What We Need to Know: ฝันที่ไม่เป็นจริงของชาวเคิร์ด

 

TAKEAWAYS

  • เคอร์ดิสถานเป็นดินแดนของชาวเคิร์ด ตั้งอยู่ในบริเวณทางตอนเหนือของประเทศอิรัก มีชายแดนติดกับตุรกีและอิหร่าน มีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกับอิรัก

  • อิสราเอลเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่สนับสนุนให้เคอร์ดิสถานแยกออกจากอิรัก

  • หากสำเร็จ เคอร์ดิสถานจะถือครองน้ำมันติดอันดับ 1 ใน 10 ของกลุ่มประเทศ OPEC ในทันที


การมีดินแดนเป็นของตัวเอง ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเยี่ยงพลเมืองทั่วไป และได้ลิ้มรสเสรีภาพ คือฝันทั้งหมดของชาวเคิร์ด พลเมืองชาติหนึ่งในโลกที่มีจำนวนมากถึง 30 ล้านคน แต่ไม่มีดินแดนเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยอยู่อย่างชนกลุ่มน้อย และกระจัดกระจายกันเป็นกลุ่มๆ อยู่รอบภูมิภาคตะวันออกกลาง ตั้งแต่ถูกพรากดินแดนของตัวเองไปในสมัยออตโตมาน และนำมาสู่ความขัดแย้งกับชาวท้องถิ่นที่ชาวเคิร์ดเข้าไปอาศัย โดยเฉพาะตุรกี อิรัก อิหร่าน และซีเรีย

อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรักที่ชื่อ ‘เคอร์ดิสถาน’ แม้จะไม่ใช่ชุมชนชาวเคิร์ดที่ใหญ่ที่สุดแต่ก็เข้มแข็งที่สุดในตอนนี้ จึงออกมาประกาศจัดประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรัก ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากทั้งโลก

เกิดอะไรขึ้น

วันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ภูมิภาคเคอร์ดิสถานลงประชามติแยกเป็นเอกราชจากประเทศอิรัก โดยชาวเคิร์ดกว่า 93 เปอร์เซ็นต์หรือ 5.3 ล้านคน ออกมาลงคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์เพื่อแยกตัวออกจากอิรัก แน่นอนว่ารัฐบาลแบกแดดปฏิเสธเสียงแข็ง และไม่ยอมรับประชามตินี้ สอดคล้องกับท่าทีของนานาประเทศ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวเคิร์ดจัดตั้งประชามติแยกตัวเป็นเอกราช แต่เป็นครั้งที่สองในรอบ 12 ปี โดยแผนทำประชามติล่าสุดเกิดขึ้นจาก มาซุด บาร์ซานี (Masoud Barzani) ประธานาธิบดีแห่งเคอร์ดิสถาน ซึ่งประกาศจะทำการลงประชามติตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความตื่นเต้นของชาวเคิร์ดที่ปรากฏให้เห็นทั่วท้องถนน ตรงกันข้ามกับรัฐบาลอิรัก ที่ออกมาประกาศว่า บาร์ซานีกำลังทำผิดกฎหมายและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอิรัก

ทำไมถึงต้องการแยกตัวเป็นเอกราช

ย้อนกลับไปช่วงที่ ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก ถูกโค่นอำนาจล่มลงในปี 2003 ชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ในทางตอนเหนือมีความเข้มแข็งมากขึ้น มีอิสระเพิ่มมากขึ้นพอที่จะสถาปนาเขตปกครองตัวเองขึ้นมาได้ไม่ยาก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวเคิร์ดพัฒนาอำนาจทางการเมืองของตนเองอยู่ต่อเนื่อง เช่น มีรัฐสภาเป็นของตัวเอง มีกระทรวงของตัวเอง อีกทั้งยังมีกองกำลังของตัวเองที่ชื่อว่า เปชเมอร์กา (Peshmerga) กองกำลังทหารที่เข้มแข็งที่สุดในอิรัก สามารถต่อกรกับ ISIS ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ทำให้ผู้นำเคอร์ดิสถานมองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรัก

หน่วยรบพิเศษ เปชเมอร์กา บริเวณชายแดนซีเรีย ปี 2014 (photo: Enno Lenze)

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า สำหรับตัว มาซุด บาร์ซานี แล้ว การจัดประชาติมติครั้งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สำคัญและช่วยเรียกคะแนนให้กับตัวเอง ไม่ใช่เรื่องของการแบ่งแยกดินแดน เพราะบาร์ซานีกำลังหมดวาระตำแหน่งประธานาธิบดีในเร็วๆ นี้ และกำหนดการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ถูกวางไว้เรียบร้อยแล้ว คือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2017

