวละครหลายตัวในเรื่องที่เต็มไปด้วยอคติและตัดสินบางสิ่งเพียงเพราะภาพที่เรามองเห็น ไม่ใช่ภาพที่ซ่อนอยู่ลึกลงไปในจิตใจ

อย่างตรงไปตรงมา เรื่องราวใน Wonder คือหนังที่บอกเล่าชีวิตอันน่าอัศจรรย์ของครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดาครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีลูกชายเกิดมามีความผิดปกติบนใบหน้าตั้งแต่แรกเกิด จนต้องผ่าตัดถึง 27 ครั้งเพื่อให้มีรูจมูก มีหนังหุ้มรอบดวงตาทั้งสองข้าง ถึงอย่างนั้น ใบหน้าของ ออกัสต์ พูลแมน หรือ อ๊อกกี (August ‘Auggie’ Pullman) ก็ยังดูประหลาดจนเด็กชายต้องสวมหมวกอวกาศที่ภายในนั้นบรรจุทั้งความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ และเก็บซ่อนความไม่กล้าเข้าสังคมตั้งแต่วันที่ได้รับหมวกอวกาศชิ้นนี้เป็นของขวัญ จนถึงวันที่ต้องเข้าโรงเรียนครั้งแรกในชีวิต

วันแรกของการเปิดเทอมจึงเป็นครั้งแรกที่อ๊อกกีได้รู้จักโลกอีกใบภายนอกอวกาศในหมวกของตนเป็นครั้งแรก และเป็นฉากแรกๆ ที่เรียกน้ำตาจากคนดูได้อย่างชะงัดทันทีที่หนังเปิดเรื่องมาไม่ถึง 20 นาที

เรารู้แหละว่าฉากแบบนี้ต้องมี ฉากแบบนี้ต้องเจอ แต่ต่อให้เตรียมใจเพียงไร ต่อให้รู้ว่าเป็นฉากบังคับแค่ไหน แต่ฉากของ อิซาเบล แม่ของอ๊อกกี รับบทโดย จูเลีย โรเบิร์ตส์ มองตามลูกชายที่เดินต้อยๆ เข้าไปในโรงเรียนท่ามกลางสายตาของเด็กๆ ที่หันมามองด้วยความแปลกประหลาด และคนเป็นแม่ทำได้เพียงรำพึงเบาๆ กับสามีตนเอง ที่รับบทโดย โอเวน วิลสัน ว่า ขอให้พวกเด็กๆ ดีกับลูกชายตนเองด้วยเถอะ เอาแค่นี้ เราเองยังกลั้นน้ำตาไม่ไหว

ในหัวใจคนเป็นพ่อเป็นแม่ คงหวังเท่านี้แหละ ใช่ไหม? ขอให้ลูกของตนเกิดมามีร่างกายครบ 32 ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดพิกลพิการไป และ ณ จุดนี้เอง Wonder ทำให้เราเห็นว่านอกเหนือจากจักรวาลอีกใบนอกหมวกอวกาศที่ชื่อว่าโรงเรียนแล้ว จักรวาลอีกใบที่อ๊อกกี กระทั่งคนในครอบครัว อาจไม่เคยมองเห็น เพราะคิดว่าคนที่เกิดมาครบ 32 อย่าง เวีย (Via) พี่สาวของอ๊อกกี ที่ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ แต่กลับไม่ใช่เลย ในวันเดียวกับที่อ๊อกกีโดนเพื่อนๆ ล้อเรื่องใบหน้าจนกลับมาบ้านด้วยอาการเสียใจ และโกรธที่ผลักเขาให้เข้าเรียนในระบบแทนการเรียนที่บ้านตั้งแต่แรกเกิด พี่สาวของอ๊อกกีก็ได้พบสภาวะของความเปล่าเปลี่ยว เมื่อเพื่อนที่สนิทมาตั้งแต่อนุบาลกลับมีท่าทีห่างเหินไป

