ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวในเม็กซิโก มีเวลากี่วินาทีให้หนีตาย

แผ่นดินไหวปี 1985

19 กันยายน 1985 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเม็กซิโก ความรุนแรงขนาด 8.1 คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 30,000 คน ร่างของผู้เสียชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารถล่มเป็นภาพจำอันโหดร้ายสำหรับชาวเม็กซิโก

19 กันยายน 2017 ไม่มีการฉลองครบวาระ 32 ปี เม็กซิโกซิตี้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 250 ราย หลายฝ่ายยังคงค้นหาผู้สูญหายและผู้ที่ยังมีโอกาสรอดชีวิต U.S. Geological Survey บอกว่า จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเม็กซิโกซิตี้ราว 120 กิโลเมตร ลึกไป 51 กิโลเมตร คลิปตามโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นภาพอาคารสูงถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ราวทำจากกระดาษ บ้านหลังใหญ่พัง รถถูกทับใต้ซากคอนกรีต ผู้คนวิ่งหนีอลหม่าน

แม้จะเป็นหายนะภัยครั้งใหญ่ แต่สื่อข่าวต่างประเทศหลายแห่งมองว่า ตัวเลข 250 ราย ถือเป็น ‘โชคดี’ ของเม็กซิโกซิตี้ เพราะหากแผ่นดินไหวขนาด 7.1 เกิดในพื้นที่ที่ไม่มีระบบเตือนภัยที่ดี ให้ประชาชนรู้ตัวก่อนแผ่นดินไหวจะมาถึง 60-90 วินาที จำนวนผู้เสียชีวิตอาจไม่หยุดอยู่แค่หลักร้อย

ตำแหน่งเซ็นเซอร์จับความสั่นสะเทือน

จุดเริ่มต้นของระบบเตือนภัย

หลังแผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ปี 1985 สี่ปีถัดมา เม็กซิโกซิตี้ได้ติดตั้งระบบตรวจจับความสั่นสะเทือนและเตือนภัยแผ่นดินไหว โดยความร่วมมือจากหน่วยงานไม่หวังผลกำไร Center for Instrumentation and Seismic Recording (CIRES) ซึ่งเป็นผู้จัดการและบริหารระบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จากนั้นปี 1991 เม็กซิโกซิตี้เปิดใช้ Seismic Alert System (SAS) อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นประเทศแรกที่มีระบบเตือนภัยสาธารณะ มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหว 12 จุด ตามแนวชายฝั่งกูร์เรโร (Guerrero) จนปี 2005 ได้ขยายระบบออกไปเป็น Mexican Seismic Alert System (SASMEX) เพื่อเตือนภัยให้กับจุดเสี่ยงภัย โดยเฉพาะเม็กซิโกซิตี้

ปัจจุบันมีตัวเซ็นเซอร์จับความสั่นสะเทือนอยู่ทั้งหมด 97 จุด ตลอดแนวชายฝั่งแปซิฟิก ซึ่งอุปกรณ์นี้จะตรวจวัดความเคลื่อนไหวของเปลือกโลก หากพบคลื่นความสั่นสะเทือน อุปกรณ์จะส่งสัญญาณไปยังถานีวิทยุทุกความถี่ของรัฐด้วยความเร็วที่มากกว่าคลื่นความสั่นสะเทือน เปิดสัญญาณเตือนและไซเรนที่มีสองรูปแบบ หนึ่ง – หากเป็นแรงสั่นต่ำกว่า 6.0 จะมีสัญญาณเตือนดังจากที่ทำการรัฐไปยังโรงเรียนและอาคารสาธารณะ แต่หากพบแรงสั่นสะเทือนสูงกว่านี้ สัญญาณเสียงจะดังจากกล้องวงจรปิดในเมือง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกช่อง ทำให้ประชาชน 20 ล้านคน มีเวลาประมาณอย่างน้อย 60 วินาที สำหรับหาที่หลบภัยหรือหนีออกนอกอาคาร

ประเทศแห่งแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวเมื่อ 19 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เป็นอันดับสองของเม็กซิโก และเป็นแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ครั้งที่ 14 ตั้งแต่ปี 1985 แต่ไม่มีครั้งไหนสร้างหายนะขนาดนี้ให้เม็กซิโกซิตี้ในรอบสามทศวรรษ นอกจากสัญญาณเตือนภัย อีกเหตุผลหนึ่งที่ลดความเสี่ยงให้เม็กซิโกซิตี้คือ กฎหมายก่อสร้างอาคาร

เม็กซิโกซิตี้เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับแรงสั่นสะเทือนรุนแรง เพราะอาคารต่างๆ สร้างบนทะเลสาบแห้งที่มีดินอ่อน หลังปี 1985 เม็กซิโกซิตี้จึงทุ่มเงินมหาศาลเพื่อรื้อถอนโครงสร้างอาคารเก่าๆ ทั่วเมือง และใช้ระบบโครงสร้างใหม่ที่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ รวมถึงมีการซักซ้อมผู้คนให้รับมือเมื่อได้ยินสัญญาณ ‘Seismic alert!’ และต้องทำอย่างไรเมื่อไซเรนดังขึ้น ออกจากอาคารให้เร็วที่สุด อยู่ในที่โล่ง ห่างจากสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่อาจพังลงมา

เตือนภัยทางโทรศัพท์มือถือ

แม้ในปี 2015 ลำโพงเตือนภัยสาธารณะ 8,200 ตัวของ CIRES จะถูกติดอยู่ตามถนนทั่วเมือง แต่การให้สัญญาณเตือนเข้าถึงทุกคน โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งที่ใครต่อใครพกติดตัว การส่งสัญญาณเตือนผ่านสมาร์ทโฟนจึงเป็นการส่งสัญญาณที่เข้าถึงตัวประชาชนมากที่สุด