เหตุผลที่สำคัญอีกประการคือ บาร์ซานีมองว่า การจัดประชามติแยกเป็นเอกราชนี้จะทำให้เขาได้รับความชอบธรรมมากพอที่จะต่อรองกับรัฐบาลแบกแดดและประชาคมโลก เพื่อเป้าหมายต่อไปคือ การประกาศเป็นรัฐใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

สุดท้ายคงหนีไม่พ้นเรื่องน้ำมัน เนื่องจากเคอร์ดิสถานสามารถขุดน้ำมันดิบได้ประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวัน โดยน้ำมันดังกล่าวถูกส่งไปยังท่อน้ำมันตรุกี-อิรัก ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและกระจายไปตามสถานีต่างๆ นั้นเท่ากับว่า หากเคอร์ดิสถานสามารถประกาศเอกราชได้สำเร็จ จะทำให้เม็ดเงินมหาศาลที่เคยตกเป็นของอิรักกลายเป็นของเคอร์ดิสถานแต่เพียงผู้เดียว และจะส่งผลให้เคอร์ดิสถานนั่งเป็น 1 ใน 10 สมาชิกประเทศ OPEC ที่ส่งออกน้ำมันมากที่สุดในโลก

ท่าทีของนานาชาติ

อิรัก

อิรักออกตัวอย่างฉุนเฉียวมาโดยตลอด ว่าไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นเอกราชของเคอร์ดิสถานตั้งแต่อดีตจนทุกวันนี้

ทันทีที่รัฐบาลแบกแดดภายใต้ นายกรัฐมนตรีไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) ทราบว่าเคอร์ดิสถานจัดลงประชามติแยกเอกราช ก็ออกมาเรียกร้องให้ทุกสายการบินยกเลิกเที่ยวบินมายังสนามบินนานาชาติเออร์บิล (Erbil: EBL) และสุเลมานิยาห์ (Sulaimaniyah: ISU) ซึ่งตั้งอยู่ในเคอร์ดิสถาน รวมถึงขอความร่วมมือกับประเทศที่อยู่ตามเขตชายแดนของเคอร์ดิสถานปิดด่านชายแดน จนกว่ารัฐบาลเคอร์ดิสถานจะยุติแผนดังกล่าว  

แต่มีหรือที่รัฐบาลเคอร์ดิสถานจะยอม ประธานาธิบดีบาร์ซานียืนยันเช่นเคยว่าจะดำเนินการจัดประชามติ ซึ่งสุดท้ายผลออกมาเป็นเอกฉันท์ว่า ชาวเคิร์ดต้องการแยกเป็นเอกราชจากอิรัก  

ฉะนั้น สิ่งเดียวที่รัฐบาลอิรักจะสามารถกดดันรัฐบาลเคอร์ดิสถานได้ในเวลานี้คือ ห้ามประเทศใดๆ ส่งสินค้าเข้า (embargo) ไปยังเคอร์ดิสถาน และจะยึดรายได้จากน้ำมันซึ่งเป็นน้ำเลี้ยงหลักที่สำคัญของเคอร์ดิสถานมาเป็นของตัวเอง  

อิสราเอล

ประเทศแรกและประเทศหนึ่งเดียวในตะวันออกกลางที่ออกมายืนเคียงข้างเคอร์ดิสถานในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้งสองประเทศมีความผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่นำเข้าจากเคอร์ดิสถานมากกว่า 77 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2015

ตุรกี

เป็นประเทศคู่ขัดแย้งกับเคอร์ดิสถานมาอย่างยาวนาน และไม่เห็นด้วยกับประชามติดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ในตุรกีเป็นชนกลุ่มน้อยค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายนับว่าดีขึ้นกว่าในอดีต หลังจากจับมือกันร่วมรบต่อสู้กับกลุ่ม ISIS อีกทั้งยังอนุญาตให้ชาวเคิร์ดสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเองที่ชื่อว่า Kurdish Nationalist Party ในตุรกีได้

ส่วนเรื่องน้ำมัน ตุรกีค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเคอร์ดิสถาน โดยได้สร้างท่อส่งน้ำมันดิบร่วมกัน อีกทั้งยังนำเข้าน้ำมันดิบจากเคอร์ดิสถานเป็นจำนวนมหาศาล

ซาอุดีอาระเบีย

พี่ใหญ่กลุ่มประเทศอ่าวอย่างซาอุดีอาระเบียเสนอตัวเป็นผู้นำในการเจรจาระหว่างเคอร์ดิสถานและอิรัก โดยคณะผู้แทนซาอุดีอาระเบียได้เข้าพบกับผู้นำเคอร์ดิสถานเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งบาร์ซานียังกล่าวขอบคุณพวกเขาสำหรับการยื่นมือมาช่วยเหลือ โดยทั้งสองได้สถาปนาความสัมพันธ์ร่วมกันขึ้นเมื่อปี 2016 และก่อตั้งสถานกงสุล ณ กรุงเออร์บิลในปีเดียวกัน  