เพื่อนสนิทที่ทำให้เธอรับรู้ว่า ต่อให้พ่อแม่ที่รักน้องมากกว่าเธอ จนเธอเปรียบว่า สำหรับพ่อแม่แล้ว อ๊อกกี คือดวงอาทิตย์ของพวกเขา คือศูนย์กลางของจักรวาลภายในครอบครัว ก็ไม่เป็นไร เพราะเธอเองก็รักน้องเหมือนกัน แต่ทุกคนคงลืมไปว่า เวียเป็นเพียงเด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งที่ต้องการความรักเอาใจใส่จากพ่อแม่ไม่ต่างจากน้องชายที่มีใบหน้าพิการเลย

พูดง่ายๆ ภายใต้จักรวาลอันกว้างใหญ่ที่เรียกว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์ Wonder ทำให้เราเห็นว่าเราต่างมีหมวกอวกาศครอบทับกันอยู่มากน้อยเพียงไร เราต่างเปล่าเปลี่ยวและโดดเดี่ยวมากน้อยแค่ไหน

ไม่สำคัญเลยว่าจะเกิดมามีหน้าตาอัปลักษณ์ หรือเกิดมามีหน้าสละสลวยสมบูรณ์แบบ

เราต่างเคว้งคว้าง และจำเป็นต้องมีเพื่อน มีคนรักช่วยประคองเราให้สามารถลอยตัวในจักรวาลของความสัมพันธ์ได้อย่างมีอากาศหายใจ โดยไม่ร่วงหล่นลงมากระแทกพื้นตามแรงดึงดูดของสิ่งที่เรียกว่า กาลเวลา

กาลเวลาที่พร้อมจะพาบางสิ่งและบางคนไปจากเราเพื่อสอนบทเรียนที่กลั่นกร่อนความบริสุทธิ์ ทิ้งไว้เพียงประสบการณ์ที่จะจดจำไว้หล่อหลอมความเป็นตัวเราแต่ละคน ขณะเดียวกัน กาลเวลาอีกเช่นกัน ที่บอกเราว่าหากเปิดใจมากพอ และมองอย่างเข้าใจมากพอ เราจะเห็นบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในหมวกของแต่ละคน ไม่ใช่แค่เพียงจิตใจอันดีงาม ตลก ขี้เล่น และฉลาดเฉลียวของอ๊อกกี ไม่ใช่แค่เพียงจิตใจอันเสียสละ และพร้อมจะให้กำลังใจน้องชายของเวีย และไม่ใช่แค่เพียงจิตใจอันไม่ยอมแพ้ของคนเป็นพ่อแม่ ผู้จะไม่ยอมถอดใจให้กับความยากลำบากใดๆ หากสิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับลูกๆ ของตนเอง

และแน่นอนไม่ใช่แค่เพียงการแกล้งกันของเด็กๆ การทิ่มแทงความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วยคำพูดเสียดสี ผู้ซึ่งต่างถูกหล่อหลอมให้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่อยากเป็นภายใต้การดูแล สั่งสอน ของผู้ใหญ่ทั้งในฐานะพ่อแม่ และในฐานะครูบาอาจารย์

Wonder จึงไม่ใช่แค่หนังฟีลกู๊ดอย่างที่นึกเข้าใจไปเองตั้งแต่เห็นใบปิด และยิ่งไม่ใช่แค่หนังที่พูดถึงการเติบโตของเด็กชายอันแสนมหัศจรรย์คนหนึ่ง แต่ Wonder เป็นเรื่องของเราทุกๆ คน เรื่องของวัยเด็กที่เคยถูกทำร้าย เรื่องของวัยผู้ใหญ่ที่คาดหวังเอาจากเด็กเพราะความผิดหวังที่ตนเคยได้รับ

และเรื่องของผู้คนที่สมควรได้รับการปรบมือสักครั้งให้กับชีวิต ให้กับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา แต่ยังคงมีชีวิตอยู่ ยังคงไม่ยอมแพ้ และยังคงเชื่อมั่นว่าภายใต้จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ชื่อว่า ‘โลก’ นี้ เราไม่ได้โดดเดี่ยว

เพียงเท่านั้น ก็ wonder มากแล้ว

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า