แอพพลิเคชั่นที่ทำให้ ‘Chilangos’ หรือชาวเม็กซิโกซิตี้ได้รู้ตัวก่อน เช่น SkyAlert ที่แยกออกจาก CIRES เปิดตัวในปี 2013 เมื่อเกิดแผ่นดินไหว SkyAlert จะส่งสัญญาณเสียงดังไปยังสมาร์ทโฟนภายใน 2 วินาที พร้อมคำเตือน “seismic alert!” ซ้ำๆ โดยเก็บค่าบริการประมาณ 3.5 ดอลลาร์เป็นรายปี

จิ้งหรีดเตือนภัย

หลายเสียงวิจารณ์ว่า ระบบที่เหมือนจะครบเครื่องและทำให้ชาวเม็กซิโกซิตี้เป็น ‘ผู้โชคดี’ ที่สุดนี้ ดูจะล้าสมัยแล้ว โดยเฉพาะเมืองที่อยู่ไกลจนคลื่นวิทยุเดินทางช้า และไม่อยู่ในเครือข่าย เช่น เชียปัส (Chiapas) และบาฮา (Baja)

7 กันยายน แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.1 นอกจากมีสัญญาณแผ่นดินไหวยังมีการเตือนว่าอาจเกิดสึนามิ ซึ่งแน่นอน ด้วยระยะห่างและความพร้อม ชาวเม็กซิโกซิตี้มีเวลาราว 90 วินาทีเพื่อหาที่ปลอดภัย แต่ไม่ใช่ที่รัฐเชียปัส ซึ่งห่างไปราว 1,100 กิโลเมตร ในพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศ และไม่อยู่ในเครือข่ายระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าราย

ส่วนอื่นของเม็กซิโกต้องเข้าถึงระบบเตือนภัยได้เท่าเทียมกับ Chilangos – พวกคนกรุง

Sarmex

Grillo ตัวต้นแบบเป็นผลงานของ อันเดรส ไมรา (Andrés Meira) สถาปนิกชาวอังกฤษ ซึ่งพยายามออกแบบอุปกรณ์เตือนภัยใหม่ๆ ปรากฏตัวเมื่อปี 2014

ก่อนหน้านี้ อุปกรณ์ลักษณะคล้ายๆ Grillo ที่รับและส่งสัญญาณเตือนคือ Sarmex แต่ราคาของระบบที่ถูกที่สุดรวมการติดตั้งคือ 1,300 ดอลลาร์ ซึ่งคุ้มค่าสำหรับโรงเรียนหรืออาคารสาธารณะ ทำให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงระบบนี้ แม้สมาร์ทโฟนจะเป็นตัวเลือกที่ดี แต่การ ‘เข้าถึง’ โทรศัพท์ซึ่งอาจไม่ได้อยู่กับตัว (ถึงจะอยู่ในกระเป๋ากางเกงก็เถอะ) การเสียเวลา 2-3 วินาทีนั้นอาจมีค่าถึงชีวิต

ด้วยแนวคิดที่ว่า อยากมีอุปกรณ์คล้ายกับ Sarmex เพื่อรับสัญญาณวิทยุเตือนแผ่นดินไหว เขาได้ขอความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย จน startup ที่มาจากการระดมทุนของเขา สามารถผลิต Grillo ออกมาได้ 175 ชิ้น มีขนาดเล็ก ไม่ต้องเสียค่าติดตั้งและเดินระบบเหมือน Sarmex ในวันนั้น ไมราหวังว่า สักวันหนึ่งคนจะหาซื้อระบบเตือนภัย Grillo ได้จากห้างสรรพสินค้าทั่วไป

Grillo

Grillo กล่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กกว่าลูกบอล มีรูปร่างทันสมัย มีตราจิ้งหรีดเล็กๆ บนกล่องพลาสติกที่ผลิตโดยบริษัทเล็กๆ ในเม็กซิโกซิตี้ ห่อหุ้มอุปกรณ์ภายในที่สั่งทำจากประเทศจีน เป็นอุปกรณ์รับสัญญาณวิทยุชั้นยอด เมื่อเหตุการณ์สงบ ไฟ LED จะเป็นสีเขียว ขึ้นไฟสีน้ำเงินเมื่อ SASMEX ทดสอบสัญญาณทุกๆ สามชั่วโมง และจะเป็นสีแดงกะพริบส่งเสียงดังก่อนเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นราว 60-90 วินาที

เพื่อแก้ปัญหาความล้าสมัย และให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงระบบเตือนภัยอย่างเท่าเทียม ด้วยทุน 150,000 ดอลลาร์ จาก the U.S. Department of State via the Agency for International Development (USAID) ทำให้ไมราผลิต ‘Grillo’ (จิ้งหรีด) ขึ้นมา จากนั้นเขาก็เริ่มติดตั้งอุปกรณ์ตามชายฝั่งแปซิฟิก โดยดำเนินการอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ทำให้ตอนนี้ชาวเม็กซิโกมีระบบเตือนภัยสองชุดคือ หนึ่ง CIRES และ startup ของไมรา ‘Grillo’

ปัจจุบัน Grillo รุ่นใหม่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของกูเกิลเพื่อระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ได้แม่นยำ นอกจากนี้ยังพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น Grillo ที่มีการนับถอยหลังการมาถึงของแผ่นดินไหวเป็นวินาที


อ้างอิงข้อมูลจาก: qz.com
theatlantic.com
phys.org
la.curbed.com
citylab.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า