สหประชาชาติ

คัดค้านประชามติดังกล่าว และเรียกร้องให้บาร์ซานีเจรจากับอัล-อาบาดีเพื่อบรรลุข้อตกลงในอีกสามปีข้างหน้า

สหรัฐอเมริกา

แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติในครั้งนี้ โดยเรียกร้องให้ยุติการทำประชามติดังกล่าวเสีย แม้จะกล่าวเช่นนั้น แต่สหรัฐก็เป็นประเทศหลักที่ให้การสนับสนุนกองกำลังทหารเปชเมอร์กาของเคอร์ดิสถานเพื่อต่อสู้กับ ISIS ซึ่งถือเป็นกลุ่มสำคัญ จึงมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐอาจสามารถช่วยให้เคอร์ดิสถานไปสู่ฝันที่วาดไว้ได้  

รัสเซีย

ไม่ได้ออกมาพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่าสนับสนุนประชามติดังกล่าว แต่ทันทีที่ผลออกมา บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซียอย่าง Rosneft ก็ออกมาแถลงว่าจะร่วมลงทุนสร้างท่อก๊าซธรรมชาติกับเคอร์ดิสถาน ซึ่งจะทำให้รัสเซียกลายเป็นกุญแจที่สำคัญทางเศรษฐกิจของเคอร์ดิสถานหากแยกจากอิรักได้จริง

ความท้าทายของเคอร์ดิสถาน หากประกาศเอกราชสำเร็จ

เศรษฐกิจ

ประเด็นแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องปากท้องของประชาชน ส่วนใหญ่แล้วเศรษฐกิจของเคอร์ดิสถานนั้นพึ่งพิงตุรกีเป็นหลัก อีกทั้งเคอร์ดิสถานยังพึ่งพิงงบประมาณจากอิรักถึง 13-14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถูกอิรักประกาศกร้าวว่า ห้ามประเทศใดๆ ส่งสินค้าไปยังเคอร์ดิสถาน ซึ่งถึงแม้จะสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เอง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เคอร์ดิสถานพึ่งพาตัวเองเป็นหลักได้อย่างแน่นอน

นอกจากนั้น ตั้งแต่เคอร์ดิสถานเข้าร่วมรบต่อต้านกลุ่ม ISIS ตั้งแต่ปี 2014 เคอร์ดิสถานก็ประสบปัญหาทางการเงินมาโดยตลอด ประกอบกับความวุ่นวายทางการเมืองในอนาคตที่อาจเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้เคอร์ดิสถานกลายเป็นประเทศโดดเดี่ยวอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีทางออกไปยังทะเลและไม่มีแรงดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติสนใจมากพอ

น้ำมัน

เป็นเรื่องใหญ่ของทั้งสองฝ่าย และเป็นเรื่องที่ทั้งสองอยากพูดคุยกันมากที่สุด เนื่องจากน้ำมันกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของอิรักมาจากพื้นที่ของเคอร์ดิสถาน โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำมันในเมืองคีร์คูก (Kirkuk) การเจรจาที่จะเกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ส่วนใหญ่คงเป็นเรื่องของการแบ่งพื้นที่ทรัพยากรพลังงานทางธรรมชาติที่สำคัญ เพื่อไม่ให้เม็ดเงินที่เคยไหลสู่กระเป๋าเงินอิรักหายไป ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่อิรักไม่ยอม

ความขัดแย้งทางการเมือง

แม้ประชามติจะได้รับความชอบธรรมในฐานะที่เป็นเสียงข้างมากจากชาวเคิร์ด แต่กลับไม่ได้รับความสนับสนุนจากนานาชาติ

บ้างก็กล่าวว่าประชามตินี้มาผิดที่ผิดเวลา เนื่องจากประชามติดังกล่าวดูชัดเจนมากเกินไปว่าทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของบาร์ซานี ประกอบกับบาร์ซานีเองไม่ได้ไปหาเสียงสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้าน จนแทบจะเป็นไปได้ยากมากที่จะสามารถประกาศเป็นเอกราชได้สำเร็จ

อีกทั้งเคอร์ดิสถานไม่ใช่ดินแดนหลักหรือดินแดนที่มีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก การที่บาร์ซานีออกมาลั่นวาจาให้สัจจะว่า เคอร์ดิสถานจะเป็นเอกราช จะส่งผลให้ชาวเคิร์ดทั่วโลกออกมาเรียกร้องเอกราชในพื้นที่ที่พวกเขาเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและกลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่บาร์ซานีไม่ต้องการ


อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com
aljazeera.com
theatlantic.com
forbes.com
theconversation.com
kurdistan24.net

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า