“เป็นไปไม่ได้ที่จะเตรียมพร้อมสำหรับหายนะระดับนี้” ปธน.ตุรกีชี้แจงรับมือแผ่นดินไหวล่าช้า ยอดผู้เสียชีวิตกว่า 15,000 คน

หลังจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่บริเวณเมืองกาซีอันเตป (Gaziantep) ทางตอนใต้ของประเทศตุรกี ใกล้กับพรมแดนประเทศซีเรียเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 15,000 คน หน่วยกู้ภัยยังคงเร่งทำงานแข่งกับเวลา เพื่อค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตท่ามกลางซากปรักหักพัง องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) คาดการณ์ว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากหายนะครั้งนี้มากกว่า 23 ล้านคน

ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็เกิดความไม่พอใจต่อ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) ประธานาธิบดีตุรกี เป็นอย่างมาก โดยเสียงวิพากษ์วิจารณ์มุ่งไปที่การเตรียมการรับมือที่ไม่พร้อม และการจัดการที่เป็นไปอย่างล่าช้าหลังจากเกิดหายนะ 

อาซิซ  คาราเบกเมซ (Aziz Karabekmez) อดีตวิศวกรวัย 68 ปี วิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่ตุรกีเรียกเก็บภาษีสำหรับการจัดการแผ่นดินไหว แต่กลับใช้มันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เขากล่าวว่า “เอาเงินของพวกเราไปใช้อย่างสูญเปล่า” 

เขากล่าวอีกว่า “ประเทศนี้มีแนวโน้มจะเกิดแผ่นดินไหวตลอดอยู่แล้ว พวกเขาควรเตรียมพร้อมที่จะปกป้องพวกเราสิ พวกที่อยู่แนวหน้าตอนนี้คืออาสาสมัครชาวต่างชาติ ไม่ใช่คนตุรกีด้วยซ้ำ พวกเขา (รัฐบาล) ไม่รู้ว่าควรจะจัดการอย่างไรกับสถานการณ์เช่นนี้ เป็นไปได้ยังไง?” 

เช่นเดียวกับ เมห์เหม็ด อาลี คาราเบกเมซ (Mehmet Ali Karabekmez) อดีตวิศวกรวัย 70 ปี เขามองว่า รัฐบาลจัดการเงินภาษีอย่างไร้ประสิทธิภาพในสถานการณ์เช่นนี้ “ถ้ามันจะมีประโยชน์อะไรสักอย่างจากการที่รัฐเอาเงินของพวกเราไป มันก็ควรนำมาใช้จัดการสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่เหรอ แถมการจัดการของภาครัฐก็ล่าช้าเหลือเกิน”

ขณะเดียวกันก็มีประชาชนที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลตุรกีด้วยเช่นกัน คาดีร์ ซูไลมาน (Kadir Suliman) นักศึกษาวัย 23 ปี กล่าวว่า “ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเร็วที่สุดที่พวกเขาจะมาได้ พวกเขาทำงาน 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือทุกคน ฉันขอวิจารณ์พวกที่วิจารณ์รัฐบาลอยู่ตอนนี้ ว่าพวกเขาควรจะอยู่เงียบๆ เสียดีกว่า” 

ทางด้านประธานาธิบดีแอร์โดอันได้ยอมรับว่า การจัดการของรัฐบางส่วน “มีปัญหาอยู่บ้าง” แต่ยืนยันว่าตอนนี้สามารถ “ควบคุมสถานการณ์ได้”

นายแอร์โดอันได้โต้กลับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนบางกลุ่มที่โจมตีการรับมือสถานการณ์ของรัฐบาลว่า “ในช่วงเวลาเช่นนี้ ผมจะไม่ยอมต่อการกระทำอันเลวทรามที่ทำไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเด็ดขาด” เขายืนยันว่าในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ประเทศต้องการคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“แน่นอนว่ามันมีข้อบกพร่อง แต่มันก็เห็นชัดๆ กันอยู่ ว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับหายนะระดับนี้ แต่เราจะไม่ปล่อยให้ประชาชนของเราต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

ท่ามกลางการกู้ภัยและค้นหาผู้รอดชีวิตที่ดำเนินต่อไป รัฐบาลจากประเทศต่างๆ ได้ส่งความช่วยเหลือเข้ามายังตุรกี เช่น รัฐบาลออสเตรเลียได้ส่งทีมค้นหาและผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยกว่า 72 คน เข้ามาเสริมกำลังให้กับรัฐบาลตุรกี เช่นเดียวกันกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ต่างก็ส่งทีมช่วยเหลือเข้ามาในจำนวนที่ไล่เลี่ยกัน

อ้างอิง:

Emotions run high in Turkey amid questions over state response to deadly quake

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า