ตุรกีกับการก่อการร้ายระลอกใหม่

เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

 

ปี 2015-2016 คาบเกี่ยวมาถึงช่วงต้นปีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตุรกี คือเป้าหมายสำคัญของการก่อการร้ายในหลายๆ รูปแบบ ทั้งวางระเบิดสถานที่สำคัญ โดยเฉพาะในอิสตันบูลและอันคารา คาร์บอมบ์ สังหารทูตรัสเซีย หรือกระทั่งมือปืนในชุดซานตาคลอสกราดยิงในไนท์คลับคืนวันปีใหม่  2017

สมมุติฐานเกิดได้หลายหน้า ผู้ต้องสงสัยมีหลายกลุ่ม ถ้าไม่มีใครออกมายอมรับ ก็ยากจะชี้เป้าว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ลงมือ เพราะความขัดแย้งที่ตุรกีมีส่วนเกี่ยวข้องมีหลายเรื่อง ทั้งประเด็นซีเรีย ชาวเคิร์ด กลุ่ม IS ตลอดจนรัสเซีย

กองบรรณาธิการ WAY ชวน อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้สนใจการเมืองตุรกี และการเมืองในโลกอิสลาม พูดคุยสั้นๆ วิเคราะห์และมองภาพรวมเหตุระเบิดที่เกิดแทบจะรายสัปดาห์ในตุรกี ว่าภัยก่อการร้ายที่กำลังโถมมาอีกระลอกนี้ประกอบด้วยชิ้นส่วนใดบ้าง

ตัวละครสำคัญการก่อการร้ายในตุรกีมีฝ่ายไหนบ้าง

ปัจจุบันเป็นผลจากตัวแสดงสองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด กับ IS การก่อเหตุของเคิร์ดส่วนใหญ่แล้วมุ่งโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ และไปมากสุดแค่คาร์บอมบ์ แตกต่างจาก IS ที่รูปแบบก่อเหตุมักเป็นระเบิดฆ่าตัวตายและมุ่งโจมตีต่อพลเรือน สร้างความสะเทือนขวัญในวงกว้าง

ถ้าดูช่วงปลายปีนี้เพิ่มมาด้วย จะเห็นว่า นอกจากระเบิดฆ่าตัวตายแล้ว ยังมีลักษณะกราดยิง รวมทั้งการสังหารทูตรัสเซียด้วยวิธีลอบเข้าไปในงานแล้วยิง สองกรณีหลังนี้ต่างสื่อสารชัดเจนถึงมูลเหตุจูงใจที่ตอบโต้ปฏิบัติการของตุรกีและรัสเซียในสงครามกลางเมืองซีเรีย ดังนั้นจะเห็นแบบแผนชัดเจนว่า กรณีภัยคุกคามจาก IS ต่อตุรกีนั้น สัมพันธ์ไปกับพลวัตของความวุ่นวายในการเมืองตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในซีเรีย

ส่วนกรณีกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดนั้น อันที่จริงแล้ว มีสองสามกลุ่มที่เกี่ยวข้อง หนึ่งคือ Partiya Karkaren Kurdistan (PKK) เดิมทีเพื่อตั้งประเทศเคอร์ดิสถาน วางตำแหน่งแห่งที่ไว้กับอุดมการณ์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ต่อมาก็ปรับมาเป็นเรียกร้องการปกครองตนเอง (autonomy) ต่อมาสมาชิกบางส่วนแตกตัวออกเป็นกลุ่มที่สอง คือ Kurdistan Freedom Falcons (TAK) ซึ่งกำหนดเป้าหมายการต่อสู่อยู่ที่การแยกพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีออกเป็นประเทศเอกราชเคอร์ดิสถาน TAK เน้นปฏิบัติการก่อเหตุ เป็นองค์กรปิดลับ และประนีประนอมน้อยกว่า PKK

ฝ่ายไหนมีความเป็นไปได้มากที่สุดในการลงมือก่อเหตุ

ถ้าเราเปรียบเทียบภาพรวมของความเป็นภัยคุกคามระหว่างเคิร์ด PKK, TAK  และ IS งานของ Dr.Joshua Sinai ได้เก็บสถิติเอาไว้อย่างน่าสนใจ เขาระบุว่า กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดเป็นตัวแสดงที่เกี่ยวพันกับเหตุรุนแรงในตุรกีมาเป็นทศวรรษ จึงไม่แปลกที่หากเรานับจำนวนการก่อเหตุ กลุ่มอย่าง PKK จะมีการลงมือบ่อยครั้งกว่า IS แต่ถ้าเราตระหนักว่า IS เพิ่งเกี่ยวพันในการก่อเหตุในตุรกีเมื่อราวๆ 2015 เป็นต้นมานี้เอง ก็จะเห็นความน่าตระหนกมากพอควร

