15 ปีที่แล้ว ขยะในลุบลิยานา (Ljubljana) เมืองหลวงของสโลวีเนีย ถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ แต่หากเป็นไปตามแผน ภายในปี 2025 ขยะอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์จะถูกรีไซเคิลทั้งหมด
“มันแพงทีเดียวนะ” นินา แซนโควิช (Nina Sankovič) จากบริษัทผู้จัดการขยะ Voka Snaga ย้อนถึงวันที่ลุบลิยานาเริ่มเห็นว่า การฝังกลบเป็นวิธีการจัดการขยะที่ไม่ค่อยเข้าท่านัก “มันเอาพื้นที่ว่างของเราไป และคุณก็กำลังโยนทรัพยากรของคุณทิ้งไปแบบเสียเปล่า”
ลุบลิยานาเป็นเมืองหลวงแห่งแรกในยุโรปที่ตั้งเป้าสู่เมืองขยะเป็นศูนย์ (zero-waste) จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2002 มีการแยกขยะจริงจัง กระดาษ แก้ว และขยะอื่นๆ ในถังขยะข้างถนน สี่ปีถัดมา เมืองเริ่มเก็บขยะที่ย่อยสลายได้ในแต่ละครัวเรือน-แนวคิดนี้จะกลายเป็นข้อบังคับในยุโรปในปี 2023-แต่ลุบลิยานานำหน้าชาติอื่นๆ ไปแล้วราวสองทศวรรษ
ผลออกมาน่าสนใจ เมื่อปี 2008 ลุบลิยานาสามารถรีไซเคิลขยะได้ 29.3 เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ตัวเลขรีไซเคิลเพิ่มขึ้นเป็น 68 เปอร์เซ็นต์ และขยะฝังกลบลดลงไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ลุบลิยานากลายเป็นเมืองหลวงที่มีการรีไซเคิลอันดับ 1 ของยุโรป
ปัจจุบันเมืองหลวงของสโลวีเนียมีขยะเหลือทิ้งรายปีเพียง 115 กิโลกรัมต่อหัว น้อยที่สุดคือ เทรวิโซ (Treviso) เมืองเล็กๆ ในอิตาลี 59 กิโลกรัม
หน่วยงาน The Regional Centre for Waste Management (RCERO) เปิดตัวเมื่อปี 2015 ทุกวันนี้ทำหน้าที่จัดการขยะในพื้นที่ 1 ใน 4 ของสโลวีเนีย ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตความร้อนและไฟฟ้า ทำให้ขยะเหลือทิ้ง 95 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้รวมถึงเป็นก้อนเชื้อเพลิง ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์จบลงที่การฝังกลบเป็นปุ๋ยคุณภาพดี
ลุบลิยานามีการเก็บขยะถึงหน้าบ้านเป็นเวลา มีศูนย์กลางทิ้งขยะครัวเรือนสองแห่งให้ประชาชนนำขยะมาทิ้งเอง และยังต้องการสร้างเพิ่มอีกอย่างน้อยสามแห่ง รวมไปถึงสถานที่ทิ้งขยะขนาดเล็กในพื้นที่หนาแน่นอีก 10 แห่ง
นอกจากถังขยะแยกประเภทที่อยู่ทุกมุมถนนแล้ว Voka Snaga ยังใช้น้ำฝนที่กักเก็บจากหลังคาที่ทำการองค์กร และน้ำยาทำความสะอาดที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้กับรถทำความสะอาดถนนในเมืองอีกด้วย
สำหรับของที่ยังไม่เสียหายจะถูกนำไปใช้ใหม่ มีการตรวจเช็ค ทำความสะอาด และขายเป็นสินค้ามือสองราคาถูก และที่ลุบลิยานายังมีเวิร์คช็อปสอนให้ประชาชนหัดซ่อมแซมสิ่งของด้วยตัวเอง
ร้านขยะเป็นศูนย์ (Zero-waste Stores) กำลังเป็นเทรนด์ที่ลุบลิยานา และ Voka Snaga ก็เริ่มทำตู้กดสินค้าปราศจากแพ็คเกจ รวมถึงมีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น กระดาษชำระที่รีไซเคิลจากกล่องนมและกล่องน้ำผลไม้ออกสู่ตลาด