ถ้านับตั้งแต่ปี 2005 ถึงกลางปี 2016 การก่อเหตุของ PKK ต่อตุรกีมีทั้งสิ้น 19 ครั้ง ทำให้คนตาย 160 ชีวิต บาดเจ็บ 566 คน อีกกลุ่มของเคิร์ดคือ TAK ก่อเหตุ 15 ครั้ง ทำให้คนตาย 119 ชีวิต เจ็บ 611 คน

ที่น่าสนใจคือ IS ซึ่งเพิ่งลงมือปีสองปีมานี้เอง แต่ก่อเหตุต่อตุรกีไปแล้วถึง 17 ครั้ง แต่แม้จำนวนจะน้อยกว่า PKK แต่กลับสร้างความสูญเสียมากกว่าเยอะ คือ ทำให้คนเสียชีวิต 265 ชีวิต เจ็บ 763 คน ตัวเลขตรงนี้แปลได้ว่า IS เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพก่อให้เกิด ‘ความรุนแรงเชิงคุณภาพ’ ต่อตุรกีมากกว่าเพื่อน คือ ในการลงมือหนึ่งครั้ง สร้างความสูญเสียได้มากที่สุด

ทำไม IS ถึงพุ่งเป้ามาที่ตุรกี

ในกรณี IS ความเกี่ยวโยงของตุรกีก็มีความซับซ้อนมาก เบื้องแรกตุรกีแสดงท่าทีต่ออัสซาด (บาร์ชา อัล-อัสซาด) ในเชิงลบ โดยเปรียบการสังหารประชาชนซีเรียกับระบอบนาซี นั่นทำให้สถานะที่ยืนของตุรกีเป็นไปในทางตรงข้ามซีเรีย อิหร่าน และรัสเซีย การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาดบางกลุ่ม ยิ่งทำให้ที่ยืนดังกล่าวชัดเจนขึ้น หากสหรัฐ ถูกเปิดโปงว่ามีส่วนทำให้ IS เข้มแข็งอย่างที่เห็นโดยสนับสนุนพวกเขาในช่วงแรกของการเข้ามายังซีเรีย เช่นเดียวกับสนับสนุนอีกหลายกลุ่มเพื่อโค่นล้มระบอบอัสซาด ตุรกีก็โดนกล่าวหาเช่นกัน เพียงแต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ายอมผ่อนคลายความเข้มงวดบริเวณชายแดนด้านติดกับซีเรีย เสมือนปิดตาข้างเดียวให้กับการไหลเข้าไปของนักรบที่จะสู้เพื่อโค่นอัสซาด อันหมายรวมถึงผู้สนับสนุน IS ด้วย

แน่นอนว่าเรายังไม่มีหลักฐานพอจะกล่าวหาตุรกีในแบบที่สามารถโทษอเมริกาได้ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ไม่ว่าด้วยเจตนาหรือไม่ ตุรกีเป็นทางผ่านสำคัญของผู้จะไปรบให้กับ IS การพุ่งเป้าของ IS ไปยังตุรกีอย่างจริงจังน่าจะเป็นผลมาจากการปรับนโยบายของตุรกีเองต่อซีเรีย ที่สนับสนุนตะวันตกมากขึ้นในกรอบความร่วมมือกับสหรัฐ

นโยบายที่ว่าเป็นอย่างไร

เราพบว่าในปี 2015 ตุรกีจับกุมผู้ที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลกเพื่อใช้ตุรกีผ่านแดนแล้วไปซีเรียร่วมรบกับ IS จำนวนราว 2,000 กว่าคน จับกุมนักรบ IS ที่มีฐานในตุรกีเองอีกจำนวนมาก รวมทั้งการเร่งคืนความสัมพันธ์แบบปกติกับอิสราเอล และสนับสนุนการสู้กับ IS ในซีเรียมากขึ้น การปรับสมดุลนโยบายดังกล่าวน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการโจมตีตุรกีของ IS ผลต่อเนื่องคือ ทำให้ความเป็นมิตรและศัตรูในปัญหาซีเรียวันนี้ยุ่งเหยิงไปอีก

กล่าวคือ ตุรกีกลายเป็นมีหัวอกเดียวกับรัสเซีย ซึ่งกลับมามีภัยคุกคามร่วมที่น่าวิตก นั่นคือ IS ส่วนเคิร์ดเองส่วนมากดูจะอิงอยู่กับสหรัฐ นั่นทำให้การแก้ปัญหาเคิร์ดของตุรกีมีทางเลือกที่จำกัด จะทำอะไรโฉ่งฉ่างไม่ได้

ผมมองว่า กรณีอเมริกา ครั้งนี้ก็ไม่ต่างกันเคิร์ดในอิรักและซีเรียดูจะมีทางไปได้ในรูปของ autonomy แต่ในตุรกีนั้นผมมองว่าทางออกไม่ง่าย คงเป็นปมที่จะค้างเป็นโจทย์ที่ตุรกีต้องเผชิญต่อไปอีกพักใหญ่ๆ

ปัจจุบันสถานะของ IS ยังเป็นกลุ่มก้อนเหมือนเดิมไหม

ผมคิดว่า ณ วันนี้ สหบาทาของพันธมิตรหลายชาติทำให้ศูนย์กลางของ IS แตกไปมากพอสมควร แต่ด้วยสหสัมพันธมิตรและศัตรูที่ซับซ้อนระหว่างตัวแสดงที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ปัญหานี้คลี่คลายช้ากว่าที่มันควรจะเป็น หรือกระทั่งอาจลากยาวแล้วก่อตัวขึ้นในรูปลักษณ์ใหม่อีกก็ได้ด้วยซ้ำ เพราะต้องไม่ลืมว่า บริบทซีเรีย รวมทั้งเยเมน และหลายๆ ที่แถบนั้น วันนี้ถูกใช้เป็นสมรภูมิของสงครามตัวแทนระหวางรัฐมหาอำนาจทั้งในภูมิภาคและภายนอก พวกเขาใช้กลุ่มของตัวแสดงที่มิใช่รัฐเหล่านี้แหละบ่อนทำลายและเป็นนอมินีในการสู้รบกัน

วันที่ IS อ่อนแรง และแตกเป็นเซลล์ย่อย เป็นไปได้ที่จะมีการสนับสนุนให้ไปสู้กับคนอื่นต่อ ต้องไม่ลืมว่า IS เป็น แบรนด์ที่ประกอบขึ้นด้วยหลากหลายกลุ่มระดับย่อยๆ อันเดิมที่มีเป้าหมายแตกต่างหลากหลาย เพียงแต่รวมกันด้วยพอจะไปในทิศทางเดียวกันได้ในระยะเวลาหนึ่งๆ เรื่องการเลื่อนไหลลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติในพื้นที่ที่อำนาจรัฐไม่สามารถตั้งมั่นได้ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘รัฐล้มเหลว’ เพราะฉะนั้นเครือข่ายอย่างหลวมๆ ของกลุ่มติดอาวุธจะทำงานอยู่ต่อไปในพื้นที่แถบนี้อีกนานพอดู และเป็นสิ่งที่จะคุกคามตุรกีต่อไปในปีนี้ ด้วยเหตุที่ต้องยอมรับว่าตุรกีเองวันนี้เกี่ยวพันกับสงครามไปแล้วอย่างเอาตัวออกมาไม่ได้

ขณะเดียวกัน ภัยอีกลักษณะที่เผชิญหน้าและจะเผชิญหน้ากับตุรกีในปีใหม่นี้ คือภัยก่อการร้ายแบบ lone actor หรือ lone wolf อันหมายถึงการลุกขึ้นก่อเหตุโดยคนคนเดียวลงมือ ซึ่งมักไม่ได้เคยมีช่องทางติดต่อสัมพันธ์อะไรกับกลุ่มก่อการร้าย เพียงแต่รับเอาอุดมการณ์ หรือมีอารมณ์สำนึกร่วมบางอย่างกับกลุ่มเหล่านั้น คนเหล่านี้มักเป็นผู้ที่มีความคับข้องหรือโดนเบียดขับ แปลกแยกจากสังคมการเมืองที่อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็น่าจับตาว่า กระบวนการล้างบางฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของอัรดูฆอน (เรเจป ไทย์ยิป เอร์โดอัน-ประธานาธิบดีตุรกี) นั้นจะบีบอัด กดทับ จนอีกฝ่ายลงมือตอบโต้ในลักษณะนี้หรือไม่

 

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า